แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 453

สุ. ขอกล่าวถึงอุโบสถศีล มีองค์ ๘ คือ

ปาณาติปาตา เวรมณี คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์

อทินฺนาทานา เวรมณี คือ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้

อพฺรหฺมจริยา เวรมณี คือ เว้นจากสิ่งที่ไม่ใช่พรหมจรรย์

มุสาวาทา เวรมณี คือ เว้นจากการพูดเท็จ

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี คือ เว้นจากการดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

วิกาลโภชนา เวรมณี คือ เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี คือ เว้นจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมดนตรี และการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล และเว้นประดับตบแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้และของหอมเครื่องลูบไล้

อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี คือ เว้นจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่

นี่เป็นการแปลโดยความ ถ้าท่านผู้ฟังท่านใดสงสัยพยัญชนะใด โปรดกรุณาแสดงทัศนะ ความคิดเห็นของท่าน เพื่อความรู้ความเข้าใจของท่านผู้ฟังท่านอื่นๆ ด้วย

ผู้ฟัง อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ขอสมาทาน ซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการนอนเหนือที่นอนอันสูงและที่นอนอันใหญ่

นี่ตามตัวแท้ๆ มหาสยนก็ดี อุจฺจาสยนก็ดี ๒ ศัพท์นี้ สยน คือ สีธาตุ ถ้าคนเรียนไวยากรณ์จะรู้ว่า สีธาตุ แปลว่า นอนอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสเฉพาะศัพท์นี้นั้นแปลว่า งดเว้นจากการนอนเหนือที่นอนอันสูงและที่นอนอันใหญ่ แต่ในพระไตรปิฎกมีที่นั่ง อย่างที่อาจารย์กล่าวเมื่อครู่นี้ ทำไมในพระไตรปิฎก คำแปลจึงมีที่นั่งด้วย อาจารย์กล่าวว่ามีในอรรถกถาใช่ไหม แต่ความจริงบาลีแท้ๆ แปลว่านอนเท่านั้น พระห้ามนอนที่นอนสูงที่นอนใหญ่ นี่จำเป็น ถ้าห้ามนั่ง เผื่อเขานิมนต์ไปฉัน นั่งเก้าอี้นวม พระจะนั่งไม่ได้เลย ลำบาก

สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่ได้กรุณาแปลโดยตรงจากภาษาบาลี ซึ่งจะเห็นได้ว่า คำแปลอุโบสถศีลในที่ต่างๆ ก็แตกต่างกันไป มีคำที่เพิ่มเติมหรือขยายให้เข้าใจความหมายของคำนั้นเข้ามาด้วย อย่างเช่นข้อที่ว่า ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ถ้าแปลโดยศัพท์ คือ เว้นจากการยังสัตว์มีลมปราณให้ล่วงไป

บางท่านอาจจะไม่เข้าใจถ้าฟังอย่างนี้ ด้วยเหตุนี้ โดยความจึงมีข้อความว่า คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิต ถ้าท่านผู้ฟังเข้าใจว่า คือ เว้นจากการยังสัตว์มีลมปราณให้ล่วงไป ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็เป็นการถูกต้องทั้งพยัญชนะและอรรถ แต่ว่าบางท่านอาจจะไม่เข้าใจเนื้อความนี้ ด้วยเหตุนี้ การแปลโดยความมักจะแปลให้เป็นที่เข้าใจกัน คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ซึ่งก็คงจะไม่ขัดกัน คือ ยังสัตว์ที่มีลมปราณให้ล่วงไป กับการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ไม่ขัดกัน

อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ขอสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้

ข้อความชัดตรงกับพยัญชนะ แต่บางท่านใช้คำว่า ลักทรัพย์ เพราะว่าข้อความเดิมท่านอาจจะเห็นว่ายาว นั่นก็เป็นความเห็นส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเข้าใจความหมายของลักทรัพย์ว่า ไม่ได้หมายเฉพาะอาการลัก แต่หมายรวมถึงการที่จะถือเอาโดยวิธีใดก็ตามในทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ในวัตถุ ในสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ถ้าเข้าใจถูกต้องในอรรถ บางท่านก็จะแปลง่ายๆ ว่า ลักทรัพย์

อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ขอสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากสิ่งที่ไม่ใช่พรหมจรรย์

นี่เป็นคำแปลโดยพยัญชนะ แต่ถ้าท่านผู้ใดไม่เข้าใจ แปลโดยความก็จะเพิ่มเติมคำอื่นด้วย เช่น เว้นจากการประพฤติอสัทธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ คือ ขยายความออกไปว่า สิ่งที่ไม่ใช่พรหมจรรย์เป็นการประพฤติอสัทธรรม

ผู้ฟัง คำว่า อพฺรหฺมจริยา แปลตามศัพท์ แยกศัพท์เป็น น เป็น พฺรหฺม และนำ จริย มาเข้าศัพท์กัน ตัวปฏิเสธที่เป็นตัว น นั้น เมื่อนำมาเข้ากับพยัญชนะต้องแปลงเป็น อะ ถ้าเข้ากับ อะ ต้องแปลงเป็น อน อย่างอนัตตา ศัพท์เดิมเป็น อัตตา เป็นสระอะ เพราะฉะนั้น เมื่อนำมารวมกับ น ที่เป็นตัวปฏิเสธ เป็น อน รวมกันเป็น อนัตตา นี่เป็นวิธีการของไวยากรณ์

อพฺรหฺมจิยา แปลว่า ไม่ประพฤติอย่างพรหมก็ได้ เพราะฉะนั้น รักษาศีลข้อนี้ก็ต้องเป็นพรหม จะดูให้ชัดก็ไปดูศีล ๕ เมถุน กาเมสุมิจฉาจารา ประพฤติผิดในกาม กาม หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อรรถกถาแปลแก้ลงไปตรงๆ เลยว่า เมถุน หมายความว่า เว้นในข้อนี้

สุ. โดยความของอุโบสถศีล จะเห็นว่า มีการเติมคำอธิบาย เช่น ข้อ ๑ ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปทํ สมาทิยามิ บางแห่งแปลความว่า ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และใช้ผู้อื่นให้ฆ่าแปลรวมไปด้วย เป็นคำอธิบายที่ขัดเกลายิ่งขึ้น

อทินฺนาทานา เวรมณี สิกขาปทํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้

อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกขาปทํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติอสัทธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์

มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เวลาเที่ยงไปจนถึงเวลาอรุณขึ้นใหม่

นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล และเว้นจากการประดับตบแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้และของหอม เครื่องลูบไล้

อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการนั่งนอนบนที่นอนอันสูงใหญ่

นี่เป็นการแปลโดยความ ซึ่งบางท่านก็เติมข้อความอธิบายในอรรถกถาด้วย แต่ถ้าท่านพิจารณาจริงๆ ก็ไม่ขัดกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้แปลตรงโดยพยัญชนะเท่านั้น เช่น การนั่ง การนอนบนที่นอนสูงใหญ่ จุดประสงค์ คือ นอน แต่มีใครบ้างที่จะนอนโดยไม่ได้นั่ง ที่เติมคำว่า นั่ง เข้าไปด้วย เพราะว่าบางครั้ง บางกาล ไม่มีที่นอน ก็ต้องเว้นจากที่นั่งซึ่งเอามาเป็นที่นอนอันสูงใหญ่ด้วย และขณะที่จะนอนก็มีการนั่งด้วย เพราะฉะนั้น ก็กล่าวครอบคลุม แต่ว่าให้เข้าใจจุดประสงค์ว่า เว้นจากการนอน

ถ. เรื่องที่นั่งกับที่นอน เหตุการณ์เกิดขึ้นกับผมเอง ๒ – ๓ วันพระก่อน ผมไปสมาทานศีลที่วัดหนึ่ง เมื่อสมาทานเสร็จแล้วก็ไปอีกวัดหนึ่งโดยขับรถยนต์ไป เมื่อขับรถยนต์ไปกลางทาง ก็คิดว่า เราสมาทานศีล เว้นจากที่นั่งและที่นอนอันสูงใหญ่ นั่งบนเบาะรถยนต์แบบนี้ศีลของเราจะขาดแล้วกระมัง แต่ก็คิดว่า พระท่านก็นั่งรถยนต์กันทั้งนั้น ทำไมท่านไม่รังเกียจ แต่ถ้าเป็นที่นอนอย่างเดียว ศีลก็ไม่ขาด แต่ถ้าพูดถึง ที่นั่งและที่นอน ศีลก็ต้องขาดแน่นอน เพราะฉะนั้น จะแปลเอาความหมายก็ลำบากเหมือนกัน

สุ. เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาในเรื่องอุโบสถศีลที่ท่านรักษากันเป็นประจำ โดยพยัญชนะที่จะต้องเข้าใจให้ตรงกับความหมายของพยัญชนะ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นในเรื่องของศีล ถ้าจะให้ได้ความเข้าใจชัดเจน ก็คงจะต้องอาศัยพระวินัยธร ซึ่งเป็นผู้ชำนาญในเรื่องของพระวินัยบัญญัติ

ถ. เรื่องของศีล ถ้าเราจะพิจารณาให้ดี น่าจะเข้าใจพุทธประสงค์ว่า พระองค์ทรงมุ่งหมายอย่างไร ถ้าจะพูดกันด้วยพยัญชนะอย่างนี้ก็คลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่พุทธประสงค์จริงๆ นี่ ผมเดาว่า คงจะให้ผู้ที่รักษาศีลตั้งอยู่ในความไม่ประมาท นี่เป็นข้อใหญ่ใจความ น่าจะเป็นเช่นนี้ ทีนี้พยัญชนะต่างๆ ที่อธิบายเป็นอย่างโน้นบ้าง อย่างนี้บ้าง เป็นเพียงขยายความออกมา อย่างที่นั่งสูง ที่นอนใหญ่อะไรอย่างนี้ ขยายว่ายัดด้วยนุ่นและสำลี แต่สมัยใหม่นี้ได้ยินว่า เขาไม่เอานุ่นและสำลี เขาบอกว่า พระวินัยห้าม เลยเอาฟองยางมาใช้แทน ซึ่งสบายกว่านุ่นและสำลี สบายกว่ากันมาก และเก้าอี้เดี๋ยวนี้ ก็เป็นเก้าอี้นวมนั่งสบาย หรือแม้เก้าอี้บางๆ ข้างล่างก็ยังเป็นฟองยางนั่งนุ่มกว่าก่อนนี้มาก ถ้าเรายังเข้าใจกันอยู่อย่างนี้ ก็ยังตกอยู่ในความประมาทอยู่นั่นเอง

สุ. เพราะฉะนั้น ควรที่จะเทียบเคียงกับพระสูตรด้วย เพราะว่าอรรถในที่ต่างๆ นั้นย่อมจะตรงกันว่า เพื่อจุดประสงค์อะไร

สำหรับอุโบสถศีลมีองค์ ๘ เป็นการขัดเกลา บรรเทา ละคลายกิเลส เป็นการสะสมให้เป็นอุปนิสัยปัจจัยที่จะมีความประพฤติดังเช่นความประพฤติของพระอรหันต์ เพื่อการที่จะได้บรรลุถึงคุณธรรมแห่งการเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง ไม่ใช่ว่า รักษาอุโบสถศีลเพื่ออยากจะได้บุญมากๆ

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อุโบสถสูตร พระไตรปิฎกฉบับแปลพระผู้มีพระภาคตรัสกับวิสาขามิคารมารดาว่า

ดูกร นางวิสาขา พระอริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่จนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว

พยัญชนะจะว่าอย่างไรก็ตาม อย่าฆ่า นอกจากอย่าฆ่าแล้ว ยังต้องมีความเอ็นดู มีความกรุณาดังเช่นพระอรหันต์ด้วย นี่คืออุโบสถศีล คือ ไม่ใช่เพียงแต่ละเว้นการฆ่าสัตว์ เช่น ศีล ๕ เท่านั้น แต่ว่าวางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่จนตลอดชีวิต ไม่คิดที่จะเบียดเบียนเลยในวันอุโบสถ ในการที่จะขัดเกลากิเลสด้วยการรักษาศีล ๘ นอกจากจะเว้นการฆ่า ยังมีหิริ มีความละอายในการทำลายสัตว์ที่มีชีวิต นอกจากนั้นยังมีความเอ็นดู มีความกรุณา เป็นการอบรมจิตใจที่จะละเว้นการฆ่าสัตว์ หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่จนตลอดชีวิต

เวลาที่รักษาอุโบสถศีล นึกอยากจะฆ่ามด ฆ่าอะไรบ้างไหม ฆ่ามด ฆ่ายุง ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่มีความเอ็นดู ไม่มีหิริ ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งปวง แต่ว่าที่ถูกแล้ว ควรจะสะสมความเอ็นดู ความกรุณา และหิริในการที่จะฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นคนขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่จนตลอดชีวิต แม้เราก็ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นคนขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว

พระอรหันต์ทั้งหลาย ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้านจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว

พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการพูดคำเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว

พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แม้จนตลอดชีวิต แม้เราก็ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว

พระอรหันต์ทั้งหลาย ฉันหนเดียว เว้นการบริโภคในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาลจนตลอดชีวิต แม้เราก็บริโภคหนเดียว เว้นจากการบริโภคในราตรี งดจากการบริโภคในเวลาวิกาล ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว

เปิด  255
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565