แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 484

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ปัญจทวารวิถีจิตกับมโนทวารวิถีจิตเกิดดับสืบต่อ สลับกันไปเรื่อยๆ สงสัยว่า ถ้าเรามีการเห็นนานๆ ก็หมายความว่า จักขุทวารวิถีเกิด ตามปริยัติมี ๑๗ ขณะ เมื่อ ๑๗ ขณะดับไปแล้ว มโนทวารวิถีก็เกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นต่อ จนกระทั่งหมดจิตวิถีของมโนทวารนั้น สลับกันอย่างนี้ใช่ไหม

สุ. เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะไม่ปรากฏการประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นไปทาง มโนทวารวิถีจิตเลย

มโนทวารวิถีเกิดนับไม่ถ้วน แต่เวลานี้ไม่ปรากฏมโนทวารวิถีซึ่งเกิดสลับกับจักขุทวารวิถีบ้าง โสตทวารวิถีบ้าง อยู่ตลอดเวลาเลย เพราะฉะนั้น ยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่เป็นการอบรมปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละอย่าง ลักษณะของรูปธรรมแต่ละอย่าง ถ้าเป็นทางตา ลักษณะของรูปธรรมก็เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นนามธรรม คือ สภาพที่กำลังรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ สภาพรู้ไม่มีสีสัน ไม่มีรูปร่าง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงธาตุรู้ หรืออาการรู้เท่านั้นเอง นี่คือลักษณะล้วนๆ ของนามธาตุ ซึ่งใน พระสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า นามธาตุละเอียดกว่ารูปธาตุ และนิโรธ คือ นิพพานนั้น ละเอียดกว่านามธาตุ

ลองคิดดู สีสัน เฉพาะที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่การที่จะรู้ความหมายว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร นั่นคือเฉพาะส่วนที่เป็นวัณโณ หรือเป็นรูปารมณ์ หรือเป็นรูปธรรมที่ปรากฏทางตา แต่อาการรู้หรือธาตุรู้ละเอียดกว่า เพราะว่าเป็นแต่เพียงอาการรู้ เป็นธาตุรู้เท่านั้นเอง แต่ถ้าแยกไม่ออก ปรากฏรวมๆ กันอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดปรากฏสืบต่อกันอย่างรวดเร็วได้

แต่อาศัยการอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ก็จะเพิ่มความรู้ขึ้น ละความไม่รู้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้โผฏฐัพพะ กำลังคิดนึก เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อจะถึงขั้นที่จะประจักษ์สภาพธรรม และแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

ถ. ในวิถีของปัญจทวาร สติจะเกิดได้หรือไม่

สุ. เกิดได้ เพราะว่ามหากุศลจิตเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร คือ ทางจักขุทวารวิถี โสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี ชิวหาทวารวิถี กายทวารวิถี และมโนทวารวิถี ไม่มีที่ใดกล่าวว่า มหากุศลจิตเกิดได้เฉพาะทางมโนทวารวิถี

ถ. สติที่จะเกิดได้ต้องประกอบด้วยเหตุ แต่ปัญจทวารวิถีจิตเป็นอเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ จะเอาสติมาจากไหน

สุ. จะต้องลำดับปัญจทวารวิถีเสียใหม่ว่า ขณะใดเป็นอเหตุกจิต ขณะใด ไม่ใช่อเหตุกจิต วิถีจิตหมายถึงจิตที่ไม่ใช่ภวังค์ เพราะว่ารู้อารมณ์ที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด ซึ่งเป็นทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกายก็ได้ ทางใจก็ได้

สำหรับทางปัญจทวารวิถี ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต ประเภทอเหตุกกิริยาจิต เมื่อปัญจทวาราวัชชนวิถีจิตดับไปแล้ว ถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบกับทางจักขุทวาร จักขุวิญญาณก็เกิด ถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบกับทางโสตทวาร โสตวิญญาณก็เกิด ถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบกับทางฆานทวาร ฆานวิญญาณก็เกิด ถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบกับทางชิวหาทวาร ชิวหาวิญญาณก็เกิด ถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบกับทางกายทวาร กายวิญญาณก็เกิด

จิต ๕ ดวง หรือ ๑๐ ดวงนี้ เป็นอเหตุกวิบากจิต เมื่อจิต ๕ ดวง หรือ ๑๐ ดวงนี้ดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อ คือ สัมปฏิจฉันนจิต เป็นอเหตุกวิบากจิต เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณจิตที่เกิดต่อ เป็นอเหตุกวิบากจิต เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำโวฏฐัพพนกิจ เป็นอเหตุกกิริยาจิต เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว ชวนจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์ อเหตุกจิตที่เป็นชวนจิตจะเกิดขึ้นได้ดวงหนึ่ง คือ หสิตุปปาทจิต เป็นอเหตุกิริยาจิต แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ชวนจิตจะไม่ใช่อเหตุกจิตเลย ต้องเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตเท่านั้น

ถ. สติปัฏฐาน ๔ นี้ ตามอภิธรรมท่านแสดงไว้ว่า จะเกิดประกอบใน โลกุตตรจิต การที่เราเจริญสติปัฏฐานนี้ ถ้ายังไม่ถึงโลกุตตรจิต จะเรียกสติปัฏฐานหรือไม่

สุ. ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ทรงแสดงไว้ ขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้กายก็เป็น สติปัฏฐาน ระลึกรู้เวทนาก็เป็นสติปัฏฐาน เวลาที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นสราคจิต หรือวีตราคจิตก็ตามแต่ ขณะนั้นไม่ได้มีนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่ใช่โลกุตตรจิต แต่สราคจิต วีตราคจิตเหล่านั้นก็เป็นสติปัฏฐาน หรือแม้แต่ธรรมใดๆ ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปรากฏ สติระลึกรู้ ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ก่อนที่จะถึงอุโบสถศีลองค์ที่ ๕ ขอกล่าวถึงเรื่องของการพูด ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ใน พหุภาณีสูตร ซึ่งในชีวิตประจำวัน แต่ละท่านจะพูดมากพูดน้อยประการใด ก็แล้วแต่อัธยาศัยที่สะสมมา

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พหุภาณีสูตร ข้อ ๒๑๔ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูดมาก ๕ ประการ เป็นไฉน คือ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการนี้แล มีอยู่ในบุคคลผู้พูดมาก ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอประมาณ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ไม่พูดเท็จ ๑ ไม่พูดส่อเสียด ๑ ไม่พูดคำหยาบ ๑ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้แล มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอประมาณ ฯ

จบ สูตรที่ ๔

พระสูตรนี้เพียงแต่จะเตือนให้ท่านผู้ฟังระลึกถึงตัวของท่านเองจริงๆ ว่า ท่านเป็นผู้พูดมาก หรือว่าท่านเป็นผู้พูดพอประมาณ ถ้าท่านเป็นผู้ที่พูดมาก ลองระลึกดูว่า จิตประเภทใดทำให้เกิดคำพูดต่างๆ เหล่านั้น ถ้าเป็นผู้ที่พูดมาก มีเรื่องมากที่จะพูด เป็นไปได้ไหมที่อาจจะพูดเท็จบ้าง พูดส่อเสียดบ้าง พูดคำหยาบบ้าง หรือพูดเพ้อเจ้อบ้าง ซึ่งถ้าท่านผู้ใดพูดอย่างนี้ ก็เพราะว่าสะสมมาที่จะเป็นผู้พูดมากอย่างนี้ เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ถ้าท่านเป็นผู้ที่พูดมาก คำพูดของท่านส่วนมากเป็นอย่างไร เป็นการพูดเท็จมากหรือน้อย หรือไม่มี เป็นการพูดส่อเสียดมากหรือน้อย หรือไม่มี เป็นการพูดคำหยาบมากหรือน้อย หรือไม่มี เป็นการพูดเพ้อเจ้อบ้างหรือไม่ บางท่านพูดมาก พูดสนุก แต่ไม่ใช่พูดเท็จ ไม่ใช่พูดส่อเสียด ไม่ใช่พูดคำหยาบ แต่เมื่อพูดมากแล้ว คำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ย่อมมี ซึ่งเป็นคำพูดเพ้อเจ้อ

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านรู้สภาพธรรมที่ท่านสะสมมา และรู้เหตุปัจจัยที่ให้กล่าววาจาอย่างนั้นๆ การที่รู้ความจริงอย่างนั้น จะทำให้ท่านสามารถที่จะสะสมอุปนิสัย ในการที่จะเปลี่ยนจากคำพูดที่เกิดเพราะอกุศลจิต ให้เป็นคำพูดที่เกิดเพราะกุศลจิต เพราะถ้าเคยเป็นคนพูดมาก จะให้เปลี่ยนเป็นคนพูดน้อยก็ยาก ต้องอาศัยการอบรมสะสมปัจจัยต่อไปอีกมากทีเดียว แต่ถึงแม้ว่าจะพูดมาก ถ้าระลึกได้ และพูดน้อมไปในเรื่องที่เป็นกุศล ก็ย่อมจะกระทำได้ ในการที่จะให้คำพูดน้อมไปในธรรมะ ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับผู้ฟังและสำหรับตัวท่านผู้พูดด้วย เพราะว่าคำพูดที่เป็นไปในธรรมะในกุศลธรรมนั้น ย่อมเป็นการที่จะเตือนให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้

ท่านที่มีมิตรสหาย และเคยคุยกันด้วยเรื่องต่างๆ พอศึกษาธรรมะแล้ว สนทนากันเรื่องธรรมะได้ไหม ก็ได้ จิตน้อมไปในธรรมะ มีโอกาสที่จะได้เข้าใจธรรมะชัดเจนละเอียดขึ้น และเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยเฉพาะเมื่อเป็นการสนทนากันในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน

บางท่านก็มีปัญหา พอสนทนากันในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานว่า กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ สติก็เกิดได้ ท่านก็มีปัญหาว่า พอสติเกิดก็เหมือนกับเป็นตัวตน คล้ายๆ กับมีตัวตนได้ยินว่า ให้สติเกิด สติจึงได้เกิดขึ้น ซึ่งตามความเป็นจริง สติที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่เมื่อเคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เมื่อสติเกิดก็ยังคิดว่าเป็นตัวตนที่ให้สติเกิด เพราะได้ยินว่าควรให้สติเกิดในขณะนั้น ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความเป็นตัวตนมีอยู่มากเหลือเกิน ในขณะที่ปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงที่เกิดปรากฏ

ถ. คนพูดมากจะเข้าถึงนรก ถ้าพูดพอประมาณจะไปสวรรค์ อาจารย์บรรยายตั้ง ๒ ชั่วโมง จะเรียกว่าพูดมากไหม ก็ไม่ได้ว่าอาจารย์ คำว่าพูดมากนั้น บาลีเขาใช้คำว่า พหุวาจา อย่างอาจารย์เขาเรียกว่า บรรยายธรรม หรือธัมมสากัจฉา การสนทนาธรรม ไม่ใช่พหุวาจา ที่จะให้ตกนรก ขอให้นึกถึงศัพท์บาลีที่แสดง

สุ. พูดมาก พูดอะไรมาก ต้องทราบด้วยว่า พูดอะไรมาก ถ้าเป็นกุศลจิต ยิ่งมากยิ่งดีใช่ไหม แม้แต่พระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมไม่ใช่น้อยเลย แต่เพื่อประโยชน์ เพราะฉะนั้น การที่สติเกิด ทำให้รู้ว่าที่พูดนี้ด้วยจิตอะไรเป็นประโยชน์ของสติที่เมื่อระลึกรู้ ก็สามารถที่จะรู้ถึงสภาพของจิตที่ทำให้พูดอย่าง นั้นๆ ได้

เวลาที่นึกอยากจะได้วัตถุปัจจัยอะไร พูดหรือเปล่า ถ้าระลึกได้ ก็รู้ว่า คำพูดอย่างนั้นเกิดขึ้นเพราะจิตปรารถนาต้องการในวัตถุปัจจัย แต่เวลาที่สนทนาธรรม น้อมไปในเรื่องของธรรมะมากขึ้น นั่นเป็นประโยชน์ และถ้ายิ่งสนทนากันเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจน ลึกซึ้ง ละเอียดขึ้น ก็ยิ่งเป็นประโยชน์

ถ. พูดมาก มุสาวาจา สัมผัปปลาปะ ในองค์ของศีล มีคำวาจาอย่างนั้น แต่อย่างการแสดงธรรม คุยธรรม เขาเรียกว่า ธัมมสากัจฉา หรืออย่างที่อาจารย์บรรยาย เขาเรียกบรรยายธรรม อย่างพระพุทธเจ้าท่านแสดง เรียกว่าแสดงธรรม ไม่ใช้คำว่า วาจา พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอน เรียกว่าเทศนานุสาสนีย์ ไม่ใช่พูด ไม่ใช้คำว่าวาจา แต่คำว่าวาจานี้ ใช้ในศีล เช่น มุสาวาจา สัมผัปปลาปวาจา พหุวาจา คือ พูดมาก แต่ในภาษาไทย เทศนาก็ว่าพูด ธัมมสากัจฉาก็ว่าพูด วาจาก็ว่าพูด ก็เลยทำให้สงสัย แต่ศัพท์จริงมันแยกกัน

สุ. เพื่อประโยชน์ของท่านผู้ฟัง สติควรจะเกิดขึ้นระลึกรู้ในขณะที่พูด เพื่อจะได้รู้ชัดว่า คำพูดนั้นเกิดจากจิตประเภทใด ถ้าท่านมีเมตตาต่อคนอื่น ทักทาย ไต่ถามถึงสุขภาพขณะนั้นด้วยเมตตา เป็นกุศลจิตก็ได้ หรือว่าบางทีกุศลจิตไม่เกิด คำพูดในลักษณะเดียวกัน ประโยคเดียวกัน แต่เป็นไปด้วยอกุศลจิตก็ได้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงจะรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่เป็นปัจจัยให้เกิดคำพูดนั้นๆ ขึ้น

ขอกล่าวถึงอุโบสถศีลองค์ที่ ๕ ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สังขิตตสูตร ข้อ ๑๓๑ ซึ่งมีข้อความว่า

พระอรหันต์ทั้งหลายละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ในวันนี้ แม้เราก็ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๕ นี้ ฯ

สำหรับบางท่าน ไม่ยากเลยในการที่จะงดเว้นการดื่มสุราเมรัย และการเสพของมึนเมาต่างๆ แต่บางท่านรู้สึกว่ายาก ที่จะไม่ยากหรือที่จะยาก ก็แล้วแต่อุปนิสัยที่สะสมมาต่างๆ กัน บางท่านที่ฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนา ท่านพอใจมากที่ไม่ได้ห้ามท่านดื่มสุรา ซึ่งที่จริงไม่ใช่เรื่องการห้าม แต่เป็นเรื่องของบุคคลที่เห็นประโยชน์ในการงดเว้นการดื่มน้ำเมา การดื่มสุราเมรัย การเสพของมึนเมาต่างๆ เพราะว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงโทษของการเสพของมึนเมาไว้ และการที่จะงดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย การเสพของมึนเมา จะเห็นได้ว่า เป็นการอบรมอุปนิสัยปัจจัยที่จะทำให้ไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ โดยเฉพาะจะไม่ให้เกิดการขาดสติสัมปชัญญะ เพราะจุดประสงค์ของการศึกษาธรรมก็ดี การปฏิบัติธรรมก็ดี ก็คือการพากเพียรที่จะละคลาย ขัดเกลา และดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะพิจารณา และเห็นโทษของการดื่มสุราเมรัยและเสพของเสพติดว่า เป็นการทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ แต่ว่าแต่ละท่านก็ต่างกันไปตามอัธยาศัย บางท่านขณะที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานก็จริง แต่อุปนิสัยปัจจัยที่สะสมมาที่จะให้เป็นผู้ที่เสพสุรา ท่านกล่าวว่า ท่านยังดื่มสุราเมรัย แต่ไม่มาก พอประมาณ อาจจะก่อนอาหารนิดหน่อย หรือหลังอาหารนิดหน่อย

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นเป็นไป ย่อมมาจากการสะสมของปัจจัยอย่างละเอียดทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งการที่ท่านยังมีความพอใจในรสสุราอยู่ ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการสะสมอุปนิสัยปัจจัยความพอใจในรสสุราทีละเล็กทีละน้อยอย่างละเอียด ผลก็คือ ยังคงเสพอยู่ ยังคงดื่มอยู่ แต่ถ้าท่านผู้ใดต้องการที่จะงดเว้น และสะสมอุปนิสัยปัจจัยที่จะงดเว้น ท่านอาจจะงดเว้นในปัจจุบันชาตินี้ก็ได้ นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

เปิด  234
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566