แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 476

ใน ขุททกนิกายชาดก ศีลวิมังสชาดก ข้อ ๗๕๘ มีข้อความว่า

ข้าพระองค์มีความสงสัยว่า ศีลประเสริฐ หรือสุตะประเสริฐ ศีลนี่แหละประเสริฐกว่าสุตะ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยแล้ว.

ชาติและวรรณะเป็นของเปล่า ได้สดับมาว่าศีลเท่านั้นประเสริฐที่สุด บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยศีล ย่อมไม่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ.

กษัตริย์และแพศย์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไม่อาศัยธรรม ชนทั้งสองนั้น ละโลกนี้ไปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ

กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทหยากเยื่อ ประพฤติธรรมในธรรมวินัยนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกันในไตรทิพย์

เวท ชาติ แม้พวกพ้อง ก็ไม่สามารถจะให้อิสริยยศ หรือความสุขในภพหน้าได้ ส่วนศีลของตนเองที่บริสุทธิ์ดีแล้ว ย่อมนำความสุขในภพหน้ามาให้ได้

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นความจริง ถึงแม้ว่าจะได้ฟังมาก แต่ถ้าไม่ได้ประพฤติธรรม ไม่ได้ขัดเกลากิเลส ทั้งการอบรมเจริญสติปัฏฐาน และงดเว้นทุจริตทางกาย ทางวาจาด้วย การกระทั้งกายทั้งวาจาที่เต็มไปด้วยกิเลส ก็ยิ่งจะพอกพูนหนาแน่น จนกระทั่งเป็นเหตุให้ล่วงออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริต เป็นกิเลสหยาบขั้นต่างๆ อยู่เรื่อยๆ

และท่านผู้ฟังก็เห็นความไม่แน่นอนของกรรมและวิบากว่า แล้วแต่กรรมใดจะทำให้เกิดเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นคนจัณฑาล เป็นคนเทหยากเยื่อ ซึ่งการสะสม การประพฤติสุจริตกรรม และทุจริตกรรมในปัจจุบันชาตินี้ ก็ทำให้ปฏิสนธิต่างกันอีกไปในชาติต่อไป เพราะฉะนั้น เรื่องของศีลก็เป็นเรื่องที่สำคัญ และควรที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะสามารถกระทำได้

ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ขอความกรุณาท่านผู้ฟังช่วยอ่านด้วย

บ้านเลขที่ ๓๘๑ สุดตรอกวัดโมฬีโลกยาราม สุดถนนอรุณอัมรินทร์ ต.วัดอรุณ อ.บางกอกใหญ่ กท. ๖

๒๒ ต.ค. พ.ศ. ๒๕๑๗

เรียน อาจารย์ที่เคารพนับถืออย่างสูง

จดหมายฉบับนี้มีมาถึงอาจารย์ด้วยปัญหาเกิดขึ้น คือ จำเป็นไหมครับที่ผู้มีสติ เจริญสติ จำต้องเลือกใช้ของที่ไม่สวยงาม ไม่ประณีต ไม่สู้มีราคา เนื่องจากมีท่านผู้ใหญ่บางท่านได้ตั้งปัญหาถามผมว่า สมมติว่า มีใครคนหนึ่งยินดีให้ของชนิดหนึ่ง แต่มี ๒ ชิ้น สภาพ ขนาด และลักษณะเหมือนกัน ชิ้นหนึ่งมีราคาเพราะสวยงาม แต่อีกชิ้นหนึ่งไม่สวยงาม ไม่ประณีต จึงไม่สู้มีราคา ให้เลือกเพียงชิ้นเดียว สมมติว่าเป็นนาฬิกาข้อมือ ๒ เรือน เรือนหนึ่งมีความประณีต คือ สวยงามมาก อาจจะฝังเพชรหรือพลอยก็ตามที มีราคาสูง สวยงาม มีค่ามาก ส่วนอีกเรือนหนึ่งไม่ประณีต ไม่สวยงาม ไม่สู้มีราคา แต่นาฬิกาทั้ง ๒ เรือนนี้ เดินเที่ยงตรงเสมอกัน มีไว้เพื่อใช้ดูเวลาเท่านั้น นาฬิกาทั้ง ๒ เรือนนี้ มีท่านผู้หนึ่งนำมามอบให้ แต่ให้เลือกเอาเพียงเรือนเดียว

อยากจะทราบว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีสติ เจริญสติ มีอารมณ์ทางวิปัสสนา เพื่อละคลายกิเลสแล้ว จะเลือกเอานาฬิกาข้อมือที่ว่านี้ เรือนไหนครับ

สำหรับใจผมนั้น ถ้าพิจารณาดูคร่าวๆ อย่างผิวเผินแล้ว ก็น่าจะเลือกเอานาฬิกาเรือนที่ไม่สวยงาม ไม่ประณีต ไม่สู้มีราคา เพราะจุดประสงค์ในความจริง มีไว้เพื่อดูเวลาเท่านั้น เพราะถ้าหากเลือกเอาเรือนที่มีราคา เรือนสวยงาม มีความประณีต ก็จะถูกหาว่า เป็นนักเจริญสติ ผู้มีสติมีอารมณ์ทางวิปัสสนายังไม่ได้ เพราะติดในความสวยงาม ติดในกิเลสตัณหา แต่เนื่องจากว่า ได้พิจารณาดูแล้วอย่างลึกซึ้ง ซึ่งผมเองทั้งๆ ที่ได้พยายามเป็นผู้มีสติเป็นปกติ เจริญสติ พิจารณาเห็นสภาพและลักษณะธรรมทั้งหลายแต่ละชนิดที่เกิดด้วยเหตุแต่ละชนิด แต่ละอย่าง และกำลังเสื่อมและดับไปในที่สุดเมื่อหมดเหตุ อย่างที่อาจารย์อธิบาย ก็ยังเลือกนาฬิกาเรือนดี สวยงาม มีความประณีต

เหตุผลมีอย่างนี้ครับ คือผมคิดว่า ถึงแม้จะใช้ของที่ดี มีความประณีต ราคาแพง โดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เพราะเขาเอามาให้เลือก เอาไว้เพื่อใช้ ถึงแม้ว่าจะใช้ของดี มีราคาแพง ก็ยังสามารถมีสติเจริญสติ พิจารณาเห็นลักษณะของมันในขณะที่กำลังใช้อยู่ ในสภาพที่ไม่เที่ยง มีอาการเกิดรูปและนามในขณะที่ใช้เพียงชั่วประเดี๋ยวเดียว ในที่สุดก็ดับไป เมื่อหันไปสนใจในสิ่งอื่น ในธรรมอื่น การมีของที่ดีที่ประณีตใช้ ไม่อาจที่จะยับยั้งการมีสติเจริญสติได้เลย ทั้งนี้ต้องไม่ขาดสติ

แต่แล้วผมถูกกล่าวหาว่า ยังติดในความสวย ติดในความงาม คือ ติดในกิเลส มีตัณหาอย่างแรง จนผมเองไม่สามารถจะแก้ข้อกล่าวหาอย่างไรถูก เพราะถ้าหากเป็นผู้มีสติเจริญสติเพื่อละคลายกิเลสแล้ว มิจำต้องใช้ของเลวๆ เสียหมดทุกอย่างหรือครับ ถ้าเป็นอาจารย์บ้างล่ะ อาจารย์จะเลือกเอานาฬิกาชั้นดี หรือชั้นเลว เพราะทั้ง ๒ เรือนเดินเที่ยงเท่ากัน มีไว้ใช้เพียงเพื่อดูเวลาได้ดีเท่ากัน

ในที่สุด ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงช่วยดลบันดาลให้อาจารย์ประสบแต่ความสุข ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดชั่วกาลนาน

ด้วยความเคารพอย่างสูง

สุ. ขอบพระคุณท่านผู้อ่าน ท่านผู้ฟังมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างในเรื่องนี้ ขอฟังความคิดเห็นของท่านผู้ฟังก่อน

ผู้ฟัง ในจดหมายบอกว่า สมมติ การสมมตินั้นสมมติกันได้ แต่เรื่องความเป็นจริงแล้ว ยากเหลือเกิน จะมีคนนำนาฬิกามาให้ ๒ เรือน และบังคับให้เลือกเรือนเดียว รู้สึกว่าจะน้อยไปหน่อย ถ้าจะมีก็คงจะอย่างที่เจ้าของจดหมายเขียนมา ผมเห็นว่า เจ้าของจดหมายนี้เป็นผู้ปฏิบัติธรรม มาลองใจ

สมมติว่า จะมีจริงขึ้นมา ผู้ที่เลือกนาฬิกาที่มีราคาสูง ก็เป็นวิบากของเขานั่นแหละ ที่มีจิตน้อมไปเพื่อจะใช้ของดีๆ สวยๆ หรือว่าอีกคนหนึ่งจะเลือกนาฬิกาที่ไม่มีค่า ก็เป็นวิบากของเขา คงจะกลัวว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เราจะเลือกของดีๆ ก็กลัวผู้อื่นเขาจะตำหนิ หรือว่ากลัวผู้ให้เขาจะตำหนิ นั่นก็เป็นวิบากครับ แล้วแต่เขาจะนึกจะคิด ผู้ที่ไม่เคยสะสมบุญบารมีมาที่จะใช้ของดีๆ ของมีค่า ก็นึกไปต่างๆ นานา นึกเสียดายบ้าง นึกกลัวเขาจะตำหนิบ้าง ก็นึกอะไรไปต่างๆ

ข้อความในจดหมายที่ว่า มีบางคนตำหนิเขาว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรมแล้วยังจะชอบสิ่งที่สวยสิ่งที่งาม เรื่องตำหนิไม่ควรจะไปคำนึงถึง เขาจะตำหนิก็เรื่องของเขา ข้อสำคัญอยู่ที่ตัวเรา เราพิจารณาของเราว่า โลภะของเราเกิดบ้างหรือเปล่า โทสะเกิดบ้างหรือเปล่า โมหะเกิดบ้างหรือเปล่า กุศลจิตเกิดบ้างหรือเปล่า เราควรจะพิจารณาตัวของเราเอง มัวไปคำนึงถึงคนอื่น คนในโลกนี้เวลานี้มีไม่รู้เท่าไร ก็นานาจิตตัง ใครเขาจะคิดอย่างไร จะไปคำนึงถึงเขาทำไม เมื่อเขาตำหนิเรา เราก็ชี้แจงให้เขาเห็นว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร

ในครั้งพุทธกาล นางวิสาขาสร้างกุฏิถวายด้วยราคามากมาย เครื่องประดับของนางวิสาขาขายไปเป็นเงินเท่าไร มากทีเดียวจำตัวเลขไม่ได้ และนำเงินนั้นไปสร้างปราสาทถึง ๗ ชั้น เป็นไม้จันทน์ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็ประทับอยู่ ทำไมสาธุชนทั้งหลายจึงไม่ติเตียนพระพุทธเจ้าว่า บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมจึงประทับในกุฏิสวยงามใหญ่โต

เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่า แล้วแต่ใครสั่งสมมา จิตของใครจะน้อมใช้ของสวยๆ งามๆ ก็ใช้เถอะครับ

สุ. รู้สึกเป็นข้อวิตกของผู้ที่ศึกษาธรรมและผู้ปฏิบัติธรรม คือ กลัวว่าคนอื่นจะมองท่านในลักษณะใด แต่การศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมนั้น เพื่อรู้จักตัวเองตรงตามความเป็นจริง

สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล แน่นอนที่สุดที่จะต้องมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ใช่เป็นการบังคับใจ หรือข่มใจไว้ด้วยความเป็นตัวตน ซึ่งไม่มีวันที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่การเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง จะทำให้รู้สภาพธรรมที่สะสมมาว่า ท่านยังเป็นผู้ที่มีกิเลส ซึ่งจะต้องอาศัยปัญญาที่ได้อบรมเจริญสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับขั้นที่สามารถจะดับกิเลสได้ กิเลสจึงจะดับได้ ตามความเป็นจริง ต้องเป็นอย่างนี้ แล้วแต่ว่าท่านจะเป็นเพศใด ท่านจะเป็นฆราวาส หรือท่านจะเป็นบรรพชิต ถ้าท่านมีศรัทธาที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต ท่านเป็นผู้มีเจตนาที่จะละคลายการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เท่าที่ท่านสามารถจะประพฤติตามได้ ตามพระวินัยบัญญัติ นั่นก็เป็นเรื่องของศรัทธา เป็นเรื่องของอุปนิสัยที่ท่านสะสมมา

แต่สำหรับท่านที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ เพราะเหตุว่าตามความเป็นจริงแล้ว อุปนิสัยที่สะสมมาเป็นฆราวาส จึงเป็นฆราวาส ไม่ใช่มีการบังคับที่จะต้องให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมทุกคนเป็นเช่นบรรพชิต

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มีอยู่ตามความเป็นจริงเกิดขึ้นปรากฏ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สติก็ตามรู้ในสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏเป็นไปในขณะนั้น

และที่ถามว่า ถ้าเป็นท่านเองท่านจะเลือกอย่างไหน นี่เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องคิดล่วงหน้าเลย คิดไว้อย่างนี้ ถึงเวลาจริงๆ เลือกจริงๆ เป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ ใครสามารถจะทราบแน่นอนว่า ขณะต่อไปจะมีปัจจัยที่ทำให้นามประเภทใดเกิดขึ้น รูปประเภทใดเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้ว จึงรู้ว่า ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าสะสมมา และการที่จะเลือก ก็ต้องแล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่โอกาสด้วย คือ ต้องดูทั้งเจตนา และศรัทธาของผู้ให้ ในการที่จะรับสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม

ท่านผู้ฟังอาจมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงหลายคน และอาจจะมีพี่ หรือน้อง หรือญาติคนหนึ่ง มีของมาฝากพี่น้องด้วยกันหลายๆ คน ซึ่งก็เป็นของที่แน่นอนว่า ของที่นำมาฝาก ก็ย่อมจะยิ่งหย่อนกว่ากันบ้าง ท่านจะเลือกเอาที่สวยที่สุด หรือไม่ค่อยสวย เพื่อใครอย่างไร ก็แล้วแต่ขณะนั้นจิตประเภทไหนจะเกิดขึ้นเป็นไป ทำให้ท่านเลือกสิ่งที่ท่านจะได้รับ อาจจะด้วยความเมตตา ต้องการจะให้บุคคลอื่นได้รับสิ่งที่เขาพอใจ เพราะฉะนั้น สำหรับท่านไม่เป็นไร ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดที่ท่านต้องการหรือปรารถนาก็ได้ เพราะท่านอาจจะทราบว่า คนอื่นมีความต้องการอย่างนั้นมากกว่าท่าน

เพราะฉะนั้น เรื่องต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องความวิจิตรของจิตจริงๆ ถ้าท่านจะพิจารณา สังเกต ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ถูกต้อง ก็จะรู้ว่าจิตของท่านเป็นอย่างไร

ขอเล่าเรื่องของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านเล่าถึงกิเลสของท่านที่มีต่อเพชรนิลจินดาต่างๆ ว่า ท่านยังมีความพอใจ แม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่สูงวัยแล้วก็ตาม แต่เวลาที่เห็นวัตถุที่หายาก สวยงาม เป็นของเก่า ฝีมือดี ทำอย่างประณีตทีเดียว ท่านอยากได้เหลือเกิน จนถึงกับแทนที่จะให้บุคคลที่อ่อนวัยกว่าและเหมาะควรกว่า แต่อำนาจของความพอใจ ทำให้ท่านถือเอาสิ่งนั้นมาเป็นของท่าน ไม่ยอมแลก ไม่ยอมให้ ไม่ยอมทุกอย่าง แม้จะได้รับการขอร้องที่จะให้แลกเป็นสิ่งอื่น หรือวัตถุสิ่งอื่นที่มีความสวยงามประณีตเท่ากัน แต่เมื่อท่านมีความพอใจอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ไม่ให้

แต่ท่านก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านเห็นกำลังของกิเลสจริงๆ ที่ติดในวัตถุนั้นอย่างเหนียวแน่น จากนั้นประมาณสักอาทิตย์หนึ่ง หรือสองอาทิตย์ ใจของท่านก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จนในที่สุดเห็นว่า สิ่งนั้นเหมาะสำหรับผู้ที่มีวัยน้อยกว่า เพราะเหตุว่าจะเป็นประโยชน์แก่เขามากกว่า และในที่สุดท่านก็ให้วัตถุสิ่งนั้นไป

นี่ก็เป็นเรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อยังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เมื่อมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดก็เกิด แต่สติสามารถที่จะระลึกรู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง แล้วแต่ว่าจะมีจิตเมตตากรุณาอนุเคราะห์เกิดขึ้น ที่จะเสียสละวัตถุนั้นให้บุคคลใด เมื่อไร ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิด เพราะท่านก็ต้องสะสมมาในเรื่องของความเมตตากรุณาด้วย จึงสามารถที่จะสละวัตถุนั้นให้ได้

ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามีบุคคล ก็ไม่จำเป็นต้องหวั่นไหว วิตกกังวล ว่าบุคคลอื่นจะเข้าใจท่านว่าอย่างไร เพราะแต่ละท่านก็มีความวิจิตรของจิตที่ได้สะสมมาต่างๆ กัน แม้แต่ตัวท่านเองเพียงคนเดียว ความวิจิตรของจิตแต่ละขณะนี้ก็ยังต่างกันไป ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติจะทราบได้จริงๆ ว่า จิตของท่านแปรปรวนไปในลักษณะต่างๆ อย่างวิจิตรมาก ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะลิ้มรส ไม่ว่าจะรู้โผฏฐัพพะ หรือรู้ธัมมารมณ์ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ การคิดนึกแต่ละครั้งก็วิจิตรมาก

สำหรับเรื่องของอุโบสถศีลองค์ที่ ๓ นี้ ควรที่จะได้สะสมเป็นอุปนิสัยปัจจัย เพราะเหตุว่าการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเรื่องที่เหนียวแน่น หนาแน่น และยากแก่การที่จะละคลาย

ถ้าท่านศึกษาเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน หรือแม้ในอดีต และต่อไปในกาลอนาคต ท่านจะเห็นความยุ่งยากของโลก ของสังคม ของชีวิตของแต่ละท่านที่เกิดขึ้นเพราะการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ใน ขุททกนิกาย อุทาน คัพภินีสูตร มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตะวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล นางมาณวิกาสาว ภรรยาของปริพาชกคนหนึ่งมีครรภ์ใกล้เวลาคลอดแล้ว ครั้งนั้นแล นางปริพาชิกานั้นได้กล่าวปริพาชกว่า

ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปนำน้ำมันซึ่งจักเป็นอุปการะสำหรับดิฉันผู้คลอดแล้วมาเถิด

เมื่อนางปริพาชิกากล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกนั้นได้กล่าวกะนางปริพาชิกาว่า

ฉันจะนำน้ำมันมาให้นางผู้เจริญแต่ที่ไหนเล่า

แม้ครั้งที่ ๒ ...

แม้ครั้งที่ ๓ นางปริพาชิกานั้นก็ได้กล่าวกะปริพาชกนั้นว่า

ท่านพราหมณ์ท่านจงไปนำน้ำมันซึ่งจักเป็นอุปการะสำหรับดิฉันผู้คลอดแล้วมาเถิด

เปิด  282
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565