แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 464
ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟังฉบับหนึ่ง เฉพาะข้อความบางตอนที่เกี่ยวกับการ เจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๓๘๑ สุดตรอกวัดโมฬีโลกยาราม สุดถนนอรุณอัมรินทร์ ตำบลวัดอรุณ อำเภอบางกอกใหญ่ กรุงเทพ ๖ ซึ่งมีข้อความบางตอนว่า
ในขณะที่จิตพิจารณาข้อใดข้อหนึ่งในบรรพของกายา เวทนาอันเป็นบรรพที่ ๒ ก็เสวยอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าจิตละจากการพิจารณากายา กลับมาพิจารณาเวทนาอันเป็นบรรพที่ ๒ ก็ทำได้โดยพลัน เพราะเหตุว่าความรวดเร็วของจิต ไม่มีอะไรเร็วเท่า ไม่เพียงเท่านี้ แม้เรื่องของจิตซึ่งเป็นบรรพที่ ๓ ก็เกิดอยู่ทุกขณะอีกนั่นแหละ เพราะถ้าจิตไม่เกิดปรากฏอยู่ทุกขณะแล้ว จะมีทางมาระลึกลักษณะของกายาบ้าง เวทนาบ้างได้อย่างไร เพราะฉะนั้น สติซึ่งพิจารณากายาหรือเวทนาอยู่บรรพใดบรรพหนึ่ง ก็อาจพิจารณาจิตได้โดยพลันทันทีอีก และถึงแม้กระนั้นแล้วก็ตาม ธรรมอันเป็นบรรพที่ ๔ ก็มีอยู่ด้วยอีกทุกขณะจิตนั่นแหละ อย่าลืมว่า จิตกำลังมีสติระลึกรู้อยู่ที่เวทนาบ้าง จิตบ้าง หรือกายาบ้าง แต่ด้วยความรวดเร็วของจิต อาจจะละจากการพิจารณาเวทนา หรือจิต หรือกายดังกล่าว และพิจารณาธรรมอันเป็นบรรพที่ ๔ ก็ทำได้โดยฉับพลันทันที
ข้อความตอนท้ายมีว่า
วนเวียนสับเปลี่ยนกันได้ชั่วเพียงแผล็บเดียว ต้องเจริญทั้ง ๔ บรรพแน่ มิฉะนั้นไม่มีหนทางจะบรรลุได้เลย เพราะบรรลุโดยความไม่รู้ทั่ว ก็ผิดจากความเป็นจริง
นี่คือจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่งที่ได้รับฟัง และอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม
ถึงแม้ว่าการละกิเลส ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทจะเป็นเรื่องยาก แต่พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงสภาพความจริงของธรรม เพื่อที่จะไม่ให้พุทธบริษัทเกิดความท้อถอย
ใน อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๖๕ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละอกุศล อกุศลอันบุคคลอาจละได้ ถ้าบุคคลไม่อาจละอกุศลได้ เราไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละอกุศล ดังนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะอกุศลอันบุคคลอาจละได้ ฉะนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละอกุศล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอกุศลนี้อันบุคคลละได้แล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ไซร้ เราไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละอกุศล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะอกุศลอันบุคคลละได้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ฉะนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละอกุศล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังกุศลให้เกิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุศลอันบุคคลอาจให้เกิดได้ ถ้าบุคคลไม่อาจให้เกิดได้เราไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังกุศลให้เกิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะกุศลอันบุคคลอาจให้เกิดได้ ฉะนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังกุศลให้เกิด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุศลนี้อันบุคคลให้เกิดแล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ไซร้ เราไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังกุศลให้เกิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะกุศลอันบุคคลให้เกิดแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ฉะนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังกุศลให้เกิด ฯ
กุศลก็เกิดได้ อกุศลก็ดับได้เป็นสมุจเฉท แม้ว่าจะยาก แต่จะต้องมีความอดทน เพียรที่จะขัดเกลากิเลส ละอกุศล เพราะเหตุว่ากุศลเป็นสิ่งที่อาจเกิดได้ และอกุศลก็เป็นสิ่งที่อาจดับได้
ถ. ผมเป็นผู้ที่เริ่มสนใจธรรม เพิ่งย่างเข้าเป็นปีที่ ๒ และที่สนใจก็เพราะได้พังอาจารย์บรรยายธรรมในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่บางอย่างก็ไม่ค่อยเข้าใจ บางอย่างก็พอจะทราบบ้าง จึงขอเรียนถามท่านอาจารย์ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การเจริญสติปัฏฐานก็ดี หรือการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ดี จะต้องรู้วิปัสสนาภูมิ ๖ หรือว่าจะต้องรู้แจ้งโพธิปักขิยธรรมด้วยหรือเปล่า จึงจะปฏิบัติได้
สุ. คำว่า วิปัสสนาภูมิก็ดี หรือ โพธิปักขิยธรรมก็ดี เป็นชื่อ แต่ขณะที่กำลังเห็นเป็นของจริงที่ปัญญาสามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ เพราะฉะนั้น การเห็น ถ้าจะใส่ชื่อลงไป การเห็นก็เป็นวิปัสสนาภูมิ คือ เป็นอารมณ์ให้ปัญญาสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้สภาพความจริงของธรรมที่ปรากฏ และขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าจะใส่ชื่อลงไป สติขณะนั้นก็เป็นโพธิปักขิยธรรม
แต่ถ้าเพียงรู้ว่าสติเป็นโพธิปักขิยธรรม หรือว่าการเห็น การได้ยินเหล่านี้ เป็นวิปัสสนาภูมิ โดยที่ไม่ศึกษาว่า สติมีลักษณะอย่างไร ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ ก็จะรู้แต่เพียงชื่อของวิปัสสนาภูมิและโพธิปักขิยธรรม
ถ. ข้อที่ ๒ สติ สมาธิ และสัมปชัญญะ รู้สึกว่า ๓ อย่างนี้ใกล้กันมาก เพราะฉะนั้น ผมอยากจะให้อาจารย์อธิบาย ๓ อย่างนี้
สุ. โดยการศึกษาปริยัติธรรม จะทราบว่า มรรคมีองค์ ๕ เมื่อเว้นวิรตีเจตสิก ๓ และในมรรคมีองค์ ๕ นั้น ก็มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
นั่นโดยการศึกษา แต่ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นมีสัมมาสมาธิเกิดร่วมด้วย และสัมปชัญญะก็เช่นเดียวกัน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติจึงเป็นสัมปชัญญะ ถ้าผิดปกติ จะกล่าวว่าเป็นมรรคมีองค์ ๘ ไม่ถูกต้อง
เช่น นั่งอยู่ และมีความรู้สึกเหมือนลอยขึ้นไป อย่างนั้นไม่ใช่สัมมามรรค ไม่ใช่สัมปชัญญะ เพราะสัมปชัญญะจริงๆ กำลังนั่งอยู่ มีการเห็น ไม่ว่าอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ประการใด สติก็ระลึกรู้
ถ. อาตมาอยู่ที่วัดนี้ อายุ ๘๐ กว่าแล้ว ที่พูดนี้ก็โดยได้ยินได้ฟังมามากและเรียนมาบ้าง อาตมาภาพฟังอาจารย์สุจินต์อธิบายแล้วดีมาก อาตมาใช้อัปปมาทธรรม คือ ความไม่ประมาทอยู่เป็นนิตย์ คือ เป็นผู้มีสตินั่นเอง แต่สติมากหรือสติน้อยก็เป็นแต่ละบุคคล ฉันชินมากในทางศาสนาพระพุทธเจ้า ตั้งแต่อายุ ๒๐ ออกจากทหาร ก็มาเป็นพระ เรียนตั้งแต่ชั้นตรี ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๐ และเรียนมูลกัจจายน์ของพระอีก ๕ ปี จึงได้มาอยู่วัดมหาธาตุ คณะ ๙
อาตมาภาพเห็นความดี ความงาม ในการเป็นผู้ที่ใคร่ต่อการศึกษาอย่างนี้ ไม่ผิดหลักในพระพุทธศาสนา ที่อาจารย์สุจินต์อธิบายนี้ คือ มหาสติปัฐาน เป็นบุพภาคของมรรคที่จะให้ผู้ปฏิบัติถึงความบริสุทธิ์ หลุดพ้นได้ มหาสติปัฏฐาน นี่แหละ ในบาลีอรรถกถาท่านสรรเสริญ สติ โลกสฺมิ ชาคโร คือ สติเป็นธรรมเครื่องปลุกให้ตื่นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ตื่นตามอาจารย์สุจินต์ท่านว่า ในขณะที่รูปนามปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างนี้แหละ อธิบายให้เข้าในโพธิปักขิยธรรม
อาตมารู้สึกเหนื่อยแล้ว ขอยุติ ขออภัยนะ ตาก็ไม่ดี กำลังก็ไม่ดี
สุ. ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้า ที่ได้แสดงธรรมเรื่องของการปฏิบัติธรรม และสติปัฏฐาน
ธรรมเป็นเรื่องที่ทั้งฆราวาสและบรรพชิตควรที่จะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงพระธรรมวินัยไว้หลายประการ ในเรื่องที่ฆราวาสและบรรพชิตควรเกื้อกูลอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน แต่ถ้าท่านไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด ท่านอาจจะคิดว่า ไม่ใช่กิจธุระของท่าน หรือท่านไม่สมควรจะแสดงความคิดเห็น ความศรัทธาปสาทในทางที่ถูก ท่านอาจจะคิดว่า ท่านไม่ควรจะแสดงความเห็นต่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่งซึ่งอาจจะมีความเห็นผิด ไม่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น แต่ในพระธรรมวินัยสิ่งใดที่เป็นธรรม สิ่งนั้นควรที่ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์จะกระทำ
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต - วรรคที่ไม่ได้สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ - ๔. สติวรรค - อัปปสาทสูตร ข้อ ๑๙๖ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกหวังอยู่ พึงประกาศความไม่เลื่อมใสแก่ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ พยายามเพื่อความพินาศแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ด่าบริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ติเตียนพระพุทธเจ้า ๑ ติเตียนพระธรรม ๑ ติเตียนพระสงฆ์ ๑ และเพราะเหตุนั้นเทวดาย่อมสรรเสริญอุบาสกนั้น ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกหวังอยู่ พึงประกาศความไม่เลื่อมใส แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ฯ
จบ สูตรที่ ๙
บางท่านหวั่นเกรง กลัวว่าจะเป็นบาป เป็นกรรม เป็นโทษ เป็นภัย แต่ถ้าท่านไม่คิดให้ลึกซึ้ง ท่านจะเข้าใจผิดคิดว่า เป็นอกุศลในการที่จะประกาศความไม่เลื่อมใสแก่ภิกษุรูปหนึ่งรูปใด แต่ว่าสภาพธรรม ย่อมเป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงไว้
ประโยชน์คืออะไร ในการที่จะประกาศความไม่เลื่อมใสในพระภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้
ประโยชน์ คือ เพื่อเกื้อกูลอนุเคราะห์ไม่ให้ภิกษุนั้นกระทำกรรมที่ร้ายแรงกว่านั้น ซึ่งจะเป็นโทษ เป็นภัยแก่ภิกษุนั้นเอง ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดง อัปปสาทสูตร สำหรับอุบาสกพึงประกาศความไม่เลื่อมใสแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑
นี่ไม่ใช่จิตที่เมตตาเลย และไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าภิกษุใดกระทำ ฆราวาสก็พึงประกาศความไม่เลื่อมใสแก่ภิกษุนั้น
ภิกษุพยายามเพื่อความพินาศแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ด่าบริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ติเตียนพระพุทธเจ้า ๑ ติเตียนพระธรรม ๑ ติเตียนพระสงฆ์ ๑
เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ด้วยดี ก็ไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ นี่เป็นความคลาดเคลื่อนในการเข้าใจพระธรรม เมื่อมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในพระธรรม ก็ย่อมติเตียนพระพุทธเจ้าโดยอ้อมที่ทรงแสดง พระธรรมนั้นว่า เป็นสิ่งซึ่งใครก็ไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ พร้อมกันนั้นก็เป็นการติเตียนพระสงฆ์ที่ว่า ไม่เห็นว่าบุคคลใดสามารถเป็นพระสงฆ์ที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ด้วย
ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะเกื้อกูลอนุเคราะห์ภิกษุรูปใด ก็ด้วยจิตเมตตาที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูล แต่ว่าไม่ใช่ด้วยอกุศลจิต
ข้อความต่อไปใน ปสาทสูตร
ข้อ ๑๙๗ มีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกหวังอยู่ พึงประกาศความเลื่อมใสแก่ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุไม่พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ไม่พยายามเพื่อความพินาศแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ไม่ด่าไม่บริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ไม่ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ สรรเสริญพระพุทธเจ้า ๑ สรรเสริญพระธรรม ๑ สรรเสริญพระสงฆ์ ๑ และเพราะเหตุนี้ เทวดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญอุบาสกนั้น ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกหวังอยู่ พึงประกาศความเลื่อมใสแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ฯ
จบ สูตรที่ ๑๐
ภิกษุรูปใดเป็นผู้ที่ประกอบด้วยธรรมที่ถูกต้อง ขัดเกลากิเลสถูกต้อง รู้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง จึงสรรเสริญพระพุทธเจ้า สรรเสริญพระธรรม สรรเสริญพระสงฆ์ และ ไม่พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ไม่พยายามเพื่อความพินาศแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ไม่ด่าไม่บริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย ไม่ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย
สำหรับ ข้อ ๘ ใน อัปปสาทสูตร ในพระไตรปิฎกภาษาไทย มีข้อความว่า
และเพราะเหตุนั้น เทวดาย่อมสรรเสริญอุบาสกนั้น ๑
แต่ว่าข้อความในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ เล่ม ๒๓ หน้า ๓๕๗ มีข้อความว่า
ตโต จ เทวา นํ ปสฺสนฺติ ซึ่งแปลความว่า และเทวดาย่อมเห็นภิกษุนั้นโดยประการนั้น
แต่ว่าข้อความในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ เล่ม ๒๓ หน้า ๓๕๗ มีข้อความว่า
อโคจเร จ นํ ปสฺสนฺติ ซึ่งแปลความว่า อุบาสกทั้งหลายย่อมเห็นภิกษุนั้นในที่อโคจรทีเดียว