แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 466

ข้อความต่อไปมีว่า

องค์แห่งการหงายบาตร

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรแก่อุบาสก ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ:

๑. ไม่ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย

๒. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่เป็นประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย

๓. ไม่ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย

๔. ไม่ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย

๕. ไม่ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกร้าวกัน

๖. ไม่กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า

๗. ไม่กล่าวติเตียนพระธรรม

๘. ไม่กล่าวติเตียนพระสงฆ์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หงายบาตร แก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงหงายบาตรอย่างนี้

เจ้าวัฑฒะลิจฉวีนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระหย่งประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า สงฆ์คว่ำบาตรแก่ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าคบกับสงฆ์ไม่ได้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ ขอการหงายบาตรกะสงฆ์

พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม ฯ

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา

. ในเมื่อพระพุทธเจ้ามีอนาคตังสญาณ คาดการณ์อนาคตได้ ทำไมพระองค์ไม่ทรงบัญญัติพระธรรมวินัยไว้ก่อน ทำไมต้องรอให้เกิดเรื่องขึ้นจึงบัญญัติ พระธรรมวินัย เป็นแบบวัวหายแล้วล้อมคอก ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย

สุ. ในพระธรรมวินัยแสดงไว้แล้วว่า ถ้ามูลเหตุยังไม่เกิดขึ้น จะไม่ทรงบัญญัติ แต่เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว ทรงประกาศให้เห็นว่า การกระทำเช่นนั้นไม่เหมาะ ไม่ควรอย่างไร และให้สงฆ์เองเป็นผู้ที่พิจารณาว่า เป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่ เมื่อสงฆ์เห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควร พระผู้มีพระภาคก็ทรงบัญญัติเป็นพระวินัย ต้องให้พระสงฆ์ทั้งหลายได้เห็นตัวอย่างของการกระทำนั้น และพิจารณาว่าการกระทำนั้นไม่เหมาะไม่ควรด้วย

ถ้ายังไม่เกิดเหตุการณ์จริงๆ ขึ้น แต่ทรงบัญญัติวินัยข้อปลีกย่อยไว้มากมาย ก็จะทำให้คนอื่นเห็นว่า เป็นการขัดเกลายิ่งนัก เป็นเรื่องที่จุกจิกเกินไป หรืออาจจะเห็นว่า ไม่มีใครจะกระทำผิดอย่างนี้

ต่อเมื่อผู้ใดกระทำผิดอย่างนั้นแล้วจริงๆ จึงเห็นว่าแม้การกระทำผิดอย่างนั้น ก็มีได้ ก็เป็นได้ แต่ถ้าไม่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นจริงๆ บางท่านอาจคิดว่า ไม่มีใครจะกระทำผิดอย่างนี้ได้เลย แต่ความจริง มีการกระทำอย่างนั้นจริงๆ

มูลเหตุแห่งพระวินัยบัญญัติทั้งหมด เกิดขึ้นจากการกระทำในสิ่งที่ไม่สมควรแก่สมณะทั้งสิ้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงบัญญัติเป็นพระวินัย

และถ้าศึกษาในพระวินัยจะเห็นว่า แม้เป็นเพศบรรพชิตแล้ว ตราบใดที่ยังมีกิเลสกันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสมัยโน้น หรือสมัยนี้ก็ตาม ก็ย่อมจะกระทำสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ ได้

ขอกล่าวถึงเรื่องของท่านพระทัพพมัลลบุตร ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๑ เรื่องพระทัพพมัลลบุตร ข้อ ๕๘๙ มีข้อความว่า

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระทัพพมัลลบุตรมีอายุ ๗ ปีนับแต่เกิด ได้ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต คุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งสาวกจะพึงบรรลุ ท่านได้บรรลุแล้วโดยลำดับทั้งหมด อนึ่ง ท่านไม่มีกรณียกิจอะไรที่ยิ่งขึ้นไป หรือกรณียกิจที่ทำเสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องกลับสั่งสมอีก ฯ

เป็นกาลสมบัติจริงๆ ที่บุคคลใดก็ตามได้พากเพียรอบรมเจริญสติปัฏฐาน ในครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ มาแล้ว เมื่อบารมีสมควรที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ เมื่ออายุได้เพียง ๗ ปี เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้เห็นประโยชน์ของการสะสมสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไปมีว่า

ครั้งนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตรหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า เราแลมีอายุ ๗ ปีนับแต่เกิด ได้ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต คุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งสาวกจะพึงบรรลุ เราได้บรรลุแล้วโดยลำดับทุกอย่าง อนึ่งเล่า เราไม่มีกรณียกิจอะไรที่ยิ่งขึ้นไป หรือกรณียกิจที่เราทำเสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องกลับมาสั่งสมอีก เราควรทำความช่วยเหลือแก่สงฆ์อย่างไรหนอ ลำดับนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตรได้คิดว่า ผิฉะนั้น เราควรแต่งตั้งเสนาสนะ และแจกอาหารแก่สงฆ์ ฯ

ไม่ใช่ว่าไม่มีกิจที่ควรทำ ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์ ไม่มีกุศลกรรม อกุศลกรรมใดๆ จะให้ผลต่อไปก็จริง แต่ชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ ก็ควรที่จะได้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา แก่พระภิกษุสงฆ์

ด้วยเหตุนี้ ท่านพระทัพพมัลลบุตรก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และได้กราบทูลขอเป็นผู้ที่แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหารแก่สงฆ์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า

ดีละ ดีละ ทัพพะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงแต่งตั้งเสนาสนะ และแจกอาหารแก่สงฆ์เถิด

ท่านพระทัพพมัลลบุตรทูลรับสนองพระพุทธานุญาตแล้ว ฯ

ต่อไปท่านผู้ฟังจะได้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นพระภิกษุ แต่ก็มีกรรมที่ต่างกัน

ข้อความต่อไปมีว่า

เรื่องพระเมตติยะและพระภุมมชกะ

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเมตติยะและพระภุมมชกะเป็นพระบวชใหม่และมีบุญน้อย เสนาสนะของสงฆ์ชนิดเลวและอาหารอย่างเลว ย่อมตกถึงแก่เธอทั้งสอง ครั้งนั้น ชาวบ้านในพระนครราชคฤห์ชอบถวายเนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง แกงที่มีรสดีๆ บ้าง ซึ่งจัดปรุงเฉพาะพระเถระ ส่วนพระเมตติยะและพระภุมมชกะ เขาถวายอาหารอย่างธรรมดาตามแต่จะหาได้ มีชนิดปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ เวลาหลังอาหารเธอทั้งสองกลับจากบิณฑบาตแล้ว เที่ยวถามพวกพระเถระว่า

ในโรงฉันของพวกท่านมีอาหารอะไรบ้างขอรับ ในโรงฉันของพวกท่านมีอาหารอะไรบ้างขอรับ

พระเถระบางพวกบอกอย่างนี้ว่า

พวกเรามีเนยใส น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อยๆ

ส่วนพระเมตติยะและพระภุมมชกะพูดอย่างนี้ว่า

พวกข้าพเจ้าไม่มีอะไรเลยขอรับ มีแต่อาหารอย่างธรรมดาตามแต่จะหาได้ เป็นชนิดปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ

ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเดือดร้อนไหม

. ตรงนี้สำคัญมาก ที่พูดกันโดยมาก ระลึกรู้ๆ เห็นทางตาก็ระลึกรู้ ทางจมูกก็ระลึกรู้ กายสัมผัสก็ระลึกรู้ เมื่อไรจะพ้นไปสักที ตรงนี้สำคัญที่สุด ระลึกรู้อย่างนั้น ระลึกได้ แต่ใครเป็นผู้พ้น

สุ. หมายความว่า เวลานี้ระลึก แต่ไม่พ้นใช่ไหม เวลานี้สติเกิดขึ้นระลึก แต่ไม่พ้นวัฏฏะใช่ไหม ต้องการพ้นใช่ไหม ระลึกต่อไปอีก

. หมายถึงการปฏิบัติใช่ไหม

สุ. มีวิธีเดียว

. แล้วเมื่อไรจะพ้นสักที

สุ. เวลาพ้นก็พ้น เวลายังไม่พ้นก็ไม่พ้น เวลาที่จับด้ามมีด ด้ามมีดยังไม่สึก ทำอย่างไรด้ามมีดจึงจะสึก ก็จับต่อไปอีก จนกว่าจะสึก

. เฉพาะตน

สุ. ทุกคนเหมือนกันหมด ใครปฏิบัติ ปัญญาก็เกิด ละคลายกิเลสไป ลองจับด้ามมีดวันนี้ ด้ามมีดสึก วัฏฏะก็หมดได้

. ในชีวิตนี้ได้ไหม

สุ. ก็แล้วแต่ แต่ละคนไม่เหมือนกัน

. พุทธศาสนานี้เกิดมานานแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็ดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ทำไมเราจึงจำมากล่าวกันได้

สุ. ไม่ได้กล่าวเอง ถ้าไม่มีปรากฏ จดจำสืบต่อกันมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ใครจะนึกกล่าวเองขึ้นมาได้ จุดประสงค์ย่อๆ ก็มีเพียงเท่านี้ คือ อบรมเจริญต่อไปอีก

. หมายความว่า อบรมนั่นเอง

สุ. ต้องอบรมเจริญต่อไปเรื่อยๆ

ตัวอย่างของธรรมก็มีอยู่เสมอ ไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดอยู่เฉพาะในครั้งพุทธกาล ในครั้งพุทธกาล นามรูปใดๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นบุคคลต่างๆ ในครั้งโน้น ก็มีปรากฏจารึกให้บุคคลในครั้งนี้สมัยนี้ได้ฟัง ได้อ่าน ได้พิจารณา ได้เทียบเคียง แม้ชีวิตที่เป็นบุคคลต่างๆ ในสมัยนี้ ก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เห็นเป็นธรรม

. อยากจะเรียนท่านผู้ฟังทั้งที่นี่และทางวิทยุด้วยว่า เท่าที่ฟังอาจารย์บรรยายมา ผมมักจะได้ยินเสมอว่า การเจริญสติปัฏฐานที่ทำเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น ถ้าหากว่าขับรถยนต์แล้วไม่มีทางจะทำได้นั้น ผมใคร่ขอเรียนให้ทราบว่า ผมเองก็ขับรถยนต์มาตลอด ขณะนี้ก็ยังขับอยู่ ขับมานานแล้วด้วย และก็ฟังอาจารย์สุจินต์มานานพอสมควร นอกจากนั้นก็ศึกษาธรรมตามตำราบ้าง ฟังทางวิทยุ จากหลายอาจารย์บ้าง สรุปว่าก็พอมีความรู้ทางธรรมบ้าง

ผมขอยืนยันว่า การขับรถยนต์นั้น สติเกิดได้แน่นอน ที่เกิดได้นั้น ผมก็ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดด้วย คือเกิดเอง จะว่าเกิดเองก็ไม่ถูก แต่เพราะว่าผมได้สั่งสมเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิด ซึ่งอาจารย์สุจินต์ก็ได้ย้ำนักย้ำหนาว่า ธรรมทั้งหลายนั้นย่อมไหลมาแต่เหตุ เพราะฉะนั้น สติที่เกิดในขณะที่ขับรถยนต์นั้น ผมไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิด แต่เนื่องจากผมได้ฟังอาจารย์สุจินต์หรือฟังธรรมมาเป็นเหตุเป็นปัจจัย ซึ่งเมื่อฟังแล้ว ก็เห็นประโยชน์ของสติ

ผมคิดว่าการขับรถยนต์นี้ ปรากฏว่ามีเสียงรถ หรือเสียงอะไรก็แล้วแต่ในถนนมากมายเหลือเกิน บางเสียงเกิดขึ้นแรงผิดปกติ เมื่อเกิดขึ้นมาผิดปกติ สติก็เกิดขึ้นมาทันทีเหมือนกัน จะด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบ ก็เกิดขึ้นมาให้ผมระลึกขึ้นมาได้ว่า นี่รูป บางครั้งก็สงสัยว่า เอ นี่จะเป็นได้ยินหรือเปล่า บางทีก็รูป บางทีก็นาม ผมก็ยังสงสัยอยู่เรื่อย พอสงสัยว่านาม ผมก็ระลึกว่า ที่ผมสงสัยว่านาม ก็คือนามอีก ก็นาม นาม ต่อไปเรื่อยๆ

ประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมของผมก็เป็นอย่างนี้ แต่ว่าที่สติเกิดนั้น ไม่ใช่เกิดบ่อยๆ หมายความว่าก็มีบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก ไม่ใช่ว่าขึ้นนั่งรถแล้วจะเกิดสติตลอดเวลา ไม่ใช่อย่างนั้นแน่นอน

และถ้าใครว่า ถ้าสติเกิดแล้วจะต้องมีอุบัติเหตุ หรือทำให้เราขาดความระมัดระวังไป ผมคิดว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าหากว่าสติเกิดจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความเสียหาย หรือทำให้เราถึงตาย ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้เราได้รับวิบากถึงขั้นนั้น คือ ขับรถไปชนคนตาย หรือว่าตัวเราเองตายไป ผมคิดว่า คงจะไม่ใช่เหตุปัจจัยที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน หรือเกิดจากเหตุปัจจัยในการฟังธรรม ปฏิบัติธรรมมาแน่นอน

การเกิดอุบัติเหตุก็ดี หรืออะไรก็ดี เกิดจากวิบากของการทำกรรม จากไหนมาก็ไม่ทราบ จากในอดีตก็แล้วกัน เพราะฉะนั้น ผมยืนยันได้ว่า การที่สติเกิดนี้ ย่อมไม่เกิดอันตรายอย่างแน่นอนที่สุด ถ้าเกิดอันตรายก็ไม่ใช่เนื่องมาจากสติ

อีกประการหนึ่ง ผมมีปัญหาเรื่องศีลข้อที่ ๑ ที่ผมเคยเรียนถามมาครั้งหนึ่งแล้ว ว่า สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่บ้านผมมากเหลือเกิน โดยเฉพาะมด เพราะฉะนั้น ผมต้องลำบากเหลือเกิน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ สัตว์เล็กสัตว์น้อยนี้ผมยังพอหลีกเลี่ยงได้ แต่ผมมาเจอปัญหาเรื่องปลวกขึ้นบ้าน ผมเลยหมดปัญญาที่จะหาทางออก

ตอนที่ผมปลูกบ้าน เขาแนะนำว่า ให้เรียกเจ้าหน้าที่มาใส่ยากำจัดปลวกในบริเวณที่จะสร้างเสียก่อน เพื่อจะไม่ให้เป็นปัญหาต่อไป ผมก็คิดว่า จะเป็นการฆ่าปลวก เราอย่าทำเลย เพราะว่าบ้านเราก็ไม่ใช่บ้านไม้ พื้นก็เทคอนกรีตหมด ปลวกคงขึ้นไม่ได้แน่ ผมก็ปล่อยไป ซึ่งผมก็มั่นใจอยู่ว่า ปลวกไม่ขึ้นบ้านแน่ ส่วนไหนที่เป็นไม้ ผมก็เอายากันปลวกทาไว้เรียบร้อยหมด แม้จะต้องลงทุนอะไรบ้าง ผมก็ยอม

แต่เมื่อปลูกบ้านมาได้สักปีหนึ่ง ปลวกขึ้นบ้านจริงๆ ขึ้นไปบนเพดาน ขึ้นมาจากท่อระบายน้ำ ท่อน้ำทิ้ง แต่ยังไม่ถึงกับกินไม้ เพราะผมทายาเอาไว้ ผมคิดว่าจะเรียกช่างเขามากำจัดปลวก ถ้าไม่คิดอะไรในศีลข้อ ๑ มากนัก ก็คงไม่มีปัญหา แต่ผมก็ลังเลๆ จนเดี๋ยวนี้ ยังไม่รู้ว่าจะเรียกเขามาทำดีไหม เท่านี้แหละครับ

สุ. ขออนุโมทนาในการปฏิบัติธรรม และจากการปฏิบัติธรรม ก็ทำให้ท่านผู้ฟังที่ปฏิบัติธรรมได้เข้าใจ และแยกลักษณะของผลของกรรมที่จะได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุต่างๆ บ้าง หรืออะไรต่างๆ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ว่าต้องเนื่องมาจากอดีตเหตุแน่ๆ

สำหรับปัญหาเรื่องปลวก แล้วแต่บุคคล และความมั่นคงในธรรมของแต่ละคน ซึ่งแทนกันไม่ได้ ท่านหนึ่งอาจจะปฏิบัติอย่างนี้ อีกท่านหนึ่งอาจจะปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง บางท่านอาจจะเห็นว่า การปฏิบัติโดยธรรมนั้นตึงเกินไปสำหรับชีวิตของฆราวาส แล้วแต่ความมั่นคงในจิตใจของท่านจริงๆ ซึ่งความจริงท่านผู้ถามก็สะสมกุศลมามาก จึงถึงขั้นลังเล ไม่ใช่ถึงขั้นที่จะรีบร้อนกระทำปาณาติบาต

เรื่องของปลวก รู้สึกว่าเป็นเรื่องทดลองความมั่นคงของศีลข้อนี้ ซึ่งแต่ละท่านก็คงจะแก้เหตุการณ์ไปตามสภาพจิตใจของท่าน

. ทำอย่างไรให้ศีลของเราบริสุทธิ์ และให้เรามีสติที่มั่นคง ยึดมั่นในความดี ทั้งๆ ที่ดิฉันเองก็ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง

สุ. ก็คงจะเป็นทุกคน ซึ่งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถ้าดีหมดก็เป็นพระอรหันต์ และการที่จะรักษาศีลได้บริสุทธิ์ครบถ้วนโดยสมบูรณ์ ก็เมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลเท่านั้น เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ก็มีข้อที่น่าเห็นใจ

เปิด  261
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566