แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 496

ถ. เรื่องของการรู้แล้ว จริงๆ ส่วนมากผู้ที่ได้ศึกษาแล้ว ก็รู้แล้วจริงๆ ด้วย แต่เวลาปฏิบัติ มันโง่ มันไม่รู้ เช่น ปาณาติบาต องค์ธรรมที่จะครบกรรมบถมี ๕ ในการศึกษาก็รู้ และรู้จริงๆ ว่า คือ สัตว์นั้นมีชีวิต ๑ และเราก็รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๑ มีจิตคิดจะฆ่า ๑ ทำการฆ่า ๑ สัตว์นั้นตายเพราะการฆ่านั้น ๑

องค์ธรรมมี ๕ ประการอย่างนี้ รู้จริงๆ แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ ไม่รู้ ผมสังเกตผู้ที่ทำงานรับจ้างในโรงฆ่าไก่บางคน เขาฆ่าด้วยความชำนาญ แต่การฆ่านั้น ผมไม่รู้ว่าจะครบองค์หรือไม่ คือ เมื่อฆ่าด้วยความชำนาญอย่างนี้ ขณะที่เขาฆ่า ก่อนฆ่าเขาอาจจะรู้ว่า สัตว์นั้นมีชีวิต คือ ไก่นี้มีชีวิต และขณะที่กำลังฆ่า มือจับหัวก็ดี มีดเฉือนก็ดี ด้วยความชำนาญของเขา เขาก็สามารถคุยกันได้ หัวเราะกันได้ และเท่าที่ผมสังเกต ขณะนั้นเขาไม่คิดเลย ไม่ได้รู้เลยว่าไก่นั้นมีชีวิต ขณะที่ฆ่ากันแบบนี้ ซึ่งไม่ได้ไปนึกไปคิดว่าไก่นั้นมีชีวิต ขณะที่เขาทำกันแบบนั้น อกุศลกรรมบถทั้ง ๕ องค์จะครบหรือไม่

สุ. ทำไมต้องคิดด้วย รู้ก็รู้

ถ. ไม่รู้ เพราะเขาคุยกัน

สุ. ไม่รู้ได้อย่างไร ถึงจะคุยกันก็รู้ จะนั่งเก้าอี้ ต้องบอกไหมว่า เก้าอี้ จึงจะนั่งลงไปได้ ไม่ได้นึกถึงคำนี้เลย แต่รู้ จะหยิบอะไร จะทำอะไร เป็นกิจวัตรประจำวันก็เพราะรู้ โดยไม่ต้องคิดเป็นคำๆ ขึ้นมาเลย

ถ. ถ้าอย่างนั้นก็หวนเข้ามาในการเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ต้องไปคิดอีกเหมือนกัน อาจารย์มักจะกล่าวเสมอว่า จะต้องสังเกต สำเหนียก พิจารณา เทียบเคียง

ถ้าขณะที่มีสติเกิดขึ้นรู้สึกตัว มีเสียงปรากฏ ขณะนั้นได้ยินเสียง แต่ไม่ได้สังเกต ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้เทียบเคียงต่างๆ ขณะนั้นก็รู้ว่าเสียงนั้นปรากฏ รู้อยู่อย่างนั้นเฉยๆ ไม่ได้สังเกต ไม่ได้สำเหนียก จิตขณะนั้นจะมีอินทรีย์ทั้ง ๕ หรือไม่ อินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ถ้ารู้ว่าเสียงปรากฏทางหู และไม่ได้คิด ไม่ได้นึก ไม่ได้อะไรต่ออะไร ขณะนั้นอินทรีย์ทั้ง ๕ ประกอบด้วยหรือเปล่า

สุ. อย่างไรๆ ก็ห้ามคิดไม่ได้ ปกติธรรมดาคิดเรื่องอื่น แต่เมื่อฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน สติเกิด เกิดคิดขึ้นมาว่า ที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ อาจจะคิดอย่างนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่สำเหนียก สังเกต มีความละเอียดเพิ่มขึ้นที่จะรู้ว่า คิดไม่ใช่เห็น นี่คือการที่จะเพิ่มความรู้ขึ้น โดยการเทียบเคียง สังเกต สำเหนียก พิจารณา จนกว่าจะเป็นความรู้ในลักษณะของสภาพรู้ อาการรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสัน ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่น เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ เป็นนามธาตุ เป็นนามธรรม คือ เป็นแต่เพียงสภาพที่รู้เท่านั้นเอง ซึ่งนั่นคือการเริ่มที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมโดยไม่ต้องคิด เพราะว่าถ้าคิด ก็เป็นนามธรรมอีกประเภทหนึ่งแล้ว นี่คือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด จนกว่าจะเป็นความรู้แจ้ง

ถ. ขณะนั้นจะว่าไม่รู้ ก็ไม่ใช่ รู้อยู่เหมือนกันว่าเป็นเสียง อาศัยที่ได้ยินได้ฟังมาก่อน หรือว่าเคยเจริญ เคยนึกคิด เคยอะไรๆ ต่างๆ มาก่อน ขณะนั้นถ้าได้ยิน ก็มีสติรู้ ขณะที่เสียงปรากฏก็รู้ รู้แล้วก็แล้วกันไป ไม่ได้คิดอะไรๆ อีกต่อไป ขณะนั้นก็รู้อยู่เหมือนกันว่า นั่นเป็นเพียงเสียง อาศัยที่ศึกษามาได้ยินมา ก็รู้ว่าเสียงเป็นรูป แต่จิตขณะนั้นไม่ได้ไปนึกไปคิดอะไรอีก

สุ. เป็นธรรมดา ทุกคนได้ยินเสียง แต่ภายหลังได้ฟังว่า เสียงเป็นรูปธรรม และก็เพิ่มความรู้จากการฟังอีกว่า ได้ยิน สภาพรู้ เป็นนามธรรม นั่นขั้นการฟัง แต่ที่จะรู้ว่าเป็นเสียง ไม่ใช่ตัวตน และเสียงเป็นรูปธรรม ต่างกับก่อนที่จะเคยรู้เคยฟังอย่างนี้มา ความรู้นี้แทรกขึ้นมาตอนไหน อย่างไร

อยู่ดีๆ จะแทรกขึ้นมาได้อย่างไร ต้องมีเหตุ ต้องมีการสะสม ต้องมีการอบรม ต้องมีการระลึก ต้องมีการรู้ชัด

ถ. เท่าที่ผมศึกษาธรรม และสนใจการปฏิบัติวิปัสสนาของอาจารย์สุจินต์ ประมวลกับความรู้ทางโลกๆ ที่ได้ศึกษามา คือ ทางด้านวิทยาศาสตร์ ผมเชื่อ ๑๐๐% ว่า เป็นทางที่ถูกต้องที่สุด

สมมติว่า เรื่องเสียง เท่าที่ศึกษามา คือ ความสั่นสะเทือนของอากาศจากแหล่งหนึ่งกระเทือนมาเข้าหูเรา ทำให้เยื่อหูเราสั่นสะเทือนต่อไปเรื่อยๆ เพียงแต่เสียงซึ่งเป็นอากาศเล็กๆ สั่นสะเทือนแล้วมาเข้าหูเรา ก็มีอิทธิพล ทำให้เรานอนไม่หลับทั้งคืนก็มี หรือบางทีทำให้เราฟูจนตัวลอยก็มี เพราะอากาศที่สั่นสะเทือนแท้ๆ ถ้าอากาศนั้นเป็นการสั่นสะเทือนแบบที่ว่าเป็นการยกยอเรา หรือว่าเป็นการดูถูกเรา หรือว่าเป็นอะไรๆ ตามที่โลกเราสมมติ เพราะฉะนั้น อิทธิพลของการสั่นสะเทือนของอากาศแท้ๆ ทำให้เรานอนไม่หลับ หรือทำให้เราเฟื่องฟูจนตัวลอยก็มี

เป็นเรื่องของรูปจริงๆ เป็นอณูของอากาศ ซึ่งไม่รู้ตัวเองเลยว่า กำลังด่าเรา หรือกำลังชมเรา นี่คือคำว่า รูป ซึ่งผมเข้าใจตามเมื่อนำความรู้ทางโลกๆ มาคิดหาเหตุผล และผมเชื่อว่า ถ้าหากเราได้พิจารณาว่า รูปนั้นเป็นรูปจริงๆ ตรงตามลักษณะ ตามสภาวะจริงๆ แล้ว เราต้องพ้นทุกข์แน่ๆ เพราะว่าเราคงไม่ไปหลงอากาศที่สะเทือนมาถูกหูเราจนถึงกับนอนไม่หลับแน่ๆ ถ้าเราต้องรู้ตามสภาพความเป็นจริง

แต่ว่าเมื่อผมได้มาศึกษา และปฏิบัติตามแนวทางเจริญวิปัสสนา ผมก็มีประสบการณ์อย่างนี้ คือ เมื่อผมพิจารณารูปทีไร ผมมักจะไปได้นามทุกที เช่น มีเสียงมากระทบหูผม ไม่ว่าเสียงอะไร ถ้าบังเอิญสติผมเกิดขึ้น ผมมักจะท่องในใจว่า เสียงเป็นรูป ผมมักจะนึกอย่างนั้นอยู่เรื่อย พอนึกว่าเสียงเป็นรูป ที่เรานึกว่าเสียงนั้นเป็นรูป ก็กลายเป็นนามแล้ว จะไปนึกอย่างนั้นอยู่เรื่อย นี่คือ เมื่อผมพิจารณารูป ก็มักจะไปได้นามอยู่ตลอดเวลา เป็นปรากฏการณ์ของผมอย่างหนึ่ง

ผมขอเรียนถามอาจารย์ว่า เมื่อสติเกิดนั้น มีไหมว่า สติเกิดเฉยๆ รู้ว่าเป็นรูปเป็นนาม แต่ไม่รู้ถึงสภาพความไม่มีตัวตน

ผมเคยมีสติเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นเฉยๆ รู้ว่า เป็นรูปหรือเป็นนาม แต่สภาพที่จะคิดว่าไม่มีตัวตน ผมต้องมานั่งหาเหตุผลต่อไปอีก เช่น บังเอิญผมเอามือไปถูกตัวลูกผม ซึ่งตามปกติร่างกายของคนต้องมีความร้อน ผมก็ต้องนึกหาเหตุผลของความไม่มีตัวตนว่า ความร้อนนี่หรือคือลูกเรา เรายึดถือหลงรักว่าเป็นลูกเรา ความร้อนนี่ไม่ใช่ลูกเราแน่ๆ เป็นพลังงานอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นความร้อนในเตาก็เป็นลูกเราด้วย ความจริงไม่ใช่แน่ๆ นี่คือการหาเหตุผลด้วยการคิดไปเรื่อยๆ ผมมีประสบการณ์อย่างนี้ อยากจะให้อาจารย์ช่วยชี้แจงด้วย

สุ. พิจารณาที่สภาพแข็งในขณะนั้นบ่อยๆ เนืองๆ การคิดนึกก็จะเว้นห่าง เพราะรู้ว่าขณะที่คิดไม่ใช่การรู้ลักษณะที่แข็ง ถ้าขณะนั้นจิตไม่รู้เรื่องนั้น เรื่องนั้นก็ไม่มีปรากฏในความคิดนึก

ตามสภาพความเป็นจริง คือ แม้ที่คิดอย่างนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน และเมื่อไรที่สติระลึกได้ รู้ว่าที่กำลังคิดก็เป็นเพียงสภาพรู้เรื่อง เรื่องนั้นจึงปรากฏในความคิดนึก ก็จะเห็นได้ว่า ร้อนเป็นลักษณะหนึ่งที่ปรากฏ

การอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องเกื้อกูลกันไป ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมขณะใด ก็สังเกต สำเหนียกที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ในขณะที่กำลังคิด สติควรจะระลึกรู้ว่า คิดนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นสภาพรู้เรื่อง ไม่ต้องไปพะวงสงสัยกับร้อนเมื่อครู่นี้ เรื่องของร้อนหมดไปแล้ว แต่ว่าเป็นความคิดนึกที่สติควรจะระลึกว่า ทุกครั้งที่คิด จะเป็นโลกกว้างใหญ่ จะเป็นคนสองคน จะเป็นบ้านหลังหนึ่ง หรือว่าจะเป็นอะไรก็ตามแต่ เรื่องราวต่างๆ นั้นมีได้ เมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นตรึกนึกไปในเรื่องนั้น

แม้แต่ความคิดนึก ก็ไม่ได้ตั้งอยู่ตลอดเวลา ความคิดนึกก็เกิดดับใปแต่ละขณะด้วย บางทีก็คิดเรื่องนี้ บางทีก็คิดเรื่องนั้น ซึ่งความคิดแต่ละขณะจะมีได้ก็เพราะจิตเกิดขึ้นรู้เรื่องนั้นแต่ละขณะ แต่เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก และสติไม่ได้ระลึกรู้ว่า เป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้เรื่อง ด้วยเหตุนั้นเรื่องนั้นจึงปรากฏเหมือนจริง เหมือนมีจริงๆ เหมือนเป็นโลกจริงๆ เป็นคนจริงๆ

เพราะฉะนั้น สติจึงต้องระลึกรู้แม้ในขณะที่คิดด้วย ปัญญาจึงจะเห็นชัดว่า รูปเป็นรูป นามเป็นนาม ขณะที่กำลังคิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ร้อน เป็นปกติธรรมดา แต่ว่าสติระลึก

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า เวลาที่กำลังกระทบสัมผัสอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน รูปนั้นดับไปจริงๆ หรือเปล่า ก็เป็นที่น่าสงสัยสำหรับผู้ที่ไม่ประจักษ์ในความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม เพราะไม่ปรากฏให้เห็นว่าอะไรดับหมดไป ทางตาก็เห็นต่อกันอยู่เรื่อยๆ ไม่ประจักษ์ว่าเกิดดับ ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส อ่อนอย่างไร แข็งอย่างไร ก็ยังปรากฏอย่างนั้น ยังไม่ประจักษ์ว่าเกิดดับ จะประจักษ์ได้อย่างไรในเมื่อทางตาก็ทั้งกำลังเห็น ทางกายก็กำลังปรากฏอ่อนหรือแข็ง เพราะสติไม่ได้เกิดขึ้นแยกขาดแต่ละทางออกจากกันเสียก่อน

เมื่อสติไม่ได้เจริญอบรมจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่า นามธรรมรูปธรรมแต่ละทวารก็เป็นแต่ละลักษณะจริงๆ เช่น เห็นก็ไม่ใช่ได้ยิน สีไม่ใช่เสียง กลิ่นก็ไม่ใช่รส เย็นร้อน อ่อนแข็งก็ไม่ใช่กลิ่น ถ้าไม่แยกลักษณะของสภาพธรรมที่สามารถปรากฏให้รู้ได้ ให้ขาดออกจากกันแต่ละทวารจริงๆ จะประจักษ์ความเกิดดับได้อย่างไร ก็ยังคงไม่ประจักษ์ ก็ยังคงปรากฏสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้วจริงๆ และก็เพิ่มความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารจริงๆ เมื่อได้อบรมจนกระทั่งเหตุสมควรแก่ผลแล้ว ด้วยเหตุใดผลจึงจะไม่ปรากฏในเมื่อเหตุสมควรแล้ว แต่ถ้าเหตุยังไม่ได้อบรมให้สมควร จะเรียกร้องให้ผลปรากฏสักเท่าไร ผลก็ย่อมปรากฏไม่ได้ นี่เป็นของธรรมดา

ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟัง ซึ่งท่านขอให้อ่านออกอากาศ มีข้อความว่า

ชุมพล เกร็ดแก้ว สัตหีบ ชลบุรี

จากผู้รับฟังทางวิทยุที่อยู่ห่างไกล ไม่สามารถที่จะมาฟังคำบรรยายในที่อาจารย์ออกอากาศได้ จึงได้พยายามเขียนจดหมายถึงอาจารย์ ช่วยอธิบายให้หายข้อข้องใจในรายการนี้ด้วย เพราะผู้ฟังยังมีนิวรณ์ครอบงำอยู่ โดยเฉพาะข้อวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ของอาจารย์

คำว่า เห็นชัด กับคำว่า เห็นแจ้งแทงตลอดสัจธรรมนั้น เห็นอย่างเดียวกัน หรือเห็นต่างกันอย่างไร การเจริญสติปัฏฐานของอาจารย์บอกว่า ไม่ต้องไปเจริญที่ไหน เจริญในบ้านก็ได้ ผมเห็นว่า การที่เราเจริญในบ้าน ก็เท่ากับการคลุกคลีไปด้วยหมู่ด้วยคณะ คือ คลุกคลีด้วยตัณหากามารมณ์ต่างๆ ที่คอยยั่วยุให้เกิดอารมณ์อยู่เสมอ เรื่องนี้จะเอาอะไรมาพิสูจน์ตัดสินธรรมว่า ข้อปฏิบัติอย่างไหนผิด อย่างไหนถูก เพราะข้อตัดสินพระธรรมวินัยได้บ่งไว้ว่า อันธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ ด้วยคณะนั้น ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา

ลำพังปัญญาอย่างเดียว ย่อมไม่สามารถที่จะตัดสินอารมณ์ให้เด็ดขาดลงไปได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ หรือบุคคลตัวตนได้ เพราะขาดวิตก วิจาร การพิจารณาให้ละเอียด จนเห็นแจ้งสัจธรรมโดยทุกๆ ประการ ตามธรรมดาเมื่อเราดูของ เมื่อเห็นด้วยตาเปล่าอย่างเดียวยังไม่พอ ยังไม่แน่ชัด อย่างน้อยเราจะต้องจับต้อง ลูบคลำ พลิกดูข้างโน้นข้างนี้ ดูให้ชัดเสียก่อน จึงจะถูกต้องดี

การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็ยังอยู่ในขั้นโลกียะอยู่ ยังไม่ใช่ขั้นโลกุตตระ ถ้าถึงขั้นโลกุตตระแล้ว ก็มีนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียว พระบรมศาสดาผู้ทรงปัญญาอันเลิศ พร้อมทั้งสาวกสาวิกาทั้งหลายที่มีมาในพระสูตร พระองค์ท่านยังต้องหลีกเร้นหนีเข้าไปปฏิบัติธรรมตามในป่า หาที่สงบสงัด เป็นกายวิเวก ซึ่งเป็นการสอนตรงกันข้ามกับคำสอนของอาจารย์ที่ได้ออกอากาศอยู่ทุกๆ วัน และอาจารย์ก็ยืนยันว่าของอาจารย์ถูกฝ่ายเดียว เมื่อถ้าเป็นเช่นนั้น พระบรมศาสดาทรงสอนให้ไปเจริญและปฏิบัติธรรมตามป่า โคนไม้ ที่ว่างเปล่า ก็ผิดไปอย่างนั้นหรือ

การสอนเดี๋ยวนี้ รู้สึกว่าจะเก่งไปกว่าพระบรมศาสดาของเรามาก เพราะไม่ต้องไปทนทุกข์ทรมานตนตามป่าเขา หรือที่ว่างให้ลำบากเปล่าๆ อยู่ปฏิบัติในบ้านซึ่งเต็มไปด้วยทุกสิ่ง สมบูรณ์ไปด้วยตัณหา ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้

พระธัมมทินนาเถรีภิกษุณี เมื่อท่านบวชเป็นภิกษุณีแล้ว ยังมีเพื่อนที่เคยเป็นพรรคพวกหรือญาติพี่น้องได้พากันมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอๆ มิได้ว่างเว้นเลย ทำให้ท่านคิดว่า ไม่ได้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมเลย ครั้นจะห้ามเขาไม่ให้มา ก็ไม่ใช่ที่ เพราะผู้ที่มาเยี่ยม ก็มาเพื่อความหวังดีทั้งนั้น ท่านจึงเลยตัดสินใจไปทูลลาพระศาสดาไปเจริญสมณธรรมในป่า จนได้บรรลุมรรคผลในไม่ช้าเลย

ในเมื่อเรานำเอามาพิจารณาดู ก็ไม่น่าจะมีการคัดค้านกันเลย อีกอย่างองค์แห่งการตรัสรู้ธรรม คือ โพชฌงค์ จะเจริญในที่วุ่นวายหรือที่พลุกพล่านไม่ได้ เพราะองค์ธรรมเหล่านั้นจะต้องอาศัยใช้สติปัญญาพิจารณาจนเกิดองค์ธรรมเหล่านั้นขึ้นมาได้ ถ้าขาดการพิจารณา องค์ธรรมเหล่านั้นจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ได้ยินจากคำสอนของอาจารย์ว่า ผู้ที่เจริญสมถะหรือสมาธิจนเกิดความสงบขึ้นนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์อะไรเลย และไม่ทำให้เกิดปัญญาด้วย ข้อนี้ก็ชักสงสัยว่า พระองค์ทรงสอนให้เราเจริญตามองค์ของมรรค ๘ ก็แล้วในองค์ของมรรคทั้ง ๘ ก็มีสัมมาสมาธิอยู่ด้วย ซึ่งเกี่ยวกับฌาน ถ้าไม่มีประโยชน์พระองค์ทรงสอนไว้เพื่ออันใด ผู้รู้ท่านยังกล่าวว่า สัมมาสมาธิเป็นองค์ประธาน นอกนั้นเป็นบริวาร เพราะในเมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว อะไรๆ ก็ตั้งมั่นไปด้วย ดังเราจะได้เห็น ได้ยินมาจากพระสูตรว่า เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน พระองค์ท่านก็ยังทรงเจริญฌาน และแล้วก็นิพพานในญาณนั้นเอง

ข้อนี้เราก็ควรนำมาพิจารณาเหมือนกัน ปัญญาที่ยังค้นคว้าอยู่ ก็ยังเป็นปัญญาขั้นโลกียปัญญา ปัญญาที่เป็นขั้นโลกุตรปัญญาไม่ต้องมาค้นคว้าหาทางดับทุกข์แล้ว เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียว การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ท่านว่ากำหนดรู้อย่างหนึ่งอย่างใดแล้วเป็นอันว่า รู้ได้หมดทั้ง ๔ ข้อ

เราจะเห็นได้ว่า การเจริญกายานุปัสสนาข้อว่าด้วยอานาปานบรรพ เมื่อรู้แจ้งแล้ว ละคลาย สำรอกกิเลสตัณหาออกไปจากจิตแล้ว ก็บรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน อย่างที่พระองค์ทรงเจริญเป็นตัวอย่างมาแล้ว ผมว่าดีกว่าที่จะมานั่งระลึกดูรูปนั้นนามนี้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ซึ่งวันหนึ่งๆ มีการเกิดขึ้นดับไปนับจำนวนไม่ถ้วน เพราะการเกิดและการดับรวดเร็วเหลือเกิน การเจริญกำหนดอายตนะก็ไม่เห็นมีที่ยืนยันว่า จะได้สำเร็จมรรคผลตรงไหน เพราะกิเลสมันเกิดได้ดับได้เหมือนกัน ขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูปกับนาม คำว่า รูปกับนาม ก็ได้แก่ กายและใจ

เปิด  289
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565