แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 545

ข้อความต่อไปมีว่า

เรื่องพระสัมภูตสาณวาสีถาม

ข้อ ๖๔๘

พระเถระทั้งสองสนทนากันมาโดยลำดับค้างอยู่เพียงเท่านี้ ครั้งนั้น ท่านพระสัมภูตสาณวาสีมาถึงโดยลำดับ จึงเข้าไปหาท่านพระสัพพกามี อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้เรียนถามว่า

ท่านเจ้าข้า พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีนี้แสดงวัตถุ ๑๐ ประการในเมืองเวสาลี ว่าดังนี้

คือทั้ง ๑๐ ประการที่ได้กล่าวถึงแล้ว และท่านพระสัมภูตสาณวาสีได้กราบเรียนต่อไปว่า

ท่านเจ้าข้า พระเถระได้ศึกษาพระธรรมและพระวินัยเป็นอันมากในสำนัก พระอุปัชฌายะ คือ ในสำนักของท่านพระอานนท์ เมื่อพระเถระพิจารณาพระธรรมและพระวินัยอยู่ เป็นอย่างไรขอรับ ภิกษุพวกไหนเป็นธรรมวาที คือ พวกปราจีน หรือพวกเมืองปาฐา

พระสัพพกามีย้อนถามว่า

ท่านได้ศึกษาพระธรรมและพระวินัยเป็นอันมากในสำนักอุปัชฌายะ ก็เมื่อท่านพิจารณาพระธรรมและพระวินัยอยู่ เป็นอย่างไรขอรับ ภิกษุพวกไหนเป็นธรรมวาที คือ พวกปราจีน หรือพวกเมืองปาฐา

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิต ท่านจะย้อนถามถึงความรู้ความเข้าใจของผู้ถาม ทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ท่านพระสัพพกามีจึงได้ย้อนถามท่านพระสัมภูตะ

ท่านพระสัมภูตะตอบว่า

ท่านเจ้าข้า เมื่อผมพิจารณาพระธรรมและพระวินัยอยู่ เป็นอย่างนี้ขอรับ ภิกษุพวกปราจีนเป็นอธรรมวาที ภิกษุพวกเมืองปาฐาเป็นธรรมวาที แต่ว่าผมยังทำความเห็นให้แจ่มแจ้งไม่ได้ก่อนว่า แม้ไฉน สงฆ์พึงสมมติผมเข้าในอธิกรณ์นี้

คือ ท่านเป็นผู้ที่ทรงธรรมวินัย และต่างก็รู้ชัดว่า ใครเป็นธรรมวาที ใครเป็นอธรรมวาที แต่แม้กระนั้น การที่จะร่วมกันกระทำสังคายนาวินิจฉัยอธิกรณ์ คือ คดีนี้ ท่านก็ยังจะต้องปรึกษากันว่า จะกระทำอย่างไร

ซึ่งวิธีที่จะชำระอธิกรณ์ คือ พิจารณาคดีนี้ ก็โดยการสมมติให้ภิกษุเป็นพวกภิกษุชาวเมืองปราจีนพวกหนึ่ง และภิกษุชาวเมืองปาฐาพวกหนึ่ง

ข้อความต่อไป

สมมติภิกษุเป็นพวกปราจีนและปาฐา

ข้อ ๖๔๙

ครั้งนั้น สงฆ์ประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น จึงประชุมกัน ก็เมื่อสงฆ์กำลังวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น เสียงอื้อฉาวเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด และไม่เข้าใจข้อความของถ้อยคำที่กล่าวแล้วสักข้อเดียว ท่านพระเรวตะจึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้

ญัตติกรรมวาจา

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราวินิจฉัยอธิกรณ์นี้อยู่ เสียงอื้อฉาวเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด และไม่เข้าใจข้อความของถ้อยคำที่กล่าวแล้วสักข้อเดียว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี

คือ การตั้งกรรมาธิการวินิจฉัย โดยคัดเลือกภิกษุเป็นแต่ละฝ่าย เพื่อที่จะได้วินิจฉัยอธิกรณ์นี้

สงฆ์คัดเลือกภิกษุ ๔ รูปเป็นพวกปราจีน ๔ รูปเป็นพวกเมืองปาฐา คือ ท่านพระสัพพกามี ๑ ท่านพระสาฬหะ ๑ ท่านพระอุชชโสภิตะ ๑ ท่านพระวาสภคามิกะ ๑ เป็นฝ่ายภิกษุพวกปราจีน

ท่านพระเรวตะ ๑ ท่านพระสัมภูตสาณวาสี ๑ ท่านพระยสกากัณฑกบุตร ๑ ท่านพระสุมน ๑ เป็นฝ่ายภิกษุพวกเมืองปาฐา ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

นี่เป็นเรื่องที่ท่านทำสังคายนาในครั้งนั้น ซึ่งเมื่อพระภิกษุทั้งหลายท่านได้กระทำการวินิจฉัยอธิกรณ์ คือ คดีนี้แล้ว ท่านพระเรวตะก็ได้กล่าวว่า

ข้อ ๖๖๒

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุ ๑๐ ประการนี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้ว แม้เพราะเหตุนี้ วัตถุ ๑๐ ประการนี้ จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ฯ

ข้อ ๖๖๓

พระสัพพกามีกล่าวว่า

ท่านทั้งหลาย อธิกรณ์นั่นสงฆ์ชำระแล้ว สงบระงับเรียบร้อยดีแล้ว อนึ่ง ท่านพึงถามวัตถุ ๑๐ ประการนี้กะผม แม้ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นรู้ทั่วกัน

ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะได้ถามวัตถุ ๑๐ ประการนี้กะท่านพระสัพพกามี แม้ในท่ามกลางสงฆ์ ท่านพระสัพพกามี อันท่านพระเรวตะถามแล้วๆ ได้วิสัชนาแล้ว

ก็ในสังคายนาพระวินัยครั้งนี้ มีภิกษุ ๗๐๐ รูป ไม่หย่อน ไม่เกิน เพราะฉะนั้น การสังคายนาพระวินัยครั้งนี้ บัณฑิตจึงเรียกว่า แจง ๗๐๐ ดังนี้แล ฯ

สัตตสติกขันธกะ ที่ ๑๒ จบ

ตอนท้ายไม่ได้กล่าวถึงวิธีการที่ทำชำระอธิกรณ์ เพราะว่าเป็นเรื่องของสงฆ์ คือ เป็นเรื่องสังฆกรรม

จบเรื่องของวิกาลโภชนา เวรมณี ซึ่งเป็นอุโบสถองค์ที่ ๖ และในการสังคายนาครั้งที่ ๒ นี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า มีเรื่องของการบริโภคโภชนะซึ่งเป็นปัญหา

อุโบสถศีลองค์ต่อไป คือ อุโบสถศีลองค์ที่ ๗

นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปน ธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี

เว้นจากการดูสิ่งที่เป็นข้าศึก คือ การฟ้อนรำ ขับร้อง ดีด สี ตี เป่า การประดับด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้

ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สังขิตตสูตร ข้อ ๑๓๑ พระผู้มีพระภาคตรัสถึงการรักษาอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘ และพระองค์ได้ตรัสถึงอุโบสถศีลองค์ที่ ๗ ดังนี้ว่า

พระอรหันต์ทั้งหลายงดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคม ดูการเล่นอันเป็นข้าศึก และการทัดทรง ประดับตบแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัวตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคม ดูการเล่นอันเป็นข้าศึก และงดเว้นการทัดทรง ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่า กระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่า จักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๗ นี้ ฯ

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เน้นถึงการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ด้วยการสะสมอบรมที่จะให้มีปัจจัย ที่จะทำให้ถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แม้ในเรื่องของการรักษาอุโบสถศีล

องค์ที่ ๗ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระอรหันต์ทั้งหลายงดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคม ดูการเล่นอันเป็นข้าศึก และการทัดทรง ประดับตบแต่งด้วยดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัวตลอดชีวิต

บุคคลที่ไม่บรรลุถึงคุณธรรมขั้นพระอรหันต์จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม เว้นจากการฟ้อนรำ สนุกไหมการฟ้อนรำ เป็นที่เพลิดเพลินพอใจไหม ขับร้อง ไพเราะน่าฟัง เป็นที่น่าพอใจไหม ดูการเล่นอันเป็นข้าศึก และการทัดทรง ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ่งไม่ใช่เว้นชั่วครั้งชั่วคราว อัธยาศัยของผู้ที่ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉทนี้ ตลอดชีวิตทีเดียว ไม่มีกิเลสที่จะเกิดขึ้นเป็นไปด้วยความยินดี เพลิดเพลินพอใจในการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคม ดูการเล่นอันเป็นข้าศึก การทัดทรง ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้

ทุกท่านจะต้องรู้จักตัวของท่านเองตามความเป็นจริง เมื่อยังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ยังไม่ใช่พระอรหันต์ และท่านก็มีศรัทธาที่จะสะสมอุปนิสัยให้ถึงการบรรลุคุณธรรมที่จะไม่ดูการเล่นอันเป็นข้าศึก ไม่ว่าหนัง ละคร หรืออะไรก็ตามซึ่งเป็นเครื่องเพลิดเพลิน ต่างๆ มหรสพ การขับร้อง การประโคม การทัดทรง การประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ หรือว่าของหอม หรือว่าเครื่องลูบไล้ตลอดชีวิต ตามอัธยาศัยอุปนิสัยที่แท้จริง

แต่ตามความเป็นจริง ที่จะดับกิเลสได้จริงๆ จะยากสักแค่ไหนที่จะเป็นอย่างนั้นได้จริงๆ ตลอดชีวิต ไม่ใช่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว

อัธยาศัยของท่าน วันนี้อาจจะไม่ดูมหรสพ ไม่ดูหนังดูละคร พรุ่งนี้อดได้ไหม สักเดือน สองเดือน ก็อาจจะอยากดูอีก นี่ก็เป็นเรื่องของอัธยาศัยตามความเป็นจริง ที่จะต้องรู้ว่า กิเลสมีมากน้อยเพียงไร และจะดับหมดสิ้นได้อย่างไร หรือว่าจะสะสม เป็นอุปนิสัยขัดเกลาให้เบาบางทีละเล็กทีละน้อยด้วยการรักษาอุโบสถศีล แม้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง หรือว่าตลอดคืนและวันหนึ่ง นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งแล้วแต่ว่า ท่านจะมีอุปนิสัยสะสมมาอย่างไร

ข้อสำคัญที่สุด ต้องทราบว่า จุดประสงค์ในการที่ท่านเว้นการฟ้อนรำ ขับร้องและการประโคม การดูการเล่นอันเป็นข้าศึก การทัดทรง การประดับตกแต่ด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ก็เพื่อที่จะสะสมให้เป็นอุปนิสัย ให้ถึงการบรรลุคุณธรรมขั้นพระอรหันต์ ไม่ใช่เพียงจะเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน หรือ พระสกทาคามี แต่จะต้องให้ถึงการบรรลุคุณธรรมดับกิเลสหมดสิ้นเป็นพระอรหันต์

อุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘ ที่เพิ่มจากศีล ๕ เป็นการขัดเกลาการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่มีในตัวเองให้ละเอียดยิ่งขึ้น ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ในอุโบสถศีลองค์ที่ ๓ การเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ซึ่งเป็นอุโบสถศีลองค์ที่ ๖ และแม้อุโบสถศีลองค์ที่ ๗ องค์ที่ ๘ ก็เป็นการขัดเกลา การละคลายการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในตัวของท่านเอง ซึ่งไม่ใช่อกุศลกรรม ไม่ใช่ทุจริตกรรม ไม่ใช่การกระทำที่จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แต่เป็นเพราะท่านเห็นโทษของกิเลสที่สะสมมามากที่มีอยู่ในตัวของท่าน ท่านก็ย่อมจะมีปัจจัยที่จะขัดเกลากิเลสเหล่านั้นตามควร

เรื่องของการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในตัวเองนี้มีมากไหม บางทีท่านอาจจะคิดว่า ท่านติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในภายนอก เช่น เวลาไปดูมหรสพต่างๆ ท่านก็คิดว่าท่านติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอก แต่ว่าในตัวของท่านเอง เช่น ในการทัดทรง การประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ต่างๆ นี่เป็นการติดในอะไร ในใคร ในตัวเองหรือเปล่า การประดับ การตกแต่งต่างๆ นี้

เพราะฉะนั้น การติด ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น มีมากเหลือเกิน ถึงจะไม่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอกของบุคคลอื่น แต่ท่านก็ยินดีแล้วในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของท่านเอง เป็นไปได้ไหม ลองคิดดู ในวันหนึ่งๆ ถ้าไม่มี ก็คงไม่ต้องเว้นการประดับด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ต่างๆ หรือว่าการประดับตกแต่งประการอื่นๆ

มโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒ อุโบสถสูตรที่ ๑๐ ได้อธิบายอุโบสถศีลองค์ที่ ๗ มีข้อความว่า

การดูที่ชื่อว่า เป็นข้าศึก คือ เป็นปฏิปักษ์ เพราะไม่อนุโลมต่อศาสนา เพราะเหตุนั้น การดูการฟ้อนรำ เป็นต้น จึงชื่อว่า วิสูกทัสสนะ คือ การดูที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นปัจจัยที่ก่อกิเลส ที่ก่อให้เกิดโลภะโทสะรุนแรงขึ้น

วิสูกะ กับ ปัจจนิกะ หมายถึงข้าศึก

นัจจ คือ การฟ้อน คีตะ คือ การขับ วาทิตะ คือ การประโคม

การฟ้อน การขับ การประโคม ด้วยอำนาจการฟ้อนเอง หรือยังบุคคลอื่นให้ฟ้อน เป็นต้น โดยที่สุดการดูการฟ้อน เป็นต้น ซึ่งเป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งการฟ้อน มีการฟ้อนของนกยูง เป็นต้น อันเป็นข้าศึกต่อพระศาสนา เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนํ

จิตใจเป็นเรื่องละเอียดไหม ไม่มีอะไรจะดู ดูนกยูงฟ้อน ในขณะนั้นจิตใจเป็นอย่างไร เพลิดเพลินสนุกดี เรื่องที่จะดูแล้วดูได้ทุกอย่าง ดูสิ่งที่เป็นข้าศึก เป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา คือ ไม่เกื้อกูลต่อการที่จะละคลายกิเลส เพราะว่าเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดกิเลส โลภะ โทสะ รุนแรงขึ้น

เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะทำให้ท่านทราบว่า ในขณะนั้นท่านเป็นผู้ที่รักษาอุโบสถศีลจริงๆ หรือเปล่า เพราะว่าบางทีท่านปรารถนาที่จะรักษาอุโบสถศีล แต่ไม่ได้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น บางครั้งมีอะไรในสถานที่ใกล้ เช่น มหรสพ บางท่านอดไม่ได้ ไปดูเลย ได้ยินเสียงเพลง ได้ยินเสียงภาพยนตร์ ได้ยินเสียงละคร แม้ว่าท่านใคร่จะเป็นผู้รักษาอุโบสถศีล แต่มีความอยากดู ก็มีการล่วงอุโบสถศีลบ่อยๆ สำหรับผู้ที่ไม่ทราบจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล และไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แม้ไม่ใช่มหรสพ เพียงการดูสิ่งที่เป็นข้าศึก ท่านก็รู้แล้วว่า ขณะนั้นจิตใจของท่านเป็นอย่างไร หรือถ้าอยากจะดูหนัง ดูละคร มหรสพต่างๆ หรือแม้ไม่ใช่มหรสพ ไม่ใช่หนังละคร เพียงการฟ้อนของนกยูง ท่านก็รู้ว่า ขณะนั้นจิตของท่านมีความยินดีพอใจอยู่ในการดูการฟ้อน

สำหรับการเห็นกับการดูนั้น ก็ต่างกัน คือ การเห็นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าผ่านไป และณ สถานที่นั้นมีรูปมาสู่ครองแห่งจักษุ คือ เมื่อเดินไปเห็น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ และก็รู้ตัวว่าอยากจะดู หรือไม่อยากจะดู ถ้าท่านไม่ได้เป็นผู้ที่รักษาอุโบสถศีล เพียงแต่เป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ จะดูก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่รักษาอุโบสถศีลแล้ว หมายความว่า ท่านเป็นผู้ใคร่ต่อการที่จะสะสมอุปนิสัยของการบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ด้วยความเป็นผู้ตรงต่อตัวของท่านในการที่จะขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น ก็จะต้องละเว้นการดูพวกมหรสพ หรือการฟ้อนรำต่างๆ ถ้ากระทำได้ก็ไม่ล่วงอุโบสถศีล แต่ถ้ากระทำไม่ได้ ขณะนั้นท่านก็ล่วงอุโบสถศีล

คำว่า มาลา ในดอกไม้ทั้งหลาย เป็นต้น ได้แก่ ดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ในคำทั้งหลายมีคำว่า มาลา เป็นต้น

คำว่า มาลา ชื่อว่า เป็นดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง

คำว่า คันธ ได้แก่ ของหอมชนิดใดชนิดหนึ่ง

คำว่า วิเลปน ได้แก่ เครื่องประเทืองผิว

บุคคลประดับอยู่ในสิ่งทั้งหลาย มีดอกไม้ เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ทรงไว้อยู่ บุคคลประดับสิ่งที่บกพร่องให้เต็ม ชื่อว่าประดับอยู่ บุคคลยินดีด้วยของหอมและเครื่องประทินผิว ชื่อว่าตบแต่ง

เหตุ ท่านเรียกว่า ฐานะ มหาชนทำการประดับดอกไม้เป็นต้นเหล่านั้น ด้วยเจตนาแห่งความเป็นผู้ทุศีลอันใด พระอรหันต์ทั้งหลายเว้นจากความเป็นผู้ทุศีลอันนั้น

คามิกะ ดอกไม้มีศัพท์ว่า บุบผะ มาลา คือ มาลัย อย่างดอกไม้กรองจนเป็นระเบียบเรียกว่า มาลัย ในศีลข้อ ๗ เรียกว่า มาลา มาลา หมายถึงดอกไม้ที่เรากรองเป็นพวง ส่วนบุปผะ นี่อีกอย่างหนึ่ง

สุ. และ มาลี

คามิกะ มาลี เป็น adjective ของคนผู้มีมาลัย ผู้มีดอกไม้เป็นระเบียบ

สุ. มาลี หมายถึงดอกไม้เหมือนกันใช่ไหม

คามิกะ ดอกไม้ที่เป็นระเบียบ ที่เขาร้อย มิฉะนั้นจะไปตรงกับดอกไม้ที่เป็นบุปผะ มาลา ดอกไม้เหมือนกัน แต่ที่ร้อยเป็นพวง

เปิด  250
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565