แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 534

ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า การที่เราจะพึงทูลถวาย พระโอสถถ่ายที่หยาบแด่พระผู้มีพระภาคนั้น ไม่สมควรเลย ถ้ากระไร เราพึงอบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วทูลถวายพระตถาคต ครั้นแล้วได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง

แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๒ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง

แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายถึง ๓๐ ครั้ง

นี่เป็นวิธีรักษากายของแต่ละบุคคล ซึ่งย่อมต่างกันไป แม้แต่อาการของโรคที่ เกิดกับแต่ละบุคคล ก็ย่อมมีการรักษาที่เหมาะควรแก่อาการของโรคนั้นๆ ของแต่ละบุคคลด้วย โดยเฉพาะสำหรับพระผู้มีพระภาค ท่านชีวกโกมารภัจจ์เห็นว่า ไม่สมควรที่จะทูลถวายพระโอสถถ่ายที่หยาบ เพราะฉะนั้น ท่านจึงอบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยา ต่างๆ

ข้อความต่อไปมีว่า

ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาค เพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป

ขณะเมื่อหมอชีวกโกมารภัจจ์เดินออกไปนอกซุ้มประตูแล้ว ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้ว จักสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของชีวกโกมารภัจจ์ด้วยพระทัยแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

อานนท์ ชีวกโกมารภัจจ์กำลังเดินออกไปนอกซุ้มประตูวิหารนี้ ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้วพระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้ว จักสรง พระกาย ครั้นสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงจัดเตรียมน้ำร้อนไว้

ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว จัดเตรียมน้ำร้อนไว้ถวาย

ต่อมาชีวกโกมารภัจจ์ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วหรือ พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า.

เราถ่ายแล้ว ชีวก

ชีชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ากำลังเดินออกไปนอกซุ้มประตูพระวิหารนี้ ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจักสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงโปรดสรงพระกาย ขอพระสุคตจงโปรดสรงพระกาย

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น ครั้นสรงแล้ว ทรงถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง

ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผัก

ต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ

ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคได้เป็นปกติแล้ว

ท่านผู้ฟังจะเห็นผลของการบริโภคต่างๆ ว่า บางทีการบริโภคอาหารและหมักหมมไว้ ก็เป็นโทษต่อร่างกาย และการที่จะให้หายจริงๆ ก็ต้องแล้วแต่การบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์สมควรแก่การที่จะรักษาโรคนั้นๆ ดังเช่น พระผู้มีพระภาคหลังจากที่หมอชีวกกราบทูลแล้ว ก็ขอให้พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ ซึ่งต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคได้เป็นปกติแล้ว

ข้อความต่อไปมีว่า

กราบทูลขอพร

ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ถือผ้าสิไวยกะคู่นั้นไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ชีวกโกมารภัจจ์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

ข้าพระพุทธเจ้าจะขอประทานพรต่อพระผู้มีพระภาคสักอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

พระตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว ชีวก

ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

จงว่ามาเถิด ชีวก

ท่านชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า

พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคและพระสงฆ์ทรงถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติอยู่ ผ้าสิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้าคู่นี้ พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงส่งมาพระราชทาน เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเสียงเด่นอุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรง พระกรุณาโปรดรับผ้าคู่สิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้า และขอจงทรงพระพุทธานุญาตคหบดีจีวรแก่พระสงฆ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้าคู่สิไวยกะแล้ว ครั้นแล้ว ทรงชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นชีวกโกมารภัจจ์อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป

พระพุทธานุญาตคหบดีจีวร

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคหบดีจีวร รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุล รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร แต่เราสรรเสริญการยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้

ประชาชนในพระนครราชคฤห์ได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย ต่างพากันยินดีร่าเริงว่า บัดนี้แล พวกเราจักถวายทาน จักบำเพ็ญบุญ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย

เพียงวันเดียวเท่านั้น จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นในพระนครราชคฤห์

ประชาชนชาวชนบทได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย ต่างพากันยินดีร่าเริงว่า บัดนี้แล พวกเราจักถวายทาน จักบำเพ็ญบุญ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย

เพียงวันเดียวเท่านั้น จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นแม้ในชนบท

เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ท่านผู้ฟังมีโอกาสได้ถวายจีวรแด่พระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดที่มีจีวรเก่า หรือว่าไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้แล้ว ก็ควรที่จะระลึกถึงผู้ที่ให้โอกาสแก่ท่านที่ได้ถวายคหบดีจีวรแก่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งก็คือ ท่านชีวกโกมารภัจจ์ เพราะเหตุว่าในครั้งโน้น ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะประทานพรให้กับท่านชีวกโกมาภัจจ์ พระภิกษุทั้งหลาย ท่านเป็นผู้ที่มีปกติถือบังสุกุลจีวร

ถ. จิตคืออะไร ที่ว่าจิตมีหน้าที่รู้อารมณ์บ้าง คิดนึกบ้าง แต่คิดนึกเป็นสังขารธรรม เป็นเจตสิกมิใช่หรือ ทำไมจึงกล่าวว่า จิตคิดนึก ทำไมไม่กล่าวว่า เป็นเจตสิก และถ้าจิตทำหน้าที่รับรู้อารมณ์แล้ว จะนึกคิดอย่างไรได้ เพราะว่าจิตเกิดดับ ทีละขณะ จะรับรู้อารมณ์และคิดนึกไปพร้อมกันได้อย่างไร นอกจากว่า ความคิดนึกเป็นเจตสิก จึงจะเกิดพร้อมกับการรับรู้อารมณ์ได้

สุ. จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์แน่นอน และเจตสิกที่เกิดกับจิต ก็เป็นสภาพรู้อารมณ์เช่นเดียวกัน แต่ว่าเจตสิกแต่ละประเภท ก็ทำกิจตามหน้าที่ของตน เช่น เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ และในขณะนั้นต้องรู้อารมณ์ด้วย ถ้าไม่รู้อารมณ์ ก็เป็นสุข เป็นทุกข์ในอารมณ์ที่ปรากฏไม่ได้ พอจะเข้าใจได้ไหม

จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ เจตสิกก็รู้อารมณ์ แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ และเจตสิกแต่ละชนิดก็มีลักษณะและกิจของตนๆ แต่ละประเภท

ที่กล่าวว่า จิตคิดนึก ก็เป็นเพราะเหตุว่า จิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ ทุกครั้งที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และถ้ากล่าวถึงลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทโดยละเอียดจริงๆ ก็จะแยกได้ว่า เจตสิกแต่ละประเภทนั้นทำกิจอย่างไร แต่ต้องเป็นการระลึกรู้ลักษณะของเจตสิกนั้น จึงจะทราบลักษณะและกิจของเจตสิกนั้นอย่างละเอียด

เช่น ท่านผู้ฟังกล่าวว่า วิตกเจตสิกเป็นสภาพคิดนึก ถ้าท่านผู้ฟังจะกล่าวอย่างนี้ เพราะว่าเราชินหูกับคำว่า วิตก วิจาร ซึ่งดูเสมือนเป็นการคิดนึก แต่ลักษณะจริงๆ ของวิตกเจตสิก เป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ที่ปรากฏ เกิดกับจิตทุกดวง เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ ยังไม่ทันคิดเรื่องอะไรเลย แต่ว่าวิตกเจตสิกก็เกิดกับสัมปฏิจฉันนจิตแล้ว เพราะฉะนั้น เป็นสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมซึ่งมีกิจการงานเฉพาะของตนๆ ที่จะวิตกเป็นเรื่องคำ หรือว่าเรื่องราวต่างๆ ก็ได้ แต่ขณะนั้นต้องมีจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะวิตกเจตสิกเพียงเจตสิกเดียว

ถ้าศึกษาโดยละเอียด และเจริญสติเป็นปกติ จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมชัดเจนขึ้น และในขณะที่ตรึก หรือนึกคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใด จะใช้คำว่า วิตกก็ได้ แต่ว่าในขณะนั้น จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ที่คิดนึกนั้นด้วย จิตยังคงเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ที่วิตกตรึกถึงอารมณ์นั้นๆ หรือจรดในอารมณ์นั้นๆ

ขณะที่นึกคิด ถ้าไม่รู้อารมณ์ จะนึกคิดได้อย่างไร คิด คือ กำลังรู้คำแล้ว เวลานี้ลองนึกถึงอะไรสักอย่าง มีคำใช่ไหม จิตกำลังรู้คำนั้น เป็นเรื่องนั้นๆ จะใช้คำว่า จิตเป็นประธาน เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ และในขณะที่คิดจะกล่าวว่า เป็นวิตกเจตสิกก็ได้ แต่จิตก็ยังคงเป็นสภาพรู้คำที่วิตกตรึกถึงนั่นเอง

ทำไมถึงสงสัยอะไรกับคำ ควรจะเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมว่า มีสภาพรู้กับสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ และเจริญสติเพื่อที่จะได้รู้ชัดว่า สภาพรู้ไม่ใช่สภาพที่ไม่รู้ เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะถึงแม้ว่าจะใช้คำสักเท่าไรก็ตาม ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้

ถ. ผมมีความข้องใจในเรื่องของการสมาทานศีล และการอุทิศบุญกุศล คือ ธรรมดาปุถุชนยากแก่การรักษาอุโบสถศีล หรือศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ ผมพยายามรักษา แต่ก็มีหลายครั้ง แม้จะไม่มีเจตนา แต่ก็ได้ทำให้ชีวิตสัตว์เล็กๆ ต้องตกล่วงไป

สุ เป็นของธรรมดาสำหรับทุกท่าน พลั้งพลาดอย่างนี้ก็มีใช่ไหม แม้จะไม่อยากทำลายชีวิตของสัตว์เลย แต่ก็มีการพลั้งเผลอ หรือการพลั้งพลาดที่ทำให้ชีวิตสัตว์เล็กๆ ต้องตกล่วงไป

ถ. เป็นเหตุให้ผมลังเลว่า การอุทิศส่วนกุศลจะได้ผลหรือไม่ แต่ก็พยายามอุทิศไป

สุ. เป็นคนละขณะแล้ว จะอุทิศอย่างไรก็ทำไป ก็เป็นกุศล

ถ. ในเวลาที่ทายกถวายปัจจัยพระภิกษุสงฆ์ กระผมได้รู้ว่า ท่านจะให้ทายกทายิกาตั้งใจสมาทานศีล ๕ เป็นต้นก่อน จึงจะถวายปัจจัยนั้นๆ เพื่อว่าบุญกุศลจะได้ไพบูลย์ และสามารถอุทิศบุญกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้วได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าจะถวายปัจจัยไทยธรรม ก็ไม่ทราบว่า ทายกทายิกาสมาทานศีลเป็นมาด้วยดีหรือไม่อย่างไร

สุ. สมมติว่า ฆ่าสัตว์และก็ถวายทาน ก่อนที่จะถวายทาน ก็รักษาศีลสมาทานศีล ก็คนละขณะแล้ว ส่วนการฆ่าสัตว์ก่อนถวายทานนั้น อุทิศไม่ได้ ในขณะที่ตั้งใจสมาทานก็เป็นกุศล ขณะที่ถวายทานก็เป็นกุศล ก็อุทิศเฉพาะส่วนที่เป็นกุศลนั่นเอง แยกกัน ถ้าแยกกันก็คงไม่เป็นที่สงสัย

ถ. ทำไมจึงมักกล่าวไปด้วยกันว่า เหตุปัจจัย ทำไมไม่กล่าวว่า เหตุ หรือปัจจัย อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ทั้ง ๒ คำนี้มีความแตกต่างกันอย่างใด

สุ. ต่างกันที่ว่า เหตุเป็นปัจจัยประเภทหนึ่ง ปัจจัยเป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิดสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งได้ และเหตุก็เป็นปัจจัยอีกประเภทหนึ่ง แต่ว่าปัจจัยมีหลายอย่าง ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเหตุ หรือว่าเหตุปัจจัย เท่านั้น

ความหมายของศัพท์ ปัจจัย หมายความถึง สภาพธรรมที่ทำให้เกิดสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่า เหตุ หมายความถึง สภาพธรรมที่เป็นตัวเหตุเท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยโดยปัจจัยอื่น แต่เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ

ก็ต้องศึกษาโดยละเอียด เพราะว่า เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวงเท่านั้น ส่วนเจตสิกอื่นเป็นปัจจัย แต่ไม่ใช่โดยเป็นเหตุ

ถ. ผมเพิ่งมาที่นี่วันนี้เป็นวันแรก ผมอยากจะขอถามท่านอาจารย์ว่า สถานที่ที่ท่านอาจารย์กำลังพูดนี้ เรียกว่าอะไร

สุ. ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ

ถ. ผมเห็นพวกที่มาฟังใส่รองเท้าย่ำขึ้นมาบนตำหนักนี้ ผมดูแล้วไม่เป็นการสมควรเลย ในทัศนะของผม ท่านไม่เคารพสถานที่ แม้แต่องค์รูปสมมติพุทธะที่ตั้งตระหง่านอยู่นี่ อาจารย์มีความคิดเห็นเป็นอย่างไร

สุ. แต่ละคนก็มีทัศนะแต่ละอย่าง การแสดงความเคารพ หรือว่าการที่จะประพฤติปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ก็แล้วแต่จิตในขณะนั้น ถ้าใส่รองเท้าแล้วยังคงมีความเคารพอยู่ จะได้หรือไม่ได้ หรือต้องไม่ได้ เพราะว่าความเคารพเป็นเรื่องในใจ จะรู้ถึงจิตของคนอื่นโดยลึกซึ้งได้ไหม เห็นแล้วไม่ไหว้ ความเคารพก็อยู่ในใจ ซึ่งคนอื่นก็ไม่เห็นอีก ทำไมจะต้องกะเกณฑ์ให้ทุกคนแสดงความเคารพ หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่เราคิดว่าควรจะทำ เราอาจจะโน้มเอียงตามการกระทำของคนอื่นว่า การกระทำอย่างอื่นก็เป็นการแสดงความเคารพได้เหมือนกัน ได้ไหม หรือว่าเฉพาะของเราเท่านั้น การแสดงอาการอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเป็นการเคารพ

ถ. สำเนียงบอกภาษา กิริยาบอกตระกูล การกระทำอะไรด้วยกาย วาจา ใจ พร้อมทั้ง ๓ อย่างจึงจะสมบูรณ์ใช่ไหม ในเมื่อกายไม่พร้อมแล้ว ใจใครจะไปรู้ได้ ในเมื่อกายเรายังทำมรรยาทไม่ดี ไม่เคารพสถานที่ จะถูกต้องหรือ

สุ. บางครั้งบางคราว บางคนก็มีความรู้สึกหลายอย่างที่เปลี่ยนๆ ไป วันนี้เคารพมาก ถอดรองเท้า ทุกสิ่งทุกอย่างกราบไหว้สวยงามทีเดียว แต่บางโอกาสก็ ขี้เกียจ เคยมีไหม หรือว่าจะต้องเหมือนกันไปทุกครั้ง

เปิด  233
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566