แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 475

ตอนท้ายของ เมถุนสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ เรายังพิจารณาเห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งว่า ยังละไม่ได้ในตน เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น แต่เมื่อใดเราไม่พิจารณาเห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งว่า ยังละไม่ได้ในตน เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ก็ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้มีในที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ชานุสโสณีพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ

ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

จบ สูตรที่ ๗

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของกิเลสที่มีลักษณะต่างๆ กันโดยละเอียด และการที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทนั้น ก็ด้วยการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า ซึ่งชานุสโสณีพราหมณ์ก็เลื่อมใส ปฏิญาณตนว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับชานุสโสณีพราหมณ์ เป็นสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งควรที่จะได้พิจารณารู้โดยละเอียดในสภาพธรรมนั้นๆ ที่เกิดกับตน อย่าข้ามไป และเข้าใจผิดคิดว่า หมดกิเลสแล้ว เพราะเหตุว่ากิเลสนั้นละเอียดจริงๆ ถ้าไม่เป็นไปในลักษณะนี้ ก็เป็นไปในลักษณะอื่น ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทไม่ได้

เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญสติ เพื่อให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เพื่อการรู้ทั่ว จึงสามารถที่จะละคลายความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และละคลายกิเลสทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะถึงการดับเป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้น

ถ. ข้อความตอนท้ายที่อาจารย์อ่านรู้สึกว่า จะขัดกับที่อาจารย์เคยนำกถาของท่านพระอานนท์ที่พูดกับภิกษุณีว่า อาศัยอาหารละอาหาร อาศัยตัณหาละตัณหา อาศัยมานะละมานะ แต่ในที่นี้ผู้ที่มีความปรารถนาจะไปบังเกิดในพรหมโลกก็ดี หรือในเทวโลกก็ดี ทำไมพระผู้มีพระภาครับสั่งว่า พรหมจรรย์ของผู้นั้นก็ยังขาด ทะลุ ด่างพร้อย ขออาจารย์อธิบายเพิ่มเติม

สุ. อาศัยอาหารละอาหาร เพราะว่ายังต้องรับประทานอาหารอยู่เรื่อยๆ แต่จะรับประทานไปทำไม โดยไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้น ร่างกายนี้จะดำรงอยู่ได้เพราะอาหารเท่านั้น ถ้าขาดอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ถ้าเห็นความจริงอย่างนี้ ยังจะพอใจปรารถนาในรูปร่างกายของใครซึ่งจะเป็นไปได้ก็ด้วยเพียงการรับประทานอาหารเท่านั้น ก็ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม

หรือว่าเวลาที่ตัณหาเกิดขึ้น ก็ไม่ควรที่จะปล่อยให้เป็นแต่เพียงตัณหาเท่านั้น แต่ควรระลึกรู้สภาพความจริงของตัณหาเพื่อละตัณหาในขณะนั้น หรือเวลาที่มานะเกิดขึ้น ก็ไม่ควรที่จะให้พอกพูนด้วยมานะอีกต่อไปเรื่อยๆ แต่ควรระลึกรู้ เพื่อละมานะที่เกิดปรากฏในขณะนั้น

. ผู้ที่ตั้งความปรารถนาที่จะไปบังเกิดในเทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี ขณะที่ตั้งความปรารถนา ขณะนั้นจิตคงเป็นตัณหาด้วย เมื่อจิตขณะนั้นก็เป็นตัณหาเหมือนกัน ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสว่า พรหมจรรย์ของผู้นั้นยังขาด ทะลุ ด่าง พร้อย

สุ. ประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ยังไม่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ มีความปรารถนาในภพ ในชาติ ในการเป็นเทพ ในการเป็นพรหม ก็ให้รู้ตัวตามความเป็นจริงว่า ในขณะนั้นยังเป็นผู้ที่มีกิเลสที่จะต้องละ ที่จะต้องขัดเกลา และเป็นผู้ที่ยังด่าง พร้อยในพรหมจรรย์อยู่

ให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง กิเลสมี ก็ต้องรู้ว่ามี ไม่ใช่คิดว่าไม่มี เพราะเหตุว่าปรารถนาเป็นพรหม ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ปรารถนาอย่างนั้นก็ยังเป็นกิเลส และเป็นการด่างพร้อยของพรหมจรรย์ เพราะว่าการประพฤติพรหมจรรย์นั้นเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เพื่อการเกิดเป็นเทพ หรือการเกิดเป็นพรหม

สำหรับเรื่องการด่างพร้อยของพรหมจรรย์ในเมถุนสัญโยค ท่านผู้ฟังก็คงจะใคร่ที่จะได้ทราบความหมายของศีลขาดหรือด่างพร้อย

ใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค ศีลมยญาณนิทเทส วรรณนา หน้า ๒๕๐ – ๒๖๐ มีข้อความว่า

คำว่า ศีล จะคฤหัสถ์ศีล หรือบรรพชิตศีลก็ตาม ศีลเหล่าใดทำลายไป ๑ ข้อ ในเบื้องต้น หรือที่สุด ศีลเหล่านั้นชื่อว่าขาด เหมือนผ้าที่ขาดปลายผ้า คือ ส่วนอื่นหรือตรงอื่นยังดีอยู่

ศีลใดที่ทำลายไป ๑ องค์ที่ตรงกลาง ศีลนั้นชื่อว่าทะลุ คือ ขาดกลางเหมือนกับผ้าที่ทะลุ

ศีลที่ขาดไป ๒ – ๓ องค์โดยลำดับ ชื่อว่าด่าง เช่นเดียวกับโคที่มีสีกายดำแดง เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่หลังบ้าง ที่ท้องบ้าง เพราะสีที่ขัดกัน เป็นคนละสี และสัณฐานยาวบ้าง กลมบ้าง

ส่วนศีลที่ทำลายไปข้อหนึ่งๆ ในระหว่างๆ คือ ข้อนั้นบ้าง ข้อนี้บ้าง ศีลเหล่านั้นชื่อว่าลายพร้อย เหมือนแม่โคที่พรายไปด้วยจุดสีต่างๆ กัน ในระหว่างๆ

อีกอย่างหนึ่ง ศีลแม้ทั้งหมดชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย เพราะเมถุนสังโยค (การประกอบด้วยเมถุน ๗ อย่าง ในเมถุนสูตร) เพราะบาปธรรม มีโกรธ คือ ความโกรธ อุปนาหะ คือ ความผูกโกรธ เป็นต้น โดยรวมกันไป บางอาจารย์กล่าวว่า ข้อว่าศีลขาด ท่านอธิบายเป็นศีลทะลุ เพราะเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลายไม่ได้ ข้อว่าศีลด่าง อธิบายว่า ลายพร้อย มีสีด่างๆ

นี่เป็นเรื่องความหมายของพยัญชนะ ท่านผู้ฟังมีทุกข์เพราะกิเลส เพราะกามบ้างไหม มีแน่ๆ ตราบใดที่ยังมีกิเลส มีกามอยู่ ก็เป็นผู้ที่มีความทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นโทษของกิเลส เห็นโทษของกาม ก็ควรที่จะพากเพียรอบรมเจริญกุศลทุกประการให้เป็นอุปนิสัยในการที่จะขัดเกลากิเลสให้ลดน้อย เบาบาง ทุกภพ ทุกชาติ เท่าที่สามารถจะกระทำได้

ซึ่งท่านก็คงจะเห็นว่า แม้จะได้ฟังธรรมโดยละเอียดสักเท่าใดก็ตาม แต่กิเลสก็ยังมีอยู่นั่นเอง เพียงการฟังเท่านั้นยังไม่สามารถดับกิเลสได้ และกิเลสก็มากจริงๆ เดี๋ยวตระหนี่ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวผูกโกรธ เดี๋ยวริษยา ช่างมีมากมายเหลือเกิน เดี๋ยวก็มานะ เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสเหล่านี้ให้หมดเป็นสมุจเฉท จะต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา เพื่อที่จะเป็นบารมีให้สามารถสละการยึดถือนามรูปที่ปรากฏ จึงจะถึงการรู้แจ้งในพระนิพพานได้

ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สมุททวรรคที่ ๓ สมุททสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมกล่าวว่า สมุทรๆ ดังนี้ (สมุทร หรือ สมุทท) ภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นสมุทรในวินัยของ พระอริยเจ้า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้น เรียกว่าเป็นแอ่งน้ำใหญ่ เป็นห้วงน้ำใหญ่

รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด นี้เรียกว่าเป็นสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า โลกนี้พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ มีอยู่ในสมุทรนี้ โดยมากเป็นผู้เศร้าหมอง มีความใคร่ กุลกชาตา กุลคุณฺฑิกชาตา เป็นดุจหญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่าย หาล่วงอบาย ทุคติ วินิบาต สังสารไปได้ไม่ ฯลฯ

ต่อจากนั้นก็เป็นข้อความเรื่อง เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ อันจะพึงรู้ได้ด้วยใจ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด นี้เรียกว่าเป็นสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า โลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ มีอยู่ในสมุทรนี้ โดยมากเป็นผู้เศร้าหมอง มีความใคร่ … เป็นดุจหญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่าย หาล่วงอบาย ทุคติ วินิบาต สังสารไปได้ไม่ ฯ

บุคคลใดคลายราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว บุคคลนั้น ชื่อว่าข้ามสมุทรนี้ ซึ่งมีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ มีทั้งคลื่นและภัยที่ข้ามได้แสนยากได้แล้ว เรากล่าวว่า บุคคลนั้นล่วงพ้นเครื่องข้อง ละมัจจุ ไม่มีอุปธิ ละทุกข์ได้ขาดเพื่อไม่เกิดต่อไป ถึงความดับสูญ ไม่กลับมาเกิดอีก ลวงพระยามัจจุราชให้หลงได้ ฯ

จบ สูตรที่ ๒

เพราะฉะนั้น สมุทรที่เป็นแอ่งน้ำใหญ่ ห้วงน้ำใหญ่ ไม่ใช่แอ่งน้ำใหญ่ธรรมดา หรือห้วงน้ำใหญ่ธรรมดา แต่ว่าอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกๆ ขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

จักขุปสาทนี้เล็กมาก แต่ชื่อว่าเป็น สมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า เพราะว่าทันทีที่เห็น ก็เกิดความยินดี พอใจ ลุ่มหลงในรูปที่ปรากฏทางตา ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็อยู่ในสมุทร ในห้วงน้ำใหญ่ ในขณะที่กำลังเห็น ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังได้กลิ่น ขณะที่กำลังลิ้มรส ขณะที่กำลังรู้โผฏฐัพพะ

ใน สมุทรสูตรที่ ๑ ข้อ ๒๘๕ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมกล่าวว่า สมุทร สมุทร ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นสมุทรในพระวินัยของพระอริยเจ้า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้น เรียกว่าเป็นแอ่งน้ำใหญ่ เป็นห้วงน้ำใหญ่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของจักษุนั้นเกิดจากรูป บุคคลใดย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากรูปนั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่าเป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทร คือ จักษุ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก ฯลฯ (ข้อความต่อไปเป็น หู จมูก ลิ้น กาย)

ใจเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของใจนั้นเกิดจากธรรมารมณ์ บุคคลใดย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากธรรมารมณ์นั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่าเป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทรคือใจได้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก ฯ

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

บุคคลใดข้ามสมุทรนี้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ น่าหวาดกลัว ข้ามได้แสนยากได้แล้ว บุคคลนั้นเราเรียกว่า เป็นผู้เรียนจบเวท อยู่จบพรหมจรรย์ ถึงที่สุดแห่งโลก ข้ามถึงฝั่งแล้ว

จบ สูตรที่ ๑

ทุกขณะที่เห็น ทุกขณะที่ได้ยิน อยู่ในสมุทร ในห้วงน้ำใหญ่ เพราะว่ามีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้โผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ และแต่ละขณะนี้สั้นมากจริงๆ เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ความไม่รู้ที่ปิดบัง เป็นสมุทร เป็นห้วงน้ำ เป็นแอ่งน้ำซึ่งกว้างใหญ่ ยากแก่การที่จะข้ามไปสู่ฝั่ง คือ การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

เรื่องของการขัดเกลากิเลส การติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต้องอาศัยการสะสมการอบรมเป็นบารมีด้วย จึงจะสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการ รวมทั้งการประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นอุโบสถศีลองค์ที่ ๓ เท่าที่จะกระทำได้ เพราะว่ากิเลสอยู่ลึกและเหนียวแน่นมาก

ผู้ฟัง อาตมาขออนุโมทนาด้วย ที่กล่าวว่าควรจะทำกุศลให้ถึงพร้อม

ครั้งหนึ่ง อาตมามีการเจริญอย่างอุกฤษฏ์ติดต่อกันโดยไม่ละเว้น ตามแบบอย่างที่อ่านในสติปัฏฐาน อาตมาพยายามอย่างที่สุด คือ ติดต่อกันโดยไม่ละเว้นทีเดียว จนรู้ว่าอารมณ์ทุกอารมณ์เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป หรือว่าจะมีอารมณ์ใดเกิดขึ้น จะมีอิริยาบถใดเคลื่อนไหวก็ดี อาตมาก็รู้อย่างไม่ขาดสาย ก็พิจารณาดูตามเหตุผลว่า ถ้าปฏิบัติอยู่อย่างนี้ กิเลสจะต้องสิ้นไปภายใน ๗ วันบ้าง ๗ เดือนบ้าง ๗ ปีบ้าง ก็ทำอย่างนั้นเรื่อยๆ มา กิเลสก็ไม่สิ้นไปสักที แต่ต่อมาก็ไม่ได้ทำเพราะ สุขภาพร่างกายจิตใจเสื่อมโทรมลง ก็ไปพบกับอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านกล่าวว่า ควรจะเจริญกุศล ก็อย่างที่อาจารย์กล่าว อาตมาฟังวิทยุอยู่ตลอดเรื่อยๆ มาทีเดียว อาตมาโมทนาสาธุด้วยในเรื่องกุศลนี้

สุ. ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้า ในเมตตาจิตของพระคุณเจ้า เท่าที่ได้รับฟังนี้ รู้สึกว่าท่านใช้ความพากเพียรเป็นอันมาก ในการที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน จนสุขภาพเสื่อมโทรม และที่ว่าให้ติดต่อกันโดยไม่ขาดสายเป็นเวลาหลายวัน แต่ว่าขณะนั้น รู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงลักษณะของ สภาพธรรมจริงๆ หรือเปล่า

อย่างทางตาที่กำลังเห็น ไม่ต้องคลาดเคลื่อน ไม่ต้องไปสร้าง ไปทำอะไรขึ้นมาด้วยความเป็นตัวตน แต่มีการระลึกรู้ สามารถที่จะรู้ว่า สภาพที่กำลังปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพรู้หรืออาการรู้ ซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ตามธรรมดา ตามธรรมชาติ ไม่เคร่งเครียด ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม เพราะเหตุว่าเป็นการระลึกรู้ตามปกติ ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ติดต่อกัน แต่ข้อสำคัญ คือ การสำเหนียก สังเกต โดยละเอียดแยบคายจริงๆ ว่า รู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏตรงลักษณะแต่ละลักษณะหรือไม่

เพราะฉะนั้น เรื่องของกาลเวลาไม่สำคัญ จะติดต่อกัน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี แต่ถ้าขณะนั้น สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงลักษณะของสภาพธรรม จริงๆ ปัญญาก็ไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และถึงแม้ว่าสุขภาพจะเสื่อมโทรม แต่ตาก็มี หูก็มี จมูกก็มี ลิ้นก็มี กายก็มี ใจก็มี สภาพธรรมทั้งหลายก็ยังปรากฏให้สติระลึกรู้ได้ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นเรื่องไปทำด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่เป็นเรื่องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และก็ละคลายความไม่รู้ ตามปกติ เป็นธรรมชาติจริงๆ

สำหรับเรื่องของศีลและธรรมที่ได้ศึกษาไปแล้ว ประโยชน์ที่สุดของการฟังหรือการศึกษาธรรม คือ การประพฤติปฏิบัติตาม ถึงแม้ว่าจะฟังมาก แต่ไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ ก็ย่อมได้รับประโยชน์น้อยมาก แต่ถ้าฟังและเข้าใจในเหตุผลของธรรม สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย ก็จะเป็นประโยชน์มาก

เปิด  273
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566