แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 519

. ที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายไปเมื่อสักครู่ จะไม่สนับสนุนการเจริญสมถภาวนาว่า เป็นสิ่งที่ควรอบรมเจริญใช่ไหม

สุ. การเจริญสมถภาวนาเป็นปัญญาที่รู้ว่า ทำอย่างไรจิตจะสงบ เป็นกุศลอีกขั้นหนึ่ง สูงกว่าขั้นของศีล

กุศลขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถภาวนา ขั้นวิปัสสนาภาวนา เป็นกุศลต่างระดับขั้นกัน ถ้าขณะนั้นจิตสามารถจะสงบเพราะปัญญารู้หนทางว่า เจริญอบรมอย่างไรจิตจะสงบ ขณะนั้นเป็นกุศลที่ควรเจริญ แต่ต้องเป็นสมถภาวนาจริงๆ ถ้าไม่ใช่ปัญญา บอกให้นั่งจ้องหน้ากันอย่างนี้ แล้วจะจ้องหน้ากันทำไมก็ไม่ทราบ จ้องหน้ากันแล้วจะสงบสักแค่ไหน หรือว่าเพียงแต่มีแสงสว่างปรากฏและไม่รู้อะไร จะไม่ทำให้เกิดกุศล ใดๆ ทั้งสิ้น

. หมายความว่า ชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นสมถภาวนาที่แท้จริง ควรจะเจริญใช่ไหม เพราะพระผู้มีพระภาคทรงตรัสไว้ว่า ควรเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนา

สุ. ถ้าเป็นสมถภาวนาจริงๆ ควรเจริญ เพราะเป็นกุศลขั้นหนึ่ง เช่น ทานก็ควรเจริญ ศีลก็ควรเจริญ สมถภาวนาก็ควรเจริญ ถ้ามีความสามารถที่จะเจริญได้ แต่กุศลขั้นสูงที่สุด คือ สติปัฏฐาน เป็นสิ่งที่ควรเจริญอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าสมถภาวนา

. ถ้าจะเจริญสมถภาวนา ก็ไม่ได้ละความไม่รู้ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ได้ยินเดี๋ยวนี้

สุ. ถ้าเจริญสมถภาวนา ขณะนั้นจุดประสงค์ต่างกันกับการที่สติระลึกรู้ลักษณะของเห็น ของได้ยินตามปกติ เพราะว่าไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการได้ยิน ต้องการให้จิตสงบ จึงจะเป็นอัปปนาสมาธิ

จุดประสงค์ของสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนานั้นต่างกัน เพราะว่าสมถภาวนานั้น ไม่ต้องการให้เกิดการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ ต้องการเพียงความสงบ แต่จุดประสงค์ของวิปัสสนาภาวนานั้น เพื่อรู้ความจริง จึงจะละความไม่รู้ ความสงสัย การที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้ เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของวิปัสสนาภาวนากับสมถภาวนานั้นต่างกัน

. ในเมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้ ดับอาสวะกิเลสทั้งหมดได้เพราะการเจริญสติปัฏฐาน และพระองค์ก็ทรงทราบว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุดในชีวิต แต่เพราะเหตุไรพระองค์จึงทรงให้เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาในเพศของบรรพชิต

สุ. สำหรับผู้ที่สามารถอบรมกุศลได้ทุกประการ และมีอัธยาศัยที่จะเจริญอบรมสมถะ บุคคลใดก็ไม่สามารถไปกั้น ไปห้ามบุคคลนั้นได้ว่า อย่าเจริญ เพราะว่า เป็นกุศล แต่พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงให้หยุดเพียงแค่สมถภาวนา แต่ต้องต่อถึงการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนาด้วย

ในพระไตรปิฎกก็ได้แสดงไว้ชัดว่า ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระภิกษุที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนาจนได้ฌานจิตนั้น มีมากกว่าพระภิกษุที่อบรมเจริญสมถภาวนาถึงขั้นอัปปนาสมาธิและได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย

. เพราะฉะนั้น จุดหมายสูงสุดในยุคปัจจุบันนี้ ควรจะเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสในขณะนี้ มากกว่าที่จะไปเจริญสมถภาวนาเพื่อให้ถึงฌานจิต เพราะว่าภาวะในปัจจุบันไม่ใช่กาลสมบัติ ควรจะมุ่งในการเจริญสติปัฏฐานมากกว่า

สุ. ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาจนถึงฌานจิตมาก แต่แม้กระนั้นการรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ไม่ได้ฌานจิตด้วยก็ยังมีมากกว่า แม้จะมีผู้ที่ได้ฌานมาก แต่ว่าไม่ได้อบรมปัญญาพอที่จะรู้แจ้งแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น บางท่านก็ได้คุณวิเศษ เช่น ท่านพระเทวทัต เป็นต้น ท่านไม่สามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะว่าท่านไม่ได้อบรมปัญญาหรือสติปัฏฐานพอที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ถ้าท่านผู้ฟังเห็นว่า ท่านยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม และจุดสูงที่สุดของกุศล คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ควรที่จะอบรมเจริญหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม มิฉะนั้นแล้ว ถึงแม้ว่าท่านจะพยายามบำเพ็ญสมถภาวนา ก็อาจจะเป็นอย่างท่าน พระเทวทัต คือ ท่านสามารถที่จะบรรลุคุณวิเศษ แต่ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ควรจะอบรมอย่างไหน

แม้จะอบรมสมถภาวนา ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าจะเคยสะสมอุปนิสัยปัจจัยมาที่จะได้ฌานจิต ก็ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานให้เพียงพอ ดังเช่นท่านพระเทวทัตและท่านอื่นๆ แต่ท่านที่อบรมเจริญสติปัฏฐานและรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า โดยที่ไม่ได้ฌานจิตเลย ก็มีจำนวนมากกว่าผู้ที่ได้บรรลุทั้ง ๒ อย่าง

. เรื่องการเจริญสมถกัมมัฏฐานที่ว่า มีพระรัตนตรัยเป็นอารมณ์ ขอคำอธิบายเฉพาะข้อที่มีพระพุทธรัตนะเป็นอารมณ์

สุ. พุทโธ ไม่ได้มุ่งหมายบุคคลอื่นเลย ชั่วขณะที่นึกถึงพุทโธ ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่ระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังต่อไปอีก นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ระลึกถึงพระคุณต่างๆ จนกว่าจิตจะสงบ

วันหนึ่งๆ ระลึกถึงพระพุทธคุณบ่อยไหม ถ้าบ่อยก็ดี ขณะนั้นเป็นกุศล บางท่านก็ครั้งเดียวก่อนนอน สวดมนต์ ไหว้พระ ขณะนั้นก็เป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณ แต่ที่จะให้จิตสงบยิ่งขึ้น ก็ต่อเมื่อซาบซึ้งในพระคุณนั้นยิ่งขึ้น

. ขณะที่ระลึกถึง พุทโธ อยากจะทราบว่าา ขณะนั้นเป็นการคิดนึกถึงคำว่า พุท คำหนึ่ง และ โธ คำหนึ่งใช่ไหม เพราะทราบมาว่า การที่จะระลึกถึง พระพุทธคุณนั้น จะต้องนึกถึงพระคุณของพระองค์ที่ทรงดำเนินไป อาจจะเป็นในส่วนของพระปัญญาคุณ หรือพระมหากรุณาคุณ หรือพระบริสุทธิคุณ แต่การระลึกว่า พุทโธนี้ จะเป็นการระลึกถึงคำ ไม่ใช่ระลึกถึงพระคุณของพระองค์จริงๆ ใช่ไหม

สุ. ถ้าระลึกถึง พุท คำหนึ่ง โธ คำหนึ่ง ก็เป็นการระลึกถึงเพียง ๒ คำ จริงๆ แต่ว่าการระลึกถึง ระลึกถึงมากกว่านั้นใช่ไหม ตามปกติธรรมดาของการระลึกถึง ไม่ว่าท่านจะระลึกถึงอะไร ท่านระลึกถึงมากกว่า ๒ คำ

. เท่าที่ทราบมา มีบางท่านที่ปฏิบัติโดยหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ปฏิบัติอยู่ในลักษณะเช่นนี้ โดยที่ไม่มีการระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าเลยว่า พระองค์มีคุณเช่นไร

สุ. อย่างนั้นไม่ใช่พุทธานุสติ เป็นการผสม การผสมนี้มีมากเหลือเกิน อะไรๆ ก็จับมารวมๆ กัน และเข้าใจว่า ขณะนั้นจิตจะพ้นจากการยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ยังเป็นการคิดนึกถึงด้วยความต้องการ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การระลึกถึงพระพุทธคุณ

การระลึกถึงพระพุทธคุณ หมายความว่า ระลึกถึงในพระปัญญาคุณที่ทรง ตรัสรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ตามความเป็นจริงด้วยพระองค์เอง และทรงแสดงพระธรรมเพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลให้บุคคลอื่นได้ประพฤติปฏิบัติตามหนทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรมนั้น

ปกติท่านเคยระลึกถึงใครก็ตาม ซึ่งท่านก็เคยระลึก และจะไม่ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้างหรือ ซึ่งขณะนั้นก็เป็นการระลึกถึงพระคุณแล้ว ในขณะที่ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ว่า ขณะที่คิดเป็นแต่เพียงนามธรรม ถึงแม้จะคิดยาว สติก็ระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมที่คิด และที่จะรู้ว่า ท่านละความยึดถือนามธรรมที่คิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้มากน้อยเพียงใด ก็สังเกตดูความเป็นปกติของการคิด การคิดเป็นปกติ และปัญญาก็รู้ในลักษณะที่คิดนั้นตามปกติจริงๆ ด้วยการรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพที่คิดนึกเท่านั้น

. ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าในอดีต หรือในอนาคต หรือในปัจจุบัน และแม้แต่ผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อความถึงพระอริยเจ้านั้น เมื่อมีการระลึกถึงพระพุทธคุณ อาจจะเป็นในส่วนพระปัญญา หรือในส่วนอื่นๆ ก็ตาม ในขณะนั้นสติและปัญญาก็ต้องระลึกรู้สภาพนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ประกอบกับการรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไปด้วย อย่างนี้ใช่ไหม

สุ. สำหรับพระอริยเจ้าแล้ว ไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพียงแต่ว่าขณะนั้นหลงลืมสติหรือมีสติ ขณะที่ระลึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม หลงลืมสติก็ได้ หรือว่ามีสติก็ได้ แต่ว่าขณะที่ระลึกถึงพระพุทธคุณนั้น จิตเป็นกุศลขั้นของสมถภาวนา แต่ขณะที่รู้ว่า สภาพที่คิดนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมที่คิด ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ถ้าจะคู่กัน ก็คู่กันในลักษณะนั้น

แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ในมรรคมีองค์ ๘ มีทั้งสมถะและวิปัสสนา ไม่จำเป็นต้องไปเจริญสมถกัมมัฏฐานอื่น เพราะว่าขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นสงบระงับจากโลภะ โทสะ โมหะ จึงเป็นสมถะ เพราะเป็นการสงบระงับจากโลภะ โทสะ โมหะ

. ได้ทราบว่า การเจริญวิปัสสนาภาวนาเป็นเรื่องของการละ ไม่ใช่เรื่องของการติด แต่เมื่อศึกษาและพิจารณาแล้ว รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะขณะที่ได้ยินเสียงขณะนี้ เสียงก็ต่างจากได้ยินแล้ว และได้ยินก็ต่างจากสภาพที่ตรึกนึกคิดถึงว่าขณะนั้นได้ยินอะไร ไม่ทราบว่าจะพิจารณาอย่างไร จะสังเกต สำเหนียก ระลึกรู้อย่างไร จึงจะเข้าใจสภาพที่ต่างกันในชีวิตที่เป็นปกติธรรมดา โดยมิใช่การทำ

สุ. ขอเล่าถึงท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องวิปัสสนาภาวนามาก และท่านก็ฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนามาเป็นเวลานาน แต่ว่าการที่ตั้งใจพากเพียรที่จะให้รู้ ไม่ใช่ขณะที่ฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ แล้วค่อยละ ค่อยคลาย จนกระทั่งเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

ท่านผู้นั้นได้เล่าให้ฟังว่า พยายามเหลือเกินที่จะแยกนามกับรูปให้ออก ตั้งใจจริงๆ ที่จะรู้ว่า รูปเป็นอย่างไร นามเป็นอย่างไร จนอ่อนใจก็ไม่รู้ จนกระทั่งคิดว่า คงหมดวาสนาบารมีเป็นแน่นอน เพราะว่าทั้งอดทน ทั้งพากเพียรที่จะกระทำต่างๆ และถามตัวเองว่า ทำไมไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ผลก็คือ จิตยิ่งกระสับกระส่าย ในที่สุดก็เลิก ไม่ทำอะไรทั้งนั้น หมดหวัง แต่แล้วสัมมาสติก็เกิดตามปกติ ตามธรรมดา โดยที่ไม่ต้องมีตัวตนไปจัดแจงที่จะทำให้เกิดความรู้นาม รู้รูปขึ้น ท่านจึงเข้าใจว่า ลักษณะของสัมมาสตินั้นเป็นปกติ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า ขณะนี้สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของรูปหรือนามที่กำลังปรากฏตามธรรมชาติ ตามความเป็นจริง

ขณะนี้ ถ้าสติจะระลึกรู้ลักษณะของแข็งที่ปรากฏ ระลึกแล้ว แข็งเท่านั้น ตามปกติ เท่านั้น อย่างนั้น และก็ค่อยๆ สังเกต สำเหนียก ไม่รีบร้อนที่จะให้เป็นนามเป็นรูปปรากฏ แยกให้ออกในวันนี้พรุ่งนี้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว หมดหวังทุกท่าน

แต่ถ้าเป็นสติที่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามธรรมดา และไม่รีบร้อน ขณะนั้นลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏ และก็มีการระลึก สำเหนียก สังเกต ความรู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยจริงๆ เหมือนกับการจับด้ามมีด ซึ่งไม่ปรากฏให้รู้ได้เลยว่าด้ามมีดสึก หรือการปลูกต้นไม้ ท่านจะทราบไหมว่า จะเกิดผลเมื่อไร และผลนั้นจะปรากฏที่กิ่งไหน ก้านไหน ก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน ต่อเมื่อใดเหตุสมควรแก่ผล ผลก็เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะต้องมาจากการฟัง การเข้าใจ การที่รู้ว่าไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับ หรือว่าจะไปพากเพียรให้ปัญญาประจักษ์แจ้งแทงตลอดในเวลาเท่านั้นเท่านี้ตามใจชอบได้ แต่เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีปัจจัยก็เกิดขึ้น เช่น สติจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏน้อยหรือมาก ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นี่เป็นสิ่งสำคัญว่า รู้ขึ้นบ้างไหม ถ้าไม่รู้ ก็สำเหนียก สังเกต ระลึกที่จะเป็นความรู้ขึ้น ต้องอบรมจนกระทั่งเป็นปัญญาที่เกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ แต่ถ้ายังไม่ได้อบรม หรืออบรมไม่พอ ปัญญายังไม่เกิด ก็ยังต้องเป็นอวิชชา เป็นความไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

. หมายความว่า ไม่ต้องรีบร้อน แต่ให้เป็นผู้มั่นคงในการฟังธรรม ในการอบรมเจริญกุศล

สุ. รีบร้อนแล้วจะได้อะไร รีบไปทางไหน เร่งรัดอย่างไรก็ไม่มีหนทาง ไม่มีทางลัดทางหนึ่งทางใดที่จะไปด้วยความรีบร้อนได้เลย เพราะเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ายังไม่รู้ ก็อบรมจนกว่าจะเป็นความรู้ และความรู้ก็จะต้องค่อยๆ รู้ขึ้น จะให้รู้ทีเดียวได้อย่างไร

ต้องค่อยๆ แยกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏสืบต่อกันอย่างแน่นทีเดียว ด้วยสติที่สามารถจะแยกออกว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละอย่างตามความเป็นจริงเสียก่อน เมื่อมีความรู้เพิ่มขึ้น การละคลายก็มีมากขึ้น จนในที่สุดสามารถจะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้

ใครจะรีบร้อนเร่งรัดด้วยความเป็นตัวตน ไม่มีหนทางจะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้เลย ต้องเป็นปัญญาจริงๆ และปัญญาก็เป็นความรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏด้วย ถ้าความรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏไม่มี ก็อย่าได้ไปทำอย่างอื่นที่คิดว่าจะเร็วกว่านี้ หรือว่าจะเป็นอาการแปลกประหลาดต่างๆ และรู้แจ้งพระนิพพาน โดยไม่สามารถที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้ นั่นไม่ใช่ปัญญาแน่นอน

แต่กิเลสตัณหานั้น ช่างเก่งเหลือเกิน พร้อมที่จะผลักไสไปสู่ข้อปฏิบัติที่ผิด ความเห็นที่ผิด ถ้าขณะนั้นไม่รู้จริงๆ ว่า ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้ รู้ได้แน่นอน เป็นของจริง แต่ว่าจะต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว

. เรื่องการเจริญเวทนาเป็นอารมณ์ เช่น ในขณะที่สุขเวทนาเกิดขึ้น พอที่จะรู้สึกว่า สุขเวทนาเป็นแต่เพียงนามธรรม แต่ตอนนี้รู้สึกลำบากใจ ตอนที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ไม่รู้จะทำอย่างไร

สุ. เหมือนกันทุกอย่าง ทุกทาง ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ต่างกันเลย ถ้าสุขเวทนาเกิด ระลึกรู้ว่า เป็นสภาพธรรมลักษณะหนึ่งที่เป็นสุข เวลาที่ทุกขเวทนาเกิด ก็ระลึกรู้ว่า เป็นลักษณะสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นทุกข์อย่างนั้น เท่านั้นเอง เหมือนกัน เป็นแต่เพียงลักษณะสภาพธรรมจริงๆ แต่ว่ามีลักษณะต่างกัน

ความรู้สึกเป็นสุข ก็เป็นความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกเป็นทุกข์ ก็เป็นความรู้สึกเป็นทุกข์ ข้อสำคัญ คือ ไม่ต้องเจาะจง ตั้งใจ ที่จะรู้นั่นรู้นี่ อบรมไปเรื่อยๆ แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตา หรือว่ารูปที่ปรากฏทางหู หรือว่านามที่รู้รูปที่ปรากฏทางจมูก แล้วแต่สติ อบรมไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าปัญญาจะต้องรู้ทั่ว รู้จริง จึงจะละคลายการที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ อย่าข้าม สติระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์ใด ปัญญาจะต้องรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นตามความเป็นจริง

เปิด  238
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566