แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 490

ถ. ตามที่ท่านผู้นี้ปฏิบัติ การที่คนเราจะพิจารณาตนเอง เราพิจารณาในที่ชุมนุมชน พิจารณาไม่ออกหรอก เราต้องอาศัยสติป้องกันว่า ไม่ให้กิเลสความชั่วเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ที่จะถอนอัตตา ตัวตนที่แท้จริง ต้องอาศัยความเงียบสงบ เพราะการดูตัวเอง ดูยาก ดูคนอื่น ดูง่าย เพราะฉะนั้น อันนี้แหละจึงต้องอาศัยที่เรียกว่า วิปัสสนา

การวิปัสสนานี้ ดังที่ท่านผู้นั้นพูดว่า อานาปานสติ เป็นการปฏิบัติ ซึ่งตามภาษาบาลีว่า อานาปานสฺสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา คือ อานาปานสติ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้วมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์ ทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ ผู้ที่ทำโพชฌงค์ให้เจริญ ทำให้มากแล้ว วิชชาวิมุตติย่อมบังเกิด นี่เป็นหลักของอานาปานสติ

สุ. แต่ไม่ใช่ว่า ต้องไปทำอะไร ลมหายใจทุกคนกำลังมี ถ้าปรากฏ ก็ปรากฏตรงลักษณะของสภาพลมหายใจที่กำลังมีตามความเป็นจริง อบรมเจริญปัญญาอย่างไรที่จะเห็นว่าเป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะปกติธรรมดาอย่างนี้

ถ้ารู้ไม่ได้ เป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้รู้สภาพธรรมที่มีปัจจัยและเกิดขึ้นปรากฏจริงๆ

ถ. ขอพูดต่อเรื่องอานาปานสติ

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ดี ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ดี ไปแล้วสู่เรือนว่างเปล่าก็ดี นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติอยู่เฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

สุ. ขอประทานโทษ กำลังยืนอยู่เดี๋ยวนี้ มีลมหายใจหรือเปล่า

ถ. ขอโทษ ถ้าไม่มี เห็นจะไม่ยืนอยู่นี่หรอก

สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าต้องนั่งขัดสมาธิใช่ไหม

ถ. ไม่ต้อง

สุ. ไม่ต้องนั่งขัดสมาธิ ไม่ต้องไปสู่โคนไม้หรือเรือนว่าง เพราะว่าอยู่ที่นี่ ลมหายใจก็มี

ถ. นั่นสำหรับผู้ที่ฝึกมาชำนาญแล้ว ผู้ที่ฝึกมาชำนาญแล้ว ไม่ว่าอิริยาบถไหน เขาคุมอยู่ เขาคุมได้เสมอ

สุ. ท่านผู้ฟังใช้คำว่า สำหรับผู้ที่มีสติอบรมแล้ว คำนี้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมทางตา นามธรรมทางตา ต้องเป็นผู้ที่อบรมแล้ว จึงจะรู้ ที่ท่านผู้ฟังบอกว่าทำไม่ได้ เพราะว่ายังไม่ได้อบรม ถ้าอบรมแล้ว ย่อมได้

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับการอบรมเท่านั้น อย่าเพิ่งไปถึงอริยสัจ อย่าเพิ่ง ไม่ไปแล้วใช่ไหม ไม่สำเร็จมรรคผลแล้ว ขออนุโมทนา เพราะว่ามิจฉาวิมุตตินั้นมี ถ้าท่านสามารถระลึกได้ว่า ทางตาในขณะนี้ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานเลย นั่นคือ ยังไม่ได้ไปถึงอริยสัจธรรม

ถ. ท่านอาจารย์พูดถึงมิจฉาวิมุตติ วิมุตติ คำนี้เป็นเรื่องของใจ ไม่ใช่เรื่องของกาย จะไปว่าใครมิจฉา ใครสัมมา ยังไม่ถูก ถ้าตัวเองระลึกได้ว่า มีสัมมาหรือมีมิจฉา นี่เห็นจะถูกแน่ เพราะฉะนั้น เราจะต้องฝึกตัวเราเอง ตัวเราเอง หมายความว่า ๑. มีสติสมบูรณ์ สติเป็นชาคโร ๒. ตัวเรามีอยู่ แต่ว่าไม่เห็นแก่ตัว

สุ. ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว จะกล่าวว่า เป็นสัมมาวิมุตติได้ไหม

ถ. ถ้าสติไม่เกิด ไม่เป็น ถ้าสติเกิด ก็เป็น

สุ. เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า ยังไม่ได้อบรมในการที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา และจะไปเป็นพระอริยบุคคลนั้น เป็นไปไม่ได้ใช่ไหม

ถ. ถ้าได้ฝึกมาสมบูรณ์ ก็เป็น ถ้าไม่ได้ฝึกมาสมบูรณ์ ไม่เป็น

สุ. ที่ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ยังไม่ได้อบรมเลย ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สัมมาวิมุตติ เพราะว่ายังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ผู้ที่จะเป็นพระอริยเจ้าต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และรู้ว่า มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แต่นี่ไม่ได้ระลึกอย่างนั้นใช่ไหม

ถ. ผมยืนคำแรกแล้วว่า ผมพิจารณารูปนามจนตกพระไตรลักษณ์ ผมระลึกของผมอยู่ตรงนี้

สุ. พระไตรลักษณ์ต้องมีการรู้ตามลำดับ คือ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเสียก่อน ซึ่งก็ยอมรับกันแล้วว่า จะต้องรู้อย่างนี้เสียก่อน และที่จะรู้อย่างนี้ ต้องระลึกในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ตามปกติ รู้ได้ ถ้ายังรู้ไม่ได้ ก็ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า

ถ. คำว่า วิปัสสนา แปลว่ารู้แจ้ง รู้อะไร รู้ตัวเอง รู้สภาพตามความเป็นจริง นี่เป็นวิธีฝึก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้วว่า จะต้องหาเรือนว่างที่สงบเงียบสักหน่อยจึงจะดูตัวเองออก อย่างเวลานี้ถ้าพูดว่า มีสติ ก็เพียงสกัดกั้นไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นแก่เรา แต่วิปัสสนา...

สุ. สติปัฏฐานเป็นอนัตตา เมื่ออบรมแล้ว สติจะเกิด ณ สถานที่ใดก็ได้ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางหนึ่งทางใดก็ได้ ในเมื่อรู้ว่าลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม เมื่อเป็นความรู้จริงๆ แล้ว ไม่สงสัย ไม่ลังเล กำลังเห็นในขณะนี้ก็ไม่สงสัย ไม่คิดว่า ไม่ได้ สติเกิดขณะนี้ไม่ได้ ไม่คิดว่า ปัญญารู้ไม่ได้ ถ้าคิดอย่างนั้น หมายความว่า ไม่รู้จริงในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงเข้าใจว่าไม่สามารถจะรู้ได้ในขณะนี้ แต่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นอริยสัจจะ เป็นความจริง ไม่ว่าจะกำลังเห็นที่ไหน กำลังได้ยินที่ไหน กำลังคิดนึกที่ไหน กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ที่ไหน สติก็สามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ได้ตามความเป็นจริง

ถ. นั่นต้องเป็นผู้ที่ฝึกมาชำนาญแล้ว สติชาคโรแล้ว

สุ. เพราะฉะนั้น ขอเชิญให้ท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะได้รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะมีสภาพธรรมตามความเป็นจริงทุกขณะ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทุกขณะ ถ้ารู้ถึงปัจจัย ประจักษ์แจ้งถึงความเกิดดับจริงๆ ก็จะถ่ายถอนความไม่รู้ลักษณะของนามรูป การที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น โปรดอบรม และอย่ากล่าวว่าทำไม่ได้ หรือว่าอบรมไม่ได้ หรือว่ารู้ไม่ได้

ถ. ขอสนับสนุนอาจารย์ ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำพูดที่พร้อมทั้งเหตุทั้งผล คือ ท่านตรัสรู้เป็นพุทโธ ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ท่านเอาธรรมอันนั้นไปสอนเป็นภควา เป็นสวากฺขาโต ผู้ฟังเอาไปปฏิบัติได้ด้วย จึงเป็นสาวกสงฺโฆ คือ ไม่ใช่ฟังเฉยๆ ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนิยยานิกธรรม เป็นธรรมที่ถูก ธรรมที่แท้ เช่น เขาถามว่า จะดับกิเลสได้อย่างไร เราต้องชี้ออกไปเลยว่า อย่างนี้ๆ ธรรมจึงจะมีประโยชน์ เป็นนิยยานิกธรรม พูดก็ไม่เสียเปล่า ฟังก็ไม่เสียเวลาเปล่า คือ ได้ประโยชน์ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

สุ. กิเลสอะไรจะดับก่อน ขณะนี้ท่านผู้ฟังทราบไหมว่า อวิชชาอยู่ที่ไหน กำลังเห็นในขณะนี้ อวิชชาอยู่ที่ไหน ปิดบังอย่างไร ครอบงำอย่างไร ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นให้ทราบตามความเป็นจริงว่า ที่ไม่ประจักษ์ เพราะอวิชชากำลังครอบงำ กำลังปิดบัง กำลังปกปิด ในขณะนี้ จะละได้ก็ด้วยสติที่ระลึก ทุกขณะ ตามปกติ ตามความเป็นจริง ให้สติเกิดบ่อยๆ อย่าไปกั้น อย่าไปห้าม อย่าบอกว่า ที่นั่นไม่ได้ ที่นี่ไม่ได้ นั่นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ถ้าอบรมเจริญปัญญาแล้ว อบรมไป สติเกิดได้ ระลึกรู้ได้ ปัญญารู้แจ้งแทงตลอดได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

ข้อความในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเกื้อกูลแก่พุทธบริษัททุกกาลสมัย ให้เป็นผู้ที่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดกับท่าน

สำหรับผู้ที่หลับน้อยตื่นมากในราตรี ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อัปปสุปติสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๕ จำพวกนี้ ย่อมหลับน้อยตื่นมากในราตรี ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ สตรีผู้คิดมุ่งถึงบุรุษ ๑ บุรุษผู้คิดมุ่งถึงสตรี ๑ โจรผู้คิดมุ่งลักทรัพย์ ๑ พระราชาผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณีย์ ๑ ภิกษุผู้คิดมุ่งถึงธรรมที่ปราศจากสังโยชน์ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๕ จำพวกนี้แล ย่อมหลับน้อยตื่นมากในราตรี ฯ

จบ สูตรที่ ๗

แม้ข้อความเพียงสั้นๆ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะให้ระลึกรู้ ไม่ให้สติหลงลืม ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ที่หลับน้อยตื่นมาก ด้วยเรื่องประการใดๆ ก็ตาม ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อตื่นอยู่ สติควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงแสนวิจิตร

ลองคิดดู คืนก่อน ก่อนที่จะหลับ ก็มีเรื่องต่างๆ ที่จะคิด แต่ผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง รูปธรรมแต่ละลักษณะ นามธรรมแต่ละลักษณะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย จิตจะวิจิตร คิดไป ตรึกไป ด้วยเรื่องใดๆ ก็ตาม นั่นก็เป็นคืนก่อนที่ผ่านไปแล้ว และคืนก่อนนั้นอีก คืนก่อนๆ นั้นอีก เรื่องที่คิดก็วิจิตรมาก และคืนนี้จะซ้ำไหม

แต่ละชีวิตก็มีนามธรรมและรูปธรรมที่ได้ประสบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เปลี่ยนไปทุกวัน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็ไม่เหมือนวันก่อน เพราะฉะนั้น เรื่องที่จะคิดก่อนที่จะหลับในคืนนี้ ก็คงจะต่างกับคืนก่อน เรื่องก่อน ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นแต่เพียงสภาพความวิจิตรของจิต ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ บางทีเวลาจะนอนอาจจะลืมคิดไปว่า กำลังวุ่นวาย ตรึกตรองด้วยเรื่องนานาประการ แต่พระสูตรนี้จะเกื้อกูลได้ ไม่ว่าท่านจะตื่นมากด้วยเรื่องใดก็ตาม ก็เป็นผู้ที่ไม่หลงลืมสติ สังเกต สำเหนียก ที่จะรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมรูปธรรมในขณะนั้น

ใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ตอนท้ายของข้อ ๗๕๒ มีข้อความว่า

ภิกษุไม่พึงทำความหลับให้มาก พึงมีความเพียร ซ่องเสพความเป็นผู้ตื่น พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความลวง ความหัวเราะ การเล่น เมถุนธรรม อันเป็นไปกับด้วยการประดับ

เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทโดยละเอียดที่จะให้เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ทรงเตือนให้เป็นผู้ที่ซ่องเสพความเป็นผู้ตื่น เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

เพราะฉะนั้น สำหรับอุโบสถศีลข้อที่ ๕ ที่ทรงให้งดเว้นการดื่มสุราเมรัยต่างๆ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ ให้เป็นผู้ไม่ประมาท แม้การที่จะตื่นอยู่ ก็ตื่นด้วยความไม่ประมาท ไม่ให้ขาดสติสัมปชัญญะ เพื่อให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ราชสูตร ข้อ ๑๗๘ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และสำหรับเรื่องของการดื่มสุราและเมรัยนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือว่า ท่าน ทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากการการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ฯ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละ ย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ประกอบการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แล้วฆ่าหญิงหรือชายตาย ลักทรัพย์เขามาจากบ้านหรือจากป่า ละเมิดประเพณีในหญิงหรือบุตรีของผู้อื่น ทำลายประโยชน์ของคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีด้วยมุสาวาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ กระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังบาปกรรมเห็นปานนี้บ้างหรือไม่ ฯ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และจักได้ฟังต่อไป ฯ

จบ สูตรที่ ๘

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ ไม่ใช่แต่ในครั้งโน้น และไม่ใช่แต่พระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาคเท่านั้น ที่เห็นการกระทำซึ่งเป็นบาปกรรมของผู้ที่ประกอบการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย แม้ในสมัยนี้ก็ยังเห็นว่า สำหรับผู้ที่งดเว้นการดื่มสุราและเมรัย ไม่ประกอบกรรมชั่วต่างๆ ย่อมไม่ได้รับโทษจากการงดเว้นการดื่มสุราเมรัย แต่สำหรับผู้ที่ไม่งดเว้น ก็เป็นผู้ที่กระทำบาปกรรม ได้รับโทษของกรรม ซึ่งเกิดจากความมึนเมาที่เกิดจากการเสพสุราเมรัย

ถ. ในสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของการดื่มน้ำเมา ทรงแสดงถึงผู้ที่ดื่มน้ำเมาแล้วไปฆ่าเขา ขโมยเขา พวกนี้มีโทษ แต่ผู้ที่ดื่มสุราแล้ว เมาแล้ว เขาไม่ไปไหน และทุกครั้งเขาก็เป็นอย่างนั้น อย่างนี้จะมีโทษหรือไม่ ในสูตรนี้ก็ไม่ได้แสดงไว้

สุ. ตามปกติของผู้ที่ไม่กระทำอกุศลกรรม เพราะว่ายังไม่ขาดสติสัมปชัญญะ แต่สำหรับผู้ที่ดื่มสุรามึนเมาขาดสติสัมปชัญญะ ถ้ามีปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลกรรม ก็ย่อมเกิด ถ้าไม่มีปัจจัย ก็ย่อมไม่เกิด แต่ถ้ามีปัจจัย ก็มีการล่วงศีลได้ทุกข้อ แม้แต่ในข้อของมุสาวาทก็เป็นได้ เพราะว่าผู้ที่ขาดสติสัมปชัญญะ ย่อมเป็นผู้ที่ไม่รู้สึกตัว เมื่อเป็นผู้ที่ไม่รู้สึกตัว ประกอบกับกิเลสที่มีมากมายหมักหมมในจิตใจ และยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ใครจะทราบว่าขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดกายทุจริตหรือวจีทุจริตขึ้นได้หรือไม่ ในเมื่อมีเชื้ออยู่แล้วในจิตใจ โดยฐานะของความเป็นปุถุชน เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า มีปัจจัยที่จะให้ล่วงศีล หรือว่าไม่มีปัจจัยพร้อมที่จะให้ล่วงศีลในขณะนั้น

ถ. เรื่องการดื่มสุรา ผิดธรรม อาจารย์อธิบายถูกต้องแล้ว ตามกฎหมายอาญา ถ้าเรากินเหล้าแล้วไปทำผิด ศาลไม่งดเว้น ถ้าถูกบังคับ ไม่เคยกิน ถูกแกล้ง และไปทำผิด ศาลใช้ดุลยพินิจ บางทีไม่ลงโทษ หรือรอลงอาญา ในทางบ้านเมืองเขาว่าอย่างนี้ ถ้าสมัครใจกินเอง ไปทำผิด ไม่มียกเว้น จะอ้างว่าเมาเหล้าไม่ได้ แต่ถ้าถูกบังคับโดยไม่เคยกิน และไปทำผิด อย่างนี้มีทางที่ศาลจะกรุณา

เปิด  234
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565