แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 531

อธิศีลสิกขาเป็นศีลอย่างละเอียด เพราะว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะละเอียดยิ่งกว่าการที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ท่านที่รักษาศีล ๕ แต่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ท่านวิรัติการฆ่าสัตว์ แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลที่วิรัติการฆ่าสัตว์ในขณะนั้น ก็มีความรู้สึกว่า เป็นตัวตน เป็นตัวท่าน ศีลนั้นก็ไม่ละเอียด ไม่ใช่อธิศีลสิกขา เพราะว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

อธิศีล ระลึกรู้ในสภาพของอกุศลจิตจึงวิรัติ นั่นละเอียดกว่าการที่ไม่รู้ แต่เพราะเป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ จึงวิรัติ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น มรรคมีองค์ ๘ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา คือ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยละเอียดจริงๆ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เกิด เกิดพร้อมกัน และก็มีลักษณะต่างกัน ฉะนั้น ที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะหนึ่งลักษณะใดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละลักษณะ ไม่ใช่รวมๆ กันเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ

และเวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น ก็ต้องดับไป เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ท่านเกิดความตั้งใจอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น สติสามารถจะระลึกรู้ในลักษณะอาการของความตั้งใจว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น และก็ดับไป หมดไป และก็มีสภาพธรรมลักษณะอื่นปรากฏ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นที่ปรากฏ เพื่อที่จะรู้ว่า สภาพธรรมอื่นนั้นไม่ใช่ลักษณะที่ตั้งใจ แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างประเภท ต่างชนิดกัน

นี่คือการอบรมเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งท่านจะต้องเจริญไป อบรมไปเรื่อยๆ และระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น เพื่อละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นตัวตน

ทุกครั้งที่คิด ดูเสมือนเป็นเราจริงๆ ที่กำลังคิด แต่ว่าตามความเป็นจริงไม่มีเรา การคิดนึกเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่ยังรู้สึกว่า เวลาที่คิดเป็นเราจริงๆ ที่คิด เมื่อรู้อย่างนี้ ก็ควรที่จะระลึกบ่อยๆ ในขณะที่คิด รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ตรึกระลึก หรือนึกถึงคำ จึงปรากฏเป็นเรื่องต่างๆ ขึ้น และการคิดก็เปลี่ยนไปทุกๆ ขณะ คิดได้ทีละคำ เป็นเรื่องต่างๆ และความคิดของท่านเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แม้ในขณะนี้

ตามปกติแล้ว จะต้องมีความคิดอยู่เสมอ มีใครหยุดคิดบ้างไหม

ท่านผู้ฟังบอกว่า บางครั้งมี มีแน่ ในขณะที่เห็นไม่ใช่คิด ในขณะที่ได้ยินไม่ใช่คิด แต่เห็นแล้วคิด ได้ยินแล้วคิด ได้กลิ่นแล้วคิด ลิ้มรสแล้วคิด นั่งเฉยๆ ก็คิดใช่ไหม แต่เมื่อสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่คิด ก็ย่อมยึดถือการคิดนั้นว่า เป็นเราคิด จนกว่าจะรู้ว่า การที่จะละ ไม่ยึดถือการคิดนึกว่าเป็นตัวตนได้ ก็ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่คิด รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพรู้คำ รู้เรื่องที่กำลังคิดเท่านั้นเอง เป็นของจริงชนิดหนึ่ง

ลักษณะของสภาพรู้ทางตา คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะของสภาพรู้ทางหู คือ รู้เสียงที่ปรากฏทางหู ลักษณะของสภาพที่คิด คือ รู้เรื่อง เป็นลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดที่ต่างกัน โดยการศึกษาเข้าใจแล้ว แต่จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ตามความเป็นจริงโดยการประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ โดยความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

จากจดหมายฉบับนี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญานั้น เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง แม้ในการรับประทานอาหาร แม้ในยามที่ประสบกับปัญหาชีวิตอย่างหนัก จนกระทั่งจิตเศร้าหมอง แต่สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมาที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

ท่านเจ้าของจดหมายทราบดีว่า เพียงความสงบไม่ทำให้ท่านรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเวลาที่ไม่สงบ ไม่สามารถที่จะรู้ในความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ ถ้าพากเพียรเพียงจะทำให้จิตสงบ ก็ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ขอเล่าถึงท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเล่าว่า ท่านชอบดูโทรทัศน์ แต่ว่าเวลาดูแล้วท่านก็ไม่อยากจะดู เพราะว่าจิตเป็นไปตามเรื่องที่ดู ไม่สงบ เพราะฉะนั้น ท่านคิดว่า ท่านไม่ควรที่จะดูโทรทัศน์เลย แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้จักลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ท่านจะเลือกได้ไหมว่า ปัญญาจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนามประเภทใด รูปประเภทใด

ขณะที่กำลังดูโทรทัศน์ ก็เป็นนามธรรม ก็เป็นรูปธรรม ขณะที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์ ก็เป็นนามธรรม รูปธรรม และการที่จะละกิเลสได้นั้น เพราะปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง อบรมเจริญขึ้น จนกระทั่งเป็นปัญญาที่สามารถจะประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น เลือกได้อย่างไรว่า ปัญญาจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่ดูโทรทัศน์ หรือในขณะที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์

จะเลือกได้อย่างไร ในเมื่อเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมทั้งหมด ถ้าไม่อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กำลังดูโทรทัศน์ เมื่อไรปัญญาจะรู้ทั่วว่า แม้ขณะที่กำลังดูโทรทัศน์ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม เท่านั้น เมื่อปัญญาไม่รู้ หรือรู้ไม่ทั่ว ก็ไม่มีการละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

เพราะฉะนั้น การที่จะให้เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และละคลายได้ จะต้องรู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เวลาที่เกิดปัญหาชีวิต มีอกุศลจิตมากมาย ก็จะไปสงบเสีย ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่สามารถละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้

การที่จะให้เป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้จริงๆ ที่จะเป็นปัญญาที่รู้ทั่วได้ จะต้องไม่เว้น แม้ขณะที่กำลังดูโทรทัศน์ หรือซื้อของ หรือทำอาหาร หรือกำลังเพลิดเพลินทางหนึ่งทางใด หรือกำลังเป็นกุศลอกุศลทางหนึ่งทางใดก็ตาม สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตรงตามความเป็นจริงได้ ไม่ว่าขณะที่กำลังดูโทรทัศน์ หรือว่ากำลังเห็นสิ่งอื่น กำลังอ่านหนังสือ กำลังอยู่ ณ สถานที่หนึ่งสถานที่ใด แม้ในโลกนี้หรือโลกอื่นก็ตาม สภาพรู้ทางตา ธาตุที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังคงเป็นแต่เพียงสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้เลย ไม่ว่าจะเห็นโทรทัศน์ในโลกมนุษย์นี้ หรือว่าจะเห็นรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตาในโลกอื่นก็ตาม ปัญญาสามารถรู้ความเป็นจริงของธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องอบรมเจริญตามปกติตามความเป็นจริง จนกระทั่งเป็นความรู้จริงในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีทางที่จะรู้ทั่ว และเมื่อรู้ไม่ทั่ว ก็ไม่สามารถละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน

ถ. ปฏิบัติมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังอาจารย์ทั้งหลายบรรยายเหมือนแนวนี้ ตามความเข้าใจแต่เดิมของผมนั้น เข้าใจว่า ถ้าหากทำให้จิตเป็นสมาธิ หรือให้จิตละจากกิเลสต่างๆ ได้นั้น ต้องอาศัยการทำจิตให้นิ่ง ไม่ให้มีอะไรมาเป็นเครื่องกวนจิตใจ แต่ปฏิบัติไปแล้ว ไม่ได้ผลอะไรเลย เหตุที่ไม่ได้ผลอะไรเลย เพราะแม้แต่การเจริญกสิณ ในกสิณนั้นก็ไม่มีจิตที่จะสงบอยู่ได้ ก็ยังมีปีติ มีสุข เดี๋ยวก็กลับมาวิตก วิจาร อะไรต่างๆ จะนิ่งอยู่ไม่ได้เลยเป็นอันขาด เมื่อนิ่งอยู่ไม่ได้อย่างนี้แล้ว อะไรจะเป็นเครื่องแสดงว่า จะให้จิตสงบ ละจากตัณหา

พอมาศึกษาทางนี้ ความจริงจิตของคนเราจะสงบนิ่งไม่ได้ เพราะยังมีหู มีตา มีจมูก มีลิ้น มีกายอยู่อย่างนี้ จะสงบไปไม่ได้ เป็นต้นว่า ตาเราเห็นอยู่อย่างนี้ ตาเห็นเกิดรูปอันหนึ่ง ปากผมพูดอยู่เกิดรูปอีกอันหนึ่งขึ้นมา ในจิตนั้นยังมีสุข มีเวทนา มีอะไรอยู่อย่างนี้ตลอดเรื่อยมา เหตุการณ์อะไรต่างๆ ที่แล้วมา ถ้าเราพิจารณาไปแต่ละอย่างๆ ก็เรียกว่าจะหาความสงบอะไรไม่ได้เลย

ปัญหาที่ผมยังเคลือบแคลงสงสัยอยู่ คือ ในเมื่อจิตยังไม่ปกติอย่างนี้ อย่างไหนจึงจะเรียกว่า ทำให้ดับไป อย่างนี้เป็นปัญหาอยู่ เห็นอาจารย์ เห็นโต๊ะ จิตเกิดขึ้นเห็นพระพุทธรูป เห็นเสา ตรงนั้นขาว เกิดนึกชอบขึ้นมาเป็นโลภะ ตรงนั้นเป็นจุดดำ เป็นโมหะขึ้นมาอย่างนี้ จะทำอย่างไรที่จะให้จิตขาดจากอันนี้ไปได้ นี่เป็นปัญหาที่ผมยังข้องใจอยู่

สุ. สภาพธรรมทั้งหลายเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา เป็นทุกข์ เพราะไม่ประจักษ์ตามความเป็นจริงจึงมีความยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด การที่จะละกิเลสได้ต้องเจริญอบรมปัญญาให้รู้แจ้ง ประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญ จนกว่าจะเป็นปัญญาที่คมกล้า

ถ. ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะพิจารณาอย่างไรให้ถึงความแตกย่อย สมมติว่าอาคารนี้เราก็พิจารณาได้ว่า ประกอบด้วยอิฐ หิน ไม้ ทุกอย่างจะมีการเสื่อมสภาพไปทุกวันๆ ไม่คงที่อยู่ได้ แต่จิตใจจะมีวิธีการพิจารณาอย่างไร

สุ. โดยวิธีนี้ไม่สามารถที่จะละกิเลสได้ เพราะว่าเป็นตัวตนที่กำลังคิด กำลังพิจารณา ระหว่างคิด ระหว่างพิจารณา เป็นเราที่กำลังคิดพิจารณาทั้งนั้น ต้องละความยึดถือการคิดนึกอย่างนั้น โดยปัญญารู้ว่า เป็นสภาพนามธรรม เป็นธาตุรู้คำ รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ว่า ไม่ใช่เราที่กำลังคิด ไม่ใช่ว่ามีตัวเรากำลังไปพยายามคิด โดยวิธีนั้นไม่สามารถละกิเลสได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่อบรมรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน โดยเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ ซึ่งใช้คำว่านามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏ ก็มีลักษณะต่างกัน

รูปธรรมที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง รูปธรรมที่ปรากฏทางหู คือ เสียง ก็อีกอย่างหนึ่ง รูปธรรมที่ปรากฏทางจมูก คือ กลิ่น ก็อีกอย่างหนึ่ง รูปธรรมที่ปรากฏทางลิ้น คือ รส ก็อีกอย่างหนึ่ง รูปธรรมที่ปรากฏทางกายก็อีกลักษณะหนึ่ง และนามธรรมที่คิดนึก ก็ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ธาตุรู้เสียง รู้สี รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ

สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ใช่ไปนึกเอาว่า ไม่เที่ยง และก็คิดแยกย่อยเป็นการใหญ่ โดยลักษณะนั้นจะไม่สามารถละกิเลสได้

ถ. อย่างนี้ก็ต้องอาศัยกาลเวลา

สุ. แน่นอนที่สุด

ถ. การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน อาจารย์บรรยายว่า การเจริญวิปัสสนา ที่หนวกหูก็เจริญได้ แต่ถ้าเจริญได้จริง พระพุทธเจ้าท่านคงไม่ออกไปเจริญวิปัสสนานอกพระราชวัง

สุ. ถ้าศึกษาในพระไตรปิฎกโดยละเอียด พระพุทธบิดาเจริญสติปัฏฐานที่ไหน เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาให้ละเอียดก่อนที่จะเชื่ออย่างหนึ่งอย่างใด ขอให้พิจารณาตามความเป็นจริง โดยเฉพาะถ้าฟังเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานและก็เข้าใจเรื่องของสติ จะเห็นว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษ ถ้ายังไม่ทราบ ก็ขอให้ฟังต่อไป พิจารณาตรวจสอบเทียบเคียงกับข้อความในพระไตรปิฎก เพื่อที่จะได้เหตุผลว่า ถ้าท่านสงสัยว่า คนในสมัยนี้จะต้องเจริญวิปัสสนา ณ สถานที่อื่น ซึ่งไม่ใช่ชีวิตปกติประจำวัน ทำไมคนในสมัยโน้นจึงไม่สงสัยอย่างนี้ และคนในสมัยโน้นก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เช่น พระพุทธบิดา เป็นต้น ซึ่งพระองค์ไม่ได้เสด็จออกจากพระราชวังอย่างพระผู้มีพระภาคเลย

ท่านผู้ฟังคงจะพิจารณาเห็นได้ว่า ศีล ๕ นั้น เป็นเรื่องของการละ วิรัติทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา แต่สำหรับอุโบสถศีลมีองค์ ๘ เป็นการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นกว่าศีล ๕ คือ ละคลายการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

สำหรับอุโบสถศีลองค์ที่ ๖ คือ วิกาลโภชนา เวรมณี การวิรัติการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล จุดประสงค์เพื่อที่จะให้ละคลายการติดในรส ซึ่งทุกท่านก็คงจะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ละยาก เมื่อได้ศึกษาเรื่องของอุโบสถศีลองค์นี้แล้ว ก็ควรที่จะพิจารณาการบริโภคของท่านเองว่า การบริโภคของท่านนั้น ยังเป็นผู้ที่ติดในรสมากน้อยเพียงใด

บางท่านติดในรสมากจริงๆ ต้องแสวงหารสที่พอใจ บางท่านก็ยังคงมีการติดในรส แต่ไม่ถึงกับว่าจะไปแสวงหารสที่พอใจ แต่ในขณะที่บริโภคก็ยังมีความพอใจในรสของอาหาร ยังมีการปรุงอาหาร เพื่อจะให้ได้รสที่พอใจต่างๆ และประการสำคัญ คือ ท่านที่พอใจในรสอาหาร หรือท่านที่เป็นผู้ติดในรสอาหารมาก ถึงแม้ว่าอิ่มแล้ว ก็ยังบริโภคต่อไปได้

เปิด  315
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565