แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 457
สุ. การประพฤติปฏิบัติของฆราวาสกับบรรพชิต อาศัยกันและกันอยู่ตลอดมา และในวันอุโบสถที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเป็นครั้งแรกนั้น ก็เพื่อการฟังธรรม เมื่อพระภิกษุท่านสนทนาธรรม แสดงธรรม ก็เป็นกาลที่ฆราวาสผู้ใคร่ต่อการเข้าใจในพระธรรมจะได้ไปฟังธรรมนั้นด้วย ต่อมาภายหลังจึงได้ทรงบัญญัติกรรมอื่นๆ ที่ควรกระทำในวันประชุมเพื่อฟังธรรมนั้น เช่น การสวดพระปาติโมกข์สำหรับพระภิกษุ เป็นต้น
สำหรับในระหว่างพรรษาก็เช่นเดียวกัน เมื่อพระภิกษุท่านจำพรรษา ท่านก็กระทำกิจของท่าน อุบาสกอุบาสิกาก็มีโอกาสที่จะได้บำเพ็ญกุศล ได้ฟังธรรม ได้ปฏิบัติขัดเกลา ละคลายกิเลสตามศรัทธาและความพยายามเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งกิเลสมีมาก และมีเฉพาะบางกาลที่สามารถจะรักษาอุโบสถศีลได้ ไม่สามารถจะรักษาได้ตลอดไปเป็นนิจ เพราะว่าไม่ใช่วิสัยของฆราวาสที่คุณธรรมยังไม่ถึงการที่จะรักษาศีลได้ทั้ง ๘ และ ๑๐ เพราะฉะนั้น การที่จะรักษาศีลได้ ก็เป็นไปตามลำดับขั้นของคุณธรรมของแต่ละบุคคลด้วย
ผู้ฟัง ที่ว่าเข้าพรรษา มีคนรักษาอุโบสถศีลมาก นอกพรรษาไม่ค่อยมีนั้น ขอให้รู้สถิติ หรือความเป็นอยู่ว่า ต่างจังหวัดเป็นกสิกรตั้ง ๘๐% ตอนเข้าพรรษาน้ำท่วม ข้าวไม่ต้องเกี่ยว อะไรก็ไม่ต้องทำ เขาจึงมารักษาศีลมาก นอกพรรษานั้น ต่างคนต่างประกอบอาชีพ อย่างกรุงเทพก็เหมือนกันทุกวันๆ ไม่มีอะไร เพราะฉะนั้น รักษาได้เรื่อยๆ ซึ่งความจริงรักษาเมื่อไรก็ได้
สำหรับอุโบสถ ผมเองก็ยังแปลไม่ถูก เขาบอกว่า เข้าประจำ หรือเข้าอยู่ และที่ว่าจะต้องเป็นอุโบสถ ไม่ใช่ ที่ไหนก็ได้ อุโบสถเป็นชื่อของการรักษาธรรมชนิดหนึ่ง เหมือนศีล ๕ เป็นชื่อ รักษาศีล ๕ อุโบสถก็เป็นชื่อของกรรมที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จะต้องไปอยู่ในโบสถ์
สุ. แต่ละท่านย่อมทราบตัวของท่านเองชัดเจนกว่าบุคคลอื่นว่า ท่านมีคุณธรรมที่จะรักษาศีลขั้นใด แม้แต่ศีล ๕ ยากไหม ถ้าคุณธรรมยังไม่ถึงความเป็น พระอริยเจ้า ก็ยังมีกิเลสที่มีกำลังที่เป็นปัจจัยให้ล่วงศีล
เพราะฉะนั้น เรื่องของอุโบสถศีลก็เช่นเดียวกัน บางท่านไม่ได้รักษาเลย บางท่านรักษาบ้าง ไม่รักษาบ้าง บางท่านรักษาได้เป็นปกติสม่ำเสมอ บางท่านก็รักษาเกือบจะเป็นนิจทีเดียว นั่นก็แล้วแต่แต่ละบุคคลจริงๆ แต่ข้อสำคัญ คือ ท่านจะรักษาอย่างไรก็ตาม ให้ทราบจุดประสงค์ว่าเพื่ออะไร แต่อย่าให้เป็นไปเพื่อที่จะได้ผล อานิสงส์ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งจะทำให้ติด ไม่ทำให้เกิดการขัดเกลากิเลส ละคลายความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเลย
ถ้าจะพิจารณาดูอุโบสถศีล เช่น เว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ก็เป็นการสะสมอุปนิสัยให้กระทำได้ จนกระทั่งสามารถที่จะเหมือนบรรพชิตหรือพระอรหันต์ คือ การเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเว้นตั้งแต่วันออกมหาภิเนษกรมณ์
ผู้ฟัง การสะสม เป็นความจริงอย่างที่อาจารย์พูด ผมพูดไม่อาย ผมบวชตั้ง ๘ พรรษา หิวข้าวเย็นทุกวัน ในที่สุดสึกเพราะอยากจะกินข้าวเย็นและอยากมีเมีย อย่างอาจารย์ผมฉันมื้อเดียว ท่านไม่หิว แต่ผมอย่างน้อยๆ ๕ – ๖ เวลา ไม่ใช่ข้าว ก็เป็นขนม กาแฟ เป็นอุปนิสัยอย่างอาจารย์ว่า บางคนเขาทานมื้อเดียว ไม่มาก และไม่หิวด้วย
สุ. เพราะฉะนั้น การที่จะเปลี่ยนอุปนิสัยที่สะสมมา ซึ่งล้วนแต่เป็นกิเลสที่เป็นไปทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง หนาแน่นและเหนียวแน่นเหลือเกิน กว่าที่จะเปลี่ยนได้โดยการดับให้หมดเป็นสมุจเฉท เป็นอุปนิสัยของพระอรหันต์ได้ จะต้องอาศัยการขัดเกลา การพากเพียร การสะสมให้เป็นอุปนิสัยจริงๆ แม้ในข้อของการเว้นการฟ้อน การขับ การประโคม การดูการเล่นที่เป็นข้าศึกต่อบุญต่อกุศล การทรงไว้ การประดับตบแต่งด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ่งท่านจะเห็นอุปนิสัยของท่านจริงๆ ว่า ท่านทำได้ หรือว่ายังทำไม่ได้ และก็อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้จักตัวจริงๆ ของท่านให้ชัดเจน เพื่อการที่จะดับกิเลสให้เป็นคุณธรรมจริงๆ ตามควรแก่อุปนิสัยที่ท่านสะสมมา นี่เป็นเหตุที่ทำให้ฆราวาสต่างกับบรรพชิต
อย่างท่านผู้ฟังที่ท่านแสดงความคิดเห็นของท่านเมื่อสักครู่นี้ ท่านก็มีอุปนิสัยของการเป็นฆราวาส ยังไม่ได้สะสมมาพอที่จะบรรลุคุณธรรมในเพศของบรรพชิต เพราะว่าท่านไม่สามารถที่จะเว้นวิกาลโภชนาได้ เพราะฉะนั้น ท่านก็อบรมเจริญปัญญาที่จะให้ถึงคุณธรรมของความเป็นพระอริยเจ้าในเพศของฆราวาสได้
ตรงต่อตัวเองตามความเป็นจริงว่า ท่านมีอุปนิสัยของเพศฆราวาส หรือว่าท่านมีอุปนิสัยของเพศบรรพชิต หรือว่าท่านเริ่มสะสมอุปนิสัยที่จะขัดเกลากิเลสให้น้อยลงทางหนึ่งทางใด อาจจะเป็นทางหู ขัดเกลาการติดในเสียงดนตรี เสียงเพลง หรือเสียงอะไรก็แล้วแต่ที่ท่านชอบ ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะเริ่มขัดเกลา สะสมอุปนิสัยใหม่ในการละคลายกิเลสทางใดก่อน และมากน้อยต่างกันอย่างไร
แม้แต่ในเรื่องของ อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี การเว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ ก็จะเห็นได้ว่า เป็นอุปนิสัยของแต่ละคนจริงๆ เพราะเหตุว่าอุโบสถศีลข้อที่ ๓ เว้นแล้ว อพฺรหฺมจริยา เวรมณี เว้นแล้วในเรื่องการที่จะเกี่ยวข้องกับการครองเรือน แต่ก็ยังมีศีลข้อที่ ๘ คือ อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี การเว้นการติดในความสบายในการนอน เพราะว่าบางท่าน เรื่องที่อยู่ของท่านลำบากจริงๆ ผิดที่ก็ไม่ได้ อยู่ไม่สบายก็ไม่ได้ นอนไม่สบายก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น แต่ละคนไม่เหมือนกัน
แม้แต่เด็กเล็กๆ บางคนถึงเวลานอน แม้ว่าเขาจะจัดที่นอนให้เรียบร้อย แต่ยังไม่สบายพอ ต้องจัดเอง มีหมอนมาเพิ่มอีก ทางซ้าย ทางขวา ที่ปลายเท้า ที่ตรงกลาง จัดใหม่ทุกคืน แม้จะเป็นเด็กอายุไม่ถึง ๘ ขวบ ก็ยังติดในการนอนสบาย เป็นอุปนิสัยที่สะสมมา
เมื่อท่านเป็นตัวของท่านเองแล้ว ท่านจะทราบว่า ท่านยังติดในการนอนสบายอยู่บ้างหรือเปล่า แม้ว่าท่านจะรักษาอุโบสถศีลข้อที่ ๓ อพฺรหฺมจริยา เวรมณี แล้วก็จริง ในการที่จะให้เป็นอุปนิสัยจริงๆ นี้ ยากหรือง่าย เป็นอุปนิสัยจริงๆ ดังเช่นอุปนิสัยของพระอรหันต์ แต่ละข้อๆ นี้ ง่ายหรือยาก
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จะประพฤติดังเช่นความประพฤติของ พระอรหันต์ แม้เพียงชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่งนี้ก็ยาก ทราบได้อย่างไรว่ายาก ท่านประพฤติหรือเปล่า ถ้าท่านประพฤติได้ ก็แสดงว่าไม่ยากในการที่จะประพฤติตาม แต่บางท่านที่ไม่ได้รักษาอุโบสถศีลเลย ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นแล้วว่า แม้การที่จะกระทำตามความประพฤติของพระอรหันต์เพียงชั่วระยะวันหนึ่งกับคืนหนึ่งนั้น ก็ยากเหลือเกิน เพียงการประพฤติตาม แต่ว่ากิเลสยังมากมายเหลือเกิน ยังไม่ใช่กิจที่ดับกิเลสหมดสิ้น เพียงแต่จะประพฤติตามเท่านั้น ก็ยังยาก
ในการรักษาอุโบสถศีลแต่ละข้อนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า เป็นการประพฤติเช่นพระอรหันต์ จะขอกล่าวถึงตามลำดับ ตั้งแต่อุโบสถศีลข้อที่ ๑
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อุโบสถวรรคที่ ๕ สังขิตตสูตร ซึ่งครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ตระหนักชัดดังนี้ว่า
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศาตรา มีความละอาย เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์ เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศาตรา มีความละอาย เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์แม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๑ นี้ ฯ
นี่เป็นอุโบสถข้อที่ ๑ ฟังเผินๆ เหมือนกับเพียงเว้นจากการฆ่าสัตว์ คือ ปาณาติบาต แต่พระผู้มีพระภาคยังทรงแสดงข้อความที่ว่า มีความละอาย เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดชีวิต นี่คือกิจของพระอรหันต์
เพราะฉะนั้น ท่านที่จะประพฤติตามพระอรหันต์ที่เว้นจากปาณาติบาต ก็ควรที่จะสะสมความละอาย ความเอ็นดู ความเมตตาในสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย ซึ่งใน ชีวิตประจำวันท่านทราบไหมว่า ท่านขาดเมตตามากเท่าไร หลายท่านที่ก่อนเจริญ สติปัฏฐานไม่เห็นว่า ตัวท่านเองมีกิเลสอะไรสักเท่าไร แต่ยิ่งอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ยิ่งเห็นกิเลสของตัวเอง ซึ่งเป็นการถูกต้อง เพราะว่าวิสัยของปุถุชนนั้นหนาแน่นด้วยกิเลส และถ้ายังไม่เห็นกิเลส จะละกิเลสได้อย่างไร
ในข้อของการงดเว้นจากปาณาติบาต การที่จะเบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่นให้เดือดร้อน ก็เป็นเพราะขาดเมตตา ถ้าขณะใดที่จิตประกอบด้วยเมตตา ขณะนั้นจะไม่มีการประหาร หรือว่าเบียดเบียนสัตว์อื่น บุคคลอื่นให้เดือดร้อนเลย แต่ถ้าขณะใดเกิดความไม่แช่มชื่นใจ เกิดความหงุดหงิด รำคาญใจ อันมีต่อสัตว์อื่น บุคคลอื่น นั่นเป็นเพราะขาดความเมตตา เป็นอกุศลจิต เพราะว่าไม่มีความเข้าใจ ไม่มีความเห็นใจในสัตว์อื่น ในบุคคลอื่น
ท่านที่เจริญสติปัฏฐานได้เล่าชีวิตความเป็นอยู่ของท่านในวันหนึ่งๆ ให้ฟังว่าท่านเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจในบุคคลที่แวดล้อมท่าน เพราะอัธยาศัยต่างกัน
แต่ถ้ามีเมตตาในบุคคลนั้น จะมีความรำคาญใจ หงุดหงิด หรือว่าจะเห็นใจ เข้าใจ และจิตที่เห็นใจ เข้าใจ ขณะนั้นเป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา จะไม่เบียดเบียนบุคคลนั้นด้วยกาย ด้วยวาจาให้เดือดร้อน แต่พอเริ่มหงุดหงิด รำคาญใจ จะไม่หยุดอยู่เฉพาะในใจ บางท่านจะออกมาทางกายและวาจาด้วย
นี่เป็นชีวิตจริงๆ ในวันหนึ่งๆ ของผู้ที่ยังมีกิเลสมาก ที่สติจะต้องระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง จึงจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมชนิดไหน เป็นกุศล หรืออกุศล บางท่านก็แยกกุศลกับอกุศลไม่ออก มักจะถามเสมอว่า อย่างนี้เป็นกุศล หรืออกุศล ซึ่งกุศลและอกุศลนี้ใกล้เคียงกันมาก เกิดสลับกันได้อย่างรวดเร็วที่สุด ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นให้ตรงตามความเป็นจริง จะเข้าใจว่าเป็นกุศล ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นอกุศล
นี่เป็นความละเอียดของจิตใจของแต่ละท่าน ซึ่งท่านจะต้องระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน
ท่านเคยจ้องจับผิดใครบ้างไหม ถ้ารู้ว่าใครผิด และยังคงพยายามที่จะจับว่า ผิดอีกแล้วบ้างหรือเปล่า ขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า
คนที่ทำผิด ก็มีอุปนิสัยสะสมมาที่ยากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงความคิดเห็น หรือการกระทำของเขา และทั้งๆ ที่ท่านรู้ว่าคนนั้นเป็นอย่างไร ผิดอย่างไร แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปจ้องจับผิดด้วยอกุศลจิต เป็นเรื่องที่ท่านสามารถจะแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยสติปัญญาที่ไตร่ตรอง พิจารณา ที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์ ไม่ใช่มีความมุ่งร้าย ขาดความเมตตาที่จะคอยจับผิดบุคคล ซึ่งท่านก็รู้ว่าเป็นปุถุชน และเป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยปัจจัยในการที่จะกระทำผิดอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าจะไม่ให้จิตเป็นอกุศล ท่านก็งดเว้นการที่จะสนใจจับผิด ซึ่งขณะนั้นเป็นการคิดที่จะเบียดเบียนบุคคลนั้น และก็เปลี่ยนเป็นความเมตตา ให้อภัยในบุคคลนั้น ขณะนั้นก็เป็นสภาพของกุศลจิต
การเบียดเบียนมีตั้งแต่จากใจ และมากขึ้นจนกระทั่งถึงกายและวาจาตามระดับขั้นของกิเลส แต่ถ้าจะให้เป็นความประพฤติอย่างพระอรหันต์จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เพียงแต่เว้นการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตเท่านั้น ยังจะต้องสะสมเจริญเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย ซึ่งปกติอาจจะไม่ได้สังเกตว่า ท่านขาดเมตตามากหรือน้อยอย่างไร ทางใจ หรือทางกาย หรือทางวาจา
และเมื่อมีโอกาสที่ท่านจะมีศรัทธารักษาอุโบสถศีล ก็ควรที่จะขัดเกลายิ่งขึ้น อาจจะย้อนพิจารณาถึงสภาพชีวิตจริงของท่านว่า มีกิเลสมากน้อยอย่างไร เมื่อมีการรักษาอุโบสถศีลแล้ว ก็ควรที่จะได้พิจารณาทั้งใจ ทั้งกาย ทั้งวาจาให้เป็นไปในเมตตาด้วย
สำหรับบางท่านจะพิจารณาได้ว่า ท่านขาดเมตตาไหม โดยการที่ว่า ท่านมีความผูกโกรธบุคคลหนึ่งบุคคลใดไว้หรือเปล่า เป็นเครื่องพิสูจน์สภาพจิตของท่านว่า เป็นกุศลหรืออกุศลมากน้อยเท่าไร ไม่ได้คิดเลยว่าจะโกรธอย่างรุนแรง แต่ก็อาจจะเกิดความโกรธอย่างรุนแรงเมื่อมีปัจจัยให้เกิดขึ้น แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลาย
บางท่านที่ขาดสติ ไม่ไตร่ตรอง ไม่พิจารณาธรรม ก็ไม่ยอมที่จะทิ้งความโกรธ แต่ว่าผูกไว้เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยอย่างนี้ ควรไหมในขณะที่ท่านรักษาอุโบสถศีล ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะขัดเกลายิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลข้อนี้ ไม่ควรเป็นเพียงละเว้นจากปาณาติบาต แต่ควรที่จะอบรมเจริญเมตตา อนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์อื่น บุคคลอื่นด้วย