แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 474

ใน ขุททกนิกาย อุทาน นันทวรรคที่ ๓ นันทสูตร ข้อ ๖๗ มีข้อความเรื่องท่านพระนันทะ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค ท่านได้บอกแก่ภิกษุเป็นอันมากว่า ท่านไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์อยู่ได้ ท่านจะบอกคืนสิกขาลาเพศ เพราะระลึกถึงแต่คำของนางสากิยานีผู้ชนบทกัลยาณี ซึ่งท่านจะแต่งงานด้วยก่อนที่ท่านจะได้อุปสมบท แต่ในภายหลังท่านก็ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงท่านในนันทสูตร ใน อังคุตตรนิกาย ข้อ ๙๙ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง พึงเรียกว่า กุลบุตรผู้มีกำลัง ผู้ก่อให้เกิดความเลื่อมใส ผู้มีราคะกล้า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อความนี้ย่อมมีเพราะเหตุไร เพราะว่านันทภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียร อันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่เสมอ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ อันเป็นเหตุให้นันทภิกษุสามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ได้ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่า ท่านพระนันทะนั้นเลิศกว่าพวกภิกษุสาวก ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย แสดงให้เห็นว่า กิเลสทั้งหลาย เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งต้องอาศัยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้นจึงจะดับกิเลสได้ แต่ถ้าท่านบิดเบือนเป็นอย่างอื่น ท่านก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ถึงกิเลสที่ท่านสะสมมาเลยว่า ยังมีอยู่มากมายเพียงไร และจะขัดเกลาละคลายให้หมดสิ้นไปได้ประการใด

ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดกับท่าน ท่านจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าถึงขั้น พระอนาคามีบุคคล ก็ย่อมยังคงมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เมถุนสูตร มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล ชานุสโสณีพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

แม้ท่านพระโคดมก็ทรงปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารีหรือ

ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา มีว่า

ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกพราหมณ์ทั้งหลายเรียนคัมภีร์พระเวทในลัทธิของพราหมณ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ถึง ๔๘ ปี แต่พระสมณะโคดมอยู่ครองเรือน ชื่นชมอภิรมย์อยู่ด้วยความยินดีแห่งนักฟ้อนทั้ง ๓ ประเภทในปราสาททั้ง ๓ ฤดู บัดนี้จักยังกล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์อยู่หรือ เพราะฉะนั้น พราหมณ์นั้นจึงได้ถามอย่างนี้ หมายเอาเนื้อความนี้

เป็นการเปรียบเทียบตนเอง ซึ่งไม่เข้าใจในข้อปฏิบัติที่ดับกิเลสได้จริงๆ เพราะฉะนั้น ก็มีความคลางแคลงสงสัยว่า แม้ตนเองก็ได้เรียนคัมภีร์พระเวท และได้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ถึง ๔๘ ปี แต่ส่วนพระผู้มีพระภาคนั้น ในกาลก่อนก็ได้ครองเรือน ชื่นชมอภิรมย์อยู่ด้วยความยินดีแห่งนักฟ้อนในปราสาททั้ง ๓ ฤดู และก็ออกบวชในเวลาไม่นาน เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์อยู่หรือ

แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้ข้อปฏิบัติที่ดับกิเลสได้จริง จะหมดความสงสัยในเรื่องที่ปัญญาสามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏได้ตามควรแก่เหตุ คือ ตามบารมีที่ได้สะสมมา

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวผู้ใดว่า ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์ บุคคลนั้น เมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวเรานั่นแล เพราะเราประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์เต็มที่ ฯ

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระอริยเจ้าในเพศของบรรพชิตเท่านั้น ที่พรหมจรรย์บริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์เต็มที่ แต่ถ้าตราบใดยังไม่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยเจ้า แม้เป็นบรรพชิต พรหมจรรย์นั้นก็ยังขาด ทะลุ ด่าง พร้อย ไม่บริสุทธิ์ได้

ข้อความต่อไป

ชานุสโสณีพราหมณ์ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็อะไรชื่อว่า ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ ถูกแล้ว สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณว่า เป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม แต่ยังยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และนวดฟั้นของมาตุคาม พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

ดูกร พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้ ฯ

สมณพราหมณ์ก็มีข้อประพฤติปฏิบัติต่างๆ กัน บางลัทธิก็คงจะมีการติดต่อเกี่ยวข้องกับเพศหญิง คือ มาตุคาม และเมื่อไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า ก็เป็นของธรรมดาที่ย่อมมีความยินดีพอใจในการเกี่ยวข้อง สมณพราหมณ์พวกนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม และไม่ยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และการนวดฟั้นของมาตุคาม แต่ยังกระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการเสสรวลนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ

ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม และไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม แต่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการเล็งแลนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ

มีประโยชน์ไหมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริงโดยละเอียดข้อนี้ด้วย ก็เพื่อที่จะให้รู้ชัดว่า ผู้ใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังมีกิเลสอยู่ และก็เกิดขึ้นมากน้อยตามโอกาสของปัจจัยที่จะให้เกิดกิเลสนั้นๆ

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม และไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน แต่ได้ฟังเสียงมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยเสียงนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ

ละเอียดไหม จิตจริงๆ ละเอียดและว่องไวอย่างนี้ทีเดียว ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นเพียงลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจะเกิดความพอใจ ปลื้มใจ

. ปัญญาขั้นไหนจึงจะรู้ชัดวิถีจิตที่เกิดดับ รวมทั้งลักษณะของภวังคจิต ลักษณะของปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ปัญญาขั้นไหนถึงจะรู้ได้

สุ. ก่อนจะถึงปัญญาขั้นนั้น ควรที่จะมีปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารที่ปรากฏเสียก่อน และการที่จะประจักษ์การดับไป ต้องพิจารณาทั่ว ต้องเป็นปัญญาที่คมกล้า ที่สามารถจะรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏเสียก่อน ส่วนการที่จะรู้ละเอียดมากน้อยเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถจะมีปัญญา เช่นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาของ พระอัครสาวก หรือปัญญาของพระมหาสาวก ซึ่งท่านมีทั้งวิชชาและจรณะ ทั้งฌาน อภิญญา สมาบัติทุกประการที่จะเกื้อกูลให้ประจักษ์สภาพธรรมแจ่มแจ้งโดยละเอียด

และสำหรับผู้ที่จะประจักษ์สภาพธรรมบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า ก็แล้วแต่บารมีที่ท่านสะสมมาเป็นปัจจัยว่า สามารถที่จะให้รู้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รวมทั้งความรู้ชัดนั้น จะต้องประจักษ์ทางมโนทวาร ซึ่งกำลังเกิดสลับกับทางปัญจทวารด้วย

เพราะฉะนั้น อย่าสงสัยถึงวิถีจิตแต่ละขณะที่รวดเร็ว ขณะนี้นามธรรมและรูปธรรมมีจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องสามารถมีปัญญาที่รู้ชัดในสภาพที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม รู้ชัดในสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ที่ต่างกับขณะที่ได้ยิน และจะต้องรู้ชัดถึงมโนทวารที่เกิดสลับกับทางปัญจทวารด้วย

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน และไม่ได้ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี แต่ตามนึกถึงการหัวเราะ พูด เล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยอาการนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ

เป็นความจริงในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ความคิดนี้ห้ามไม่ได้เลย มากกว่าร้อยแปดพันเก้า เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวกังวล เดี๋ยวเป็นห่วง เดี๋ยวเพลิดเพลิน เดี๋ยวเต็มไปด้วยความหวัง เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องของตัวเอง ของญาติมิตรสหาย ของโลก ของชาวบ้าน ชาวเมือง สารพัดเรื่องจริงๆ จะละได้อย่างไร

ถ้าจิตไม่เกิดเลย เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะมีได้ไหม แต่เพราะจิตเกิดดับอย่างรวดเร็วเหลือเกิน จิตขณะหนึ่งจะคิดได้เพียงคำเดียว แต่ว่าเรื่องราวที่ปรากฏนับไม่ถ้วน ว่ากี่คำ ถ้าสติไม่เกิด ก็ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลไม่ได้

เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า การที่จะละได้ เพราะสติเกิดขึ้นรู้ว่า ที่กำลังคิดก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นสภาพคิด และก็หมดไป เมื่อมีการคิดนึกเกิดขึ้นอีก ปรากฏอีก ก็รู้ว่า เป็นสภาพนามธรรมที่คิดในเรื่องนั้น และก็หมดไป

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน ไม่ได้ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี และไม่ได้ตามนึกถึงการหัวเราะ การพูด การเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน แต่ได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดีก็ดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ

ละเอียดขึ้นที่จะให้เห็นว่า ยังคงมีกิเลสอยู่ แม้ว่าจะได้ขัดเกลากิเลสหยาบมาแล้ว และได้มีอุปนิสัยที่ได้สะสมมาในการละคลายกิเลสหยาบ ขณะนั้นไม่มีปัจจัยที่จะให้กิเลสหยาบนั้นๆ เกิดขึ้นกับตนก็จริง แต่กิเลสที่ยังมีอยู่ ก็ปรากฏให้เห็นโดยลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งเป็นไปในทางอื่นได้ ในลักษณะอื่นได้ เช่น เมื่อได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดีก็ดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น ขณะนั้นก็เป็นกิเลสทั้งนั้น แม้จะเป็นกิเลสในลักษณะที่ต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งคิดว่าตัวท่านไม่มีกิเลส อย่าบอกว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพราะเหตุว่าตราบใดที่ไม่รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงโดยละเอียด ไม่ประจักษ์แจ้งการเกิดและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ กิเลสนี้ย่อมมี แม้ว่าจะไม่ใช่กิเลสหยาบ

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุมาตุคามด้วยจักษุของตนเอง ไม่ได้ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี ไม่ได้ตามนึกถึงการหัวเราะ การพูด การเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน และไม่ได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดีก็ดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุม ๕ บำเรอตนอยู่ แต่ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งปรารถนาเพื่อเป็น เทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งว่า เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยความปรารถนานั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

ดูกร พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้ ฯ

แม้แต่ความหวัง หรือพอใจในภพ ในชาติ ในการเกิดเป็นเทพ ในการเกิดเป็นพรหม ก็เป็นการด่างพร้อยของพรหมจรรย์ เพราะเหตุว่าการประพฤติพรหมจรรย์นั้น จุดประสงค์เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น ถ้าจุดประสงค์เปลี่ยนไป ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ยังมีความพอใจในภพในชาติ ในการเกิดเป็นเทพเป็นพรหม ก็ชื่อว่า เป็นการด่างพร้อยของพรหมจรรย์ ไม่สามารถที่จะพ้นจากกองทุกข์ โดยการรู้แจ้งแทงตลอด บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ได้

เปิด  270
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566