แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 536

คามิกะ อาจารย์พูดถึงคำว่า ปัจจุบัน ผมอยากจะอธิบายศัพท์ให้ฟัง ในฐานะที่ผมเรียนมาทางศัพท์บาลี

อย่างคำว่า ปัจจุบัน แปลตามศัพท์ แปลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเรียกว่า ปัจจุบัน

เหมือนอีกคำหนึ่ง ทิฏฐธัมมเวทนี พระอริยเจ้าเข้าสมาบัติ สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วออกจากสมาบัติ ไปโปรดใครต่อใคร เมื่อใครทำบุญแก่ท่าน จะได้รับเป็นทิฏฐธัมม

ทิฏฐ แปลว่า เห็น ทิฏฐธัมม หมายถึง สิ่งที่เห็น ถ้าจะแปลให้ตรง อะไรที่เราได้รับทันตาเห็น เรียกว่า ทิฏฐธัมม คือ ได้รับผลทันตาเห็น ไม่ใช่โลกหน้า โลกไหนๆ

อดีต หมายความถึง สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ปัจจุบัน หมายความถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า อนาคต หมายความถึง อะไรที่ยังไม่มาถึง เรียกว่า อนาคต

สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ได้กรุณาให้ความหมายในพยัญชนะของคำว่า ปัจจุบัน

สำหรับเรื่องของการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าทุกท่านจะพิจารณาแต่ละทาง จะเห็นว่ามากเหลือเกิน ทางตา รูปทั้งหลายก็เป็นที่ตั้งของความยินดี ของการยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าของเรา มีความยินดีในรูปร่างกาย ในวัตถุสิ่งของต่างๆ มากมายทีเดียว ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น คือ รสอาหารที่บริโภค กลัวว่าจะรับประทานอาหารไม่อร่อย กลัวไหม หรือว่าไม่อร่อยก็ไม่เป็นไร ตามความเป็นจริง จะรู้แน่นอนเวลาที่กำลังจะรับประทาน

จะรับประทานอะไร ก็ต้องนึกถึงสิ่งที่อร่อยก่อน ในขณะที่ได้อาหารมาอยู่เฉพาะหน้าแล้วก็ตาม ก็ยังต้องชิม ต้องลิ้มดูว่า เป็นรสที่พอใจแล้วหรือยัง ถ้าเป็นรสที่ยังไม่พอใจ ก็มีการปรุง การเติม เพื่อให้ได้รสที่พอใจ

นี่คือการห่วง การกังวล การติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งมีมาก และปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะดับกิเลสได้จริงเป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้น

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้มีความพอใจในการบริโภคอาหาร ก็มีหลายอย่าง เพราะว่าถึงแม้บางครั้งจะเป็นอาหารที่ประณีต มีรสอร่อย แต่ถ้าจิตใจของท่านกำลังเป็นทุกข์เศร้าโศก ก็ไม่สามารถที่จะบริโภคอาหารนั้นได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่างก็มีความวิจิตรที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น

ข้อความใน ขุททกนิกาย จตุกกนิบาตชาดก เกสวชาดก มีว่า

ความคุ้นเคยเป็นรสอันยอดเยี่ยม

นารทอำมาตย์ถามว่า

เป็นอย่างไรหนอ เกสวดาบสผู้ควรบูชาของข้าพเจ้าทั้งหลาย จึงละความเป็นพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นจอมมนุษย์ ซึ่งสามารถให้สำเร็จประสงค์ทุกอย่างทุกประการ แล้วมายินดีอยู่ในอาศรมของกัปปดาบส

เกสวดาบสกล่าวตอบว่า

ดูกร นารทอำมาตย์ หมู่ไม้อันน่ารื่นรมย์ใจมีอยู่ ถ้อยคำของกัปปดาบส เป็นสุภาษิต ไพเราะ น่ารื่นรมย์ใจ ยังอาตมาให้ยินดี

นารทอำมาตย์ถามว่า

พระคุณเจ้าบริโภคข้าวสุกสาลีที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาด ไฉนข้าวฟ่างและลูกเดือยอันหารสมิได้เลย จึงทำให้พระคุณเจ้ายินดีได้เล่า

เกสวดาบสกล่าวตอบว่า

ของบริโภคจะดีหรือไม่ดีก็ตาม จะน้อยหรือมากก็ตาม บุคคลใดคุ้นเคยกันแล้ว จะพึงบริโภค ณ ที่ใด การบริโภค ณ ที่นั้นแหละดี เพราะรสทั้งหลายมีความคุ้นเคยกันเป็นยอดเยี่ยม

จบ เกสวชาดกที่ ๖

เป็นความจริงไหม สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเป็นไปเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ แม้ว่าอาหารจะประณีต แต่ว่าอาจจะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดโสมนัสเวทนาได้ แต่ว่าถึงแม้อาหารจะไม่ประณีต แต่บางวันท่านอาจจะรู้สึกว่า มีรสอร่อยเป็นพิเศษ ถ้าได้บริโภคกับผู้ที่คุ้นเคยสนิทสนมกัน

เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาดูว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ระหว่างการที่จะต้องเลือกไปบริโภคกับผู้ที่ไม่คุ้นเคย กับการบริโภคกับผู้ที่ถูกอัธยาศัยคุ้นเคยกัน แม้ว่าอาหารจะไม่ประณีต ท่านลองพิจารณาดูว่า ท่านจะเลือก หรือว่าจะยินดีพอใจอย่างไหนมากกว่ากัน

นี่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ว่าท่านก็บริโภคมามาก อาหารก็ประณีตมากมาย ถ้าจะนับก็ไม่ถ้วน และที่จะเป็นอาหารที่ประณีตต่อไป ก็คงจะอีกมากมายทีเดียว แต่อาหารเหล่านั้น ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดความยินดีพอใจเพียงชั่วขณะที่กระทบกับลิ้น เวลาที่ผ่านลิ้นไปสู่ลำคอ หรือว่าไปสู่ลำไส้ กระเพาะอาหาร รสทั้งหลายก็ไม่ปรากฏเลย

เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริง ที่ท่านมีความยินดีพอใจติดในรสอาหารอย่างมากนี้ ก็ชั่วขณะสั้นๆ ที่ปรากฏในขณะที่กระทบลิ้นเท่านั้นเองและก็หมดไป ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้นานเลย แต่ก็เป็นที่ตั้งของความติด ความยินดี แต่สำหรับท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญา ท่านย่อมสามารถที่จะเปรียบเทียบได้ว่า รสที่ปรากฏที่ลิ้น ชั่วขณะที่ชิวหาวิญญาณรู้รสนั้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นสิ่งที่ทำให้หมดความกระหาย ความเร่าร้อน ความทุกข์ต่างๆ ซึ่งถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะลิ้มรสที่ประณีตสักเท่าไรก็ไม่พอแก่ความต้องการ ก็ยังคงปรารถนาที่จะลิ้มรสที่ประณีตนั้นต่อไปอีก ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันหมดสิ้น

เพราะฉะนั้น รสที่ประเสริฐสุดที่จะดับความกระหายในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะทั้งปวง ต้องเป็นรสของพระธรรม สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาเข้าใจประพฤติปฏิบัติตามจนสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

ใน ขุททนิกาย เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๑๐ ปริปุณณกเถรคาถา ท่านพระเถระกล่าวว่า

สุภาษิตสรรเสริญรสพระธรรม

สุธาโภชน์มีรสตั้งร้อย ที่เราบริโภคในวันนี้ ก็ไม่เหมือนอมตะที่เราได้บริโภค พระธรรม ที่พระพุทธเจ้าผู้โคดมทรงเห็นซึ่งธรรมหาประมาณมิได้ ทรงแสดงไว้แล้ว

เทียบกันไมได้เลย ระหว่างรสอาหารกับรสพระธรรม โดยเฉพาะรสของอมตธรรม คือ ธรรมที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ว่าผู้ที่เห็นรสพระธรรมว่า เลิศกว่ารสทั้งปวง ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟังธรรม และพิจารณา เข้าใจ ซาบซึ้ง ปฏิบัติตาม และรู้ตามว่า สภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้นๆ

เพราะฉะนั้น การฟังมีประโยชน์มาก ที่จะทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏให้ละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เพื่อการปฏิบัติจะได้ถูกต้องขึ้น รู้ความละเอียดของธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น จนกระทั่งเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

ขอกล่าวถึงการเปรียบเทียบรสของพระธรรม สำหรับผู้ที่ได้ประจักษ์ในคุณค่าของรสพระธรรมแล้ว ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๕ การณปาลีสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมือง เวสาลี สมัยนั้น การณปาลีพราหมณ์ใช้คนให้ทำการงานของเจ้าลิจฉวีอยู่ ได้เห็น ปิงคิยานีพราหมณ์เดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ถามว่า

อ้อ ท่านปิงคิยานีมาจากไหนแต่ยังวัน

ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า

ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระสมณโคดม ฯ

การณปาลีพราหมณ์ถามว่า

ท่านปิงคิยานี ย่อมเข้าใจพระปรีชา (ความฉลาดด้วยปัญญา) ของพระสมณโคดมว่า เห็นจะเป็นบัณฑิตนั้นอย่างไร ฯ

ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า

ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไร จึงจักรู้พระปรีชาของพระสมณโคดม ผู้ใดพึงรู้พระปรีชาของพระสมณโคดม แม้ผู้นั้น พึงเป็นเช่นกับพระสมณโคดมนั้นแน่นอน ฯ

การณปาลีพราหมณ์ถามว่า

ได้ยินว่า ท่านปิงคิยานีสรรเสริญพระสมณโคดมยิ่งนัก ฯ

ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า

ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไร จึงจักสรรเสริญพระสมณโคดม และท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้น อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสรรเสริญแล้วๆ ว่า เป็นผู้ประเสริฐที่สุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

การณปาลีพราหมณ์ถามว่า

ก็ท่านปิงคิยานีเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงเลื่อมใสยิ่งนักในพระสมณโคดมอย่างนี้ ฯ

ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า

ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษผู้อิ่มในรสอันเลิศแล้ว ย่อมไม่ปรารถนารสที่เลวเหล่าอื่น ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นโดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ย่อมไม่ปรารถนาวาทะของสมณะเป็นอันมากเหล่าอื่น โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษผู้ถูกความหิวและความอ่อนเพลียครอบงำ พึงได้รวงผึ้ง เขาพึงลิ้มรสโดยลักษณะใดๆ ก็ย่อมได้รสดีอันไม่เจือ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นโดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ย่อมได้ความดีใจ ย่อมได้ความเลื่อมใสแห่งใจ โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษ พึงได้ไม้จันทน์แห่งจันทน์เหลืองหรือจันทน์แดง พึงสูดกลิ่นจากที่ใดๆ เช่น จากราก จากลำต้น หรือจากยอด ก็ย่อมได้กลิ่นหอมดี กลิ่นแท้ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นโดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ก็ย่อมได้ความปราโมทย์ ย่อมได้โสมนัส โดยลักษณะนั้น ฉันนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก นายแพทย์ผู้ฉลาดพึงบำบัดอาพาธของเขาโดยเร็ว ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นโดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจของเขา ย่อมหมดไป โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น

เปรียบเหมือนสระน้ำมีน้ำใสน่าเพลินใจ น้ำเย็น น้ำขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ บุรุษผู้ร้อนเพราะแดด ถูกแดดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว กระหาย เดินมาถึง เขาลงไปในสระน้ำนั้น อาบ ดื่ม พึงระงับความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวง ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นโดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวงของเขา ก็ย่อมระงับไปโดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น ฯ

เมื่อปิงคิยานีพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว การณปาลีพราหมณ์ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกเข่าข้างขวาลงบนแผ่นดิน ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ เปล่งอุทานสามครั้งว่า

ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วกล่าวต่อไปว่า ท่านปิงคิยานี ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านปิงคิยานี ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านปิงคิยานีประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น

ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดมพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านปิงคิยานีจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

จบ สูตรที่ ๔

ท่านผู้ฟังได้ฟังพระพุทธพจน์อย่างที่ท่านปิงคิยานีพราหมณ์ได้กล่าวแล้ว คือ โดยสุตตะบ้าง โดยเคยยะบ้าง ไวยากรณะบ้าง อัพภูตธรรมบ้าง ซึ่งก็จะขอกล่าวถึงลักษณะของพระพุทธพจน์ ๙ อย่าง ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎก คือ

๑. สุตตะ ได้แก่ ภิกขุวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ซึ่งได้แก่ มหาวรรค จุลวรรค และปริวาระ คือ วินัยภาคผนวก มงคลสูตร รัตนสูตร ใน สุตตนิบาต และคำสอนของพระตถาคตที่ชื่อว่า สูตร แม้อื่น พึงทราบว่า สุตตะ

๒. เคยยะ ได้แก่ สูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะเจาะจง คือ สคาถวรรค ใน สังยุตตนิกาย

๓. ไวยากรณะ ได้แก่ อภิธรรมปิฎก แม้ทั้งจบและพระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธพจน์อื่นที่ไม่ได้สงเคราะห์ด้วยองค์ ๘ เป็นไวยากรณะ

๔. คาถา ได้แก่ ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนที่ไม่มีชื่อว่า สูตร ใน สุตตนิบาต

๕. อุทาน ได้แก่ พระสูตร ๘๒ สูตรที่ประกอบด้วยคาถา สำเร็จด้วยญาณ สหรคตด้วยโสมนัสเวทนา

ใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ได้กล่าวไว้ว่า มีอุทาน ๘๒ สูตร แต่ใน ขุททกนิกาย คัมภีร์อุทานนั้น มีพระสูตร ๘๐ สูตร

๖. อิติวุตตกะ ได้แก่ พระสูตร ๑๑๐ สูตร ที่เป็นไปโดยอาทิว่า วุตตํ เหตํ ภควตา

๗. ชาดก ได้แก่ ชาดก ๕๕๐ มี อปัณณกชาดก เป็นต้น

๘. อัพภูตธรรม ได้แก่ พระสูตรที่ประกอบด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมทั้งหมด ที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อัจฉริยอัพภูตธรรม ๔ ประการย่อมมีในท่านพระอานนท์

๙. เวทัลละ ได้แก่ พระสูตรที่ถูกถาม ได้ญาณและปีติแม้ทั้งหมด มี จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตร เป็นต้น

เป็นพระพุทธพจน์ลักษณะ ๙ อย่าง ที่ปรากฏทั่วไปในพระไตรปิฎก

เปิด  269
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566