แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 459

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

กรรมใดยังห่างไกลจากธรรม อันให้เกิดความเดือดร้อน เราจักบอกกรรมเหล่านั้น เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ

คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้นกิเลสหยาบช้า โกรธขึ้นมาย่อมฆ่าแม้มารดานั้นผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ได้

ท่านผู้ฟังจะเห็นกำลังของความโกรธได้จริงๆ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นมารดา อาจจะได้รับความรู้สึกกระทบกระเทือนใจจากความโกรธของลูก เวลาที่ความโกรธมีกำลัง อาจจะกระทำให้มารดาบิดาเสียใจทั้งทางกายก็ได้ ทางวาจาก็ได้ ทั้งๆ ในยามที่ไม่โกรธก็อาจจะตั้งใจว่า จะเป็นลูกที่ดี จะเลี้ยงดูอุปการะพ่อแม่ในยามแก่ยามเฒ่า แต่พอเกิดโกรธขึ้นมา กำลังของความโกรธ อาจจะทำให้ถึงกับประทุษร้ายได้

นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา เมื่อเป็นกิเลสที่มีกำลัง ก็ย่อมจะกระทำทุจริตกรรมต่างๆ ตามกำลังของกิเลสนั้นๆ ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เมื่อเห็นโทษของกิเลสอย่างนี้ จึงควรอบรมเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง คนโกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองได้เพราะเหตุต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษบ้าง เอาเชือกผูกคอตายบ้าง โดดเขาตายบ้าง คนเหล่านั้นเมื่อกระทำกรรมอันมีแต่ความเสื่อมและทำลายตนก็ไม่รู้สึก ความเสื่อมเกิดแต่ความโกรธตามที่กล่าวมานี้ เป็นบ่วงของมัจจุราช มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย

บุคคลผู้มักโกรธ มีการฝึกตน คือมีปัญญา ความเพียรและสัมมาทิฏฐิ พึงตัดความโกรธนั้นขาดได้ บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่างเสียให้ขาด พึงศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น

เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า ขอความเป็นผู้เก้อยากอย่าได้มีแก่เราทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ ปราศจากความโลภ ไม่มีความริษยา ฝึกฝนตนแล้ว ละความโกรธได้ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน ฯ

จบ สูตรที่ ๑๑

จบ อัพยากตวรรคที่ ๑

พระธรรมทั้งหมดก็จบลงด้วย ฝึกฝนตนแล้ว ละความโกรธได้ เป็นผู้ไม่มี อาสวะ จักปรินิพพาน ฯ

ที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นอกุศลธรรมต่างๆ ก็เพื่อจุดประสงค์ให้ฝึกฝนตน อบรมปัญญา ความเพียรและสัมมาทิฏฐิ ที่จะดับกิเลสทั้งหมดขาดเป็นสมุจเฉท เป็น ผู้ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน แต่ต้องพิจารณาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อประโยชน์แก่ตัวของท่านเอง เช่นข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง

ท่านปรารถนาสุขมากเพียงไร ท่านก็ปรารถนาให้คนอื่นมีความสุขอย่างนั้นมากเพียงนั้น เพราะเหตุว่ามีใจของท่านเองเป็นเครื่องเปรียบเทียบ

หรือว่าข้อความที่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลผู้มักโกรธ ซึ่งอาจจะเป็นท่านเองก็ได้

มีการฝึกตน คือมีปัญญา ความเพียรและสัมมาทิฏฐิ พึงตัดความโกรธนั้นขาดได้ นี่คือจุดประสงค์ของการที่จะขัดเกลาให้ยิ่งขึ้นด้วยการเจริญเมตตา พร้อมกับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนสามารถที่จะดับกิเลสได้ จริงๆ เป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล ไม่ใช่เพียงแต่ละปาณาติบาต แต่ต้องอบรมเจริญเมตตา เจริญธรรมที่เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับการที่จะกระทำทุจริตกรรมด้วย

ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สังขิตตสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ตระหนักชัดดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศาตรา มีความละอาย เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศาตรา มีความละอาย เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดคืนและวันนี้

นี่เป็นความต่างกัน เพราะว่าสำหรับพระอรหันต์นั้น เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดชีวิต แต่สำหรับท่านที่รักษาอุโบสถศีล เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดคืนและวันนี้

เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์แม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๑ นี้ ฯ

แม้ว่าจิตใจจะไม่บริสุทธิ์เสมอด้วยพระอรหันต์ก็จริง แต่การที่จะรักษาอุโบสถศีลโดยปล่อยให้วันเวลาผ่านไปโดยไม่อบรมเจริญธรรมขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้นนั้น เป็นการไม่สมควร เพราะฉะนั้น ควรอบรมเจริญเมตตาพร้อมกับการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจะทำให้สามารถดับกิเลสได้จริงเป็นสมุจเฉท

ในเรื่องของทานการให้นั้น จะกระทำให้สำเร็จได้ก็ด้วยอโลภะ เพราะถ้าตราบใดยังมีความติดข้อง หวงแหนในวัตถุ ท่านก็ไม่อาจสละให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นได้ เพราะฉะนั้น ทานก็อาศัยอโลภะเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะบำเพ็ญทานกุศลได้

สำหรับการรักษาศีลทุกข้อนี้ จะสำเร็จเป็นได้ก็เพราะเมตตา คือ อโทสะ ความไม่โกรธ เช่น ในข้อของปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ถ้าขณะนั้นเกิดเมตตา ฆ่าได้ไหม ก็ไม่ได้ หรือแม้แต่จะเบียดเบียนประทุษร้ายด้วยกาย หรือด้วยวาจาก็ตาม ถ้าเกิดเมตตาขึ้นทันทีในขณะนั้น ย่อมวิรัติการที่จะเบียดเบียนประทุษร้ายด้วยกาย ด้วยวาจา แต่ถ้าขณะนั้นเมตตาไม่เกิด อโทสะไม่เกิด ก็ย่อมเป็นไปตามกำลังของกิเลส

แม้ในข้อของอทินนาทาน คือ การถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าท่านเป็นผู้มีเมตตาในบุคคลผู้เป็นเจ้าของ รู้ว่าเขาจะต้องเสียใจเสียดายในการที่จะสูญเสียวัตถุที่เป็นประโยชน์ของเขาไป ถ้าท่านมีจิตเมตตาในขณะนั้น ท่านย่อมไม่สามารถที่จะถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้

กาเมสุมิจฉาจารก็เช่นเดียวกัน ย่อมทำความเดือดร้อนให้กับวงศาคณาญาติของผู้ที่ท่านกระทำทุจริตกรรม เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นท่านมีเมตตา คิดถึงบุคคลอื่น ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นเดือดร้อน ท่านก็จะละการล่วงทุจริตกรรมข้อนี้ด้วย

แม้ข้อของมุสาก็เช่นเดียวกัน การที่ท่านพูดไม่จริง เป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่น ไม่ให้คนอื่นได้รู้ความจริง เพราะว่าความโกรธ ความประทุษร้าย ไม่เมตตาต่อผู้อื่นจึงกล่าวมุสาได้

การดื่มสุราก็เช่นเดียวกัน เวลาที่ดื่มสุราแล้วขาดสติ หลงลืมสติอย่างมาก ซึ่งผู้ที่ดื่มสุราก็เป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อมีสุราเป็นเชื้อ ก็เป็นปัจจัยให้กิเลสเหล่านั้นเกิดและมีกำลังกล้าขึ้น จึงสามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อนได้

สำหรับศีล ๘ การเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล นั่นไม่ใช่เป็นเรื่องโทษ เรื่องเวร เรื่องภัย แต่เป็นการขัดเกลาโลภะ ความติดข้องในรสอาหาร

ศีลอุโบสถข้อที่ ๗ การลูบไล้ประดับประดาตบแต่งร่างกายก็เช่นเดียวกัน เป็นการขัดเกลาโลภะ ความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือแม้ในการเว้นจากที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ ก็เป็นการขัดเกลาโลภะ ความติดในการอยู่สบาย นอนสบาย แต่ถ้าการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมีกำลังแล้ว ก็สามารถที่จะเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน เป็นทุจริตกรรมได้

เพราะฉะนั้น เรื่องของศีลทั้งหมด เป็นเรื่องของการที่จะรักษาได้ด้วยอโทสะ คือ การมีเมตตาต่อสัตว์อื่น ต่อบุคคลอื่น

ใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สัตตสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างไรจึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมตระหนักชัดดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายละปาณาติบาต ฯลฯ ละการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ งดเว้นจากการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ สำเร็จการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนต่ำ คือ บนเตียงหรือเครื่องปูลาดด้วยหญ้าตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ งดเว้นจากการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ สำเร็จการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนต่ำ ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์แม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว

อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๘ นี้ บุคคลมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ อุโบสถชื่อว่าประกอบด้วยองค์ที่ ๙ นี้ ด้วยประการดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก ฯ

จบ สูตรที่ ๘

ข้อความเรื่องการงดเว้นจากการนั่ง การนอนบนที่นั่ง ที่นอนที่สูงใหญ่ ก็เป็นข้อความจากพระไตรปิฎกฉบับแปล

มีท่านผู้ฟังที่ค้นคว้าเรื่องของ อุจฺจาสยนมหาสยนา ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังท่านอื่นด้วย ที่จะได้ทราบเรื่องการแปลจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย

ผู้ฟัง กระผมขออภัยท่านผู้ฟัง เมื่อวันอาทิตย์ปลายเดือนสิงหาคมนั้น กระผมพูดเรื่อง อุจฺจาสยนมหาสยนา ไปหนหนึ่งแล้ว เมื่อพูดแล้วก็จะขอต่อพูดให้สมบูรณ์ คือ ในพระไตรปิฎกแปลท่านใช้คำว่า ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ใน พรหมชาลสูตร เรื่อง มัชฌิมศีล ซึ่งมีข้อความดังนี้

พระสมณโคดม เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบน ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะ วิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้าย มีสีหะและเสือ เป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่อ อชินะ อันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง.

อย่างผ้าโกเชาว์ กระผมไปเปิดดูในพจนานุกรมภาษาไทย พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านบอกว่า ขนแพะ

ทั้งหมดนี้ท่านขยายความออกมาจากคำแม่บท คือ อุจฺจาสยนมหาสยนา ซึ่งถ้าแปลตรงๆ แล้ว จะไม่มีคำว่าที่นั่งเลย มีแต่คำว่า ที่นอนสูง ที่นอนใหญ่อย่างเดียว ซึ่งคำเหล่านี้ที่แปลออกมาเป็นภาษาไทยที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เป็นคำของท่านอรรถกถา ท่านขยายความแล้วจึงนำมาใส่ในพระไตรปิฎก ไม่ใช่บาลีโดยตรง แต่เป็นคำของท่านอรรถกถา เช่น อรรถกถาท่านอธิบายว่า อาสนฺทีติ ปมาณาติกฺกนฺตาสนํ คือ อาสนฺทิ ได้แก่ ที่นั่งอันเกินประมาณ ในพระไตรปิฎกท่านแปลว่า เตียงมีเท้าเกินประมาณ ซึ่งคำว่า อาสนฺทิ คำเดียวนี้ เปิดดูในปทานุกรม ๔ ภาษา เขาแปลว่า ตั่งชนิดหนึ่ง หรือว่าเก้าอี้นอน ไม่ได้แปลอย่างพระไตรปิฎกแปล

คำแปลในพระไตรปิฎกเป็นคำแปลของท่านอรรถกถาจารย์ท่านแปลไว้ และท่านผู้แปลพระไตรปิฎกก็นำคำของอรรถกถานี้มาบรรจุไว้ในพระไตรปิฎกอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นคำแปลต่างๆ ที่อธิบายว่า ปลฺลงฺกํ คืออะไร เช่นเตียงซึ่งมีเท้าเป็นสัตว์ร้าย นี่เป็นคำของอรรถกถา ไม่ใช่พระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก พระพุทธพจน์จริงๆ คือ คำว่า ปลฺลงฺกํ เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่ผมอ่านเป็นภาษาไทยนี้ ไม่ใช่พุทธพจน์โดยตรง แต่ว่าเป็นคำของอรรถกถาจารย์ ท่านถอดออกมาไว้ในพระไตรปิฎกอีกทีหนึ่ง ซึ่งกระผมมีความเห็นว่า ไม่ควรจะบรรจุคำว่า ที่นั่ง เข้าไปไว้ในคำว่า ที่นอนด้วย สำหรับ อุจฺจาสยนมหาสยนา

เปิด  233
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565