แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 514
ถ. สมมติว่า เราทำบุญ เอาเงินใส่ในกล่อง หรืออะไรก็ตาม หรือเอาไปถวายพระ ก็บอกว่า เราทำบุญก็ได้บุญ แต่เราทำบุญนี้ เราได้กุศลไหม ก็บอกว่า ได้ ได้ทั้งบุญทั้งกุศล
ถ้าเรามีใจจะทำบุญ แต่ไม่มีเงิน เราบอกว่า อยากจะทำบุญเหลือเกิน อย่างนี้เราได้บุญหรือเปล่า ได้กุศลหรือเปล่า แบบนี้บุญกับกุศลจะต่างกันหรือไม่ อาจจะต่างกันก็ได้ จริงอยู่การแปล ผมยอมรับว่าใกล้เคียงกัน แต่ผมมีความรู้สึกว่า อาจจะต้องต่างกันอยู่บ้าง อย่างที่อาจารย์ได้อธิบายเมื่อสักครู่ว่า โลกียกุศลและโลกุตตรกุศล ทั้งๆ ที่เหมือนกัน ทำไมเราไม่ใช้คำนั้นมาแทนบ้างว่า โลกียบุญและโลกุตตรบุญ
สุ. มีไหมที่ใช้คำว่า โลกุตตรบุญ ถ้าใช้ก็ไม่ผิด เพราะว่าความหมายเหมือนกัน แล้วแต่ว่าในที่นั้นใช้ศัพท์อะไรเท่านั้นเอง จะใช้คำว่า จิต จะใช้คำว่า วิญญาณ ก็เหมือนกัน แต่พอถึงขันธ์ ใช้คำว่า วิญญาณขันธ์ ไม่ใช้คำว่า จิตขันธ์ แต่ถ้าจะใช้ก็คงไม่ผิด เพราะว่าจิตกับวิญญาณก็คือสภาพปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นจริง เป็นสภาพรู้ เช่น การเห็น การได้ยินต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งไม่เหมือนกับรูปขันธ์ ที่ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของภาษา
และเรื่องที่คิดจะสละวัตถุให้แต่ไม่มีทรัพย์ที่จะสละให้ จะเป็นบุญกุศลไหม แม้เพียงความคิดที่จะให้ ก็เป็นจิตที่ดีงาม อย่างน้อยเมื่อเกิดขึ้น ดับไปแล้ว หมดไปแล้วในขณะนั้น ไม่มีโอกาสที่จะให้ก็จริง แต่สะสมไว้ในจิต เมื่อมีโอกาสเมื่อไร ก็มีปัจจัย คือ ความคิดเดิมที่จะให้ เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดการให้ในภายหลังขึ้นได้
เพราะฉะนั้น ขณะที่เพียงคิดก็เป็นกุศล แม้จะยังไม่ได้กระทำ แต่มีการสะสมไว้ เพื่อว่าเมื่อมีโอกาสเมื่อไรก็ยังเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดการให้ การเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นได้
ความจริงเรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งจะต้องอาศัยการศึกษา พระอภิธรรม หรือปรมัตถธรรมเป็นเบื้องต้น จะทำให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น
ถ. ตามที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวในรายการตอบปัญหาธรรมเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่า การสงครามนั้นไม่ได้มีเฉพาะในสมัยนี้ แต่มีมาตั้งแต่ในครั้งอดีตกาลแล้ว ตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล และผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็มีบุคคลหลายประเภท มีทั้งอาชีพต่างๆ ตลอดจนกระทั่งอาชีพที่มีหน้าที่จัดการเรื่องการรบ และมีพระสูตรหนึ่งที่กล่าวถึงทหาร มีผู้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พวกทหารควรตั้งจิตไว้อย่างไรจึงจะปราศจากโทษ หรือว่าจะปฏิบัติอย่างไร ผมขอเรียนท่านอาจารย์ได้โปรดอธิบาย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นทหารต่อไป
สุ. มีท่านผู้ฟังโทรศัพท์มาสอบถามข้อความเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะว่า ท่านเป็นผู้ที่มีหน้าที่เป็นทหาร ท่านสงสัยว่า ท่านควรจะตั้งจิตหรือมนสิการในธรรมอย่างไร แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้วว่า ผู้ที่เป็นทหารหรือจะกระทำกิจของทหารนั้น ไม่จำเป็นต้องตั้งจิตพยาบาทอาฆาต ผูกเวรหรือจองเวร แต่เป็นการกระทำเฉพาะหน้าตามสิ่งที่ปรากฏโดยเฉพาะตามคำสั่งที่ได้รับ เนื่องจากว่า ผู้ที่เป็นทหารต้องปฏิบัติตามคำสั่งอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องตั้งจิตที่จะคิดเบียดเบียนเป็นการส่วนตัว หรือเป็นการพยาบาทอาฆาตในบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นจะเป็นอกุศลอย่างเต็มที่ทีเดียว เมื่อรู้อย่างนี้ก็ตั้งจิตโดยที่ว่า ขณะนั้นไม่ใช่การจองเวร ไม่ใช่การผูกเวร ไม่ใช่เป็นการอาฆาตโดยส่วนตัวในบุคคลใดทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ได้รับ แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตัวเองอาจจะตายก็ได้
ไม่มีใครที่จะพ้นจากกรรมและการรับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อถึงคราวที่กรรมจะให้ผลทำให้สิ้นสุดชีวิตลง คนนั้นก็สิ้นชีวิตไป แต่ละคนก็เหมือนกันทั้งนั้น ทั้งเขาทั้งเรา เพราะฉะนั้น เมื่อมีหน้าที่ที่จะกระทำอย่างไร ก็กระทำอย่างนั้น โดยไม่ได้ตั้งจิตอาฆาตพยาบาท ผูกเวรจองเวรต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดทั้งสิ้น พอที่จะเป็นไปได้ไหมอย่างนี้ ซึ่งจะช่วยทำให้อกุศลจิตเบาบางลงได้มาก
ในคราวก่อนท่านผู้ฟังก็ได้ทราบข้อความจากพระวินัยปิฎก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาในการถวายภัตตาหารแด่พระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ ในขณะที่พระองค์เสด็จจาริกไปสู่สถานที่ต่างๆ และพุทธบริษัทก็มีการสะสมของจิตที่วิจิตรต่างๆ กันมาก แม้แต่ผู้ที่ได้สะสมอบรมมาที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า ซึ่งตราบใดที่กิเลสยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็ยังมีโอกาส มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นอกุศลต่างๆ ได้
ขอกล่าวถึง พระวินัยปิฎก มหาวรรค ต่อ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เห็นจิตใจของพระอริยบุคคลท่านหนึ่ง ก่อนที่ท่านจะบรรลุอริยสัจธรรม ซึ่งก็เป็นไปตามการสะสม ข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เรื่องเตรียมการต้อนรับพระพุทธเจ้า มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาปณนิคมตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จจาริกไปทางพระนครกุสินารา พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป.
พวกมัลลกษัตริย์ชาวพระนครกุสินารา ได้ทรงทราบข่าวแน่ถนัดว่า พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาพระนครกุสินาราพร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป มัลลกษัตริย์เหล่านั้นได้ตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาคจะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์ สมัยนั้น โรชะมัลลกษัตริย์เป็นพระสหายของ พระอานนท์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับถึงพระนครกุสินาราแล้ว พวกมัลลกษัตริย์ชาวพระนครกุสินาราได้จัดการต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์รับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่พัก ทรงอภิวาทแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ท่านพระอานนท์ได้ปราศรัยกะโรชะมัลลกษัตริย์ผู้ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า
ท่านโรชะ การรับเสด็จพระผู้มีพระภาคของท่านโอฬารแท้
โรชะมัลลกษัตริย์ตรัสว่า
พระคุณเจ้าอานนท์ พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าใหญ่โต พวกญาติต่างหากได้ตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาคจะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์ ข้าพเจ้านั้นแลได้ต้อนรับเสด็จ พระผู้มีพระภาคเช่นนี้ เพราะกลัวพวกญาติปรับสินไหม
ไม่ใช่ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริงเลย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งโน้น มีบุคคลที่ต้อนรับพระภิกษุหรือแม้พระผู้มีพระภาคด้วยจิตใจอย่างนี้ หรืออาจจะเป็นการต้อนรับมิตรสหายในธรรมก็ได้ แต่ว่าจิตใจที่ลึกซึ้งจริงๆ จะมีความเลื่อมใสศรัทธาหรือไม่มี หรือจะมีมาก จะมีน้อยประการใด นั่นเป็นสิ่งที่ยากที่จะรู้ได้ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นการต้อนรับที่ดี แต่เป็นเพียงมรรยาทเท่านั้นก็ได้ ถ้าไม่มีความเลื่อมใส ไม่เข้าใจว่า บุคคลใดที่ทรงคุณธรรม และควรเลื่อมใสอย่างไร
แม้แต่พระผู้มีพระภาค ซึ่งในครั้งก่อนนั้นก็เสด็จจาริกไปสู่สถานที่ต่างๆ และทรงเป็นอาคันตุกะ คือ เป็นแขกของหลายท่านทีเดียว บางครั้งพระองค์ก็ทรงขอพักที่บ้านนั้น ที่บ้านนี้ ซึ่งก็แล้วแต่ความศรัทธา ความเลื่อมใสของผู้ที่ต้อนรับพระองค์ ถ้าผู้นั้นไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่เข้าใจว่าพระธรรมคืออย่างไร ความเลื่อมใสก็ย่อมจะมีไม่ได้ เพราะฉะนั้น การฟังนี้เป็นการฟังธรรม ขอให้ระลึกอยู่เสมอ คือ การฟังธรรมเพื่อที่จะได้เข้าใจธรรม เพื่อจะเป็นการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง เมื่อเข้าใจว่าพระธรรมคืออย่างไร ก็เข้าใจว่า บุคคลใดเป็นบุคคลที่สมควรแก่การเลื่อมใส หรือว่าไม่สมควรแก่การเลื่อมใสอย่างไร มิฉะนั้นแล้ว ถึงแม้พระผู้มีพระภาคจะทรงเป็นอาคันตุกะของบางท่านในครั้งนี้ ท่านก็อาจจะไม่เกิดความเลื่อมใส หรือว่าการต้อนรับของท่านก็เป็นเพียงการต้อนรับในฐานะเจ้าของบ้านอย่างโรชะมัลลกษัตริย์
ข้อความต่อไปมีว่า
ทันใดท่านพระอานนท์แสดงความไม่พอใจว่า ไฉนโรชะมัลลกษัตริย์จึงได้ตรัสอย่างนี้ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า โรชะมัลลกษัตริย์ผู้นี้ เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก และความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ของคนที่มีผู้รู้จักมากเช่นนี้ มีอิทธิพลมากนัก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดบันดาลให้โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ การที่จะบันดาลให้โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้นั้น ตถาคตทำได้ไม่ยากเลย
สำหรับผู้ที่มีปัจจัยสะสมมาแล้วไม่เป็นการยาก แต่ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยากที่จะรู้ได้ว่า แต่ละบุคคลมีการสะสมมาในการที่จะรับฟัง พระธรรมเทศนา ประพฤติปฏิบัติตาม และมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกได้มากเพียงใด
ข้อความต่อไปมีว่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแผ่เมตตาจิตไปยังโรชะมัลลกษัตริย์ แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จเข้าพระวิหาร
ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์อันพระเมตตาจิตของพระผู้มีพระภาคถูกต้องแล้ว ได้เที่ยวค้นหาตามวิหาร ตามบริเวณทั่วทุกแห่ง ดุจโคแม่ลูกอ่อน แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
ท่านเจ้าข้า เวลานี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน เพราะข้าพเจ้าใคร่จะเฝ้าพระองค์
ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า
ท่านโรชะ พระวิหารนั่นเขาปิดพระทวารเสียแล้ว ขอท่านโปรดสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารนั้น ค่อยๆ ย่องเข้าไปที่หน้ามุข ทรงกระแอมแล้วทรงเคาะ พระทวารเถิด พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดพระทวารรับท่าน ถวายพระพร
ท่านผู้ฟังจะเห็นกุศลที่มีกำลังของเมตตา ถ้าท่านมีเมตตาจิต และบุคคลอื่นอาจจะคิดร้ายกับท่าน คิดไม่ดีกับท่านด้วยประการใดก็ตาม แต่ท่านมีเมตตาจิตต่อผู้นั้นจริงๆ ก็คงจะทำให้บุคคลนั้นรู้สึกผิดชอบได้ แล้วแต่ว่าผู้นั้นสะสมปัจจัยมามากน้อยเพียงไรที่จะมีการระลึกถึง หรืออยากที่จะชดเชย ทดแทนการกระทำผิดที่ได้กระทำไว้ต่อท่านมากน้อยเพียงไรหรือไม่ สำหรับโรชะมัลลกษัตริย์ก็ใคร่ที่จะได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ข้อความต่อไปมีว่า
โรชะมัลลกษัตริย์ได้ธรรมจักษุ
ขณะนั้นโรชะมัลลกษัตริย์ทรงสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารซึ่งปิด พระทวารเสียแล้วนั้น ค่อยๆ ย่องเข้าไปที่หน้ามุข ทรงกระแอมแล้วเคาะบาน พระทวาร พระผู้มีพระภาคทรงเปิดพระทวารรับ จึงโรชะมัลลกษัตริย์เสด็จเข้า พระวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่โรชะมัลลกษัตริย์ คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม ขณะเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า โรชะมัลลกษัตริย์มีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้บังเกิดแก่โรชะมัลลกษัตริย์ ณ สถานที่ประทับนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมด้วยดี ฉะนั้น โรชะมัลลกษัตริย์ได้ทรงเห็นธรรมแล้ว ได้ทรงบรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้ง ได้หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้องอาจ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของ พระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า
ขอประทานพระวโรกาส ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว อย่ารับของคนอื่น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร โรชะ แม้อริยบุคคลผู้ได้เห็นธรรมแล้วด้วยญาณของพระเสขะ ด้วย ทัสสนะของพระเสขะเหมือนอย่างท่าน ก็คงมีความปรารภอย่างนี้ว่า โอ พระคุณเจ้าทั้งหลายคงกรุณารับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของพวกเราเท่านั้น คงไม่รับของผู้อื่นเป็นแน่ เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจักรับปัจจัยของท่านด้วย ของคนอื่นด้วย
ไม่จำกัดที่จะรับเฉพาะบุคคล แต่ทั่วไปหมด เพื่อกุศลจิตของผู้อื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่ของโรชะมัลลกษัตริย์เท่านั้น ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้เห็นถึงศรัทธาของผู้ที่ใคร่จะได้ถวายการอุปการะแก่พระภิกษุสงฆ์