แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 504

ขอกล่าวถึงข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สังคารวสูตร ขอให้พิจารณาข้อความในพระสูตรนี้ ตั้งแต่เบื้องต้นจนตลอด เพราะถ้าเป็นข้อความที่ไม่มีประโยชน์ ย่อมไม่มีการทรงจำและจารึกไว้ แต่ว่าที่พระภิกษุเถระในครั้งอดีตได้มีความอุตสาหะที่จะทรงจำและจารึกไว้ ก็ย่อมเป็นประโยชน์ สำหรับการพิจารณาใคร่ครวญของพุทธบริษัทในกาลต่อมาด้วย

สังคารวสูตร มีว่า

ครั้งนั้นแล สังคารวพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ชื่อว่าพราหมณ์ ย่อมบูชายัญเองบ้าง ให้คนอื่นบูชาบ้าง ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น ผู้ที่บูชายัญเอง และผู้ที่ใช้ให้คนอื่นบูชาทุกคน ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาเป็นเหตุให้เกิดบุญ อันมียัญเป็นเหตุ ซึ่งมีกำเนิดแต่สรีระเป็นอันมาก อนึ่ง ผู้ใดออกจากสกุลใด บวชเป็นบรรพชิตฝึกตนแต่คนเดียว ทำตนให้สงบแต่คนเดียว ทำตนให้ดับไปแต่คนเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้นั้นชื่อว่ามีปฏิปทาเป็นเหตุให้เกิดบุญ อันมีบรรพชาเป็นเหตุ ซึ่งมีกำเนิดแต่สรีระอันเดียว

จะเห็นได้ว่า ความเห็นผิดมีมากมายหลายประการ ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีการปฏิบัติผิด เป็นสีลัพพตปรามาสอยู่เรื่อยไป จนกว่าจะมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกเกิดขึ้น แต่ก็เป็นบุญของสังคารวพราหมณ์ที่ได้เกิดในกาลสมบัติ ได้มีโอกาสได้เฝ้า และกราบทูลถามข้อสงสัย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ ถ้ากระนั้นเราจักขอถามท่านในข้อนี้ ท่านจงเฉลยปัญหานั้น ตามที่ท่านเห็นควร

ดูกร พราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้ตรัสไว้อย่างนี้ว่า

เราดำเนินไปแล้วตามมรรคนี้ ตามปฏิปทานี้ ทำธรรมอันยอดเยี่ยมซึ่งเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนประชาชนให้รู้ตาม มาเถิด ถึงท่านทั้งหลายก็จงปฏิบัติตามอาการที่ท่านทั้งหลายปฏิบัติได้แล้ว ก็จักทำธรรมอันยอดเยี่ยมซึ่งเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งของตนแล้ว เข้าถึงอยู่ พระศาสดาพระองค์นี้ทรงแสดงธรรมไว้ดังนี้ ทั้งผู้อื่นต่างปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ก็ผู้แสดงและผู้ปฏิบัตินั้น มีมากกว่าร้อย มีมากกว่าพัน มีมากกว่าแสน

ดูกร พราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ บุญปฏิปทาซึ่งมีบรรพชาเป็นเหตุนั้น ย่อมจะมีกำเนิดแต่สรีระเดียว หรือมีกำเนิดแต่สรีระเป็นอันมาก ฯ

นี่เป็นความข้องใจของผู้ที่เข้าใจว่า การบวชเป็นบรรพชิตนั้นไม่ทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ใครเลย เป็นการประพฤติปฏิบัติที่จะดับกิเลสของตนเองเท่านั้น แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติอย่างอื่น เช่น การบูชายัญด้วยตนเอง และการชักชวนให้คนอื่นบูชายัญ ย่อมทำให้บุคคลอื่นได้บุญเพราะการบูชายัญนั้นเป็นอันมาก แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้สังคารวพราหมณ์ได้เห็นประโยชน์ว่า เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วก็ได้ทรงแสดงธรรม และหนทางข้อปฏิบัติที่จะดับกิเลสนั้นให้บุคคลอื่นได้ประพฤติปฏิบัติตามเป็นจำนวนมากด้วย เพราะฉะนั้น บุญปฏิปทาซึ่งมีบรรพชาเป็นเหตุนั้น ย่อมจะมีกำเนิดแต่สรีระเดียว หรือมีกำเนิดแต่สรีระเป็นอันมาก

สังคารวพราหมณ์กราบทูลว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นดังตรัสมาฉะนี้ บุญปฏิปทาที่มีบรรพชาเป็นเหตุนี้ ย่อมมีกำเนิดแต่สรีระเป็นอันมาก ฯ

หมายข้อความต่อไปความว่า เมื่อมีผู้ประพฤติปฏิบัติตามมากเท่าไร ย่อมประสบบุญมากเท่านั้น

ข้อความต่อไป

เมื่อสังคารวพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้ถามสังคารวพราหมณ์ว่า

ดูกร พราหมณ์ บรรดาปฏิปทา ๒ อย่างนี้ ท่านชอบใจปฏิปทาอย่างไหนซึ่งมีความต้องการน้อยกว่า มีความริเริ่มน้อยกว่า แต่ว่ามีผลและอานิสงส์มากมาย

เมื่อท่านพระอานนท์ถามอย่างนี้ สังคารวพราหมณ์ได้กล่าวว่า

ท่านพระโคดมฉันใด ท่านพระอานนท์ก็ฉันนั้น ท่านทั้ง ๒ นี้ เราควรบูชา เราควรสรรเสริญ

ได้ประโยชน์ไหมที่จะตอบอย่างนี้ หลายท่านเวลาที่สนทนาธรรมกันในเรื่องเหตุในเรื่องผล เรื่องข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องที่จะทำให้ปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็รีบกลบเกลื่อนทันทีว่า ซาบซึ้ง เป็นข้อปฏิบัติที่สูงมาก แต่จะไม่ซักถามให้กระจ่างชัดเจนว่า ข้อปฏิบัติอย่างไรที่จะขัดเกลากิเลสได้ละเอียดยิ่งขึ้น แต่ว่ารีบที่จะรับรอง และกล่าวว่า เป็นการถูกต้อง ซึ่งไม่ได้แสดงถึงความสนใจจริงๆ ที่จะเข้าใจในเหตุผลให้ยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตาม

เพราะฉะนั้น สังคารวพราหมณ์ก็ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า ท่านพระโคดมฉันใด ท่านพระอานนท์ก็ฉันนั้น ท่านทั้ง ๒ นี้ เราควรบูชา เราควรสรรเสริญ ก็สรุปไปว่า ท่านเป็นผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติดี ควรบูชา ควรสรรเสริญ

แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอานนท์ได้ถามว่า

ดูกร พราหมณ์ เรามิได้ถามท่านอย่างนี้ว่า ท่านควรบูชาใคร หรือว่าท่านควรสรรเสริญใคร แต่เราถามท่านอย่างนี้ว่า ดูกร พราหมณ์ บรรดาปฏิปทา ๒ อย่างนี้ ท่านชอบปฏิปทาอย่างไหนซึ่งมีความต้องการน้อยกว่า มีความริเริ่มน้อยกว่า แต่ว่ามีผลและอานิสงส์มากมาย

ถึงครั้งที่ ๒ สังคารวพราหมณ์ก็ได้กล่าวว่า

ท่านพระโคดมฉันใด ท่านพระอานนท์ก็ฉันนั้น ท่านทั้ง ๒ นี้ เราควรบูชา เราควรสรรเสริญ

แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า

ดูกร พราหมณ์ เรามิได้ถามท่านอย่างนี้ว่า ท่านควรบูชาใคร ท่านควรสรรเสริญใคร แต่เราถามท่านอย่างนี้ว่า ดูกร พราหมณ์ บรรดาปฏิปทา ๒ อย่างนี้ ท่านชอบปฏิปทาอย่างไหนซึ่งมีความต้องการน้อยกว่า มีความริเริ่มน้อยกว่า แต่ว่ามีผลและอานิสงส์มากมาย

ถึงครั้งที่ ๓ สังคารวพราหมณ์ก็ได้กล่าวว่า

ท่านพระโคดมฉันใด ท่านพระอานนท์ก็ฉันนั้น ท่านทั้ง ๒ นี้ เราควรบูชา เราควรสรรเสริญ

ท่านพระอานนท์อยากให้สังคารวพราหมณ์พิจารณาจิตใจของสังคารวพราหมณ์จริงๆ ว่า มีความต้องการที่จะรู้ในเหตุในผลว่า สิ่งใดแน่ที่เป็นบุญ และมีผลมีอานิสงส์มากกว่ากัน สังคารวพราหมณ์ก็ไม่พร้อมที่จะพิจารณาไตร่ตรองเทียบเคียงเลย เพราะคงจะติดและยินดีอยู่ในการบูชายัญ ซึ่งตนได้เคยประพฤติปฏิบัติมาเป็นเวลานานและเห็นว่า เป็นบุญเป็นกุศลอย่างมากมาย เพราะฉะนั้น ที่จะให้เห็นว่า ปฏิปทา คือ การบรรพชาที่จะขัดเกลาดับกิเลส เป็นผู้ที่มีความต้องการน้อยกว่า แต่ว่ามีผลและอานิสงส์มากกว่า ซึ่งควรจะเป็นปฏิปทาที่น่าชอบใจยิ่งกว่า แต่สังคารวพราหมณ์ก็ไม่พิจารณา เพราะว่าเคยประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นมาและเข้าใจว่า จะประสบบุญเป็นอันมาก

ข้อความต่อไป

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า สังคารวพราหมณ์ถูกอานนท์ถามปัญหาที่ชอบแล้ว นิ่งเสีย ไม่เฉลยถึง ๓ ครั้งแล ถ้ากระไรเราควรจะช่วยเหลือ จึงได้ตรัสถามสังคารวพราหมณ์ว่า

ดูกร พราหมณ์ วันนี้พวกที่มานั่งประชุมกันในราชบริษัทในราชสำนัก ได้พูดสนทนากันขึ้นในระหว่างว่าอย่างไร

สังคารวพราหมณ์กราบทูลว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ วันนี้พวกที่มานั่งประชุมกันในราชบริษัทในราชสำนัก ได้พูดสนทนากันขึ้นในระหว่างว่า เขาว่าเมื่อก่อนภิกษุที่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้มีน้อยมาก และอุตริมนุษยธรรมมีมากมาย ทุกวันนี้ภิกษุที่แสดงปาฏิหาริย์ได้มีมากมาย และอุตริมนุษยธรรมมีน้อยมาก

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ทุกวันนี้ พวกที่มานั่งประชุมกันในราชบริษัทในราชสำนักได้พูดสนทนากันขึ้นในระหว่างว่าดังนี้แล ฯ

ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ก็ไม่พ้นที่จะสนใจในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่จะดับกิเลส ที่จะไม่ให้เห็นว่าอิทธิปาฏิหาริย์นั้นมีความสำคัญประการหนึ่งประการใดเลย เพราะว่าไม่สามารถที่จะช่วยให้พ้นจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายได้ แต่ในครั้งโน้นก็ยังมีผู้ที่ยังสนใจในเรื่องของ อิทธิปาฏิหาริย์

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ๑ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์ ๑ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ๑

ดูกร พราหมณ์ ก็อิทธิปาฏิหาริย์เป็นไฉน ดูกร พราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอันมาก คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

ดูกร พราหมณ์ นี้เรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์

น่าดูไหม ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าสมัยนี้ที่จะคิดว่าทำกันได้ แต่ก็ไม่ได้เห็นประจักษ์กับตา ก็เพียงแต่กล่าวว่า บุคคลนั้นทำได้ บุคคลนี้ทำได้ เป็นแต่เพียงคำเล่าลือ ยังไม่ได้ประจักษ์ แต่ผู้ที่ได้อบรมเจริญข้อปฏิบัติที่จะให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์จริงๆ เมื่อได้อบรมเจริญฌาน จนเกิดความชำนาญคล่องแคล่วที่จะให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ อิทธิปาฏิหาริย์ก็ย่อมเกิดเป็นไปอย่างนี้ได้ เป็นการอัศจรรย์ ที่ชื่อว่า อิทธิปาฏิหาริย์

ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ มีได้ แต่ต้องประกอบด้วยเหตุที่สมควรแก่ผล ไม่ใช่เหตุไม่สมควร และเข้าใจว่าผลอย่างนั้นๆ จะเกิดขึ้น เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ น่าดูไหม สมัยนี้ได้ไหม พลร่มก็เกือบจะเหมือนนก ลงมาจากอากาศ คนไปดูกันมาก คงจะไม่คิดว่าสมัยนี้จะทำได้ คิดว่าคนไม่สามารถจะขึ้นไปอย่างโน้นได้ แต่การที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นตามควรแก่เหตุและผล เมื่อเหตุในสมัยนี้เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดผลอย่างนี้ในสมัยนี้ ผลอย่างนี้ก็เกิดในสมัยนี้ แต่ถ้าเจริญเหตุที่จะให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ในสมัยนั้น ที่จะมีการเหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามควรแก่เหตุ

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นไฉน

ดูกร พราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจได้โดยนิมิตว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ จิตของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ว่า ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไปไม่

ดูกร พราหมณ์ ก็ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ก็แต่ว่าพอได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว ย่อมพูดดักใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ จิตของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไม่

ดูกร พราหมณ์ ก็ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ถึงได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว ก็พูดดักใจไม่ได้เลย แต่ว่าพอได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคลผู้ตรึกตรองเข้าแล้ว ย่อมพูดดักใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ จิตของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไปไม่

ดูกร พราหมณ์ ก็ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ถึงได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว ก็พูดดักใจไม่ได้ ถึงได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคลผู้ตรึกตรองเข้าแล้ว ก็พูดดักใจไม่ได้ ก็แต่ว่ากำหนดรู้ใจของผู้ที่เข้าสมาธิ อันไม่มีวิตกวิจาร ด้วยใจของตนว่า ท่านผู้นี้ตั้งมโนสังขารไว้ด้วยประการใด จักตรึกวิตกชื่อโน้นในลำดับจิตนี้ด้วยประการนั้น ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไปไม่

ดูกร พราหมณ์ นี้เรียกว่า อาเทสนาปาฏิหาริย์ ฯ

น่าสนใจไหมที่จะไปรู้จิตใจของคนอื่น บางคนอัศจรรย์ ถ้ามีใครพูดว่า เขากำลังคิดอะไร เพียงเท่านี้ก็อัศจรรย์แล้วว่า ทำไมล่วงรู้ถึงความคิดของเขาในขณะนั้นได้ แต่ประโยชน์มีไหม

แม้แต่อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นของจริง เกิดจากเหตุ คือ การบำเพ็ญฌานสมาบัติด้วยความชำนาญคล่องแคล่วอย่างยิ่ง และก็ฝึกที่จะให้เกิดปาฏิหาริย์แต่ละอย่าง ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ให้บุคคลอื่นๆ หลงผิด เข้าใจผิด เลื่อมใสยึดถือว่า จะไปปลดเปลื้องหรือช่วยอกุศลกรรมของคนอื่นที่เขาได้กระทำมาแล้ว แต่ว่าเป็นการอบรมเจริญกุศลของคนนั้นเอง เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านพระภิกษุในครั้งอดีตท่านแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ไม่ว่าจะเป็นการเหาะไปในอากาศก็ดี หรือว่ากระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เกิดขึ้นก็ดี ไม่ใช่ทำให้บุคคลอื่นเชื่อว่า นี่เป็นสิ่งที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงกรรมของบุคคลอื่นที่ได้กระทำมาแล้ว จะไม่เป็นไปในลักษณะนั้นเลย

ท่านที่มีความสนใจในอิทธิปาฏิหาริย์ว่า จะเป็นจริงได้หรือไม่ ถ้าท่านศึกษาดูจะเห็นว่า ผลซึ่งเป็นปาฏิหาริย์ต่างๆ นั้น ย่อมเกิดได้ตามควรแก่เหตุ ไม่ใช่ว่าจะไปปลดเปลื้อง หรือว่าเปลี่ยนแปลงอกุศลกรรมของบุคคลนั้นที่ได้กระทำแล้ว เพราะว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วย่อมให้ผล เมื่อมีโอกาสที่จะให้ผล

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นไฉน

ดูกร พราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ว่า จงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนี้ จงมนสิการอย่างนี้ อย่าได้มนสิการอย่างนี้ จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่

ดูกร พราหมณ์ นี้เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์

ดูกร พราหมณ์ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้แล ดูกร พราหมณ์ บรรดาปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ อย่างนี้ ท่านชอบปาฏิหาริย์อย่างไหน ซึ่งงามกว่าและประณีตกว่า ฯ

สำหรับอนุสาสนีปาฏิหาริย์นั้น เป็นของจริง คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ว่า จงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนี้ เพื่อประโยชน์ของบุคคลนั้นจริงๆ จงมนสิการอย่างนี้ อย่าได้มนสิการอย่างนี้ จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่ เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

เปิด  314
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566