แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 499

ผู้ฟัง ขอได้โปรดระลึกในเบื้องต้นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าบันทึกไว้ในบาลี เป็นภาษามคธ ภาษามคธนี่ถ้ารู้ไม่ดี แปลออกมาผิด ก็ไปกันใหญ่ จะสังเกตได้ที่เห็นแปลกันไม่ถูกไม่ต้อง อย่างจดหมายที่อาจารย์อ่าน เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค ไปแปลว่า หนทางเป็นที่ไปของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว หมายความว่าอะไร ไม่ถูกเลย ไวยากรณ์ก็ไม่ถูก ความหมายหลักก็ไม่ถูก ผมรู้บาลีและเรียนไวยากรณ์มา ตามศัพท์ไวยากรณ์ เอกก็ดี อายนะก็ดี เป็น adjective หรือ คุณนามของมรรค มรรค แปลว่า ทาง อายนะ แปลว่า เป็นที่ไป เอก แปลว่า อันเดียว เพราะฉะนั้น ที่ถูกต้องแปลว่า หนทางนี้ทางเดียวไปนิพพาน ต้องทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่ได้ แต่กลับแปลว่า เป็นที่ไปของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว คนที่ฟังตามที่ไม่รู้เรื่องก็เข้าใจผิดตามไปด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่ว่า เห็นชัด เห็นแจ้ง อะไรนี่ ความจริงเป็นศัพท์เดียว วิปัสสนา วิ แปลตรงๆ ว่า วิเศษ แจ้ง ชัด และ ปะสะ แปลว่า เห็น ซึ่งในจดหมายเขาถามอาจารย์ว่า เห็นชัด เห็นแจ้ง ต่างกันไหม เพราะฉะนั้น ก็ได้ทั้งนั้น จะว่าประจักษ์ก็ได้

อย่างปัญญา ญา แปลว่า รู้ ปะ แปลว่า ทั่ว ปัญญา แปลว่า รู้ทั่ว หมายความว่ารู้อะไรหมดทั่ว แต่เป็นภาษาไทย เราก็แปลไปต่างๆ

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ บริสุทฺธํ คำสอนของท่านทั้งเนื้อความ ทั้งตัวหนังสือพยัญชนะต้องได้ความหมดทั้งนั้น สาตฺถํ คือ ทั้งเนื้อความ เนื้อถ้อยกระทงความ สพฺพยญฺชนํ คือ พร้อมทั้งพยัญชนะ จะขาดจะเกินไม่มี ได้ความหมดทุกแง่ทุกมุม พระพุทธเจ้าท่านเป็นสัพพัญญู โลกวิทู อย่าแปลกันผิด ไม่ได้ อาจารย์แปลผิดกันอย่างนี้ ลูกน้องไม่รู้ภาษาบาลีก็เชื่อ

อีกอย่างหนึ่งที่กล่าวว่า จะต้องไปอยู่ที่โน่น ที่นี่ ขอโทษ พระพุทธบิดา พระเจ้าสุทโธทนะนอนอยู่ พระพุทธเจ้าก็ประทับนั่ง ลูกเมียก็อยู่เป็นแถว ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ ไม่ได้ไปที่ไหน ในวังแท้ๆ วันที่จะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าเทศน์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้อง อรญฺญคโต รุกฺขมูลคโต ไม่ใช่อย่างนั้น ขอให้ผู้ที่เรียนไวยากรณ์ดีๆ เข้าใจเสียหน่อย

อรญฺญคโต วา รุกฺขมูลคโต วา สุญฺญาคารคโต วา หมายความว่า สมัยก่อนไม่ได้สร้างกุฏิสวยๆ ให้พระอยู่เหมือนปัจจุบันนี้ พระท่านก็นอนตามโคนไม้ ใต้ต้นไม้ ลอมฟางไปตามเรื่อง ถึงได้ว่าอยู่ในป่าก็ทำได้ อยู่ที่โคนไม้ก็ทำได้ อยู่ที่เรือนว่างๆ ก็ทำได้ สติปัฏฐานทำได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องไปทำที่นั่น จะต้องไปสร้างกุฏิ ไปทำที่อื่นไม่ได้ เราเรียนธรรม เราต้องการสัจธรรม ผมนับถืออาจารย์ที่พูดถูก

อย่างปฏิเวธ ที่ว่าแทงตลอด ถ้าไม่แปลว่าแทงตลอด ผมก็หาศัพท์ที่จะแปลเป็นภาษาไทยไม่ได้เหมือนกันว่า จะแปลว่าอะไร แทงตลอดคล้ายกับเอาหอกไปแทงอะไรให้ตลอด แต่ความจริงแปลว่า เจาะจง หรือว่าทะลุ อะไรทำนองนั้น เขาก็แปลเหมาะเหมือนกัน เมื่อหาคำอื่นไม่ได้ ความจริง คือ บรรลุถึงจุดสูงสุด

อีกอย่างภาษาบาลีที่เป็นพุทธพจน์ไปปรากฏทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เขาแปลบาลีเป็นภาษาไทยตามภาค เช่น ภาคเหนือ คำว่า หนอ เป็นคำคล้ายๆ กับห้อยท้าย เพราะฉะนั้น วต เขาแปลว่า หนอ เป็นภาษาเหนือ ถ้าเป็นภาษากลางก็แปลว่า นะ

สุ. ขอบพระคุณ

เรื่องของการเข้าใจสภาพธรรม ต้องอาศัยการอบรมเจริญสติปัฏฐานประกอบด้วย มิฉะนั้นถึงแม้ว่าท่านจะได้ศึกษาธรรมมากด้วยตัวของท่านเอง หรือโดยการฟังจากอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่งก็ตาม ท่านจะเห็นได้ว่า บางครั้งคำที่ใช้กันอยู่นี้ อาจจะทำให้ท่านเข้าใจสภาพธรรมผิดได้ เช่น คำว่าผัสสะ คือ กระทบ หรือว่าสัมผัส ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านกล่าวว่า เวลาที่ท่านทำวิปัสสนา ท่านรู้ว่ารูปวิ่งมากระทบตา ซึ่งก็คงจะเป็นการเข้าใจความหมายของผัสสะในลักษณะที่ว่า กระทบเหมือนอย่างวัตถุที่ต้องมากระทบกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านทำวิปัสสนา ท่านก็กล่าวว่า ท่านรู้ลักษณะของรูป เพราะว่ารูปวิ่งมากระทบตา แต่นี่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงทำให้ใช้คำผิด ใช้คำที่ไม่ตรงต่อสภาพธรรม

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องรู้ลักษณะของสติกับขณะที่หลงลืมสติ ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดกล่าวว่า ท่านหลงลืมสติในวันหนึ่งๆ มากเหลือเกิน ถูกต้อง แสดงว่าท่านรู้ว่าขณะใดมีสติ และขณะที่มีสติก็น้อยกว่าขณะที่หลงลืมสติ ซึ่งต้องไม่ใช่เป็นการพูดตาม คนอื่นๆ ว่า วันหนึ่งๆ หลงลืมสติมาก แต่ต้องเป็นคำพูดที่ตรงกับสภาพธรรมที่เกิดปรากฏกับท่านจริงๆ

การอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องเป็นผู้ตรง ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่เกิด ถ้าสภาพธรรมใดยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ ยังไม่รู้ ก็จะต้องเป็นความสงสัย เป็นความไม่รู้ และเมื่อรู้ว่ายังสงสัย ยังไม่รู้ ก็จะได้มนสิการ พิจารณา ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความรู้ขึ้นอีก จึงจะเป็นการอบรมเจริญปัญญาเป็นลำดับขั้นจริงๆ

บางท่านใจร้อน ท่านถามว่า วิปัสสนาทำอย่างไร อยากจะทำเร็วเหลือเกิน ขอให้บอกเพื่อที่ท่านจะได้ทำได้ทันที แต่ท่านไม่คำนึงว่า วิปัสสนารู้อะไร ที่ว่าเป็นความรู้นั้น คือรู้อะไร ท่านเพียงต้องการว่า ทำอย่างไร

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นการอบรมเพิ่มความรู้ขึ้น โดยอาศัยการสดับตรับฟัง และพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ มากๆ แต่ท่านก็กล่าวว่า ท่านฟังมานานแล้ว ซึ่งแสดงว่าท่านมีเหตุผลทุกประการที่จะไม่เข้าใจเรื่องที่จะอบรมความรู้ เพราะท่านตั้งจุดของท่านไว้ว่า ท่านจะทำวิปัสสนา

ถ้าท่านไม่กังวลถึงเรื่องที่จะทำวิปัสสนา แต่สนใจเรื่องความรู้ว่า ความรู้คืออะไร รู้อะไร และอบรมเจริญอย่างไร ซึ่งความรู้นั้นต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นความเข้าใจในสิ่งที่ได้รับฟัง แม้แต่คำว่า สติ คำเดียว ได้ยินได้ฟังบ่อยจริง แต่ต้องเข้าใจว่า สติหมายถึงสภาพธรรมอย่างไร เมื่อเป็นความรู้ตามลำดับขั้นอย่างนี้จริงๆ ท่านก็สามารถที่จะอบรมเพิ่มความรู้เป็นปัญญาที่รู้ขึ้นได้ แต่ถ้าท่านมุ่งแต่จะทำวิปัสสนาโดยไม่รู้เลยว่า ความรู้นั้นรู้อะไร หรือว่าความรู้นั้นมีลักษณะอย่างไร สติมีลักษณะอย่างไร ถ้าไม่เริ่มต้นด้วยความเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังจนกระทั่งเพิ่มขึ้นเป็นความรู้แล้ว ท่านย่อมไม่สามารถที่จะอบรมความรู้ให้เพิ่มขึ้นได้

เพราะฉะนั้น การที่ท่านเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ย่อมเป็นสิ่งที่จะเกื้อกูลให้ท่านเกิดสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น และเมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านจะเข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นโดยจะไม่ใช้คำผิด คือ ไม่ใช้คำว่า รูปวิ่งมากระทบตา เป็นไปได้ไหม รูปอะไรกำลังวิ่งมากระทบตาบ้าง รูปไม่สามารถที่จะวิ่งมากระทบตาได้เลย เพราะเหตุว่า รูปซึ่งสามารถจะกระทบกับจักขุปสาท ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ปรากฏทางอื่น และคำว่ากระทบ ไม่ใช่กระทบอย่างที่ท่านคิดว่า โต๊ะกระทบเก้าอี้ หรือว่ามือกระทบกระดาษดินสอ ไม่ใช่อย่างนั้น กระทบที่นี่ หมายความถึงนามธรรม ได้แก่ ผัสสเจตสิกที่ทำกิจกระทบอารมณ์ ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ารูปวิ่งมากระทบตา หรือไม่ใช่ว่านามธรรมต้องออกไปกระทบกับรูป ไม่ใช่อย่างนั้น นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม นามธรรมเป็นแต่เพียงสภาพรู้อารมณ์ ซึ่งลักษณะของนามธรรมที่เป็นเจตสิกแต่ละชนิด ก็กระทำกิจแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อคำนึงถึงลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม นามธรรมนั้นก็กระทำกิจกระทบอารมณ์ อารมณ์จึงได้ปรากฏ

ในขณะนี้สีสันวัณณะกำลังปรากฏ ซึ่งไม่ใช่วิ่งมากระทบตา แต่เพราะสภาพของผัสสเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมกระทบ อารมณ์จึงปรากฏกับจักขุวิญญาณได้ นี่คือความหมายของคำว่า กระทบ ถ้าเข้าใจชัดจริงๆ ว่า เป็นนามธรรมที่กระทบ ท่านก็จะไม่ใช้คำว่า รูปวิ่งมากระทบตา

เพราะฉะนั้น การพิจารณาธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ต้องให้ตรงต่อสภาพธรรม และที่จะรู้ว่าตรงหรือไม่ตรง ก็เพราะท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าท่านไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็จะยังคงใช้คำผิดๆ อยู่เรื่อยๆ เพราะว่าท่านยังเข้าใจผิดอยู่ แต่ถ้าท่านเข้าใจถูกแล้ว ท่านจะกล่าวว่ารูปวิ่งมากระทบตาไหม ท่านก็ไม่กล่าว เพราะท่านรู้ว่า รูปวิ่งมากระทบตาไม่ได้ แต่เพราะว่าการกระทบที่เป็นนามธรรม คือ ผัสสเจตสิกทำกิจกระทบ รูปจึงปรากฏเป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณได้

นี่เป็นเรื่องการไตร่ตรอง การพิจารณาธรรมที่ท่านจะรู้ชัดขึ้น เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขอให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ขณะนี้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ที่กำลังเห็นนี่ รูปวิ่งมาหรือเปล่า ไม่ได้วิ่งมา รูปปรากฏหรือเปล่า คือ ความจริงรูปปรากฏหรือเปล่าเท่านั้น ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริงๆ ปรากฏแล้ว กำลังเห็นอยู่ในขณะนี้ คือ สิ่งที่สติจะต้องระลึกให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่ท่านเคยยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น โดยสภาพความจริงที่ปรากฏทางตา ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้าท่านจะติด จะพอใจ จะไม่พอใจ ความพอใจ ความไม่พอใจ ความยึดถือ ความติดนั้น ก็อาศัยตา เนื่องมาจากตา คือ เพราะมีการเห็นในสิ่งที่ปรากฏ ความพอใจ ความไม่พอใจ ความติด ความยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏทางตาจึงมีได้

เพราะฉะนั้น ที่จะละคลายได้ ก็โดยการรู้ตามความเป็นจริง คือ ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ทำไมถึงไม่ค่อยจะฉลาดที่จะรู้ความจริง ไปหลงยึดถือ พอใจ ไม่พอใจเพียงในสิ่งที่ปรากฏชั่วที่ตาเห็นเท่านั้นเอง

นี่คือความจริงที่จะต้องรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรม เป็นของจริงชนิดหนึ่ง จะใช้คำว่ารูปก็ได้ ไม่ใช้คำว่ารูปก็ได้ เพราะเหตุใด เพราะว่ารู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏแล้วว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้นเอง แต่ถ้าไม่เข้าใจลักษณะ ท่านติดแต่เพียงชื่อ ท่านก็ท่องได้ตามสบายง่ายๆ ว่า เห็นเป็นนาม สีเป็นรูป ได้ยินเป็นนาม เสียงเป็นรูป รู้กลิ่นเป็นนาม กลิ่นเป็นรูป พูดได้อย่างนี้ แต่ถ้าถามว่า นามธรรมเป็นอย่างไร ไม่ทราบ รูปธรรมเป็นอย่างไร ไม่ทราบ นี่คือไม่ใช่การเจริญสติ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติแล้ว จะเพิ่มความรู้ในธาตุรู้ ในอาการรู้ ในลักษณะรู้ ในขณะที่กำลังรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจมากขึ้น นี่คือการอบรมปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม คือ รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม

ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏทางตาไม่ได้วิ่งมากระทบ เพียงแต่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้ากำลังได้ยินต้องคิดว่า เสียงวิ่งมากระทบหูหรือเปล่า ถ้าใครปฏิบัติอย่างนั้น ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของเสียง ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของได้ยิน เพราะมัวไปคิดว่า เสียงวิ่งมากระทบหู ซึ่งความจริงเสียงปรากฏในขณะที่มีการรู้เสียง ถ้าขณะใดไม่มีการรู้เสียง เสียงปรากฏไม่ได้

เพราะฉะนั้น ในขณะที่ได้ยินนั้น มีสภาพธรรม ๒ อย่างที่เป็นจริง คือ มีเสียงที่กำลังปรากฏ ไม่จำเป็นต้องไปคิดว่า ปรากฏตรงไหน วิ่งมากระทบตรงไหน แต่ขอให้ระลึกตรงลักษณะของเสียงที่กำลังปรากฏเท่านั้น ไม่ต้องห่วงว่า เสียงมาจากไหน

ขณะใดที่เสียงปรากฏ ที่ว่าไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะว่าระลึกรู้ในลักษณะอาการที่ปรากฏของเสียง ซึ่งปรากฏแล้วหมดไป หรือว่าจะรู้ลักษณะของได้ยินซึ่งเป็นสภาพที่รู้เสียงนั้นเสียงจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ มีสภาพที่รู้ด้วย ในขณะที่มีเสียงปรากฏ ถ้าสติระลึกรู้นามธรรม คือ สภาพรู้ในขณะนั้น ก็เป็นการรู้ตรงลักษณะของสภาพรู้ ถ้าระลึกตรงลักษณะของเสียงที่ปรากฏ โดยไม่คำนึงว่า มาจากไหนหรือว่ามากระทบอย่างไร ขณะนั้นก็จะเป็นหนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่า ขณะที่เสียงปรากฏ อย่างอื่นจะปรากฏรวมอยู่ในที่นั้นไม่ได้

หรือว่าขณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏ สติระลึกตรงอ่อนที่กำลังปรากฏ ตรงแข็งที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นสติที่ระลึกตรงลักษณะจริงๆ สิ่งอื่นจะปรากฏรวมอยู่ด้วยในที่นั้นไม่ได้ เสียงจะปรากฏรวมอยู่ในลักษณะที่อ่อน ในลักษณะที่แข็งไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่สติระลึก จึงหมายความว่า รู้ตรงลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ

ด้วยเหตุนี้ในขั้นต้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้น อย่างในขณะนี้ ถ้ายังรวมทางตาที่เห็นกับทางหูที่ได้ยินเสมือนว่าปรากฏพร้อมกันอยู่ จะไม่ประจักษ์ในลักษณะของเสียงซึ่งต่างกับได้ยิน จะไม่ประจักษ์ในลักษณะของเห็นซึ่งต่างกับสีสันวัณณะที่ปรากฏ เมื่อไม่ประจักษ์ความต่างกัน จะประจักษ์ว่าสภาพธรรมเดียวปรากฏและก็ดับไป ย่อมไม่ได้

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น จึงต้องแยกรู้ลักษณะจริงๆ ของนามธรรมแต่ละประเภท รูปธรรมแต่ละประเภทที่ปรากฏแต่ละลักษณะ

เปิด  239
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566