แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 483

ถ. ปัญหาของยักษ์เกี่ยวกับข้อปฏิบัติที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมทั้งนั้น ฟังๆ ดูตอนสุดท้ายที่ยักษ์รู้ว่า ให้ทานกับบุคคลใดมีผลมาก แสดงว่าคำตอบของพระพุทธเจ้านั้น ยักษ์ย่อมรู้การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว ผมก็คิดว่า ยักษ์ตนนั้นคงจะเป็น พระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่ง อยากจะทราบว่า ยักษ์นั้นอยู่ในภูมิไหน และสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้หรือไม่

สุ. ท่านที่มีความรู้ในภาษาบาลี จะอธิบายความหมายของศัพท์นี้ว่าอย่างไร

ผู้ฟัง ยักษ์ ยักขะ แปลว่า ผู้ที่ควรบูชา ตามศัพท์ว่าอย่างนั้น เรื่องยักษ์นี้เราหลงกันมานาน ไปติดที่ทศกัณฑ์ว่าเป็นยักษ์ มาจากรามายณะ ความจริงเรื่องใน พุทธศาสนามีว่า นางกุลธิดาและนางยักษิณีผูกอาฆาตจองเวรกันมา ในที่สุดมาพบ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเทศน์ นางยักษ์ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน นางกุลธิดาไม่ได้

ทำไมยักษ์ถึงได้ เคยมาถามอาจารย์ อาจารย์บอกว่า ผู้ที่เป็นติเหตุกบุคคล คือ ปฏิสนธิด้วยจิตที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ก็สำเร็จได้

ปัญหาที่ติดกันมานาน คิดว่า ยักษ์คือทศกัณฑ์ กุมภกัณฑ์ อยู่ในกรุงลงกา ตามวรรณคดี แต่ความจริงยักษ์เป็นเทพเหมือนกัน คิดว่า อยู่ชั้นจาตุมหาราชิกา

สุ. ขอบคุณที่ช่วยให้ความหมายของยักษ์ ยักษ์เป็นยักษ์ หรือยักษ์เป็นใคร ไม่สำคัญเลย ถ้าเป็นผู้ที่ได้กราบทูลถามข้อความที่เป็นประโยชน์ และยังเป็นประโยชน์ถึงบุคคลในครั้งนี้ด้วย ยังจะต้องสนใจอีกไหมว่า ยักษ์เป็นใคร

ถ. เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ไม่เข้าใจความเพียรในมรรคมีองค์ ๘ ความเพียรมี ๒ ลักษณะ คือ ทางกาย ๑ และทางใจ ๑ เพียรในมรรคมีองค์ ๘ ทางใจ อาจารย์เคยอธิบายแล้ว พอจะเข้าใจ ส่วนเพียรทางกาย อาจารย์ยังไม่เคยอธิบาย อยากจะให้ช่วยอธิบายว่า เพียรในลักษณะไหน

สุ. ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องแยกอะไรไหม ให้รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

แม้แต่คำว่านามธรรม บางท่านก็เสมือนว่าท่านรู้แล้ว พอพูดถึง อธิบายถึงลักษณะของนามธรรม ก็กล่าวว่า รู้แล้วๆ แต่รู้อะไร รู้ชื่อ รู้ความหมาย หรือว่ารู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด ที่เกิดขึ้นเพราะ แต่ละปัจจัยด้วย

แม้แต่ทางตาที่กำลังเห็นอยู่ในขณะนี้ ทุกท่านก็คงจะชินหูว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูปธรรม เพราะไม่ใช่สภาพรู้ และที่กำลังเห็น คือ การรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นนามธรรม ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า เป็นนามธรรม ถ้าเข้าใจว่าเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ที่กำลังรู้

แต่ถ้าจะให้เป็นความรู้จริง ท่านที่ไม่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย ไม่สามารถจะรู้ได้ ไม่สามารถจะแยกได้จริงๆ อาจจะพูดได้โดยชื่อ โดยพยัญชนะ แต่ไม่รู้ความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม มีหลายท่านพยายามที่จะให้นามธรรมปรากฏเหมือนรูปธรรม เพราะมีความคุ้นเคยต่อการที่จะคิดว่า การที่จะรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ต้องมีลักษณะที่ปรากฏ เหมือนสี เหมือนเสียง เหมือนกลิ่น เหมือนรส เหมือนโผฏฐัพพะ

แต่ธาตุรู้ เป็นเพียงลักษณะอาการรู้ ไม่ใช่สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ทางตาในขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่พยายามคิดว่า เห็น เห็น หรือว่าเห็นในขณะนี้เป็นนามธรรม เห็นในขณะนี้เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่พยายามคิดอย่างนั้น โดยไม่สังเกต ไม่สำเหนียกในอาการรู้ ในธาตุรู้ ซึ่งสามารถที่จะรู้ได้ทางตานั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาได้ลักษณะหนึ่ง เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง และส่วนเสียงที่ปรากฏ ก็มีธาตุรู้ ซึ่งกำลังรู้ในลักษณะของเสียงอีกอย่างหนึ่ง เป็นธาตุรู้คนละอย่าง แต่ว่าท่านชินกับเสียง ท่านชินกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ท่านก็สงสัยเหลือเกินว่า อาการรู้หรือธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธรรมในขณะที่กำลังเห็นก็ดี ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงก็ดีนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อสติเกิดขึ้น กำลังระลึกรู้อยู่ในขณะที่กำลังเห็น และก็รู้ถึงความรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งจะเกิดได้เพราะปัจจัยที่ต่างกัน อย่างธาตุรู้ทางตา สามารถที่จะเห็นสีสันวัณณะต่างๆ ได้ ก็เพราะมีสิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นรู้ทางตา

ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

ต้องค่อยๆ สังเกต สำเหนียกจริงๆ และเป็นความรู้ขึ้นจริงๆ พอเริ่มเป็นความรู้ขึ้น จะเริ่มละคลายความสงสัย ความไม่รู้ในธาตุรู้ เมื่อละคลายความสงสัยในธาตุรู้ ในอาการรู้ ภายหลังก็สามารถที่จะรู้ชัดขึ้นได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพรู้อย่างไร เสียงที่ปรากฏทางหูไม่ใช่ลักษณะธาตุรู้เสียงอย่างไร เป็นชีวิตปกติประจำวันจริงๆ อย่าให้ผิดปกติ ถ้าผิดปกติ ก็หมายความว่าเป็นตัวตนที่แทรกซ้อนขึ้น ทำให้สติไม่ระลึก ไม่สังเกต ไม่สำเหนียกที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

ถ้าท่านเป็นผู้ที่สังเกต สำเหนียก จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานใน ระยะแรกๆ นั้น สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพียงชั่วขณะนิดเดียว ความคิดก็แทรกขึ้นทันที เฉไป ดึงไป จากการที่กำลังสังเกต สำเหนียกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังระลึก ซึ่งกิเลสที่มีอยู่จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ตรึก ทำให้สงสัย ทำให้มีความข้องใจเกิดขึ้นว่า ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร เนื่องจากยังไม่ได้พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมจนรู้ทั่วว่า ไม่ว่าจะเป็นความสงสัย ความกังวล หรือความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน ก็เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น สติต้องระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมโดยไม่เลือก ซึ่งแล้วแต่ว่า สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใดรูปธรรมใด

จะถึงได้ง่ายๆ ไหม การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า

ถ้าทางตายังเป็นความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูป ทางหูยังคงเป็นความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูป ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กำลังเป็นโลภะ โทสะ กำลังห่วงใย กังวล กำลังสงสัย และสติก็ยังไม่เคยเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น จะไม่มีทางถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้เลย เพราะฉะนั้น หนทางยากหรือง่าย ไกลหรือใกล้ แล้วแต่สติ แล้วแต่การฟังด้วยดี จนกระทั่งสติอบรมเพิ่มขึ้น ปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น

เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน สำหรับท่านที่เพิ่งเริ่มเจริญสติปัฏฐาน อาจจะมีข้อสงสัยในเรื่องการที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นอย่างไร ซึ่งก่อนอื่นต้องทราบขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่มีสติ

ถ้ารู้ลักษณะของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่มีสติ ก็จะทราบว่า เป็นปกติธรรมดาทุกอย่าง เช่น ในขณะนี้ เป็นการฟังที่ให้สติระลึกได้ทันที ถ้าพูดถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เมื่อครู่นี้หลงลืมสติไปแล้ว พอได้ยินเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ก็ระลึกในขณะที่กำลังเห็น หรือว่าในขณะที่กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังรู้อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหว สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้ทุกๆ ขณะ

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อที่จะให้สติเกิดขึ้น ระลึกนิด ระลึกหน่อย ก็ยังเป็นขณะที่ไม่หลงลืมสติ พร้อมกันนั้นจะต้องรู้ด้วยว่า การสำเหนียกที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะว่าหลายท่านอยากจะละกิเลสเสียให้หมด บางท่านก็คิดว่าท่านละไปได้มากแล้ว กิเลสของท่านบางเบาไปมากทีเดียว แต่ท่านรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏหรือเปล่า

ถ้าสติยังไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่ท่านเข้าใจว่าละกิเลสได้เบาบางแล้ว ก็ยังคงเป็นตัวตนที่ละกิเลสอยู่นั่นเอง ยังไม่ใช่การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ซึ่งไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะมีลักษณะประการใดก็ตาม สติสามารถที่จะระลึกได้ ปัญญาสามารถที่จะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน และละการที่เคยยึดถือสภาพธรรมๆ นั้นว่า เป็นตัวตนได้

ถ. ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์มาประมาณสักปีแล้ว แต่ยังไม่มั่นใจว่า เข้าใจเรื่องสติถูกต้องหรือยัง เมื่อฟังการบรรยายใหม่ๆ ท่านอาจารย์พูดอยู่เสมอว่า การเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การรู้รส การรู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง และคิดนึก เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ ซึ่งตนเองก็เป็นเพียงผู้ฟัง ไม่ได้ศึกษาธรรม แรกๆ คิดอยู่เสมอว่า สติ คือ ถ้าเห็นอย่างนี้ ก็นึกว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น นึกอย่างนี้ ก็คิดว่าเป็นสติ แต่เมื่อฟังไปนานๆ ก็รู้ว่า สติ คือ ระลึกถึงสภาวะลักษณะซึ่งกำลังปรากฏในขณะนั้น

บางทีผมฟังเสียง ก็คิดว่า เสียงนี้เป็นรูปธรรม ที่รู้เสียงนั้นเป็นนามธรรม บางทีเอามือจับโต๊ะ โต๊ะแข็ง นี่เป็นรูป ที่รู้เป็นนาม แต่ฟังไปเรื่อยๆ ท่านอาจารย์บอกว่า อย่างนั้นเป็นการจดจ้อง เป็นตัวตน ก็ไม่ค่อยจะเข้าใจ แต่ก็พยายามสังเกตเรื่อยๆ จนกระทั่งขณะที่สังเกต ก็ไม่ทราบว่าเป็นสติหรือเปล่า เพราะว่าขณะนั้นเกิดขึ้นมาเอง เหมือนกับมีสิ่งนั้นปรากฏเพียงอย่างเดียว อย่างสี เป็นการเห็น ไม่ได้มีความคิด เป็นเรื่องที่ยากแก่การที่จะพูดมาก เพราะว่าปรากฏเพียงชั่วขณะ คือ ระลึกรู้ว่า นี่เป็นสี เหมือนไม่มีสิ่งอื่นแทรกเข้ามา ยากแก่การที่จะอธิบายเหลือเกิน

สุ. ต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทาง บ่อยๆ เนืองๆ ไปอีกเรื่อยๆ

ขณะนี้กำลังเห็น สติระลึกรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ขณะที่กำลังรู้อย่างนี้ สภาพตามความเป็นจริงของจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก ถ้าจะแยกห่างโดยทวาร ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ชั่วขณะที่ยังไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร นั่นคือสภาพของจิตที่เกิดขึ้นรู้สีสันวัณณะทางจักขุทวาร ความรวดเร็วของวิถีจิตนั้น คือ เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยอาศัยจักขุปสาทเป็นจักขุทวารดับไปหมดแล้ว วิถีจิตทางมโนทวาร คือ สภาพของจิตที่เกิดขึ้นรู้สีที่ปรากฏต่อจากทางจักขุทวาร โดยการรู้ทางใจ จะเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมาก ก่อนที่จะรู้ว่าสิ่งที่เห็น คืออะไร

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ มโนทวารวิถีจิตเกิดแทรก สลับกับทางจักขุทวารวิถีจิตนับไม่ถ้วน เสมือนกับว่าสีนี้ไม่ดับเลย และการเห็นนี้ก็ไม่ดับด้วย เพราะฉะนั้น ขอให้คิดถึงสภาพของจิตทางมโนทวารซึ่งเกิดสลับกับทางจักขุทวารวิถีจิตในขณะนี้ตลอดเวลาว่า จะมีลักษณะอย่างไร ถ้ายังไม่ประจักษ์ ก็หมายความว่า ยังไม่ใช่การรู้แจ้งชัดในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมที่แยกขาดจากกันจริงๆ แต่ละทวาร

การอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องการขัดเกลาอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นปัญญาที่อบรมคมกล้าขึ้น ก็ด้วยการที่ค่อยๆ ระลึกรู้แล้วละ ซึ่งการที่รู้แล้วละพร้อมสติ คือ ปัญญาที่สามารถจะรู้แจ้งชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แม้มโนทวารวิถีซึ่งเกิดสลับทางจักขุทวารก็ดี ทางโสตทวารก็ดี ทางฆานทวารก็ดี ชิวหาทวารก็ดี กายทวารก็ดี ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้

เรื่องของการรู้ชัด เป็นเรื่องของปัญญาที่ได้อบรมแล้ว แต่ปัญญาขั้นนี้จะเกิดไม่ได้เลย ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง รูปบ้าง ในขณะที่กำลังเห็นบ้าง ในขณะที่กำลังได้ยินบ้าง ในขณะที่กำลังได้กลิ่นบ้าง ในขณะที่กำลังลิ้มรสบ้าง ในขณะที่กำลังรู้โผฏฐัพพะบ้าง แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และโดยมากมักจะปรารถนาในวิปัสสนาญาณ แต่ว่าวิปัสสนาญาณก็ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ตามความปรารถนา โดยเหตุที่ไม่สมควรแก่ผล

เหตุที่สมควรแก่ผล คือ ความรู้ที่เกิดพร้อมสติที่ค่อยๆ สังเกต สำเหนียก จนเป็นความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมต่อไปอีกเรื่อยๆ

เวลาที่มีความรู้ว่า สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม มีแต่เฉพาะรูปธรรมเท่านั้นที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เพราะว่าลักษณะของ มโนทวารวิถีจิตที่รู้ในรูปธรรมนั้นยังไม่ปรากฏ เช่น ขณะนี้กำลังเห็น ได้ยินด้วย ถ้าเป็นในลักษณะนี้ ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เพราะว่ายังไม่ประจักษ์ในมโนทวารวิถีที่คั่นระหว่างจักขุทวารและทวารอื่นๆ เลย

ถ้าเป็นการประจักษ์แจ้งจริงๆ จะพร้อมกันทั้งกำลังเห็นด้วยและได้ยินด้วย ในขณะนี้ไม่ได้ สติเกิดจริง ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละลักษณะจริง แต่ยังไม่ขาดจากกันแต่ละทวาร เพราะว่าเดี๋ยวนี้สติก็ระลึกรู้ลักษณะที่แข็งได้ แต่ทางตาก็ยังไม่ได้ดับ ทางมโนทวารก็ยังไม่ได้ปรากฏที่จะประจักษ์ว่า ลักษณะของนามธาตุต่างกับลักษณะของรูปธาตุ แต่ละลักษณะขาดจากกันทางมโนทวารจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร

เป็นเรื่องที่ต้องอบรมเหตุไปเรื่อยๆ และวันหนึ่งปัญญาที่คมกล้าสมบูรณ์ขึ้น ก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่ให้เห็นว่า ความจริงนั้นจะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไปอีกมากเพียงไร จึงจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

เรื่องของการอบรมเป็นตอนหนึ่ง และปัญญาที่อบรมแล้วถึงความสมบูรณ์ที่จะ

ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น ก็เป็นอีกตอนหนึ่ง ไม่ใช้คำว่าวิปัสสนาญาณก็ได้ ใช้เพียงแต่คำว่า ความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ได้

เปิด  247
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565