แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 445

การขัดเกลากิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถ้าศึกษาพระวินัยปิฎก จะเห็นได้ว่า ขัดเกลาทั้งกาย ทั้งวาจา และเป็นการอบรมจิตด้วย ซึ่งจิตนี้สะสมกิเลสไว้มากเหลือเกิน ถ้าไม่ศึกษาพระวินัยบัญญัติ จะไม่เห็นว่า กายอย่างนั้น วาจาอย่างนั้นเกิดขึ้นเพราะกิเลสจริงๆ

การที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ต้องอบรมทุกประการ ตั้งแต่ขั้นของศีล ๕ ซึ่งควรจะเป็นนิจศีล และถ้าเป็นผู้ที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งกว่านั้น ก็ควรจะอบรมเจริญสติปัฏฐาน รักษาอาชีวัฏฐมกศีล คือ การละเว้นกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ ด้วย แต่แม้กระนั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงบัญญัติศีลอุโบสถ เพื่อการขัดเกลาเป็นพิเศษ ในกาลที่สามารถจะกระทำได้ เพราะว่าฆราวาสที่ยังไม่บรรลุคุณธรรมควรแก่การที่จะรักษาศีลเหล่านี้ แต่ไม่อาจที่จะประพฤติเป็นไปให้เป็นปกติในชีวิตประจำวันได้ ไม่เหมือนกับนิจศีล ซึ่งสามารถที่จะรักษาได้เป็นปกติ และพระผู้มีพระภาคทรงเห็นประโยชน์ว่า เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติกาลที่ควรจะขัดเกลากิเลสเป็นพิเศษ ผู้ที่มีศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตาม และอบรมให้เป็นอุปนิสัยแก่การที่จะหมดจดจากกิเลสจริงๆ ถึงการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็ย่อมสามารถที่จะมีศรัทธารักษาศีลอุโบสถนั้นได้

ถ. ที่อาจารย์บรรยายว่า ภิกษุรูปหนึ่งไม่พูด ก็ว่าดี แต่ภิกษุอีกรูปหนึ่งไม่พูด ก็ว่าไม่ดี เช่น สามเณรราหุล ท่านถูกใส่ร้าย และถ้าท่านพูด ก็จะเป็นคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ การที่ท่านไม่พูดนั้น ประโยชน์อยู่ที่ไหน ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย

สุ. เป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นการกล่าวติ เป็นความคิดเห็น เป็นลักษณะของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังมีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิดอยู่ บางครั้งพูดไปแล้วเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งๆ ที่เรื่องไม่ใหญ่เลย แต่กิเลสที่ต่างคนต่างมีมาก ทำให้เรื่องนั้นกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นโดยไร้ประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะอธิบายในเรื่องของธรรม ในเรื่องของการอบรมเจริญกุศล ในเรื่องที่เป็นสาระจริงๆ เพราะฉะนั้น การที่ท่านไม่พูด เป็นการขัดเกลาตัวของท่านเองที่จะละเว้น ไม่กล่าวคำพูดที่ท่านเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเป็นการพูดที่มีประโยชน์ ท่านต้องพูด

ลองพิจารณาในชีวิตประจำวันจริงๆ ของท่านผู้ฟัง มีเรื่องใหญ่โตที่เกิดขึ้นเพราะเรื่องเล็กน้อยจากคำพูด ๒ – ๓ คำบ้างไหม ถ้าเว้นเสีย เรื่องใหญ่นั้นก็ไม่เกิดใช่ไหม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เล็งเห็นประโยชน์จริงๆ และผู้ที่มุ่งขัดเกลากิเลส คือ ผู้ที่จะชนะตนเอง ก็เป็นผู้ที่เพียรที่จะละเว้นการพูดสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ คำที่ไม่มีประโยชน์ ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวท่านที่เป็นการติในความประพฤติส่วนตัวอย่างนี้

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสงฆ์ เกี่ยวกับพระวินัย หรือว่าเป็นบัญญัติที่ท่านจะต้องกระทำตาม ท่านก็พูด

เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวถึงทั้งข้อความในเรื่องของท่านพระราหุล และในเรื่องของ อรรถกถาพระวินัย ปริวาร วรรณนา วินิจฉัยใน เสทโมจนกถา ประกอบกันไปด้วย ไม่ใช่ว่า ท่านจะยึดถือเพียง ๒ – ๓ คำ และปฏิบัติ แต่จะต้องเข้าใจในอรรถ ในเหตุการณ์ ในความเป็นจริงที่ควรและที่ไม่ควร ด้วยกุศลจิต

สำหรับอุโบสถศีลมีองค์ ๘ เพื่อการที่จะขัดเกลากิเลสในกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ ท่านผู้ฟังก็ควรที่จะได้ทราบความหมายของคำว่าอุโบสถก่อน

ตามที่เข้าใจกัน อุโบสถ หมายถึงการเข้าจำ คือ กาลที่เข้าสู่การประพฤติเพื่อชำระขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นเป็นพิเศษ คือ พิเศษจากนิจศีล คือ ศีล ๕ และก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติพระวินัย พระองค์ก็ยังมิได้ทรงบัญญัติวันอุโบสถเลย

ในครั้งโน้น เมื่อมีผู้มีศรัทธาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุญาตการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ แต่ยังมิได้ทรงบัญญัติพระวินัย จนกระทั่งเกิดการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะควรแก่สมณเพศ เป็นกาลที่พระองค์ควรจะได้บัญญัติพระวินัย จึงได้บัญญัติพระวินัยขึ้น

เรื่องของวันอุโบสถ หรืออุโบสถศีลนี้ก็เช่นเดียวกัน ในครั้งแรก พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงบัญญัติอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ แต่ว่าวันอุโบสถนั้นมีมาแล้วในอดีตกาล ก่อนการตรัสรู้และการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาค มีการรักษาอุโบสถศีล คือ การที่จะชำระขัดเกลากิเลสเป็นพิเศษ เป็นกาลพิเศษ สืบต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต แต่ว่าไม่พร้อมด้วยองค์ ๘ ดังข้อความใน มังคลัตถทีปนีแปล กถาว่าด้วยกรรมอันหาโทษมิได้ ข้อ ๑๐๖ ซึ่งมีข้อความว่า

ส่วนคำใดที่ท่านกล่าวไว้ใน อรรถกถา คังคมาลชาดก ใน อัฏฐกนิบาต ว่า บุตรและทาระ (ภรรยา) ก็ดี ชนบริวารก็ดีของเศรษฐีนั้น โดยที่สุดแม้คนเลี้ยงโคในเรือนนั้นๆ ทั้งหมด ย่อมเข้าจำอุโบสถเดือนละ ๖ วัน คำนั้น ท่านกล่าวหมายเอาอุโบสถที่ได้โดยกาลอื่นจากพุทธกาล

นัยว่าในครั้งนั้น การเข้าจำ กล่าวคือ การไม่รับประทานอาหารนั่นแหละ เขาเรียกกันว่าอุโบสถ หาใช่องค์ ๘ ไม่ แท้จริงองค์ ๘ นั้น ย่อมหาได้ในสมัยที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเท่านั้น

เพราะฉะนั้น การที่จะพากเพียรชำระกิเลสในกาลพิเศษนี้ ได้มีปฏิบัติกันมาก่อน แต่ว่าไม่ใช่อุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติขึ้น

ขอกล่าวถึงต้นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติวันอุโบสถ ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค อุโบสถขันธก เรื่องปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ข้อ ๑๔๗ มีข้อความว่า

ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ถึงวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ย่อมประชุมกันกล่าวธรรม คนทั้งหลายเข้าไปหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นเพื่อฟังธรรม พวกเขาได้ความรัก ได้ความเลื่อมใส ในพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ย่อมได้พรรคพวก

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช เสด็จไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีพระราชปริวิตกแห่งพระราชหฤทัยเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ถึงวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ย่อมประชุมกันกล่าวธรรม คนทั้งหลายเข้าไปหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นเพื่อฟังธรรม พวกเขาได้ความรัก ได้ความเลื่อมใสในพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ย่อมได้พรรคพวก ไฉนหนอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์บ้าง

จึงท้าวเธอเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท้าวเธอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลข้อปริวิตกนั้นต่อพระผู้มีพระภาคว่า

พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ถึงวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ย่อมประชุมกันกล่าวธรรม คนทั้งหลายเข้าไปหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นเพื่อฟังธรรม พวกเขาได้ความรัก ได้ความเลื่อมใสในพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ย่อมได้พรรคพวก ไฉนหนอพระคุณเจ้าทั้งหลาย พึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์บ้าง

หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย พึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์บ้างเถิด พระพุทธเจ้าข้า

ทรงแสดงธรรมีกถา

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ครั้นท้าวเธออันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณ เสด็จกลับไป

พระพุทธานุญาตวันประชุม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกัน ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์

ประชุมนั่งนิ่ง

ข้อ ๑๔๘

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายพูดกันว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ภิกษุเหล่านั้นจึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ แล้วนั่งนิ่งเสีย คนทั้งหลายเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นเพื่อฟังธรรม พวกเขาต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรประชุมกัน ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ จึงได้นั่งนิ่งเสียเหมือนสุกรอ้วนเล่า ธรรมเนียมภิกษุผู้ประชุมกันควรกล่าวธรรมมิใช่หรือ

ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระพุทธานุญาตให้กล่าวธรรม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกันกล่าวธรรม ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์

ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติวันประชุม ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในเบื้องแรกนั้นยังไม่ได้ทรงแสดงอุโบสถศีลเลย เพียงแต่ทรงบัญญัติวันที่ควรประชุมกันเพื่อฟังธรรม เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น ประชุมเพื่อฟังธรรมก่อน ภายหลังจึงได้ทรงบัญญัติกรรมที่ควรจะกระทำในวันอุโบสถ เช่น ข้อความต่อไปมีว่า

พระพุทธานุญาตปาติโมกขุเทศ

ข้อ ๑๔๙

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไป ณ ที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตกแห่งพระทัยเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอเราพึงอนุญาตสิกขาบทที่เราบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ให้เป็นปาติโมกขุเทศของพวกเธอ ปาติโมกขุเทศนั้นจักเป็นอุโบสถกรรมของพวกเธอ

ครั้นเวลาสายัณห์ พระองค์เสด็จออกจากที่เร้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอเราพึงอนุญาตสิกขาบทที่เราบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ให้เป็นปาติโมกขุเทศของพวกเธอ ปาติโมกขุเทศนั้นจักเป็นอุโบสถกรรมของพวกเธอ ดังนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในวันที่จะประชุมกัน ไม่สามารถที่จะกระทำได้ทุกวัน เพราะว่าต่างก็มีกิจที่จะพึงกระทำ เพราะฉะนั้น เมื่อทรงบัญญัติกาลพิเศษที่จะประชุมกันเพื่อฟังธรรม ในวันนั้นก็ควรจะมีกรรม คือ การกระทำอื่นที่เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุด้วย

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเห็นว่า ควรจะอนุญาตให้สิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายเป็นปาติโมกขุเทศ คือ มีการสวดปาติโมกข์เพื่อให้เข้าใจ เพื่อให้ทรงจำ เพื่อไม่ให้หลงลืม เพื่อให้ปฏิบัติถูกต้องตามพระวินัย เพื่อประโยชน์แก่การที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต จึงได้ทรงบัญญัติอนุญาตให้ปาติโมกขุเทสนั้นเป็นอุโบสถกรรมของพวกภิกษุ แต่ก็ยังไม่ได้ทรงแสดงเรื่องของอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘

และเพราะว่าประโยชน์ของฆราวาสและภิกษุเกี่ยวเนื่องกัน ฆราวาสจะต้องอาศัยการฟังธรรมจากบรรพชิต เพราะฉะนั้น เมื่อบรรพชิตประชุมในวันใด ฆราวาสก็ควรที่จะให้วันนั้นเป็นประโยชน์ในการฟังธรรมและในการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติ

แต่ก่อนนั้นยังไม่ได้ทรงบัญญัติเรื่องของอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งท่านผู้ฟังจะทราบว่า จุดประสงค์ของอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ คืออะไร จากการที่ศึกษาจากพระไตรปิฎก

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ชาณุสโสณีวรรคที่ ๒ ปัจโจโรหณีสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๕๖ มีข้อความว่า

ก็โดยสมัยนั้นแล ชาณุสโสณีพราหมณ์ สนานเกล้าในวันอุโบสถ

ในครั้งโน้น ในวันอุโบสถที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงบัญญัติวันอุโบสถในพระพุทธศาสนาที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ขึ้นนั้น บุคคลในครั้งโน้นกระทำอย่างไรกันในวันอุโบสถที่เขาจะพากเพียรขัดเกลากิเลสเป็นพิเศษ

ชาณุสโสณีพราหมณ์ สนานเกล้าในวันอุโบสถ นุ่งห่มผ้าไหมทั้งคู่อันใหม่ ถือกำหญ้าคาสดไปยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นชาณุสโสณีพราหมณ์ ผู้สนานเกล้าในวันอุโบสถ นุ่งห่มผ้าไหมทั้งคู่อันใหม่ ถือกำหญ้าคาสดยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งในที่ไม่ไกล ครั้นแล้วได้ตรัสถามชาณุสโสณีพราหมณ์ ว่า

ดูกร พราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงสนานเกล้าในวันอุโบสถ นุ่งห่มผ้าไหมทั้งคู่อันใหม่ ถือกำหญ้าคาสดมายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง วันนี้เป็นวันอะไรของสกุลพราหมณ์

ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ วันนี้เป็นวันปลงบาปของสกุลพราหมณ์ ฯ

มีบางท่านที่คิดจะแต่งตัวเป็นพิเศษบ้างไหม ในวันพิเศษ สะอาดๆ หรืออะไรใหม่ๆ อย่างนี้ เป็นการปลงบาปหรือเปล่าถ้าทำอย่างนั้น หรือว่าสติเกิดทันที เสื้อใหม่ เสื้อเก่า ผ้าไหม ไม่ใช่ผ้าไหม อะไรก็ตามแต่ แต่ก็สามารถจะระลึกรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความเข้าใจผิด มีความเห็นผิด ก็จะลูบคลำข้อปฏิบัติผิด และคิดว่า นั่นเป็นหนทางที่จะปลงบาป ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า

ดูกร พราหมณ์ ก็พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีด้วยประการไรเล่า ฯ

เปิด  237
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566