แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 470

. เรื่องของฆฏิการะช่างหม้อ ดูเหมือนว่า เจ้าของบ้านเป็นสหายกันมาตั้งแต่เป็นฆราวาส เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังสนิทสนมกัน วันหนึ่งหลังคาวัดรั่ว พระผู้มีพระภาคเลยให้คนมารื้อแฝกที่บ้านเพื่อนไปเฉยๆ พอเพื่อนกลับมา ก็บอกว่า ท่านเอาไปก็ดีแล้ว นี่ก็น่าคิด แต่พระพุทธเจ้าท่านทำอะไรนั้น เป็นปาปวิมุติ คือ พ้นบาป เหมือนอย่างที่พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งว่า ห้ามไม่ให้พระทำปาฏิหาริย์ แต่พระองค์ทรงทำเสียเอง แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า พระองค์ปลูกมะม่วงไว้ในสวน และห้ามไม่ให้คนกิน นั่นรวมถึงฉันด้วยหรือ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น มะม่วงเราห้ามใครกิน แต่เรากินของเราได้ ฉันใด ก็ฉันนั้น เรื่องการประเคนก็คงไม่มีปัญหาอะไร พระผู้มีพระภาคท่านทำได้ และที่พระมาเอาแฝกไปมุงหลังคาวัด เอาไปเลย เจ้าของบ้านก็ยังไม่ทันรู้ ท่านก็ทำได้ เจ้าของบ้านกลับมารู้เข้า กลับอนุโมทนาว่าดีแล้ว ก็ไม่ผิดอะไร

สุ. ก็เป็นเรื่องของฆฏิการะช่างหม้อ ซึ่งคุณธรรมของท่านเป็นถึง พระอนาคามีบุคคล และพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า การที่พระองค์ทรงทรงถือวิสาสะกระทำอย่างนั้น จะเป็นเหตุให้ฆฏิการะช่างหม้อ ทั้งมารดาและบิดาปลาบปลื้มโสมนัสอย่างยิ่ง ไม่ใช่เป็นเหตุให้เขาเสียใจ เสียดาย โศกเศร้า ในการที่ทรงถือเอาอย่างนั้น เพราะเหตุว่าของๆ พระอนาคามีบุคคลเสมอกันกับของสงฆ์ ถ้าเพื่อสงฆ์แล้วไม่ขัดข้องเลย

. มีผู้สงสัยว่า เมื่อนำเอาหญ้าของฆฎิการะช่างหม้อไปมุงกุฏิของพระผู้มีพระภาคแล้ว บ้านของช่างหม้อนี้ก็มีอากาศเป็นหลังคา ฝนตกก็ไม่รั่ว แต่ทำไมกุฎิของพระผู้มีพระภาคถ้าไม่มุงแล้วจึงรั่ว

ผมก็เลยแก้ว่า ก็หญ้าในกุฎิของพระผู้มีพระภาคนั้นยังไม่มีเหตุ สร้างขึ้นตามธรรมดา เมื่อนำหญ้ามุงหลังคาของนายช่างหม้อไปให้พระผู้มีพระภาคแล้ว ก็เป็นกุศลของนายช่างหม้อ ซึ่งเหตุนี้แหละทำให้ฝนตกไม่รั่ว ไม่รู้จะถูกผิดอย่างไร

สุ. เป็นเรื่องของท่านผู้ฟังที่ช่างคิด ช่างพิจารณา ประกอบด้วยความพยายามใคร่ครวญหาเหตุผล ซึ่งก็ควรแก่การอนุโมทนา

แต่ว่ามีหลายสิ่งหลายประการเหลือเกินซึ่งเกินวิสัยที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะรู้ได้โดยถ่องแท้และถี่ถ้วน โดยเฉพาะในเรื่องอจินไตยข้อหนึ่งในสี่ข้อ คือ เรื่องของกรรมและวิบาก ซึ่งเรื่องของกรรมและวิบากก็ย่อมปรากฏตามควรแก่ปัจจัยนั้นๆ ถ้าผู้นั้นไม่ใช่เป็นผู้ที่รู้แจ้ง รู้จริงอย่างถ่องแท้ในเรื่องของกรรมและวิบากแล้ว ก็ยากที่จะแสดงได้ แต่สำหรับเรื่องของฆฏิการะช่างหม้อ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงให้เห็นว่า ด้วยกำลังของกุศลที่ประกอบด้วยความปีติโสมนัสของเขา เป็นปัจจัยที่ทำให้ฝนตกไม่รั่ว

. เรื่องของพุทธปาฏิหาริย์และบารมี ผมมีเรื่องๆ หนึ่ง คือ พระมหาเถระรูปหนึ่งท่านไปเจอตาแก่คนหนึ่งนั่งอยู่ ท่านก็ถามว่า โยมไปไหนมา ตาแก่ก็ตอบว่า ไปไหว้พระพุทธบาทสระบุรี พระมหาเถระก็ถามว่า โยมเชื่อไหมว่า พระพุทธเจ้าท่านเสด็จมาเหยียบไว้จริงๆ ตาแก่ก็ถามกลับว่า ท่านเชื่อไหมว่าพระพุทธเจ้าเหาะได้ พระมหาเถระตอบว่า เชื่อ ตาแก่ก็กล่าวว่า ปัญหาว่าไปเหยียบไว้ที่ไหนก็ไม่ต้องพูดถึง

สุ. ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟัง

ขออ่านจดหมายของพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง จากวัดร้าง ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม ลงวันที่ ๒๔ ก.ย พ.ศ ๒๕๑๗ ซึ่งข้อความในจดหมายของพระคุณเจ้าฉบับนี้คงจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟังบ้าง

เจริญพรมายังอาจารย์ที่นับถือ

อาตมาได้รับฟังคำบรรยายวิปัสสนาอันเป็นแนวทาง ทางวิทยุกระจายเสียง รู้สึกว่าได้รับความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ในเรื่องของพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ที่ท่านอาจารย์ท่านได้มีเมตตาจิตกรุณาเผยแพร่ธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งและคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ผู้ที่ได้ตั้งใจสดับ ให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย สำหรับรายการของท่านอาจารย์สุจินต์นั้น ท่านบรรยายในเรื่องของวิปัสสนา เพื่อให้ผู้ที่ตั้งใจฟังได้เกิดปัญญาในการปฏิบัติธรรมในขั้นสูง คือ ให้เกิดปัญญาในทางพระอภิธรรม อันเป็นข้อปฏิบัติในทางศีล สมาธิ ปัญญา เปรียบประดุจท่านส่องไฟให้ผู้มีตาได้แลเห็นสิ่งที่อยู่ในที่มืด ให้แลเห็นได้ ซึ่งไม่เหมือนกับท่านอาจารย์ในสำนักอื่น

ท่านอาจารย์ตามสำนักต่างๆ โดยมากมักจะประกอบด้วยพิธีรีตอง โดยท่านสอนไปตามอุบายหรือเรียกว่าตามนโยบายของท่าน คือ จะต้องให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนๆ กัน ก็เลยกลายเป็นลัทธิเอาอย่าง กลายเป็นเถรส่องบาตร เป็นอาจาริยวาท เชื่ออาจารย์ไปโดยงมงาย หาได้เกิดสติสัมปชัญญะตรงตามพระธรรมของพระพุทธเจ้าเลย จึงกลายเป็นเกิดทิฏฐิมานะขึ้นมาภายในจิต เหมือนอย่างอาตมา เมื่อฟังอาจารย์บรรยายธรรมครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ก็ไม่เกิดศรัทธา ครั้นฟังบ่อยๆ จึงรู้เรื่องว่า ตนเป็นคนพาล คนเขลา เป็นคนมิจฉาจิต และประกอบไปด้วยอหังการ มมังการ

เมื่อฟังอาจารย์พูดบ่อยๆ เข้า ก็คลายกิเลสลงไปได้บ้างในขณะที่ฟัง ครั้นหยุดฟัง กิเลสก็เข้าหมักดองในสันดานอีกต่อไป ถ้าขณะใดสติระลึกได้ในคำสอนของท่านอาจารย์สุจินต์ จิตก็จะเป็นกุศล ขณะใดหลงลืมขาดสติสัมปชัญญะ อกุศลก็ครอบงำร่ำไป จิตก็จะเป็นอกุศล จริงอย่างอาจารย์บรรยาย นี่เป็นความจริงของชีวิตอาตมา ๕๗ ปีที่ผ่านมาแล้ว ก็เห็นแต่ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แต่มันมิได้เห็นสิ่งเฉพาะหน้า คือ ขาดทั้งสติและสัมปชัญญะ เพราะเหตุว่า มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรมเป็นเจ้าเรือน ครองอยู่ในจิต

ที่อาตมาพูดได้อย่างนี้ เพราะอาศัยตำรา แต่ก็เป็นความจริงในชีวิตที่เป็นอยู่ เป็นพระอยู่ทุกวันนี้ เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายอยู่แทบทุกวัน แทนที่จะนึกว่า ตัวเองก็จะเป็นเช่นนั้นแล้วนึกสังเวช ก็เปล่า กลับมีความพอใจ เหมือนสัปเหร่อที่คอยจะหาผลประโยชน์จากคนตาย ฉะนั้น เห็นว่าคนเราที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนมากมักจะเห็นแต่ประโยชน์ของตน คือ มีใจอยากแต่จะได้ถ่ายเดียว ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากจะเสียสละอย่างแท้จริงเลย โดยมากอยากจะเสียให้น้อย คิดเอาให้มากกว่านั้น

อาตมาเป็นคนรู้น้อย เรียนก็น้อย การเขียนหนังสือก็พออ่านออก และมีการตกหล่น ผิดพลาดอยู่มาก วรรคตอนไม่ถูกต้อง หวังว่าท่านอาจารย์คงจะอภัย

สุดท้ายขออานุภาพคุณพระรัตนตรัย จงเป็นพลวปัจจัยให้ท่านอาจารย์ประกอบด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติทุกประการเทอญ

สุ. ขอกราบนมัสการในเมตตาจิตของพระคุณเจ้า ไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังมีความคิดเห็นประการใดบ้างไหมในเรื่องนี้

มีจดหมายของท่านผู้ฟังอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งจะขอกล่าวถึงข้อความบางตอน ท่านเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๓๘๑ สุดตรอกวัดโมฬีโลกยาราม ต.วัดอรุณ สุดถนนอรุณอัมรินทร์ อำเภอบางกอกใหญ่ กทม. ๖ ลงวันที่ ๓ ต.ค. พ.ศ. ๒๕๑๗

เรียน อาจารย์ที่เคารพนับถืออย่างสูง

จดหมายของผมลงวันที่ ๑๘ ก.ย. ๑๗ หวังว่าอาจารย์ได้รับแล้ว จดหมายฉบับนี้ผมเขียนมาคุยกับอาจารย์เป็นการส่วนตัว เพื่อสนับสนุนการบรรยายของอาจารย์เช่นเคย ฉบับก่อนนั้นผมกล่าวว่า สำนักปฏิบัติจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องมี สำหรับผู้ที่ไม่เคยรู้เรื่องรูปเรื่องนามมาก่อนเลยนั้น เมื่อวันเวลาล่วงเลยไปจนถึงบัดนี้ ผมกลับมีความเห็นว่า เป็นคำพูดที่ไม่ตรงต่อสภาพความเป็นจริงนัก กล่าวคือ ปกติถ้าคนเรามีสติเสียอย่าง ไม่หลงลืมปล่อยให้สติขาดลอยเรื่อยเปื่อย ด้วยเหตุเพราะธรรมดีบ้าง เลวบ้าง กลางๆ บ้างที่มากระทบสัมผัสแล้ว เลยเป็นไปด้วยกุศลบ้าง อกุศลบ้าง หรืออัพยากตธรรมบ้างแล้วไซร้ ย่อมมีสติ เจริญสติ ระลึกรู้สภาพและในลักษณะของธรรมได้ทุกชนิดที่เกิดดับ เกิดดับ มากมายเหลือที่จะคณานับได้ ด้วยความรู้สึกของตนเองตามความเป็นจริง ดังที่อาจารย์บรรยายทุกประการ

ฉะนั้น ปัญหาเรื่องสำนักปฏิบัติ ถ้าพูดตรงๆ พูดชัด และตัดสินให้สั้นเข้าโดยง่าย ผมขอแก้ว่า ไม่ต้องมี เพราะไม่จำเป็น เหตุผลเพราะอะไรจึงไม่จำเป็นต้องมีสำนักปฏิบัติ คำตอบคือ ถึงแม้ไม่มีสำนักปฏิบัติเลยจนสำนักเดียว สติก็มีโอกาสเกิดได้อยู่แล้ว แม้บางครั้งบางคราวตามสภาพความเป็นจริงในชีวิต อันเป็นปกติอย่างธรรมดาที่ผ่านมาจวบจนขณะนี้ และในโอกาสต่อๆ ไป ความรู้สึกของตนเองมันบอก ธรรมชาติมันเป็นจริงอย่างนั้น

สำหรับข้อความตอนอื่นขอเว้น เพราะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับสำนักปฏิบัติที่มีชื่อว่าเป็นสำนักใด

ท่านผู้ฟังมีความคิดเห็นอะไรบ้างไหมในเรื่องนี้

ผู้ฟัง ผมขออนุโมทนาท่านเจ้าของจดหมายฉบับหลัง ตามความเห็นของผม ผู้ที่เข้าใจธรรมอย่างผิดๆ และมีโอกาสเข้าใจถูกนี้ พันคนจะหาสักหนึ่งคนก็ยังหาได้ยาก เพราะความรู้ซึ่งผิดๆ ของเขาจะมาปิดความรู้ที่ถูก

ตามที่ผมประสบมา ผมก็รู้ว่า คนนี้มีความรู้ผิด ข้อปฏิบัติของเขาก็ผิด ผมพยายามจะอธิบายเพื่อให้เขาเข้าใจถูก ที่เราอธิบายไปนี้ ถ้าเขาเห็นว่า สงเคราะห์กับของเขาได้ เขาก็รับรองว่า สิ่งนี้ใช่ แต่ถ้าเราพูดบางอย่างที่ไม่เหมือนกับของเขา เขาจะไม่ตั้งใจฟังเลย มิหนำซ้ำ ยังเอาความรู้ของเขาแสดงออกมา พูดออกมา ทำให้เวลาเราพูดอะไร เขาไม่รู้เรื่องเลยแม้แต่นิดเดียว เอาอะไรที่เขารู้ผิดๆ นั้นมาแย่งพูด เราพูดอะไรๆ เขาไม่เอาใส่หูเลยสักคำเดียว ผมถือว่า ลักษณะนี้เป็นการปิดกั้น เป็นผู้ฟังที่ ไม่ดี เป็นผู้ที่ไม่ได้ตั้งใจฟังในเหตุ ในผล

เพราะฉะนั้น ท่านผู้นี้ก็เคยเห็นความจำเป็นในเรื่องห้องปฏิบัติ แต่ตอนหลังกลับเห็นว่า ห้องปฏิบัติธรรมนี้ไม่จำเป็น ก็หมายความว่า ท่านเจ้าของจดหมายฉบับนี้มีการฟังและเข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ผมจึงขออนุโมทนาในที่นี้ด้วย

สุ. ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อุโปสถวรรคที่ ๕ สังขิตตสูตร ข้อ ๑๓๑ มีข้อความกล่าวถึง อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ข้อที่ ๓ ความว่า

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ตระหนักชัดดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายละ อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้านตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละอพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้านอยู่ ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่า กระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๓ นี้ ฯ

การที่จะปฏิบัติขัดเกลากิเลส แล้วแต่อัธยาศัยของบุคคล แล้วแต่ว่าเป็นเพศของบรรพชิตหรือฆราวาส ถ้าเป็นบรรพชิต ก็มีเจตนาที่จะขัดเกลากิเลสด้วยข้อปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แล้ว คือ การรักษาพรหมจรรย์ของภิกษุต้องเป็นไปโดยตลอด แต่สำหรับการสะสมอัธยาศัยของบุคคลนั้น ก็ย่อมมีต่างๆ กัน

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เป็นฆราวาส ก็มีการสะสมมาต่างๆ กัน บางท่านก็เป็นผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ ละอพรหมจรรย์เป็นนิจ สำหรบท่านที่ไม่สามารถจะกระทำได้ ก็ควรที่จะได้สะสมการประพฤติพรหมจรรย์ ละอพรหมจรรย์ เพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัยในการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

จะเห็นได้ว่า การติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ยังมีอยู่มากหรือน้อย นั้น ก็แล้วแต่ชีวิตในแต่ละภพ แต่ละชาติ แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่สิ่งแวดล้อม ซึ่งท่านผู้ฟังก็ไม่ควรที่จะประมาท เพราะว่าชีวิตของพระอริยเจ้าก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านเหล่านั้น ทั้งๆ ที่ได้บำเพ็ญบารมีมามาก แต่ตราบใดที่กิเลสยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท แม้ชีวิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจะได้ตรัสรู้ก็ยังมีการครองเรือน หรือแม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านวิสาขามหาอุบาสิกา ท่านปฎาจาราภิกษุณี แต่ละท่านเป็นชีวิตจริงๆ ทั้งนั้น ซึ่งกว่าที่จะดับกิเลสของแต่ละท่านได้ ท่านเหล่านั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดกับท่านตรงตามความเป็นจริง ปัญญาที่ได้สะสมอบรมมาแล้ว จึงสามารถละคลายการเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้

ผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาค ต้องยอมรับสภาพธรรมที่ท่านได้สะสมมา พร้อมกันนั้นก็ควรที่จะได้ศึกษาในเหตุและในผลของสภาพธรรมนั้นๆ โดยละเอียดด้วยว่า สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด

ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อุบปาสกวรรคที่ ๕ อุปาลีสูตร มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาเพื่อซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด

เปิด  243
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566