แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 506

สุ. ข้อต่อไป ท่านกล่าวถึงเรื่องของท่านพระพาหิยะว่า พระพาหิยะมีเจตนา มีความหวัง มีความต้องการ อยากจะฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ท่านก็ไปด้วยความหวังและความต้องการ ครั้นไปถึง ท่านก็ทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม แต่พระพุทธเจ้าก็ยังไม่ทรงแสดง ท่านก็ทูลขอเป็นครั้งที่ ๒ พระพุทธเจ้าก็ยังไม่ทรงแสดงธรรม ท่านจึงขอถึง ๓ ครั้ง และอ้างถึงเหตุผลของท่านขึ้นมา พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมให้ท่านฟัง ท่านก็ได้สำเร็จมรรคผลด้วยความตั้งใจของท่านใช่ไหม ขอให้อาจารย์อธิบายให้หายข้องใจ ให้แจ่มแจ้ง เพราะยังมีผู้สงสัยอยู่มาก

ท่านเจ้าของจดหมายลืมคิดถึงความจริงว่า ในขณะที่ท่านพระพาหิยะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ท่านเพียงแต่หวัง ต้องการที่จะบรรลุ หรือว่าในขณะที่จะบรรลุนั้น เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จึงรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ก่อนที่จะตัดสินใจประการใด ควรที่จะได้พิจารณาโดยแยบคาย โดยถี่ถ้วนในเหตุและในผลจริงๆ เหตุกับผลต้องตรงกัน ถ้าสติของท่าน พระพาหิยะไม่เกิดขึ้น ปัญญาไม่พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง ท่านไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

ขอให้ทราบว่า ไม่ว่าจะเป็นท่านพระพาหิยะ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ขณะที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น สติจะต้องเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นโดยสภาพที่ไม่ใช่ตน จึงจะสามารถละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน และสามารถที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้

ไม่ใช่เพียงแต่อยาก และไปทูลขอ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

ท่านที่ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็มีความอยากใช่ไหม ไม่ใช่ว่าโดยที่เพียงฟังก็จะหมดความอยากไปได้ หรือว่าเพียงแต่ปรารถนาที่จะได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคและได้ฟังธรรมเท่านั้น ก็จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เหตุจะต้องสมควรแก่ผล คือ จะต้องรู้ว่าสติคืออย่างไร เมื่อสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่างกันอย่างไร ปัญญาถึงความสมบูรณ์ได้เพราะเหตุใด และปัญญาต้องละคลายเพราะรู้ทั่วจนชิน จึงสามารถที่จะเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้นตามลำดับขั้นได้

ข้อต่อไปที่เป็นความสงสัยของท่านเจ้าของจดหมาย มีข้อความว่า

อีกเรื่องหนึ่ง ได้ฟังทางวิทยุกระจายเสียง คือ เรื่องของท่านจูฬปันถก ได้ฟังพระท่านเทศน์ว่า มีพระพุทธเจ้าท่านนำผ้าขาวไปให้ท่านพระจูฬปันถกพิจารณาลูบคลำ และมีคำบริกรรมด้วย อันนี้จะไม่เป็นการสร้างภาพขึ้นมาหรือ ตามที่เล่ามานี้ ได้ฟังจากพระเทศน์เท่านั้น ไม่ได้เรียนจากคัมภีร์หรือตำราเลย

นี่ก็เหมือนกัน เป็นข้อสงสัยของท่านที่เข้าใจว่า เพียงแต่พระผู้มีพระภาคทรงให้ท่านพระจูฬปันถกลูบคลำผ้า ท่านพระจูฬปันถกก็สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ นี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น มีหนทางเดียว คือ อบรมเจริญสติให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่กิเลสนี้มีมากเหลือเกิน ท่านที่อบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมทราบว่า สติของท่านก็เกิดบ้าง ระลึกรู้ลักษณะของนามนั้นบ้างรูปนั้นบ้าง แต่ยังไม่พอ ยังไม่ถึงกาลที่จะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล

ท่านยังจะต้องเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าท่านเองจะรู้ว่า ความสงสัยในลักษณะของนามและรูปค่อยๆ ลดลง และความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมค่อยๆ เพิ่มขึ้น ต้องเป็นบุคคลที่ตรงต่อตัวเอง ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ตรงต่อตัวเอง คือ คิดว่าการที่จะเป็นพระอริยเจ้านั้น ไม่ต้องรู้อะไร ไม่ต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจผิด

ถ้าให้ท่านผู้ฟังลูบคลำผ้าขาวเดี๋ยวนี้คนละผืน จะเป็นอย่างท่านพระจูฬปันถกไหม เมื่อไม่เป็น ก็เป็นเพราะสะสมมาต่างกัน ฉะนั้น จะใช้วิธีเดียวกัน อย่างเดียว เหมือนกัน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัยว่า ด้วยธรรมเทศนาอย่างนี้ ด้วยการประพฤติอย่างนี้ บุคคลนั้นจะระลึกได้ถึงการที่เคยสะสมมาที่จะน้อมไปสู่ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงให้ภิกษุทุกรูปลูบคลำผ้า แต่ทรงให้ท่านพระจูฬปันถกลูบคลำผ้า เพราะท่านสะสมการที่จะละคลายมา ในการที่จะระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของรูปธรรมที่เกิดจากร่างกาย เมื่อเคยสะสมมาที่จะหน่าย ที่จะคลาย ที่จะเห็นโทษ เห็นความเป็นปฏิกูลของรูปอย่างนั้น จึงเกื้อกูลให้ท่านเกิดละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ท่านผู้ฟังเคยฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ จากบุคคลนั้นบ้าง บุคคลนี้บ้าง มากมายหลายเรื่อง รู้สึกว่า บางตอนบางส่วนก็เกื้อกูลแก่ท่านเป็นอันมาก ตามอัธยาศัยที่ต่างกัน และการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมนานาประการ ก็เพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลกที่มีอัธยาศัยต่างกันจริงๆ

ท่านผู้ฟังรู้ชาติก่อนไหม ซึ่งชาตินี้จะเป็นชาติก่อนของชาติหน้าที่ชัดเจนมาก ชาติก่อนที่แล้วไปไม่สามารถจะรู้ชัดได้ แต่ชาตินี้ท่านรู้ชัดยิ่งกว่าใครว่า ท่านทำกุศลกรรมอะไรบ้าง ท่านทำอกุศลกรรมอะไรบ้าง และชาตินี้จะเป็นชาติก่อนของชาติหน้า สิ่งที่ท่านสะสมมาในชาตินี้ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจในพระธรรม ก็จะเป็นสิ่งที่สะสมสืบต่อไปถึงชาติหน้า ที่จะเกื้อกูลให้ท่านเกิดน้อมระลึกถึงความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่จะปรากฏในชาติหน้า เพราะว่าท่านได้เคยสะสมมาแล้วในปัจจุบันชาตินี้

ท่านรู้สึกว่า ท่านไม่ทราบเรื่องชาติก่อนเลยใช่ไหม แต่เมื่อวานนี้ก็เป็นชาติก่อนแล้ว ถ้าท่านละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ไม่เห็นว่าเป็นตัวท่าน แต่ถ้าท่านยังยึดถือว่าเป็นตัวท่าน เมื่อวานนี้ก็เป็นเมื่อวานนี้ของท่าน ยังไม่ใช่ชาติก่อน ถ้าท่านหมดเยื่อใยที่จะยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เมื่อวานนี้คือชาติก่อนจริงๆ เคยไปไหนมา ก็ผ่านไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว เป็นชาติก่อนจริงๆ เพราะเหตุว่าชาติหน้าก็จะเหมือนชาตินี้ ต่อกันอย่างรวดเร็วมาก เหมือนเมื่อครู่นี้กับขณะนี้

ข้อความต่อไปจากจดหมาย ที่ท่านถามว่า

อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องนางวิสาขา ผมได้ฟังว่า สำเร็จพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ แต่มีบุตรถึง ๒๐ คน อันนี้จะเป็นการยินดีในโลกหรือไม่ จะขัดกันกับคำว่า พึงละความยินดียินร้ายในโลกให้พินาศหรือไม่ การบรรลุพระโสดาบันนั้นละความยินดียินร้ายในโลกกันแค่ไหนแน่

โดยมากจะเป็นความสงสัยของท่านผู้ฟังเสมอ เพราะท่านไม่ทราบว่า ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น จะละกิเลสตามลำดับขั้นอย่างไร

กิเลสมีมากเหลือเกินในวันหนึ่งๆ จริงไหม หรือว่ายังไม่มีใครเห็นกิเลส ถ้าบอกว่ามีน้อย หมายความว่ายังไม่เห็นกิเลสตามความเป็นจริง แต่ถ้าทราบว่า วันหนึ่งๆ กิเลสมากเหลือเกินทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผู้ใดทราบอย่างนี้ แสดงว่าผู้นั้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า กิเลสนั้นมีมาก

เมื่อพระอริยเจ้ารู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมดับกิเลสเป็นลำดับขั้น พระอริยเจ้าที่เป็นพระโสดาบันบุคคลนั้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล สภาพธรรมทั้งหลายในวันหนึ่งๆ ทุกท่านมีมาก ทั้งหมดนี้พระโสดาบันรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่เป็นการรู้โดยเพียงคิด พิจารณา ศึกษาตามที่ได้ฟัง เข้าใจตามที่ได้ฟังว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ไม่ใช่เพียงคิดอย่างนี้แล้วก็เป็นพระโสดาบัน เพียงคิด เพียงเข้าใจ ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล

พระโสดาบันบุคคลจริงๆ ปกติธรรมดาของท่าน วันนี้มีกิเลสเท่าไร พระโสดาบันบุคคลรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะที่เกิดจึงได้ปรากฏขึ้น และที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละชนิดนั้นเกิดขึ้น เช่น ทางตาที่กำลังเห็น ทุกคนเห็นอยู่เป็นปกติ ผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบันบุคคลก็เห็น แต่ว่าเราเห็น มีการยึดถือการเห็นว่าเป็นตัวตน เพราะสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตานั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏได้เฉพาะทางตา ไม่ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และถ้าไม่มีจิต คือ สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏไม่ได้เลย

ผู้ที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคลจริงๆ สติจะต้องระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ว่าสภาพรู้ ธาตุรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นรูปธรรม

ในวันหนึ่งๆ แต่ละท่านก็เห็น เมื่อเห็นแล้ว ก็ยังรับรู้สิ่งที่เห็นต่อเป็นเรื่องราวต่างๆ ทางใจ สั้นบ้าง ยาวบ้าง เห็นอะไรบ้าง มากมายหลายอย่าง เห็นแล้วนึกถึงสิ่งนั้น เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาใช่ไหม ถ้าเป็นสิ่งที่ท่านไม่คุ้นเคยสนิทสนม การต่อเรื่องก็ต่อสั้นๆ เพียงแต่เห็นว่า สิ่งนั้นคืออะไร ถ้าผ่านตลาด ก็ขายอย่างไร หรือว่าใครกำลังทำอะไร เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้กำลังซื้อขายสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่างๆ นี่เป็นการต่อเรื่องสั้นๆ

ถ้าเห็นบุคคลที่ท่านคุ้นเคยสนิทสนม ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เวลาเห็นแล้ว ต่อเป็นเรื่องยาว ยิ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว ต่อทั้งวันเลย มีเรื่องราวประกอบต่างๆ นานา จากวันนี้ไปเป็นระลึกถึงอดีตเมื่อวานนี้ เมื่อวันก่อน เดือนก่อน ปีก่อน และก็ถึงอนาคตด้วย นี่คือ การต่อเรื่องจากทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบโผฏฐัพพะ และทางจิตใจก็คิดนึกเรื่องราว ต่างๆ

ผู้ที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคลก็มีชีวิตจากปุถุชนธรรมดา แต่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ อบรมจนกระทั่งเป็นปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ซึ่งก่อนที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็มีโลภะ มีโทสะ มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามความเป็นจริงที่สะสมมาเกิดขึ้นปรากฏ และพระโสดาบันบุคคลก็ไม่ได้เข้าใจผิดว่าตัวท่านเป็นพระอรหันต์ที่ไม่มีโลภะ ไม่เข้าใจผิดว่าเป็นพระอนาคามีบุคคลที่ไม่มีโทสะ ไม่เข้าใจผิดว่าเป็นพระสกทาคามีบุคคลที่เบาบางจากการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ท่านเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏเกิดขึ้นตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น การดำเนินชีวิตของพระโสดาบันบุคคลไม่ต่างกับปุถุชนโดยอาการที่ปรากฏภายนอก เช่น ท่านวิสาขามิคารมารดา ท่านก็ครองเรือน สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย รู้ว่าเป็นโลภะ เป็นความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่เกิดขึ้น เพราะมีการสะสมเป็นปัจจัย แต่ไม่ใช่ตัวตน

ความยินดี ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ใช่ตัวท่าน เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น สำหรับพระโสดาบันบุคคลเพราะอบรมเจริญปัญญา เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะตรงตามความเป็นจริง จึงละการยึดถือสภาพธรรมทั้งปวงว่า เป็นสัตว์ บุคคล เป็นตัวตนได้ แต่ท่านไม่ใช่พระสกทาคามี ไม่ใช่พระอนาคามี ไม่ใช่พระอรหันต์

ผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมต้องเข้าใจเหตุผล และสภาพธรรมตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้ว ท่านเองจะไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะไม่เข้าใจความต่างกันตามความเป็นจริงของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ และท่านก็ไม่ทราบว่า ทำอย่างไรปัญญาจึงจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงตามที่ท่านสะสมมา จนสามารถที่จะละคลายความไม่รู้ การหลงยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคลได้ ท่านจะข้ามเว้นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ข้อต่อไป คือ ข้อ ๕ ท่านเขียนถามมาว่า

การเจริญสติตามสำนัก กับการเจริญสติตามปกตินั้น คิดว่า คงถึงจุดประสงค์ด้วยกันทั้งสองทาง แต่ความเห็นยังไม่ตรงกัน เหมือนกับศีลข้อที่ ๑ มีท่านผู้รู้ค้านว่า แปลไว้ผิด มีผู้ค้านว่า คำว่า ปาณา หมายถึงสัตว์ที่มีลมปาณ (ท่านเขียนปาณแบบนี้) แต่เคยมีผู้แปลไว้ว่า ห้ามฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต สัตว์ที่มีชีวิตกับสัตว์ที่มีลมปาณก็เป็นประเภทเดียวกันใช่ไหม ถ้าแปลว่า ห้ามฆ่าสัตว์ที่มีลมปาณ ผู้ฟังที่ไม่ได้ศึกษา ฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าแปลว่า ห้ามฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ผู้ฟังรู้เรื่องกันทั่วไป แม้คนไม่รู้หนังสือก็ฟังรู้เรื่อง หรือผู้ค้านจะเห็นเป็นอย่างไร จะเว้นอย่างไหนก็สำเร็จเป็นศีลข้อ ๑ ได้เหมือนกัน ขอให้อธิบายให้ละเอียด

การไปสู่สำนักปฏิบัติ กับการเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องของพยัญชนะเหมือนอย่างศีลข้อที่ ๑ ที่ท่านยกตัวอย่างมา

ไม่ใช่เรื่องว่าจะใช้คำไหนก็ได้ แต่เป็นเรื่องความเข้าใจข้อปฏิบัติว่า การที่จะละกิเลสได้จริงๆ การที่จะอบรมให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น จะต้องอบรมเจริญอย่างไร สติคืออย่างไร ปัญญารู้อะไร ขณะนี้มีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏใช่หรือไม่ใช่ เป็นสภาพธรรมหรือเปล่าที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นของจริงหรือไม่

กำลังไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ความไม่รู้ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง เพราะว่ากำลังไม่รู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ และความไม่รู้นี้จะหมดไปได้ ก็โดยการอบรมเจริญสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะชิน จนกว่าจะรู้ชัดในความเป็นปกติของสภาพธรรมที่ปรากฏ

เปิด  236
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565