แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 522

ผู้ฟัง อีกข้อหนึ่งท่านว่าอย่างนี้

ดูกร ภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้ ผมก็สะดุดอีก ที่สะดุดเพราะว่าพระพุทธองค์ไม่ทรงสนับสนุนให้พระภิกษุเป็นผู้มักมากในการบริโภคอาหาร มีแต่ให้เป็นผู้มักน้อย แม้แต่อาหารที่ฉันแล้วเหลือ ก็ยังรับสั่งว่า เอาไปทิ้งเสีย อย่าสะสมเอาไว้ สะสมอาหารก็ไม่ได้ แต่เมื่อมีข้อความอย่างนี้ปรากฏขึ้น กระผมก็สงสัยว่า ทำไมท่านจึงแปลออกมาอย่างนี้ กระผมก็ไปเปิดดูบาลีอีก บางทีท่านผู้รู้บาลีที่อยู่ที่นี่ ท่านอาจจะขยายความให้

บาลีท่านบอกว่า เตนหิ ตวํ ภทฺทาลิ ยตฺถ นิมนฺติโต อสฺสสิ ตตฺถ เอกเทสํ ภุญฺชิตวา เอกเทสํ นีหริตฺวาปิ ปริภุญฺเชยฺยาสิ เอวมฺปิ โข ตวํ ภทฺทาลิ ภุญฺชมาโน (เอกาสโน) ยาเปสฺสสีติ บาลีเป็นอย่างนี้ ผมก็พยายามทำความเข้าใจว่า ท่านความหมายว่าอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมของพระพุทธองค์ เพราะท่านกำลังทรงบัญญัติสิกขาบทเรื่องฉันอาหารครั้งเดียวอยู่

แต่กลับกลายเป็นว่า พระพุทธองค์ทรงสนับสนุนให้ฉันอาหารที่อื่นอีกก็ได้ ที่ว่า ดูกร ภัททาลิ ถ้าอย่างนั้นเธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้

ซึ่งผมไม่สามารถน้อมใจตามท่านได้ แต่ตามความเข้าใจของผมเอง ตามบาลีนี้แหละ ไม่ใช่บาลีอื่น กระผมเข้าใจว่าอย่างนี้ ดูกร ภัททาลิ เมื่อเธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดๆ แล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แม้อีกส่วนหนึ่งทิ้งเสีย

นีหริตฺวา หมายความว่านำออกไป ซึ่งผมเข้าใจว่า ทิ้งเสียส่วนหนึ่ง ฉันเพียงส่วนเดียว เช่นนี้ก็ยังชีวิตให้เป็นไปได้

นี่เป็นความเห็นของผม แต่ที่ท่านแปลออกมานั้น ผมไม่น้อมตามท่าน เพราะว่าผิดหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแก้ไขไว้ และในสูตรๆ นี้ยังมีอีกหลายแห่งที่เมื่อแปลแล้วฟังลำบากเหมือนกัน ท่านแปลคำว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺ ท่านแปลว่ายิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ก็ไม่รู้ว่ายิ่งกว่าอย่างไร มนุษย์มีธรรมอย่างไรก็ไม่รู้ ถึงได้มีธรรมซึ่งยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ และในบางแห่งมีคำปฏิเสธ แต่เวลาที่มีคำแปลออกมา ท่านไม่มีคำปฏิเสธอยู่ในนั้น

คำที่เราเรียกว่า อุตตริมนุสสธรรมนั้น คือ ธรรมที่มนุษย์เข้าถึงได้ เช่น ฌาน สมาบัติ มรรค ผล การละกิเลสต่างๆ นี่เป็นธรรมที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้ทั้งนั้น แต่คำแปลท่านแปลว่า ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ก็เลยเข้าใจยากหน่อย ต้องขอโทษด้วย ผมไม่ได้ตำหนิว่าท่านแปลผิด แต่ความเห็นของผมก็เห็นว่าอย่างนี้แหละ ผมเข้าใจว่าธรรมของพระพุทธองค์ทรงขัดเกลาพระภิกษุอย่างยิ่ง แม้อาหารที่จะฉันนี้ทิ้งเสียส่วนหนึ่ง ฉันเพียงส่วนเดียว ก็ยังชีวิตให้เป็นไปได้ นี่เป็นความเข้าใจของผมตามบาลีที่ท่านเขียนไว้อย่างนี้ ขอบคุณครับ

สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่สนใจใคร่ที่จะได้เข้าใจแจ่มแจ้งในธรรม และได้ค้นคว้าเพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังท่านอื่น

สำหรับการพิจารณาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดและรอบคอบ ตามความเห็นของท่านผู้ฟังที่ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสให้พระภิกษุทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จะเป็นผู้ที่มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ และท่านพระภัททาลิได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านไม่สามารถที่จะฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวได้ เพราะเมื่อท่านฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว ท่านก็จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน

ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสตามข้อความที่แปลไว้ในพระไตรปิฎกว่า ดูกร ภัททาลิ ถ้าอย่างนั้นเธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้

ท่านผู้ฟังลองพิจารณาว่า ท่านพระภัททาลิท่านทูลแย้งว่า ท่านไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุญาตว่า ถ้าทำอย่างนั้นไม่ได้ ทำอย่างนี้ก็ได้ แต่ว่าให้เป็นเวลาที่ควรบริโภค คือ ไม่ใช่ในเวลาวิกาล ควรจะเป็นอย่างนี้ไหม ท่านพระภัททาลิท่านทูลว่า ท่านไม่สามารถจะทำได้ ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจะทรงพระมหากรุณาไหม

ถ. ดูกร ภัททาลิ เธอรับนิมนต์แล้ว ณ ที่ใด ก็พึงฉันอาหาร ณ ที่นั้นส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเก็บไปหรือครับ

สุ. สำหรับบุคคลที่ไม่สามารถที่จะทำได้ เราควรจะอนุเคราะห์อย่างไร

ถ. นี่เป็นที่เขาแปลมา

สุ. ตามความจริงนี้จะเป็นอย่างนั้นไหม

ถ. ท่านพระภัททาลิท่านเป็นผู้ดื้อ พระพุทธองค์ยังตรัสว่า อย่านะ แม้อาหารครึ่งเดียว ก็ยังให้ชีวิตเป็นไปได้นะ ไม่ใช่ต้องกินกันตลอดเวลา ไม่ใช่อย่างนั้นนะ

สุ. แต่ข้อความนี้มีว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น หมายถึงว่า ถ้าท่านพระภัททาลิไม่สามารถจะปฏิบัติอย่างนั้น คือ บริโภคเพียงครั้งเดียวได้ พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุญาตให้บริโภคมากกว่าครั้งเดียวในกาลนั้นได้ ควรจะเป็นอย่างนั้นไหม

ถ. เป็นการตีความเอาเอง แต่บาลีที่ว่าอย่างนี้ ขอให้ท่านผู้รู้บาลีให้ความเห็นว่า ข้อความอย่างนี้แปลความอย่างที่แปลไปแล้วเป็นอย่างไร

สุ. ถ้าเป็นไปได้ ขอความกรุณาให้ค้นอรรถกถาสำหรับข้อความตอนนี้ประกอบด้วย และขอความรู้จากท่านผู้รู้บาลีให้แปลด้วย

คามิกะ ผมไม่มีความรู้อย่างอื่น รู้แค่บาลี เรียนไวยากรณ์มา และก็แปลศัพท์ไม่ให้ผิด แต่เนื้อความจะไปได้อย่างไร ผมไม่รู้

เตนหิ ตวํ ภทฺทาลิ ยตฺถ นิมนฺติโต อสฺสสิ ตตฺถ เอกเทสํ ภุญฺชิตวา เอกเทสํ นีหริตฺวาปิ ปริภุญฺเชยฺยาสิ เอวมฺปิ โข ตวํ ภทฺทาลิ ภุญฺชมาโน (เอกาสโน) ยาเปสฺสสีติ

แปลตามตัว รับรองว่า ตามไวยากรณ์เลย

เตน หิ = เพราะฉะนั้น

ภทฺทาลิ = ดูกร ภัททาลิ

ตวํ = ท่าน

ยตฺถ นิมนฺติโต = รับนิมนต์ในที่ใด

อสฺสสิ ตตฺถ = ฉัน ณ ที่นั้น

เอกเทสํ ภุญฺชิตวา = ฉันเสียส่วนหนึ่ง

นีหริตฺวา ต้องแปลว่า นำออก หมายความว่าอย่างไร ท่านจงฉันเสียส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งนำเอาออกไป ไปให้คนอื่น หรือไปกินเองก็ไม่รู้ แต่ศัพท์แปลว่าอย่างนี้

นำออกไปเสียส่วนหนึ่ง ฉันส่วนหนึ่ง

ปิ = แม้ นี่เป็นเงื่อนไข แม้ท่านนำออกเสียส่วนหนึ่งก็ได้ หรือท่านฉันหมดทั้ง ๒ ส่วนก็ได้ แม้ท่านจะนำออกเสียส่วนหนึ่งก็ยังได้ และไม่ฉัน

เอวมฺปิ โข คือ เมื่ออย่างนี้แล

เมื่ออย่างนี้แล ท่านเมื่อบริโภคอยู่ ยังอัตภาพให้สุขสบาย ให้เป็นไปได้ ให้สบายๆ แปลได้อย่างนี้ครับ

สุ. ขอบพระคุณค่ะ ต้องวินิจฉัยจากอรรถกถาอีกครั้งหนึ่ง จะได้ประกอบกับวิกาลโภชนาเวรมณีด้วย

คามิกะ ขอเพิ่มเติมความเห็น พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้พระฉันมากหรอก ฉันมากจะอ้วนเหมือนหมูตอน ท่านให้กินให้พอไปได้ การแบ่งไปกิน ๒ หนนี้ น่าพิจารณา

สุ. อย่างไรก็ตาม พระธรรมทั้งหมด มัชฌิมปฏิปทา ซึ่งท่านผู้ฟังก็น่าจะ พิจารณาว่าอย่างไหนเป็นมัชฌิมา หลังจากเที่ยงแล้วไม่บริโภค เพราะว่าไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ไม่เป็นความจำเป็น แต่ว่าก่อนเที่ยง แล้วแต่อัธยาศัย หรืออุปนิสัยที่จะเป็นไปได้ จะเหมาะไหมสำหรับผู้ที่มีอัธยาศัยศรัทธาที่จะบวชเป็นบรรพชิต แต่ว่าเป็นอย่างเช่นท่านภัททาลิ ซึ่งไม่สามารถที่จะบริโภคเพียงครั้งเดียว อย่างท่านที่สามารถจะรักษาธุดงค์ได้

คามิกะ ท่านพระภัททาลิคล้ายกับผม กินหนเดียวไม่ไหวหรอก กิน ๒ หน บ่ายๆ เย็นๆ ยังหิว พอดึกก็หิวข้าว นี่ประการหนึ่ง เป็นความสัตย์จริง พระภัททาลิอาจจะคล้ายกับผม หรือผมจะคล้ายท่าน

สุ. อนุโลมตาม วิกาลโภชนา เวรมณี

คามิกะ ผมจะอธิบายตามไวยากรณ์ เอกํ อาสนโภชนํ แยกเป็น อสน แปลว่า นั่ง โภชน คือ ข้าว เอก แปลว่า หนึ่ง

หมายความว่า นั่งฉันในอาสนะเดียว นั่งฉันตรงนี้ ลุกไปกินที่อื่นอีกไม่ได้ ศัพท์นี้ต้องแปลอย่างนั้น เอกาสน ที่นั่งแห่งเดียว นั่งตรงนั้นลุกไปกินที่อื่นไม่ได้

สุ. เป็นธุดงค์ข้อหนึ่งใน ๑๓ ข้อ การบริโภค ณ อาสนะหรือที่แห่งเดียว อยู่ในข้อของธุดงค์ ซึ่งแสดงให้เห็นความต่างกันว่า ภิกษุมีอัธยาศัยต่างๆ กัน บางท่านสามารถจะรักษาธุดงค์ในเรื่องของเสนาสนะ บางท่านสามารถที่จะรักษาธุดงค์ในเรื่องของจีวร บางท่านสามารถที่จะรักษาธุดงค์ในเรื่องของบิณฑบาต

แต่ธุดงค์นั้นเป็นคุณธรรมส่วนพิเศษต่างหาก สำหรับการขัดเกลา สำหรับผู้ที่มีศรัทธาสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ ไม่ใช่สำหรับภิกษุทุกรูปว่า จะต้องประพฤติอย่างนั้น

พระวินัยเป็นข้อปฏิบัติที่ผู้มีศรัทธาที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม

วิกาลโภชนา เวรมณี ไม่ใช่ธุดงค์ ๑๓ เพราะมีความต่างกันของวิกาลโภชนา เวรมณีกับธุดงค์ จึงต้องมีธุดงค์อีกต่างหาก

ถ้าข้อนี้หมายความถึงให้บริโภคเพียงที่เดียว ครั้งเดียวจริงๆ จะไม่มีธุดงค์อีกต่างหาก แต่พระธรรมต้องสอดคล้องกันทั้งหมด แม้แต่วิกาลโภชนา เวรมณี กับธุดงค์ต่างกันอย่างไร ก็จะต้องมีข้อพิเศษที่ต่างกันว่า วิกาลโภชนา เวรมณี สำหรับภิกษุทุกรูป แต่ธุดงค์นั้น ไม่ใช่สำหรับพระภิกษุทุกรูปที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม

คามิกะ ในฐานะที่บวชมานาน ศึกษามาก็ไม่มาก แต่ว่าพอพูดได้ คือเรื่องบัญญัติวินัย เป็นหลักบัญญัติทั่วๆ ไป แต่สำหรับธุดงค์ ยกเว้นยิ่งไปกว่าวินัยอีก

เพราะฉะนั้น เรื่องวินัย ถ้าจะแปลตามศัพท์ ในปาติโมกข์ทีเดียว

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญจ สยนาสนํ

มัตตัญญุตา จ ภัตตัสมิง พระผู้มีพระภาคท่านบอกว่า ให้รู้จักพอดีในอาหารตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง กิน ๑๐ ครั้ง ไม่ใช่เรื่องมักน้อยสันโดษ แต่เป็นเรื่องคนกินมาก

ที่ว่า เอกาสนโภชนํ กินข้าวในที่นั่งหนเดียว พระฉันอาหาร ไม่ใช่ยืนกิน ท่านต้องนั่งฉัน เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่าอาสนะ แปลว่า ที่นั่ง ฉันที่ที่นั่งอันเดียว แปลว่า ต้องกินหนเดียวนั่นเอง

หริตฺวา แปลว่า ออก อา แปลว่า มา อาหริตฺวา คือ นำออกมา ฉันเสียหนเดียว แม้จะนำออกมาอีกหนก็ได้

ถ. ทิ้งเสียส่วนหนึ่ง

คามิกะ ตามศัพท์ หริตฺวา คือ นำออก ผมก็แปลกลางๆ จะเอาออกไปทิ้ง หรือไปเก็บไว้ในที่อยู่ของเราก็ได้ เหมือนอาหารเต็มบาตร เอาออกเสียครึ่งหนึ่ง จะเอาไปฉัน หรือเอาไปทิ้งก็ได้

สุ. ในการวินิจฉัยธรรมนี้ ขอให้พิจารณาหลายๆ ด้าน อุโบสถศีลองค์ที่ ๖ วิกาลโภชนา เวรมณี มุ่งถึงกาลของการบริโภค

วิกาลโภชนา เวรมณี มุ่งถึงกาล เพราะฉะนั้น กาลเป็นสิ่งที่สำคัญ แน่นอนว่าสำหรับพระภิกษุไม่ควรบริโภคหลังเที่ยง เพราะว่าจะเหมือนกับชีวิตของฆราวาส ซึ่งไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส นี่เป็นมูลเหตุของการที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ประการหนึ่ง

แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ถ้าพระองค์จะทรงบัญญัติพระวินัยข้อนี้ด้วยความมุ่งหมายอย่างนั้นแล้ว กุลบุตรผู้มีศรัทธาอุปสมบทในพระธรรมวินัย แต่ไม่สามารถที่จะทนหิวโดยการที่จะบริโภคเพียงครั้งเดียวในเวลาก่อนเที่ยง ท่านก็จำเป็นต้องลาสิกขาบทไป ก็จะเป็นข้อติเตียนประการหนึ่งได้ในพระศาสนาว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติพระวินัยตึงนัก

แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงเห็นประโยชน์ของกาลที่บริโภคว่า ควรจะเป็นระยะเวลาก่อนเที่ยง และบุคคลใดซึ่งไม่สามารถจะบริโภคอย่างนั้นได้ คือ เพียงครั้งเดียวอย่างพระองค์ หรือว่าอย่างท่านพระมหากัสสปะ หรือผู้ที่มีศรัทธาที่จะรักษาธุดงค์ในเรื่องของบิณฑบาต ผู้นั้นก็ยังสามารถที่จะดำรงเพศของพระภิกษุ ประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระวินัยบัญญัติได้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณา และการที่พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ทรงรู้เหตุรู้ผลว่า การปฏิบัติอย่างไรสมควรอย่างไร เพราะฉะนั้น ในข้อนี้ ขอให้มุ่งที่กาลของการบริโภค

คามิกะ เรื่องนี้เป็นความเห็น วิกาล แปลว่า ไม่ใช่เวลา ท่านห้ามฉัน แต่ในเวลาท่านก็ไม่ได้บอกให้ฉันสักกี่หน ท่านไม่ได้ว่าไว้ พระบางรูปฉันจุบฉันจิบ ตื่นขึ้นมากาแฟ พอ ๓ โมง โอวัลติน อาจจะเป็นอาหารเล็กๆ น้อยๆ เราจะเรียกว่าเป็นอาหารหลักไม่ได้ อย่างผมเช้าขึ้นมากาแฟแก้วหนึ่ง พอ ๑๐ โมง ขนมครก ๑๐ ฝา จะว่าเป็นอาหารหลักไม่ได้ คล้ายๆ กับเป็นของกินเล่น อย่างเราไปกินเลี้ยงตามภัตตาคาร ค่าห้อง ๒๐ บาท นำเม็ดแตงโมมาวาง เม็ดแตงโมที่เรากินก่อนกินอาหารจะเรียกว่าอาหารหรือของกินเล่น กินเม็ดแตงโมไม่อิ่มหรอก คล้ายๆ อาหารยังไม่มา ก็กินแก้รำคาญ

เปิด  246
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566