แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 528

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ข้อ ๕๙๖ พระสูตรที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ มีข้อความเรื่องปฏิปทา ๓ อย่าง คือ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ อาคาฬหปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า ๑ นิชฌามปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างเหี้ยมเกรียม ๑ มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างกลาง ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อาคาฬหปฏิปทาเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โทษในกามไม่มี เขาย่อมถึงความเป็นผู้ตกไปในกาม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา

สำหรับนิชฌามปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างเหี้ยมเกรียม เป็นข้อปฏิบัติของอเจลก คือ ชีเปลือย ผู้ไร้มารยาทต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมาปฏิปทาเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๓ อย่างนี้แล ฯ

ท่านผู้ฟังจะพิจารณาเห็นข้อปฏิบัติทั้ง ๓ ประการ

อาคาฬหปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า เป็นข้อปฏิบัติของผู้ที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โทษในกามไม่มี เขาย่อมถึงความเป็นผู้ตกไปในกาม ท่านผู้ฟังเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เห็นโทษในกาม คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะไหม

กาม วัตถุที่เป็นที่ตั้งของกาม ความยินดีพอใจ ในชีวิตประจำวันของท่านจะไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เห็นไหมว่าเป็นโทษ เห็น แต่ยังละไม่ได้ ตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่ไม่เห็นว่าเป็นโทษ เห็นจริงว่าเป็นโทษ แต่เมื่อปัญญายังไม่เกิด ก็ยังละไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อต้องการที่จะละ ต้องอบรมเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงจะละการเป็นบุคคลผู้ติดในกามตามลำดับขั้นได้

แต่ก็มีหลายท่านที่ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ท่านเป็นผู้ที่หมกมุ่นติดข้องมัวเมาในกามอย่างยิ่ง เห็นว่าการที่จะเพลิดเพลินไปในกาม ข้องอยู่ในกาม คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั้น ไม่เป็นโทษ เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติของท่านเหล่านั้นเป็นข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า เพราะว่ายิ่งติดในกามมากเท่าไร ท่านก็ขาดหิริ โอตตัปปะ ความละอาย และถึงการเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอย่างหยาบช้าในกามได้

การรู้ กับการไม่รู้นี้ ประโยชน์ต่างกัน สำหรับผู้ที่ไม่รู้ว่ากามมีโทษ ก็ย่อมเป็นผู้ที่ปฏิบัติอย่างหยาบช้าในกามตามกำลังของกิเลสอย่างเต็มที่ทีเดียว แต่สำหรับผู้ที่รู้ว่า กามมีโทษ และก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ยังละไม่ได้ ก็ยังอบรมเจริญหนทางข้อปฏิบัติที่จะรู้แจ้งชัดในสภาพธรรม เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะดับการยึดถือในกามได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นข้อปฏิบัติที่ต่างกัน สำหรับผู้ที่เห็นโทษในกาม และผู้ที่ไม่เห็นโทษในกาม

สำหรับนิชฌามปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติอย่างเหี้ยมเกรียม เหี้ยมเกรียมจริงๆ ทรมานมากทีเดียว เป็นข้อปฏิบัติของอเจลก คือ ชีเปลือย ผู้ไร้มารยาทต่างๆ ตามที่ได้กล่าวแล้ว

สำหรับมัชฌิมาปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติของ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

ในชีวิตปกติประจำวันหรือเปล่า

พิจารณาเห็นในกายในกายบ่อยๆ เนืองๆ มีความเพียร เพียร คือ บ่อย ขณะใดที่สติระลึกรู้ ขณะนั้นนั่นเพียรที่จะระลึกและรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มีสัมมาวายามะ มีความเพียรเกิดร่วมกับขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เห็นกายในกายขณะนี้ ปกติประจำวัน

เห็นเวทนาในเวทนา ความรู้สึกในขณะนี้ เห็นจิตในจิตในขณะนี้ ไม่ว่าจิตจะสับสนอลหม่าน เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ประการใด สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพของจิต ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ ขณะนี้สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ขณะที่สติระลึก พิจารณาเห็นธรรมในธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะให้เป็นปัญญาที่รู้ชัด สามารถที่จะละคลาย และดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทจริงๆ

การเข้าใจผิดในข้อประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลมีต่างๆ นานา ใน มโนรถปุรณี อรรถกถา อธิบายข้อความในพระสูตรนี้ว่า

๒ บทว่า อาคาฬฺหา ปฏิปทา ปฏิปทาที่หยาบ ได้แก่ การยึดมั่นด้วยอำนาจโลภะที่หยาบช้า คือ กักขฬะ

เวลาที่ท่านผู้ฟังเห็นการกระทำใดเป็นไปด้วยอำนาจโลภะที่หยาบช้า คือ กักขฬะ ก็ทราบว่า นั่นคือข้อปฏิบัติที่เป็นอาคาฬหาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่หยาบของบุคคลที่ไม่เห็นโทษในกาม เพราะฉะนั้น เมื่อโลภะมีกำลัง ย่อมสามารถที่จะกระทำทุกอย่างได้ตามกำลังของโลภะอย่างกักขฬะ โดยที่ไม่เห็นว่า การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่น่าละอาย

บทว่า นิชฺฌามา ได้แก่ ความเหี้ยมเกรียมอย่างยิ่ง ด้วยอำนาจความทรมานตนให้ลำบาก เพราะกระทำอยู่เป็นนิจ

บทว่า มชฺฌิมา ได้แก่ ไม่กักขฬะ ไม่เหี้ยมเกรียม เพราะตั้งอยู่ในท่ามกลาง

ตามฐานะ ตามเพศของคฤหัสถ์และบรรพชิต

บทว่า อเจลโก ได้แก่ นักบวชชีเปลือยที่ไม่มีเศษผ้าปกปิดร่างกาย

บทว่า มุตฺตาจาโร ได้แก่ ผู้ปล่อยความประพฤติหรือมารยาทเสียแล้ว อธิบายว่า ชีเปลือยนั้น เว้นแล้วจากอาจาระของกุลบุตรอย่างชาวโลก

คือ เป็นผู้ที่ขาดมารยาทที่ควร

ในบรรดากรรมทั้งหลาย มีการถ่ายอุจจาระเป็นต้น ทั้งๆ ที่ยืนอยู่ ก็ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ เคี้ยว กิน บริโภค

ถ้าท่านผู้ฟังไม่พิจารณาพระธรรม จะไม่ทราบว่า ข้อปฏิบัติที่งามที่ควรจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งท่านก็คงเคยเห็นการยืนบริโภค หรือว่าตัวของท่านเองก็เคยกระทำอย่างนั้นบ้างในบางกาล เพียงนิดๆ หน่อยๆ ไม่รู้สึกว่า ไม่น่าดู ใช่ไหม เพราะเหตุว่าเล็กน้อย แต่ตามพระวินัยของพระภิกษุ ยืนบริโภคไม่ได้ เพราะว่าไม่งามเลย

ท่านลองคิดถึงภาพของผู้ที่ยืนบริโภค ท่านรู้สึกอย่างไรเวลาเห็นคนอื่น ซึ่งอาจจะรู้สึกได้ชัดมากกว่าเวลาที่ท่านกระทำเองบ้าง นิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ บางครั้งบางคราว ดูเสมือนว่าเป็นผู้ที่ติดในรส จนกระทั่งรอการที่จะนั่งไม่ได้ ไม่ทราบว่า จะมีความรู้สึกอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะว่าที่ถูกที่ควรแล้ว ถ้าสามารถที่จะหาที่นั่งและบริโภค ก็จะน่าดูและเรียบร้อย แต่ถ้าไม่อาศัยพระธรรมวินัย ท่านอาจจะไม่รู้สึกเลยว่า การยืนบริโภคนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าดู

เพราะฉะนั้น การกระทำบางอย่างเกิดขึ้น เป็นครั้งเป็นคราวอาจจะไม่รู้สึก แต่ว่าถ้าเห็นมาก ก็จะทำให้รู้ได้ว่า การกระทำอย่างนั้นควรหรือไม่ควร

ปุรณีอรรถกถา ได้อธิบายความประพฤติต่างๆ ของชีเปลือย ซึ่งมีข้อความว่า

คำว่า หตฺถาวเลขโน ได้แก่ ชีเปลือยนั้น เมื่อก้อนข้าวในมือเสร็จแล้ว คือบริโภคเสร็จแล้ว ก็ใช้ลิ้นเลียมือ หรือถ่ายอุจจาระแล้ว เป็นผู้รู้อยู่ว่า น้ำอยู่ในมือนั่นเอง ไม่ล้างให้สะอาด บริโภคเสร็จก็เลียมือ เมื่อเขาเชื้อเชิญว่า จงนิมนต์มาเถิดเจ้าข้า เพื่อให้รับภิกษา ก็ไม่มา เพราะเหตุนั้น ชีเปลือยนั้นจึงชื่อว่า ผู้ไม่มา แม้เมื่อเขากล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงลุกขึ้นเถิดเจ้าข้า ก็ไม่ยอมลุกขึ้น เพราะเหตุนั้น ชีเปลือยนั้นจึงชื่อว่า ผู้ไม่ยอมลุกขึ้น

เหตุผลก็คือ เล่ากันมาว่า ชีเปลือยนั้นไม่กระทำตามคำทั้ง ๒ อย่างนั้น ด้วยอันคิดว่า คำของผู้นี้ จักเป็นอันเราได้ทำแล้ว

กลัวว่า จะทำตามคนอื่น เพราะฉะนั้น แม้ว่าเป็นสิ่งที่ควรก็ไม่ยอมกระทำตาม

บทว่า อภิหฏํ ได้แก่ ภิกษาที่เขาได้ถือนำมาข้างหน้า

บทว่า อุทฺทิสฺส กตํ ได้แก่ ภิกษาที่คนเหล่านี้บอกอย่างนี้ว่า ทานนี้เขาทำอุทิศท่านทั้งหลาย

บทว่า นิมนฺตนํ ได้แก่ อเจลกนั้น แม้เขาเชื้อเชิญอย่างนี้ว่า ขอนิมนต์ท่านเข้าไปยังตระกูล ถนน หรือบ้านชื่อโน้น ก็ไม่ยินดี คือ ไม่ยอมรับภิกษา

บทว่า น กุมฺภิมุขา ได้แก่ ไม่ยอมรับภิกษาที่เขาคดจากหม้อถวาย หม้อหรือกระเช้า ชื่อว่า กโฬปิ

ในคำว่า จากปากหม้อนั้น อเจลกนั้นไม่ถือเอา แม้จากปากหม้อนั้น เพราะเหตุไร แก้ว่า พวกอเจลกคิดว่า หม้อทั้งหลายอาศัยเราแล้วย่อมถูกประหาร คือ ถูกเคาะด้วยทัพพี

สงสารกระทั่งหม้อ เวลาที่เขาจะถวายภิกษา เขาจะให้อาหารที่คดจากหม้อมาถวายก็ไม่ยอมรับ เพราะกลัวว่า จะประหารหม้อด้วยการที่หม้อจะถูกเคาะเวลาที่เขาตักอาหารออกจากหม้อ ไม่ทราบว่า อเจลกชีเปลือยพวกนี้เข้าใจว่า หม้อมีชีวิตหรือเปล่า ถึงได้กลัวว่า หม้อทั้งหลายจะถูกประหาร คือ ถูกเคาะด้วยทัพพี

แม้ในข้อว่า ไม่ยอมรับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมธรณีประตูถวาย

ถามว่า เพราะเหตุไร

แก้ว่า อเจลกคิดว่า ธรณีประตูนี้ได้รับการถูกยืนคร่อมเพราะอาศัยเรา แม้ในเรื่องท่อนไม้และสาก ก็โดยนัยนี้เหมือนกัน

กลัวว่า สิ่งอื่นจะถูกประหาร หรือว่าถูกเบียดเบียน ไม่ว่าจะเป็นประตูหรือว่าท่อนไม้ หรือหม้อก็ตาม เพราะการที่บุคคลนั้นจะถวายอาหาร

บทว่า ทฺวินฺนํ ได้แก่ ไม่ยอมรับภิกษาที่คน ๒ คนกำลังบริโภคอยู่ คนหนึ่งลุกขึ้นเสีย

ถามว่า เพราะเหตุไร

แก้ว่า เพราะคิดว่า การกระทำอย่างนี้ย่อมมีอันตรายแก่คำข้าว

หมายความว่า คนที่จะถวายต้องลุกขึ้น ซึ่งการที่เขาต้องลุกขึ้นถวายนั้น ทำให้การบริโภคอาหารของเขาชะงักลง เพราะฉะนั้น อเจลกก็ไม่ยอมรับภิกษาที่คน ๒ คนกำลังบริโภคกันอยู่ เพราะเหตุว่าคนหนึ่งต้องลุกขึ้น

บทว่า ส่วนในคำว่า น คพฺภนิยา มีอธิบายว่า พวกอเจลกไม่ยอมรับภิกษาของหญิงมีครรภ์เป็นต้น ด้วยคิดว่า เด็กที่อยู่ในท้องของหญิงมีครรภ์ย่อมลำบาก

เลยขาดบุญกุศล ผู้หญิงมีครรภ์ก็ไม่สามารถจะถวายอาหาร หรือให้อาหารเป็นทานแก่บุคคลอื่นได้ เพราะพวกอเจลกเข้าใจว่า การที่หญิงมีครรภ์ถวายอาหารจะทำให้เด็กที่อยู่ในท้องของหญิงมีครรภ์ย่อมลำบาก

หรือเมื่อนางให้ดื่มนมอยู่ เด็กทารกย่อมมีอันตรายแห่งน้ำนม หรือหญิงที่คลอเคลียบุรุษอยู่ ย่อมมีอันตรายแห่งความยินดี

บทว่า น สงฺกิตฺตีสุ ได้แก่ ไม่รับภิกษาที่เขานัดแนะกันทำไว้

เล่ากันว่า ในสมัยเกิดทุพภิกขภัย พวกสาวกของอเจลกได้ชักชวนกันให้รวบรวมข้าวสารเป็นต้นจากที่นั้นๆ เพื่อประโยชน์แก่พวกอเจลกทั้งหลาย แล้วจึงหุงต้มภัต อเจลกที่เคร่งครัดที่สุด ไม่ยอมรับภิกษาจากภัตเช่นนั้น

อเจลกนั้นตั้งใจไว้ว่า เราจะไม่รับก้อนข้าวในที่ๆ เขาเลี้ยงสุนัข จึงไม่ถือเอาก้อนข้าวที่เขาไม่ให้สุนัขในที่นั้นๆ

ถามว่า เพราะเหตุไร

แก้ว่า เพราะอเจลกคิดว่า สุนัขตัวนั้นจะมีอันตรายแห่งก้อนข้าว

กลัวว่า จะไปแย่งข้าวสุนัข เพราะว่าเป็นที่ๆ เขาเลี้ยงสุนัข

คำว่า สณฺฑสณฺฑจาริณี ได้แก่ แมลงวันที่เที่ยวบินไปเป็นกลุ่มๆ เพราะว่าถ้าพวกมนุษย์เห็นอเจลกแล้วคิดว่า เราจักถวายภิกษากับอเจลกพวกนี้ จึงเข้าไปสู่ห้องครัว เมื่อพวกมนุษย์กำลังเข้าไปอยู่ แมลงวันหัวเขียวบินขึ้นในที่ทั้งหลาย มีปากหม้อ เป็นต้น เที่ยวไปเป็นกลุ่มๆ อเจลกทั้งหลายจึงไม่รับภิกษาจากหม้อเช่นนั้น

ถามว่า เพราะเหตุไร

แก้ว่า พวกอเจลกคิดว่า อันตรายแห่งการหากินของพวกแมลงวันเหล่านั้นจะเป็นอันตราย เพราะอาศัยเรา

ดูเหมือนใจดีมาก แต่ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่เหี้ยมเกรียม ไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย

บทว่า น ถูโสทกํ ได้แก่ เมรัยที่เขาใช้ข้าวทั้งหมดเป็นเครื่องผสม เพราะว่าการดื่มสุราในข้อนี้มีโทษ แต่ว่าอเจลกนี้เป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งทั้งปวงนั้นว่า เป็นของเมา

บทว่า เอกาคาริโก ได้แก่ ผู้ที่ได้ภิกษาในเรือนหลังเดียว แล้วจึงกลับ

บทว่า เอกาโลปิโก ได้แก่ ผู้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารคำเดียวเท่านั้น แม้ในคำว่า เรือน ๒ หลัง ก็โดยนัยนี้เหมือนกัน

๒ บทว่า เอกิสฺสาปิ ทตฺติยา ได้แก่ ในถาดใบเดียว มีถาดเล็กอยู่ใบหนึ่ง ชื่อว่า ทตฺติ ซึ่งชนทั้งหลายใส่ภิกษาที่เลิศตั้งไว้

บทว่า เอกาหิตํ ได้แก่ อาหารที่เก็บค้างไว้ ๑ วัน

บทว่า อฑฺฒมาสิกํ ได้แก่ อาหารที่เขาเก็บไว้กึ่งเดือน

บทว่า ปริยายภตฺตโภชนํ ได้แก่ การบริโภคภัตที่เขาถวายตามวาระ คือ การบริโภคภัตที่เขานำมาให้ตามวาระแห่งวันอย่างนี้ว่า โดยวาระวันหนึ่ง โดย ๒ วัน โดย ๗ วัน โดย ๑ เดือน

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่รู้ความจริง ก็พยายามแสวงหาหนทางข้อประพฤติปฏิบัติต่างๆ ที่จะขัดเกลากิเลส แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะว่าไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่การรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าจะพากเพียรทำอย่างอื่น โดยที่สติไม่เกิด ย่อมไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เพราะฉะนั้น จะดับกิเลสไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่เกิด

สำหรับการบริสุทธิ์จากกิเลส หรือการที่จะขัดเกลากิเลส ไม่ใช่อาศัยอาการที่ปรากฏภายนอก เพราะว่าบางท่านมักจะตัดสินจากอาการที่ปรากฏภายนอก แต่ปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น ที่จะทำให้ละคลายความไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และสามารถที่จะละคลาย ขัดเกลากิเลส แม้แต่การติดในรสได้

ใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค สูจิมุขีสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกในพระนคร ราชคฤห์แล้ว อาศัยเชิงฝาแห่งหนึ่ง ฉันบิณฑบาตนั้น

เป็นปกติของท่านพระสารีบุตร ท่านบิณฑบาตสาย เพราะว่าท่านดูแลความเรียบร้อยในอาราม และดูแลภิกษุผู้ป่วยไข้ เมื่อเสร็จกิจของท่านแล้ว ท่านจึงไปบิณฑบาต

เปิด  256
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566