แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 485

สุ. การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ ต้องโดยการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอริยเจ้าเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะห้ามใคร แต่เป็นเรื่องที่ผู้ใดมีศรัทธา ใคร่ที่จะอบรมเจริญปัญญา และรู้ว่าถ้าเสพสุราเมรัย สติจะไม่เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่าการเสพสุราเมรัยย่อมเป็นปัจจัยให้ขาดสติสัมปชัญญะ

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อติตตสูตร ข้อ ๕๔๘ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความอิ่มในการเสพสิ่ง ๓ อย่างไม่มี ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ในการเสพความหลับ ๑ ในการดื่มสุราและเมรัย ๑ ในการเสพเมถุนธรรม ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความอิ่มในการเสพสิ่ง ๓ อย่างนี้แล ไม่มี ฯ

มีผู้ใดจะคัดค้านไหม ใครจะทราบถึงกิเลสที่สะสมไว้อย่างละเอียดที่เป็นเชื้อเป็นปัจจัยอยู่ในจิต อาจจะไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดปรากฏลักษณะของกิเลสนั้นๆ ในปัจจุบันชาตินี้ ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่จะให้เกิดกิเลสอย่างนั้นๆ ในปัจจุบันชาตินี้ แต่การสะสมความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้นละเอียดมาก แม้ว่าร่างกายนี้จะต้องการพักผ่อน มีความจำเป็นที่จะต้องพักผ่อนหลับนอนก็จริง แต่ถ้าไม่รู้ความจริงว่า พักผ่อนเพื่ออะไร หลับเพื่ออะไร ซึ่งบางท่านก็ไม่อิ่มในการที่จะนอนเลย ท่านที่ชอบนอน หรือว่าเพราะง่วง เพลีย เหนื่อยอ่อน ควรแก่การที่จะพักผ่อนจึงนอน และถ้าตื่นในตอนดึก อยากจะนอนต่อ หรือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อบรมเจริญสติปัฏฐานได้ทุกขณะที่ตื่น หรือว่าอยากจะหลับต่อ ก็เป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละบุคคล แล้วแต่ปัจจัยที่สะสมมา แล้วแต่สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันชาตินี้ด้วย

บางท่านไม่ทราบในการที่ท่านสะสมมาและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แต่ท่านบอกว่า เวลาที่ท่านตื่นมาแล้ว ท่านนั่งเฉยๆ ซึมๆ ง่วงๆ เคยเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า ตื่นมาแล้วไม่ได้ทำอะไร นั่งเฉยๆ ซึมๆ ง่วงๆ นานๆ ไม่ได้มีความกระปรี้กระเปร่า ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีการประกอบกิจการงานใดๆ เลย เพราะว่าชีวิตของท่านตั้งแต่เด็กพรั่งพร้อมไปด้วยบริวารคอยรับใช้ โดยที่ท่านไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะฉะนั้น เมื่อตื่นขึ้นก็นั่งเฉยๆ ง่วงๆ ซึมๆ ไม่ต้องทำอะไร คอยคนมาปรนนิบัติ แต่ภายหลังท่านเห็นโทษว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตที่ควรจะขัดเกลา และวิธีที่ประเสริฐที่สุด คือ อบรมเจริญสติปัฏฐาน ประกอบกิจธรรมดาในชีวิตประจำวันที่จะขจัดความง่วงซึมซึ่งเป็นอกุศลธรรม

เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะได้ทราบชีวิตตามความเป็นจริงของท่านเองและบุคคลอื่น ซึ่งมีการสะสมมาต่างๆ กันด้วย และจะเห็นจริงว่า ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ยังมีความพอใจยึดถือนามธรรมและรูปธรรมเป็นตัวตน ความอิ่มในการเสพสิ่ง ๓ อย่างนี้ ย่อมไม่มี แม้ในการเสพความหลับ ตื่นมาแล้ว ยังอยากจะนอนต่อไปอีก บางท่านอ้างว่าเพื่อสุขภาพ เพื่อความสมบูรณ์แข็งแรง แต่นั่นเป็นความกังวลประการหนึ่งในตัวตน ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตรงตามความเป็นจริง ก็จะละความกังวลแม้ในสุขภาพด้วย

ถ. มีอยู่ครั้งหนึ่งได้ประสบกับตัวเอง ในศีลข้อสุรา คือ พบเพื่อนโดยบังเอิญ ไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน ก็ไปธุระด้วยกัน จากนั้นก็ทราบว่า เพื่อนจะไปต่างประเทศ เห็นว่าจะไม่ได้เจอกันอีกนาน ก็ขอโอกาสเลี้ยงส่งสักมื้อ ตอนนั้นอากาศกำลังร้อน เข้าไปในร้านอาหารและสั่งเบียร์เย็นๆ พอดื่มเบียร์ไป ก็นึกขึ้นได้ว่า วันนี้วันพระ เราสมาทานอุโบสถศีลไว้ เมื่อดื่มเข้าไปแล้ว ก็เลยนึกว่า ดื่มแล้วดื่มเลย จะหยุดดื่มได้อย่างไร ไหนๆ จะเลี้ยงส่งเพื่อนแล้ว แต่ก็ดื่มต่อด้วยความไม่สบายใจ เพราะศีลขาดไปข้อหนึ่งแล้ว สติขั้นศีลมาไม่ทัน

ขณะที่ดื่มนั้น รสขมปรากฏ ก็พิจารณารูปทางลิ้น พิจารณาว่าขมนั้นก็เป็นรูป เนื่องจากเริ่มเจริญสติใหม่ๆ ผมก็สงสัยอยู่ทุกครั้งว่า รสขมนี่รูปหรือนาม อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า ในขณะที่เราผิดศีล หรือขณะที่ปฏิบัติตนไปในทางที่ไม่เป็นกุศลนั้น สติจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เช่น สมมติว่าขณะที่เรากำลังทำชั่วนั้น ทำไปด้วย สติเกิดขึ้นมาด้วย จะเป็นไปได้หรือไม่

สุ. ผู้ที่สมบูรณ์ในศีล ๕ คือ พระอริยบุคคลตั้งแต่ขั้นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล มีการล่วงศีลได้ ซึ่งท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า ในการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่ท่านเคยได้ฟัง และท่านได้เคยอบรมแล้ว แม้ว่าในขณะนั้นท่านดื่มของมืนเมา รสขมปรากฏ สติก็เกิดได้ แต่อย่าให้ถึงขั้นมึนเมา ขาดสติสัมปชัญญะ และการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องการละเว้นการดื่มสุราและเมรัย ก็เพราะว่าคนส่วนมากจะเริ่มจากการดื่มทีละเล็กทีละน้อย ไม่เห็นโทษ และก็เพิ่มขึ้น จนขาดสติสัมปชัญญะ

สำหรับผู้ที่รักษาศีล เห็นโทษจึงได้รักษา และก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าสติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้ ก็เป็นการอบรมปัญญาที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ขอให้ทราบว่า ถ้าขณะนั้นเสพสุราเมรัยจนถึงขาดสติสัมปชัญญะแล้ว สติจะไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้เลย

ที่ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ยังสงสัยอยู่นั่นเองว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม สิ่งที่ปรากฏ สภาพที่ปรากฏ เป็นรสขม เป็นนามธรรมไม่ได้ สภาพที่ปรากฏ สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาเป็นนามธรรมไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ปรากฏทางตา เสียงเป็นนามธรรมไม่ได้ เพราะมีลักษณะของเสียง คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น สภาพของสีก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี เป็นนามธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่สติระลึก เป็นการระลึกเพื่อที่จะรู้ว่า รูปธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงรูปแต่ละรูปที่ปรากฏแต่ละทาง

ส่วนการที่จะระลึกรู้ในนามธรรม เช่น ทางตา สีสันวัณณะปรากฏไม่ได้ ต้องมีสภาพที่กำลังรู้ในสีสันวัณณะที่ปรากฏนี้ สีสันวัณณะนี้จึงปรากฏได้ กำลังรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา อาการรู้ ธาตุรู้นั้น เป็นนามธรรม

ฟังบ่อยๆ และค่อยๆ ระลึก จะรู้ได้จริงๆ ว่า ธาตุรู้ อาการรู้นั้น เป็นเพียงอาการรู้เท่านั้น เวลาที่เสียงปรากฏ ถ้าไม่มีอาการรู้ ไม่มีธาตุรู้ในเสียง ในขณะนั้น เสียงปรากฏไม่ได้ เสียงปรากฏเป็นเสียง แต่ว่าขณะนั้นมีอาการรู้ในเสียงเป็นนามธรรมแต่ละทวาร ต้องค่อยๆ สำเหนียก สังเกต พิจารณา จนสามารถที่จะรู้ได้ว่า มีธาตุรู้จริงๆ และธาตุรู้แต่ละลักษณะนั้นต่างกันแต่ละทวาร

ธาตุรู้ทางตา รู้สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ ธาตุรู้ทางหู รู้เสียงขณะนี้ ธาตุรู้ รู้เสียงไม่ใช่รู้สี ขณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็งกำลังปรากฏ ขณะนั้นธาตุรู้อ่อน ธาตุรู้แข็ง ธาตุรู้เย็น ธาตุรู้ร้อน กำลังรู้อ่อน รู้แข็ง รู้เย็น รู้ร้อน ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังรู้ แต่มีธาตุรู้ อาการรู้ในอ่อน ในแข็ง ในเย็น ในร้อนที่กำลังปรากฏ

ต้องอบรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเพิ่มความรู้ขึ้นว่า สติระลึกรู้ในธาตุรู้จริงๆ หรือในรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

สำหรับการเสพสุรา ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้างดเว้นเป็นสมุจเฉท แต่ผู้ที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน แล้วแต่อุปนิสัยปัจจัยว่า ท่านมีอุปนิสัยปัจจัยที่จะบรรเทา ละคลาย หรือว่าจะงดเว้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

สำหรับเรื่องของความอิ่มในการเสพสิ่ง ๓ อย่างย่อมไม่มี และการอิ่มในการเสพความหลับไม่มี ถึงแม้ว่าเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอริยสาวกแล้ว ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ยังมีความง่วง ความง่วงยังครอบงำได้ เมื่อเป็นเพียงพระโสดาบันบุคคลไม่ใช่ พระอรหันต์ ก็ยังมีกิเลส มีอกุศล ซึ่งเมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น

อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต โมคคัลลานสูตร ข้อ ๕๘ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าเภสกลา มิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ ก็สมัยนั้นแล ท่านมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ครั้นแล้ว ทรงหายจากเภสกลามิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ เสด็จไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระมหาโมคคัลลานะ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือ คู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น

พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว ครั้นแล้วได้ตรัสถาม ท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

ดูกร โมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ ดูกร โมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า

อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงตรึกตรอง พิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้ว ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึงอาโลกสัญญา ตั้งความสำคัญในกลางวันว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่ฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น พอตื่นแล้ว พึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ

ดูกร โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

ท่านผู้ฟังจะเห็นพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ทรงโอวาทเตือน แม้แต่กำลังโงกง่วง ซึ่งไร้ประโยชน์ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเห็นประโยชน์ของการที่จะให้บุคคลที่สามารถจะรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมเป็นผู้ที่ละเลย เกียจคร้านในการที่สติจะระลึกรู้ เพราะทรงเห็นจริงๆ ว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ เป็นทุกข์เหลือเกิน แม้ว่าจะเป็นพระโสดาบันแล้วก็จริง แต่ว่ายังมีโทมนัสเวทนา ยังมีสภาพธรรมที่เป็นอกุศลที่เกิดขึ้น ทำให้จิตเต็มไปด้วยความกระสับกระส่าย ความคับแคบ ความเดือดร้อนใจต่างๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงโอวาท แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะอยู่ป่า เภสกลามิคทายวัน และท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม ก็ยังทรงเกื้อกูลท่านพระมหาโมคคัลลานะ ด้วยการทรงโอวาทให้เห็นประโยชน์ของการที่จะไม่โงกง่วง

. การแสดงธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ไปโปรดท่านพระมหาโมคคัลลานะนั้น ผมเห็นด้วย แต่เวลาจะปฏิบัติ ทำไม่ได้ บางครั้งอ่านหนังสือธรรมะต่างๆ อ่านไม่เท่าไร ง่วง เมื่อง่วงแล้ว บางครั้งก็ไม่สู้ หลับเลย บางครั้งก็แข็งใจสู้ แต่ก็สู้ไม่ได้กี่ขณะ อาจหายง่วงได้สัก ๕ นาที ๑๐ นาที ก็ง่วงอีก ครั้งที่ ๒ หลับเลย จะสู้ถึงครั้งที่ ๓ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้นึกถึงสัญญา นึกถึงอาโลกสัญญา ให้แหงนดูดาว ให้ล้างหน้า ให้ดึงหู อะไรต่างๆ อย่างนี้ สู้ไม่ไหว ไม่ถึงเด็ดขาด ใจไม่สู้

สุ. ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย เวลาที่ร่างกายอ่อนเพลียเหนื่อยอ่อน ต้องการ พักผ่อน ก็หลับโดยที่ฝืนไม่ได้ แต่อย่ายินดีพอใจในการหลับ ส่วนที่จะต้องหลับก็หลับ แม้แต่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ประการสุดท้ายก็คือ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ

ถ้าท่านผู้ฟังไม่เป็นผู้ที่ใคร่ในการนอน หรือว่าจะประกอบความสุขในการนอน ในการเอนข้าง ในการเคลิ้มหลับ ก็เป็นเรื่องของร่างกายที่จะต้องพักผ่อน

เปิด  245
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566