แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 513

ผู้ฟัง แข้น เป็นสำนวนของพระทางภาคเหนือ ผมเคยไปอยู่น่าน ถามถึงเพื่อนว่าเมื่อไรกลับ เขาบอกว่า เมื่อแล้ง คือ ตอนเย็นจึงจะกลับ

ในกฎหมายบัญญัติก็เหมือนกัน ตั้งแต่ภาคเหนือ ต่อมาถึงอยุธยา และกรุงเทพกฎหมายว่าอย่างนี้ นมบก อกพร่อง อาจารย์กฎหมายในกรุงเทพนำมาใช้เป็น นมตกบกพร่อง ความจริงคำว่า บก แปลว่า แห้ง เป็นสำนวนภาษาเมืองเหนือเขา ผมเคยเป็นจ่าศาล น้ำบกแล้ว คือ น้ำแห้งแล้ว คำว่า แข้น ก็เหมือนกัน เป็นสำนวนภาษาเหนือ ภาคกลางไม่พูดกัน แห้งคือของที่ไม่มีน้ำ ของแห้ง คำว่า แข้น คือ ของแห้งๆ ของน้ำเรียกว่าของน้ำ อย่างที่อาจารย์ว่าเมื่อสักครู่

สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่กรุณาให้ความหมายของพยัญชนะ เรื่องของพระธรรมวินัยที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องที่น่ารู้มากโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริโภคของพระภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข เมื่อเสด็จจาริกไปในที่ต่างๆ ก็จะได้เห็นศรัทธาของประชาชนพุทธบริษัทต่างๆ ถึงแม้ว่าพวกพราหมณ์ที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาก็ยังมีกุศลศรัทธาในการที่จะถวายทานแก่ผู้ที่มีความประพฤติดีประพฤติงาม และเป็นต้นเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ ทรงอนุญาตการบริโภคของพระภิกษุหลายประการ ซึ่งจะขอกล่าวถึงเป็นบางตอน เพื่อความรู้ของท่านผู้ฟังที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั่วๆ ไป

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เรื่องเกณิยชฎิล แสดงให้เห็นถึงต้นบัญญัติของน้ำปานะ มีข้อความว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ เสด็จถึงอาปณนิคมแล้ว เกณิยชฎิลได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดม ศากยบุตรทรงผนวชจากศากยตระกูล เสด็จโดยลำดับถึงอาปณนิคมแล้ว ก็เพราะกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของทวยเทพและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสั่งสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ ทวยเทพและมนุษย์ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้นเป็นความดี

ยังไม่ได้เลื่อมใส เพียงแต่ว่าได้ฟังกิตติศัพท์อันงาม

ข้อความต่อไปมีว่า

หลังจากนั้นเกณิยชฎิลได้ดำริว่า เราจะให้นำอะไรไปถวายพระสมณโคดมดีหนอ จึงได้ดำริต่อไปว่า บรรดาฤษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤษีอัฏฐกะ ฤษีวามกะ ฤษีวามเทวะ ฤษีเวสสามิตตะ ฤษียมตัคคิ ฤษีอังคีรสะ ฤษีภารทวาชะ ฤษีวาเสฏฐะ ฤษีกัสสปะ ฤษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์บอกมนต์มาก่อนพวกพราหมณ์ ในบัดนี้ขับตามกล่าวตามซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ที่ท่านขับแล้วบอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่กล่าวไว้บอกไว้ เป็นผู้เว้นฉันในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ฤษีเหล่านั้นได้ยินดีน้ำปานะเห็นปานนี้ แม้พระสมณะโคดมก็เว้นฉันในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ก็ควรจะยินดีน้ำปานะเห็นปานนี้บ้าง แล้วสั่งให้ตกแต่งน้ำปานะเป็นอันมาก ให้คนหาบไปถึงพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า

ขอท่านพระโคดมโปรดทรงรับน้ำปานะของข้าพระพุทธเจ้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เกณิยะ ถ้าเช่นนั้นจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่ยอมรับประเคน พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จงรับประเคนฉันเถิด

ครั้งนั้นเกณิยชฎิลได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยน้ำปานะเป็นอันมากด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้ล้างพระหัตถ์ นำพระหัตถ์จากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

แต่ว่าเกณิยชฎิลไม่ได้บรรลุธรรม หรือว่าไม่ได้ปฎิญาณที่จะเป็นพุทธมามกะเช่นบุคคลอื่น

ข้อความต่อไปมีว่า

ครั้งนั้นเกณิยชฎิลอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า

ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์จงทรงพระกรุณา โปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนว่า

เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์

เกณิยชฎิลได้ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเป็นคำรบสองว่า

แม้ภิกษุสงฆ์จะมีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระพุทธเจ้าได้เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนเกณิยะว่า

ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์

เกณิยชฎิลก็ได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเป็นคำรบสามว่า

แม้ภิกษุสงฆ์จะมีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระพุทธเจ้าได้เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ขอท่านพระโคดมพร้อมภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้นเกณิยชฎิลทราบอาการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งกลับไป

พระพุทธานุญาตน้ำอัฏฐบาน

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำปานะ ๘ ชนิด คือ น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะซาง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือองุ่น ๑ น้ำปานะทำด้วยเง่าบัว ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด

ครั้งนั้นเกณิยชฎิลสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต ณ อาศรมของตนโดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้คนกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า

ถึงเวลาแล้ว ท่านพระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว

ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางอาศรมของเกณิยชฎิล ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือ พระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จึงเกณิยชฎิลอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ นำพระหัตถ์จากบาตรให้ห้ามภัตแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุโมทนาเกณิยชฎิลด้วยคาถาเหล่านี้ ว่าดังนี้

ข้อความที่เป็นพระคาถาอนุโมทนาของพระผู้มีพระภาคที่ตรัสต่อไปนี้ จะเห็นได้ว่า แล้วแต่บุคคลที่ถวายภัตตาหาร

ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นหัวหน้า สาวิตติฉันท์เป็นยอดของฉันทศาสตร์ พระมหาราชเจ้าเป็นประมุขของมนุษยนิกร สมุทรสาครเป็นประธานของแม่น้ำทั้งหลาย ดวงจันทร์ใหญ่กว่าดวงดาวนักษัตรในอากาศ ดวงภาณุมาศใหญ่กว่าบรรดาสิ่งของที่มีแสงร้อนทั้งหลาย ฉันใด พระสงฆ์ย่อมเป็นใหญ่สำหรับทายกผู้หวังบุญบำเพ็ญทานอยู่ ฉันนั้น

ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาเกณิยชฎิลด้วยคาถาเหล่านี้แล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ

ข้อความในพระวินัยมีหลายตอนที่น่าศึกษา น่าฟัง น่ารู้จริงๆ ซึ่งเป็นเครื่องเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะของท่านในการบำเพ็ญบุญกุศล

. ข้อความที่ว่า พระจันทร์ย่อมใหญ่กว่าดวงดาวทั้งหลาย เพราะฉะนั้น สงฆ์ย่อมเป็นใหญ่สำหรับทายกผู้หวังบุญ

ที่พระพุทธองค์เห็นว่าดวงจันทร์ใหญ่กว่าดวงดาวนั้น พระองค์ทรงทราบว่าเป็นความจริง หรือว่าเห็นจากสายตา จึงนำมาเปรียบเทียบกับพระสงฆ์ว่าเป็นใหญ่สำหรับทายกผู้หวังทาน ถ้าจากสายตา ความหมายที่ว่า พระสงฆ์ย่อมใหญ่สำหรับทายก พระองค์ต้องหมายความด้วยสายตาด้วยจริงไหม

อีกข้อหนึ่ง บุญกุศล เราใช้เป็นคำเดียวกัน เช่น บริจาคทาน หรือถวายอะไรต่างๆ เราจะคิดว่านั่นเป็นบุญกุศล แต่บุญกับกุศลนี้ต่างกันหรือไม่ ซึ่งผมเคยได้ทราบว่า บุญยังเป็นอวิชชา ยังไม่ใช่สิ่งที่จะนำไปสู่นิพพานได้อย่างแท้จริง แต่กุศลเป็นอวิชชาด้วยหรือไม่ มีความหมายในทางภาษาแตกต่างกันอย่างไร และมีผลแตกต่างกันอย่างไร

สุ. ข้อแรกที่ถามเรื่องพระจันทร์และดาวที่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมา ถ้าท่านอ่านดูในพระไตรปิฎก หรือดูในพระธรรมวินัย จะเห็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาง่ายๆ ไม่ต้องใช้อะไรไปวัดให้เดือดร้อนลำบากว่า จะต้องใหญ่กว่ากันจริงหรือเปล่า เพียงแต่ว่าสิ่งที่ทุกคนเห็นและได้ฟัง ก็ระลึกได้ทันที อย่างตอนกลางคืนมีดาวดวงไหนบ้างที่จะใหญ่กว่าพระจันทร์ที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น คำอุปมานั้นก็เพื่อที่จะเทียบให้เห็นว่า สำหรับผู้ที่เป็นภิกษุ ผู้ที่มีความประพฤติดี ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญ เพราะว่าเมื่อได้ถวายสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์สุขแก่ท่านแล้ว ท่านก็จะไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้เหมือนกับผู้ที่ยังมีความประพฤติที่ไม่ได้ขัดเกลากิเลส

สำหรับความหมายของบุญกุศล ขอเชิญท่านผู้รู้ภาษาบาลีช่วยให้ความหมาย

ผู้ฟัง บุญก็ดี กุศลก็ดี เป็นศัพท์ฝ่ายดี ซึ่งถ้าแปลก็ได้เนื้อความอย่างเดียวกัน คล้ายกัน คือ ไปในทางดี

บุญนั้น บุระ ธาตุ แปลว่าเต็ม ทำอะไรเต็มที่เขาเรียกว่า บุญ บุระ บูรณ์ แปลว่าเต็ม

กุศล เป็น ๒ ศัพท์ ไม่รู้ว่าใครแปลในธัมมสังคิณี กุศะ หมายถึง หญ้าคา ลา หมายถึง เกี่ยวหรือตัด กุศล คือ ตัดหญ้าคา ตัดบาปนั่นเอง เรียกว่า กุศล

บุญกับกุศลเหมือนกัน ในบาลีบางแห่งว่า บุญนี้เป็นชื่อของความสุข แต่บุญในศัพท์แท้ๆ แปลว่า เต็ม ยังความดีความชอบอะไรก็แล้วแต่ให้เต็ม ส่วนกุศล กุศะ แปลว่า หญ้าคา หญ้าคาก็คือกิเลส ลา แปลว่า เกี่ยวหรือตัด กุศล คือ ตัดกิเลส นั่นเอง

สุ. เรื่องของคำเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่ถ้าอยากจะเข้าใจความหมายให้ครบถ้วนสมบูรณ์จริงๆ ต้องศึกษาที่มาของคำนั้น เพื่อที่จะได้ความแจ่มกระจ่างยิ่งขึ้นของแต่ละคำ

ภาษาบาลี เป็นภาษาที่ใช้แทนสภาพปรมัตถธรรมที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยความละเอียดทั้งในการศึกษา และการเข้าใจในสภาพธรรมนั้นให้ตรงกับคำที่ใช้ด้วย

ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาบาลีอย่างชำนาญจริงๆ อาจจะเข้าใจเพียงอรรถของคำนั้นอย่างกว้างๆ แต่ไม่กระจ่างเท่ากับผู้ที่มีความรู้และได้ศึกษาภาษาบาลีอย่างชำนาญจริงๆ

สำหรับความหมายของบุญกับกุศลนี้ โดยทั่วไปเข้าใจว่า เป็นคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ว่าใช้ศัพท์ต่างกัน โดยทั่วไปทุกคนเข้าใจว่า กุศล หมายความถึงสภาพธรรมที่ดีงาม บุญ หมายความถึง สภาพธรรมที่เป็นการขัดเกลา การละบาปหรืออกุศลธรรม นี่เป็นความหมายกว้างๆ แต่ถ้าจะให้เข้าใจชัดเจนยิ่งกว่านี้ ต้องอาศัยท่านผู้รู้ภาษาบาลีที่จะต้องยกที่มาของคำ เมื่อประมวลแล้ว สรุปแล้ว ได้ความโดยอรรถเดียวกันนั่นเอง คือ เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม

สำหรับคำถามที่ว่า บุญหรือกุศลนี้ ยังเป็นอวิชชาอยู่ใช่ไหม ถ้าศึกษาโดยละเอียดจะทราบว่า ถ้าจัดประเภทของกุศล จะมี ๒ ประเภทใหญ่ คือ โลกียกุศลกับโลกุตตรกุศล

โลกียกุศล หมายความถึงสภาพจิตที่ดีงาม ในขณะที่เกิดขึ้นเป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา คือ การเจริญสมถภาวนา หรือการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ เป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา ถ้าขณะนั้นยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ยังเป็นโลกียกุศลอยู่ เพราะว่ายังไม่ได้ดับกิเลสประเภทหนึ่งประเภทใดเลย

แต่ขณะใดที่รู้แจ้งพระนิพพาน ประจักษ์ชัดในสภาพของนิพพาน รู้แจ้งอริยสัจธรรม ขณะนั้นเป็นโลกุตตรกุศล ซึ่งเป็นกุศลที่ดับกิเลสตามระดับขั้นของโลกุตตรจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นโสตาปัตติมรรค หรือว่าสกทาคามิมรรค หรือว่าอนาคามิมรรค หรือว่าอรหัตตมรรค ซึ่งเป็นโลกุตตรกุศล ๔ ดวง หรือ ๔ ขั้น ก็เป็นเรื่อง

เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ให้ทาน แต่ยังเป็นตัวท่าน ยังไม่ได้ดับกิเลส ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังมีการสะสมของอวิชชาเต็มอยู่ ยังไม่ได้ดับไปเลย และขณะที่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการเจริญภาวนานั้น สภาพของจิตเป็นกุศล แต่เป็นโลกียกุศล ไม่ใช่โลกุตตรกุศล ซึ่งโลกียกุศลนั้นไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

เปิด  250
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566