แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 449
ถ. พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อวสฺสุสฺสตุ เม ท่านหมายถึงตัวของท่านเอง ไม่ได้ไปสอนคนอื่นให้นั่งจนเลือดเหือดแห้ง อวสฺสุสฺสตุ คือ จงเหือดแห้ง เม ของเรา คือ พระพุทธเจ้า มํสโลหิตํ คือ เลือดเนื้อของท่าน เวลาที่ท่านนั่งบำเพ็ญสัมมาโพธิญาณใต้โพธิบัลลังก์
สุ. ที่อื่นก็มีปรากฏเรื่องของความเพียร ถ้ามีหนทางใดที่พระผู้มีพระภาคจะทรงพร่ำสอนโอวาทให้เห็นกิจที่ควรเร่งกระทำทันทีด้วยนัยอุบายใดๆ ด้วยพระธรรมเทศนาประการใด ก็ทรงแสดงไว้ทั้งหมด เป็นเรื่องของอินทรีย์ ที่ถึงแม้ว่าจะทรงแสดงกับพระภิกษุทั้งหลายให้มีความพากเพียรอย่างนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้นั่งไม่ลุกเลย ไม่อย่างนั้นในพระไตรปิฎกจะต้องมีข้อความว่า หลังจากที่ทรงแสดงพระสูตรนี้จบลง ภิกษุก็นั่งอยู่อย่างนั้นไม่ได้ลุกขึ้นเลย ซึ่งก็ไม่มี และท่านผู้ฟังก็จะพิสูจน์ธรรมได้กับตัวของท่านเองจริงๆ ว่า ขณะนี้ ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ นั่งไม่ลุก จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม
แต่ถ้าเมื่อไรท่านอบรมเจริญไป ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อสภาพธรรมสมควรแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร ก็ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะไปยับยั้งได้ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ต้องเกิดขึ้น
ไม่ใช่ว่า พระภิกษุท่านไม่ปฏิบัติตาม ท่านปฏิบัติตามด้วยความเข้าใจถูก ซึ่งท่านก็ดำรงชีวิต ดำเนินชีวิตไปตามปกติในเพศของบรรพชิต บริหารร่างกายตามปกติ กระทำกิจของสงฆ์ตามปกติ แต่รีบเร่งกระทำความเพียร โดยการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ
และสำหรับเรื่องของการเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติก็ตาม หรือว่าความเห็นผิดในข้อปฏิบัติก็ตาม เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะแก้ไขบุคคลที่ไม่ได้สะสมมาที่จะมนสิการหรือ พิจารณาในเหตุผลให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ฟังด้วยกัน ท่านหนึ่งสามารถที่จะพิจารณา มนสิการในเหตุผลตามคลองของธรรมตรงตามความเป็นจริงได้ แต่อีกท่านไม่พิจารณาเลย และก็ไม่เข้าใจด้วย
เมื่อผู้ใดไม่ได้สะสมเหตุปัจจัยมาที่จะพิจารณาธรรมให้ถูกต้องตามคลองของธรรม บุคคลอื่นก็ไม่สามารถที่จะไปแก้ไข หรือไปเปลี่ยนแปลงปัจจัยของเขาที่สะสมมาที่จะเห็นผิด ให้กลับเป็นการพิจารณาธรรมด้วยความแยบคายได้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็ตาม
ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ภรัณฑุสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท เสด็จถึงพระนครกบิลพัสดุ์ เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้ทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงพระนครกบิลพัสดุ์โดยลำดับแล้ว ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะว่า
ไปเถิดมหานามะ ท่านจงรู้สถานที่พักในพระนครกบิลพัสดุ์ ที่ตถาคตควรอยู่สักคืนหนึ่งวันนี้
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ รับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ เที่ยวไปจนทั่ว ก็มิได้เห็นสถานที่พักในพระนครกบิลพัสดุ์ซึ่งพระผู้มีพระภาคควรจะประทับอยู่สักคืนหนึ่ง ลำดับนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระนครกบิลพัสดุ์ ไม่มีสถานที่พักซึ่งพระผู้มีพระภาคควรจะประทับสักคืนหนึ่งวันนี้ ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรนี้เป็นเพื่อนพรหมจารีเก่าแก่ของพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคจงประทับอยู่ ณ อาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตรนั้นสักคืนหนึ่งในวันนี้เถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ไปเถิดมหานามะ ท่านจงปูลาดเครื่องลาดเถิด
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เสด็จเข้าไปยังอาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตร แล้วทรงปูลาดเครื่องลาด ทรงตั้งน้ำไว้เพื่อจะล้างพระบาท แล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ลาดเครื่องลาดเสร็จแล้ว ได้ตั้งน้ำไว้เพื่อชำระพระยุคลบาทแล้ว บัดนี้พระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรเถิด
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตร แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วทรงล้างพระบาททั้งสอง ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทรงดำริว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย ต่อวันพรุ่งนี้ เราจึงจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล้ว ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จหลีกไป
ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า
ดูกร มหานามะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ศาสดาพวกหนึ่งในโลกนี้ บัญญัติการกำหนดรู้กาม ไม่บัญญัติการกำหนดรู้รูป ไม่บัญญัติการกำหนดรู้เวทนา พวกหนึ่งบัญญัติการกำหนดรู้กาม และบัญญัติการกำหนดรู้รูป แต่ไม่บัญญัติการกำหนดรู้เวทนา พวกหนึ่งบัญญัติการกำหนดรู้กามด้วย บัญญัติการกำหนดรู้รูปด้วย บัญญัติการกำหนดรู้เวทนาด้วย
ดูกร มหานามะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
ดูกร มหานามะ คติของศาสดา ๓ จำพวกนี้ เป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าเป็นต่างๆ กัน
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้ ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้กล่าวกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า
ดูกร มหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่างเดียวกัน
เมื่อภรัณฑุดาบสกาลามโคตรกล่าวเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า
ดูกร มหานามะ ท่านจงกล่าวว่าเป็นต่างๆ กัน
แม้ครั้งที่สอง ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้กล่าวกะเจ้าศากยพระนามว่ามหานามะว่า
ดูกร มหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่างเดียวกัน
แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกร มหานามะ ท่านจงกล่าวว่า เป็นต่างๆ กัน
แม้ครั้งที่สาม ภรัณฑุดาบสกาลามโคตร ก็ได้กล่าวกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า
ดูกร มหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่างเดียวกัน
แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกร มหานามะ ท่านจงกล่าวว่า เป็นต่างๆ กัน
ครั้งนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้คิดว่า เราถูกพระสมณโคดมรุกรานเอาแล้วต่อหน้าเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะผู้มีศักดิ์ใหญ่ถึงสามครั้ง ผิฉะนั้น เราพึงหลีกไปเสียจากนครกบิลพัสดุ์ ลำดับนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้หลีกไปแล้วจากพระนครกบิลพัสดุ์ เขาได้หลีกไปแล้วเหมือนอย่างนั้นทีเดียว มิได้กลับมาอีกเลย ฯ
แทนที่จะสอบถามเรื่องของเหตุผล เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนถูกต้อง แต่ผู้ที่สะสมการที่จะเห็นผิด การที่จะไม่พิจารณาเหตุผล ก็กลับกระทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คือ หลีกไปเสียจากสถานที่นั้น และไม่ได้กลับมาอีกเลย
เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถ้าท่านไม่ศึกษาโดยตลอด ไม่พิจารณาไตร่ตรอง สอบทาน เทียบเคียงโดยแยบคาย โดยละเอียดจริงๆ จะเข้าใจ สภาพธรรมผิดได้โดยง่าย แต่เพราะเหตุที่ธรรมเป็นสภาพที่มีจริง คงทนต่อการพิสูจน์ ผู้ที่ได้ตรัสรู้สภาพธรรมนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง จึงได้ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไว้
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่ต้องการจะทราบเหตุผลตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็จะต้องศึกษาจริงๆ พิจารณาไตร่ตรองในเหตุผลจริงๆ จึงจะสามารถเข้าใจสภาพธรรมได้ถูกต้อง ไม่เข้าใจผิด ไม่คลาดเคลื่อนได้
แต่จะเห็นโทษของการไม่พิจารณาธรรม ไม่สอบทาน ไม่เทียบเคียง เพราะแม้ว่าบุคคลอื่นจะกล่าวถึงความจริงของสภาพธรรมนั้นอย่างไร ท่านก็จะยังยึดถือในความคิดเห็นของท่าน ไม่พิจารณาธรรมให้ถูกต้อง ซึ่งจะไม่ได้รับประโยชน์เลย เพราะถ้าไม่ใช่สภาพธรรมที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถที่จะละคลายกิเลสได้ แม้แต่ในเรื่องของศีลอุโบสถนี้ ก็จะต้องเข้าใจเหตุผลให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงด้วย จึงจะได้ประโยชน์ในการขัดเกลากิเลสจริงๆ
ถ. ในการศึกษาธรรม มีบางคนศึกษาธรรมจากตำราบ้าง จากพระไตรปิฎกบ้าง จากข้อเขียนของอาจารย์ต่างๆ บ้าง บางคนมีความรู้กว้างขวางในทางปริยัติ คือ ในหนังสือ ผมก็ศึกษาจากท่านเหล่านั้น เป็นภิกษุบ้าง เป็นฆราวาสบ้าง แต่เมื่อถามถึงการปฏิบัติอย่างแท้จริงที่จะให้ได้ผล ต้องการที่จะให้หลุดพ้นจริงๆ โดยมากท่านจะบอกว่า ท่านเป็นผู้ชี้ทางบ้าง ท่านรู้มาก แต่ความรู้ภาคปริยัติไม่เหมือนกับภาคปฏิบัติบ้าง ทำให้ผมสงสัยว่า การเรียนภาคปริยัติ และการปฏิบัตินี้ เป็นแนวเดียวกัน หรือว่าต่างกันอย่างไร
สุ. ปริยัติศึกษา คือ การศึกษาเรื่องของสภาพธรรม ศึกษาถึงหนทางว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะสามารถรู้แจ้งสภาพธรรม แต่ขณะที่กำลังศึกษา โดยที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นยังไม่ใช่ปฏิปัตติธรรม
การศึกษาขั้นของปริยัติศาสนา คือ การศึกษาเรื่องของสภาพธรรมให้มีความเข้าใจในขั้นของการศึกษา ในหนทางว่าเป็นเหตุผลอย่างไร จึงจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ถูกต้องตรงตามที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้
แต่ปฏิปัตติธรรม คือ ขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกศึกษา สำเหนียก สังเกต รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามที่ได้ศึกษามา
จากการศึกษาทราบว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย ตลอดชีวิตเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม คือ เป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาไม่ใช่นามธรรม เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง สภาพธรรมที่ปรากฏทางหู คือ เสียง ก็เป็นรูปธรรม เพราะเสียงไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แต่ที่เสียงปรากฏได้ เพราะขณะนั้นมีสภาพรู้เสียง กำลังรู้ในเสียงที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น นี่เป็นการศึกษาขั้นการฟัง เป็นปริยัติ
แต่เวลาที่เป็นปฏิปัตติ คือ ขณะนี้ที่กำลังได้ยิน มีเสียงปรากฏอยู่ มีเห็น มีสีสันวัณณะ คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏอยู่ และระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นจึงจะเป็นการปฏิบัติ
และถ้าปฏิบัติอย่างนี้ ระลึกรู้อย่างนี้บ่อยๆ เนืองๆ ก็จะรู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏนี้เองที่ทรงแสดงไว้ให้ศึกษาว่า สภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น คืออย่างไร
เพราะฉะนั้น ปฏิบัติต้องตรงกับปริยัติ คือ รู้ความจริงตรงตามปริยัติที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ด้วย มิฉะนั้นแล้ว จะมีประโยชน์อะไรในการที่ทรงแสดงปริยัติธรรมไว้ ถ้าไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้รู้แจ้งในสภาพของธรรมตามปริยัติธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ได้
เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเหล่านี้มีจริง เมื่อตรัสรู้แล้วก็ได้ทรงแสดงให้ผู้ปฏิบัติสามารถที่จะรู้จริงอย่างนี้ได้ด้วย ซึ่งถ้ารู้จริง รู้ถูก ก็ต้องรู้ตรงอย่างนี้ ถ้าไปรู้อย่างอื่น ก็ไม่ตรงกับสภาพธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้
ถ. เมื่อศึกษาและรู้ตรงแล้ว ผู้ปฏิบัติรู้ได้เองว่าตรง หรือว่าต้องไปเทียบเคียงกับพุทธพจน์ หรือปริยัติที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้
สุ. ถ้ารู้แล้ว ก็ต้องตรง ทำไมจะต้องไปเทียบเคียงอีก ขณะที่กำลังเทียบเคียง คือ ยังไม่ได้รู้แล้วจริงๆ จึงยังต้องเทียบเคียงอยู่
อย่างทางตาขณะนี้ รู้จริงๆ แล้วหรือยังว่าไม่ใช่ตัวตน สภาพของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรมนั้นเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่รู้ ก็ต้องระลึก และเทียบเคียงว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้ ที่กำลังเห็นนี้เป็นอาการรู้อย่างหนึ่ง คือ รู้สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ และต้องเทียบเคียงเพื่อให้รู้จริงๆ ว่า ถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีสภาพรู้สีสันที่กำลังปรากฏ สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ปรากฏไม่ได้เลย
นี่คือการเทียบเคียงที่จะให้เกิดความรู้ขึ้นตามความเป็นจริงว่า สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตานี้ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นลักษณะของจริงชนิดหนึ่ง ถ้าหลับตาเสีย สีสันวัณณะเหล่านี้จะปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ที่กำลังปรากฏอยู่เพราะกำลังมีสภาพที่เห็น คือ รู้สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏคู่กันอยู่ในขณะนี้ นี่คือการเทียบเคียงเพื่อที่จะให้ปัญญาแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมออกจากกันจริงๆ จนถึงการที่จะรู้ทั่วทั้ง ๖ ทาง เช่น ทางหู เสียงปรากฏ เสียงไม่ใช่สภาพรู้เลย แต่ที่เสียงกำลังปรากฏได้ในขณะนี้เพราะมีอาการรู้เสียง เสียงในขณะนี้จึงปรากฏได้
โดยปริยัติ ธาตุที่รู้เสียง คือ โสตวิญญาณธาตุ ซึ่งต่างจากจักขุวิญญาณธาตุ ในธาตุ ๑๘ เมื่อประมวลธาตุแล้วทั้งหมด พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกเป็นธาตุ ๑๘ ตามความต่างกันของธาตุนั้นๆ
นี่คือการกำลังเทียบเคียงด้วยสติที่ระลึก จนกว่าจะเป็นความรู้จริง ประจักษ์ในธาตุที่ต่างกัน แต่ถ้ารู้แล้ว เพราะได้อบรมเจริญมาพอที่จะรู้แล้ว ก็รู้แล้วโดยที่ไม่ต้องเทียบเคียงเลย