แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 455

ขอกล่าวถึงเรื่องของอุโบสถที่ปรากฏในพระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อุโปสถวรรคที่ ๕ มีเรื่องของอุโบสถศีลหลายสูตร ใน สังขิตตสูตร ข้อ ๑๓๑ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ตระหนักชัดดังนี้ว่า

พระอรหันต์ทั้งหลาย ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศาตรา มีความละอาย เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์ เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศาตรา มีความละอาย เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์แม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๑ นี้ ฯ

ฯลฯ พระอรหันต์ทั้งหลายละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ถือเอาแต่สิ่งของที่เขาให้ หวังแต่สิ่งของที่เขาให้ มีตนไม่เป็นขโมย สะอาดอยู่ตลอดชีวิต ในวันนี้แม้เราก็ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ถือเอาแต่สิ่งของที่เขาให้ หวังแต่สิ่งของที่เขาให้ มีตนไม่เป็นขโมย สะอาดอยู่ ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์แม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๒ นี้ ฯ

ฯลฯ พระอรหันต์ทั้งหลาย ละอพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้านตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละอพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้านอยู่ ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๓ นี้ ฯ

ฯลฯ พระอรหันต์ทั้งหลาย ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท พูดแต่คำสัตย์ ส่งเสริมคำจริง มั่นคง ควรเชื่อถือได้ ไม่กล่าวให้คลาดจากความจริงแก่โลกตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท พูดแต่คำสัตย์ ส่งเสริมคำจริง มั่นคง ควรเชื่อถือได้ ไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริงแก่โลก ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๔ นี้ ฯ

ฯลฯ พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๕ นี้ ฯ

ฯลฯ พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้บริโภคอาหารครั้งเดียว งดบริโภคอาหารในกลางคืน เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาลอยู่ตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็บริโภคอาหารครั้งเดียว งดการบริโภคอาหารในกลางคืน เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๖ นี้ ฯ

ฯลฯ พระอรหันต์ทั้งหลาย งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคม ดูการเล่นอันเป็นข้าศึก และการทัดทรง ประดับตบแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคม ดูการเล่นอันเป็นข้าศึก และงดเว้นการทัดทรง ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๗ นี้ ฯ

ฯลฯ พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ งดเว้นจากการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ สำเร็จการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนต่ำ คือ บนเตียงหรือเครื่องลาดด้วยหญ้าตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ งดเว้นจากการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ สำเร็จการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนต่ำ คือ บนเตียงหรือเครื่องลาดด้วยหญ้า ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๘ นี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ บุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก ฯ

จบ สูตรที่ ๑

ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อุโบสถวรรคที่ ๕ เป็นเรื่องของอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งมีข้อความคล้ายๆ กัน และถ้าทราบจุดประสงค์ของแต่ละข้อ ก็จะไม่เป็นปัญหาในเรื่องของพยัญชนะ

เรื่องของคำแปลในอุโบสถศีลมีองค์ ๘ นี้ เนื่องจากมีผู้ที่ข้องใจในคำแปลที่ปรากฏในที่ทั่วไป ดิฉันได้กราบเรียนขอความกรุณาพระคุณเจ้าผู้ทรงความรู้ในภาษาบาลีให้ท่านช่วยกรุณาแปลอุโบสถศีลมีองค์ ๘ โดยพยัญชนะ โดยศัพท์ให้ด้วย ซึ่งคำแปลของท่านมีดังนี้

ปาณาติปาตา เวรมณี

เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป

อทินฺนาทานา เวรมณี

เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาซึ่งสิ่งของอันเจ้าของไม่ได้ให้

อพฺรหฺมจริยา เวรมณี

เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติที่ไม่ประเสริฐ

มุสาวาทา เวรมณี

เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการกล่าวเท็จ

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี

เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ การดื่มกินซึ่งของมึนเมา คือ สุราและเมรัย

วิกาลโภชนา เวรมณี

เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี

เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฟ้อน การขับ การประโคม การดูการเล่นที่เป็นข้าศึกต่อบุญต่อกุศล การทรงไว้ การประดับ การตกแต่งด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้

อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี

เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากที่เป็นที่นั่งเป็นที่นอนสูง และที่เป็นที่นั่งเป็นที่นอนใหญ่

ซึ่งท่านผู้แปลมีหมายเหตุดังนี้ คือ

ในศีลข้อที่ ๘ นี้ ศัพท์ว่า อุจฺจาสยนมหาสยนา ตามศัพท์บาลีปรากฏอยู่ น่าจะแปลเพียงว่า ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่อย่างเดียว เพราะศัพท์ว่า อาสยน แยกมาจากศัพท์ว่า อา กับสีธาตุ ในความนอน สำเร็จรูปเป็น อาสยน แปลว่า การนอน

แต่ที่แปลเติมคำว่า ที่นั่งเข้ามาด้วย ก็โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

๑. การแปลของพระเถระผู้แปลบาลีบทนี้ และความเข้าใจของชาวพุทธโดยทั่วไป มีความเห็นพ้องและได้แปลกันมาแต่โบราณแล้วว่า ที่นั่งที่นอนสูงและที่นั่งที่นอนใหญ่

ซึ่งคงหมายความว่า ท่านผู้แปลมีความเข้าใจคล้อยตามที่ได้ศึกษาสืบๆ ต่อกันมาด้วย

๒. ในองค์ของศีลข้อนี้ ซึ่งมีอยู่ ๓ ข้อ ได้บ่งไว้ชัดว่า ใส่ที่นั่งเข้ามาด้วย

องค์ของศีลข้อนี้ ๓ ข้อนั้น คือ

อุจฺจาสยนมหาสยนํ ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ๑

อุจฺจาสยนมหาสยน สญฺญิตา รู้ว่าที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ๑

อภินิสีทนํ วา อภินิปชฺชนํ วา นั่งหรือนอนลง ๑

สำหรับองค์ของศีลข้อนี้ ท่านผู้แปลกล่าวว่า บ่งไว้ชัดว่า ใส่ที่นั่งเข้ามาด้วย ดังพระบาลีว่า อภินิสีทนํ วา อภินิปชฺชนํ วา แปลว่า นั่งทับหรือนอนทับ

จากหนังสือสามเณรสิกขา อธิบายองค์ของศีล ๑๐ โดยสมเด็จพระวันรัต (ทับ) ปธ. ๙ วัดโสมนัสวิหาร และจากหนังสืออุโบสถศีล หลักสูตรธรรมศึกษาชั้นตรี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทราวาส เรียบเรียง ซึ่งลิขสิทธิ์เป็นของมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เพราะศัพท์บาลีบางศัพท์ แม้เพียงบทเดียวก็มีความหมายถึง ๒ อย่างได้ บาลีเช่นนี้ทางกฎไวยากรณ์ท่านเรียกว่า เอกเสสสมาส ซึ่งเป็นการสมาส ๒ ศัพท์ เหลือให้เห็นเพียงศัพท์เดียว เช่น คำว่า อุปาสกา แปลว่า อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย สารีปุตตา แปลว่า พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น แม้ศัพท์ว่า อุจฺจาสยนมหาสยนา ก็ควรจะเป็นเอกเสสสมาสได้ ๔. ในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค อธิบายพรหมชาลสูตร มัชฌิมศีล แก้ศัพท์ อุจฺจาสยนมหาสยนา ว่า ได้แก่ อาสนฺทิ ปลฺลงฺกํ เป็นต้น ซึ่งอาสนฺทินี้ ในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถาแก้ว่า อาสนฺทีติ ปมาณาติกฺกนฺตาสนํ คือ อาสนฺทิ ได้แก่ ที่นั่งเกินประมาณ และอีกบทหนึ่งว่า อาสนฺทึ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณนั้น ได้แก่ อาสนะที่นั่งเกินประมาณ

๕. การขึ้นไปนอนบนที่นอนโดยไม่นั่งก่อนนั้น หรือการลุกจากที่นอนโดยไม่นั่งก่อน ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น ศัพท์นี้จึงหมายถึงนั่งด้วย

ท่านพระเถระผู้แปลมีความเห็นอย่างนี้ และได้ขอฝากเรื่องนี้ไว้สำหรับท่านผู้รู้ในพระพุทธศาสนาทั้งหลาย ได้โปรดกรุณาพิจารณาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วย

ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังมีความคิดเห็นอะไรบ้างไหมในเรื่องนี้

ผู้ฟัง ผมเองก็เคารพในการแปลของพระเถระผู้ใหญ่องค์นั้น พร้อมทั้งหมายเหตุของท่านด้วย ผมเคารพจริงๆ ภาษาบาลีผมก็ไม่รู้เท่าไร แต่ผมไปถามเขา อุจฺจาสยนมหาสยนานี้อย่างไรกันแน่ พร้อมทั้งนำบาลีในพระไตรปิฎกให้พิจารณาดู ตัวบาลีจริงก็ อุจฺจาสยนมหาสยนา แปลว่า ที่นอนสูง ที่นอนใหญ่เท่านี้เอง และในพระไตรปิฎกเองก็อธิบายข้อความ คือ ใช้คำว่า ที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ คืออะไร อาสนฺทิ ปลฺลงฺกํ อาสนฺทินี่กระผมก็ไม่รู้ ไปเปิดดูในปทานุกรม ๔ ภาษา อาสนฺทินี้แปลว่า เก้าอี้นอนได้ เก้าอี้นอนยาวๆ

อาสนฺทิ นี้เอง ขยายความออกไปอีกว่า เป็นอาสนํ ซึ่งใหญ่เกินประมาณ โดยมากก็แปลกันว่าที่นั่ง ที่นี้ อาสนํ ที่ใหญ่เกินประมาณ คำขยายของอาสนฺทิอีกที ที่นั่งใหญ่ๆ อย่างนี้ และนอกจากนี้ยังเครื่องลาดสารพัด ทำด้วยขนแกะประดับด้วยวิจิตรต่างๆ ทำด้วยเงิน ด้วยทอง เครื่องลาดทั้งนั้น นี่เป็นคำขยายความของ อุจฺจาสยนมหาสยนา ที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ ท่านขยายมีในพระไตรปิฎก

สำหรับในอรรถกถา ผมก็ถามท่านผู้รู้ ซึ่งแปลไว้ในพระไตรปิฎกว่า ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ที่จริงอรรถกถา ท่านก็นำที่ขยายความนี่แหละมาขยายความต่อออกไป และก็นำคำขยายความนั้นมาใส่ในพระไตรปิฎกอีกทีหนึ่ง ทีนี้คำขยายความของอรรถกถาที่ใส่ในพระไตรปิฎก ก็ชักจะยุ่ง เพราะว่าพระพุทธประสงค์จริงๆ นั้น ผมไม่ทราบว่า จะห้ามที่นั่งด้วยหรือเปล่า ถ้าจะห้ามที่นั่งด้วย เว้นจากที่นั่งที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ ที่นั่งทั่วๆ ไปจะเว้นด้วยหรือ ถ้าอย่างนั้นพระภิกษุท่านคงแย่เหมือนกัน ไปที่ไหนๆ มีแต่เก้าอี้นวมทั้งนั้น

และหมายเหตุของพระเถระท่านนี้ ที่ว่า การที่จะนอนบนที่นอนสูง ที่นอนใหญ่นั้น โดยไม่นั่งเป็นไปได้ยาก ข้อนี้อาศัยนั่งอันเนื่องกับนอนนั่นเอง นี่ใกล้ชิดที่สุด ถ้าพูดอย่างนี้ ขยายอย่างนี้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเติมที่นั่งลงไปในที่นอน เพราะเติมเข้าไปมันยุ่ง ต้องมาตีความกันให้วุ่นวาย และเขาก็แปลกันมาอย่างนี้ตั้งโกฏิปีแล้ว

ผมเคารพครับ ไม่ใช่ไม่เคารพ เพราะผมเองก็ไม่มีความรู้อะไร ผมเคารพว่า พระพุทธองค์ทำไมท่านจึงบัญญัติศัพท์ว่าที่นอนเท่านั้น ทำไมไม่บัญญัติศัพท์ว่าที่นั่งด้วย ผมก็เดา เป็นการเดาของผมเอง เป็นความคาดคะเนเองว่า การนอนบนที่นอนสูงใหญ่นี้มีความสบายมาก ซึ่งความสบายมากอย่างนั้น อกุศลวิตกก็กระเจิงมากเหมือนกัน พอลงนอนแล้ว ไปกันใหญ่ แทนที่จะขัดเกลากิเลส ไม่ได้ขัดเกลา กลับเพิ่มกิเลสขึ้น

ที่นั่งแท้ๆ ที่คนนั่งทำงานกันอยู่เดี๋ยวนี้ คนละเรื่องกัน ไม่ได้อยู่นาน ที่นอนอยู่นานกว่าจะหลับลงไป ถ้าเป็นคนที่ไม่มีสติด้วยแล้ว ก็ระลึกไม่ได้ อย่างนี้ไปกันใหญ่ มากทีเดียว ไม่ใช่ไปนิดหน่อย ถ้าการเติมที่นั่งเข้าไปอันเนื่องจากการนอนนั้น ไม่มีข้อสงสัยเลย และก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเติมในคำว่า อุจฺจาสยนมหาสยนา นี้ด้วย เพราะขยายความอยู่แล้ว ไม่ต้องเติมก็เข้าใจกันได้ ไม่ต้องมาตีความกันให้ยุ่งไปหมด เมื่อ ยุ่งๆ อย่างนี้ สำหรับพุทธบริษัทก็ต้องยึดพระไตรปิฎกที่เป็นภาษาบาลี

อย่างที่ท่านอาจารย์ท่านแปลมา หรือหมายเหตุมานั้น ผมไม่ได้ลบหลู่ท่าน แต่นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมอย่างนี้ ท่านผู้ฟังท่านจะเข้าใจอย่างไร ก็สุดแล้วแต่ท่านผู้ฟัง ขอขอบคุณครับ

ผู้ฟัง1 ประเพณีของแขกมีอยู่หลายชั้นวรรณะ ถ้าแขกที่ฐานะไม่ดี จะเลี้ยงแขกหรือให้แขกพักผ่อนที่บนพื้นนี่เอง แต่ตระกูลที่มีฐานะดีหน่อย อาจจะมีหมอนใบใหญ่ให้นั่งนอน ประเพณีโบราณมาเขาไม่มีเตียงสำหรับเผื่อรับรองแขก เมื่อแขกนั่งนอนที่ไหน เสร็จจากการเลี้ยงแล้ว ก็มักจะนอนหลับที่นั่น บางครั้งอาจจะเห็นได้จากภาพยนตร์ที่ถ่ายทำมา พวกอาหรับก็ด้วย ห้องนอนของแขกมักจะอยู่ในห้องเลี้ยงนั้นเอง เพราะฉะนั้น ที่ใช้รับแขกนั้นเป็นที่นั่งด้วย เสร็จจากงานเลี้ยงก็เป็นที่นอนด้วย ความหมายนี้ คงหมายถึงสถานที่เดิม จะใช้นั่งก็ได้ จะนอนก็ได้ ซึ่งเป็นศัพท์คำเดียวกัน และสถานที่เดียวกัน

เปิด  240
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566