แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 547

เรื่องสวดพระธรรมด้วยทำนอง

ข้อ ๒๐

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ เหมือนพวกเราขับ

ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

ไฉนพระฉัพพัคคีย์ จึงได้สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ

แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ... จริงหรือ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

จริง พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ มีโทษ ๕ ประการนี้ คือ

๑. ตนยินดีในเสียงนั้น

๒. คนอื่นก็ยินดีในเสียงนั้น

๓. ชาวบ้านติเตียน

๔. สมาธิของผู้พอใจการทำเสียงย่อมเสียไป

๕. ภิกษุชั้นหลังจะถือเป็นเยี่ยงอย่าง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการนี้แล ของภิกษุผู้สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

ท่านขับร้องไม่ได้ เวลาที่ท่านสวด ถ้าท่านสวดเป็นทำนองเพลงยาวเหมือนเพลงขับ ก็เป็นที่ติเตียน และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงโทษถึง ๕ ประการ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาดูจิตใจของท่าน เวลาที่ท่านขับร้องเป็นอย่างนี้ไหม มีอกุศลจิตเกิดขึ้นบ้างไหม เพราะเหตุว่า ๑. ตนยินดีในเสียงนั้น เวลาที่ใครร้องเพลง ยินดีที่จะร้อง และเวลาที่ร้อง ก็ยินดีในเสียงเพลงที่ร้องนั้นด้วย และถ้าเป็นตัวของท่านเองที่ร้อง ท่านก็ยินดีในเสียงเพลงที่ท่านร้อง จริงไหม

ผู้ที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จะต้องขัดเกลา ละคลายกิเลสดุจสังข์ขัดทุกประการทีเดียว เพราะฉะนั้น จะต้องเว้นแม้เพียงการสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การร้องเพลงก็จริง แต่ถึงกระนั้น ภิกษุสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ ก็มีโทษถึง ๕ ประการ

จะเป็นพระอรหันต์ได้ไหม ถ้ายังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะตามความเป็นจริงที่ได้สะสมมา เพราะว่าบางท่านก็ชอบร้องเพลงเอง แต่ว่าบางท่าน แม้ว่าจะไม่ชอบร้องเพลง แต่ก็ยังชอบฟังเพลง ก็เป็นความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กิเลสมีมากมาย ทับถมหนาแน่น เหนียวแน่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และปัญญาจะน้อยหรือจะมากเมื่อเทียบกับกิเลส ในขณะที่สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องเป็นปัญญาที่คมกล้า ที่ได้สะสมมาจนกระทั่งรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคอยหรือหวังที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยที่ไม่รู้ว่าขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ไม่เที่ยงจริงๆ สภาพรู้ คือ การเห็นในขณะนี้เกิดดับ สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดดับ สภาพได้ยินที่กำลังรู้เสียงเกิดดับ เสียงที่ปรากฏก็เกิดดับ

ถ้ายังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้ ก็ยังละกิเลสไม่ได้ ยังรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ได้ ซึ่งการประจักษ์การเกิดดับทั้งนามธรรมและรูปธรรมได้นั้น ปัญญาต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้ความยินดีในเสียงเพลง ถ้าจะได้ยินเสียงเพลง หรือแม้ว่าท่านจะมีอุปนิสัยสะสมมาที่จะขับร้อง สภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้ามีความยินดี แม้ความยินดีนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายขัดเกลากิเลส จะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ถ้าท่านจะรักษาอุโบสถศีล ท่านเว้นเพื่ออะไร จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลนั้นเพื่ออะไร พร้อมกันนั้นต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย เพื่อที่จะเกื้อกูลให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

. การขับร้องเป็นอาบัติ ในพระไตรปิฎกส่วนมากมีคำว่า สวดพระธรรมโดยทำนองสรภัญญะ ทำนองสรภัญญะต่างกับการขับร้องอย่างไร ทำนองสรภัญญะ ผมไม่เคยได้ยิน เป็นอย่างไร

สุ. คงไม่ทราบชื่อมากกว่า เพราะว่าในปัจจุบันก็ยังสวดกันอยู่ และเวลาที่ใช้คำว่าสวด ท่านไม่ได้พูดธรรมดา เป็นเสียงพิเศษ เป็นการสวด มีท่านผู้ฟังที่สวดสรภัญญะได้ไหม

คามิกะ ผมไม่รับรองว่าจะถูก เพราะพระผู้มีพระภาคท่านตรัสไว้ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว และก็รับทอดต่อๆ กันมา สรภัญญะ แปลว่า สวดด้วยเสียง

ผมจะยกตัวอย่าง ซึ่งต่างกับร้องเพลง มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา... นี่เขาเรียกสวดสรภัญญะ เป็นทำนอง

สุ. การสวดสรภัญญะ ไม่ใช่การขับร้อง ข้อความใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ขุททกวัตถุขันธกะ มีข้อความว่า

เรื่องการสวดสรภัญญะ

ข้อ ๒๑

สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายรังเกียจในการสวดสรภัญญะ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดเป็นทำนองสรภัญญะได้ ฯ

เข้าใจว่าการสวดมีประโยชน์ โดยการที่จะให้พระภิกษุทั้งหลายสวดพระธรรมพร้อมเพรียงกัน ถ้าไม่มีทำนองเสียเลย บางคนสวดเร็ว บางคนสวดช้า ถ้ามีทำนองก็ จะทำให้การสวดของพระภิกษุทั้งหลายเป็นไปโดยการพร้อมเพรียงกัน

มีหลายท่านที่ฟังพระสวด ถึงแม้ว่าจะไม่เข้าใจอรรถ ความหมายที่ท่านสวด แต่ก็ยังเกิดศรัทธา เพราะรู้สึกว่าเสียงที่ได้ฟังนี้เกิดจากกุศลจิต เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังเสียงสวด บางท่านก็รู้สึกเพิ่มศรัทธายิ่งขึ้นมากกว่าเสียงธรรมดา แต่ก็คงจะมีหลายท่านเหมือนกัน พอได้ยินเสียงสวดก็กลัว เพราะโดยมากเป็นเรื่องของงานศพ เสียงนั้นก็อาจจะวังเวง หรือว่าเป็นทำนองพิเศษ

คามิกะ บางทีพระท่านไปแผลง อย่างสวดอภิธรรมสังคหะนี้ เป็นเสียงสูงเสียงต่ำ ซึ่งความจริงไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคคงไม่ทรงต้องการให้เสียงสูงเสียงต่ำอย่างนั้น แต่ฟังแล้วก็เพราะ อย่างเทศน์มหาชาติเป็นบาลี เขาก็แปลเป็นภาษาไทย เป็นทำนอง เป็นกาพย์ โคลง ฉันท์ กัณฑ์นั้นทำนองนั้น เป็นพวกวรรณคดีไปอย่างนั้น ผมคิดว่าคงไม่มีในครั้งพุทธเจ้า ต่อๆ มาก็นอกเรื่อง เขาเลยห้าม

สุ. บางทีสวดนี่ก็ฟังยากใช่ไหม มีสวดหลายแบบอย่างที่ว่านี่แหละ บางทีฟังก็ไม่เข้าใจว่า นี่คำอะไร

. ที่ผมรู้มานี่ สวดสังโยคยาว เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา นี่เขาเรียกว่า สังโยคยาว

พระลังกา ยถา สพฺพี ไม่เหมือนกับเราหรอก สมัยพระผู้มีพระภาค เมื่อนิมนต์ ท่านก็เลือกพระเสียงดีรูปหนึ่ง อนุโมทนาว่า ยถา สพฺพี แต่สมัยนี้พระกี่องค์ๆ ก็ ยถา สพฺพีหมด

พระลังกาเวลาสวดก็ทำนองสรภัญญะ แต่ผิดกับแบบของเรา ไม่ทราบว่าใครเป็นต้นคิด ที่ว่ากันอยู่ทุกวันนี้ ก็จำๆ กันมา ฟังๆ กันมา แต่ทำนองสูงๆ ต่ำๆ ไม่เหมือนกัน

สุ. หมายความว่า การสวดมีหลายทำนอง และก็หลายแบบ นานาชาติด้วย คือ ชาติหนึ่งก็สวดอย่างหนึ่ง อีกชาติก็สวดอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น สวดสรภัญญะเดิมตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ก็ไม่ทราบแน่ว่าสวดอย่างไร

คามิกะ มีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ถ้าร้องเพลงประกอบด้วยธรรมนั้นน่าฟัง แต่ธรรมนำไปร้องเป็นเพลงนั้นไม่ควรฟัง ผมก็ไม่รู้ว่าร้องแบบไหน

สุ. เพราะฉะนั้น การสวดก็หมายความว่า ทรงอนุญาตให้สวดเป็นทำนองเสียงสูงต่ำได้ แต่ไม่ใช่ให้เหมือนทำนองที่เป็นเพลงขับ หรือว่าเพลงที่ร้องกัน และสรภัญญะเดิม ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรินิพพานนั้น จะเหมือนเดี๋ยวนี้ทีเดียว หรือว่าอาจจะเพี้ยนไป หรือว่าเป็นความคล้ายคลึงกับสรภัญญะในครั้งโน้น ก็ไม่มีท่านผู้ใดทราบได้ เพียงแต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ใช้เสียงในการสวด ไม่ใช่ธรรมดา แต่เป็นเสียงที่สวด

. เมื่อพูดถึงการสวด เท่าที่ผมได้ประสบมากับตนเอง ระยะหลังที่ได้ศึกษาพระธรรมมาพอสมควรนั้น รู้สึกว่า เวลาฟังพระสวดศพ ถ้าท่านสวดแบบธรรมดา ผมก็จับใจความได้บ้างเป็นบางคำ หรือบางประโยค เช่น ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา รู้สึกว่าฟังได้ชัดดี ถ้าสวดตามทำนองปกติ แต่ว่าผมเคยไปฟังสวดอยู่หลายครั้ง ฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นเพลงทีเดียว เอ่ เอ เอ๊ เอ อะไรทำนองนั้น มีความรู้สึกว่า ทำให้ศรัทธาน้อย ไม่ค่อยเลื่อมใส ความรู้สึกของผมเป็นอย่างนั้น ไม่ทราบว่าการสวดแบบนี้จะผิดวินัย หรือถูกต้องตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้หรือเปล่า

คามิกะ นี่ก็ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว เจตนาของพระผู้มีพระภาคคงไม่ทรงปรารถนาให้คนไปร้องสนุกๆ อย่างนั้นหรอก คงตั้งใจจะร้องให้คนเกิดศรัทธาปสาทะ อย่างที่คุณว่าเมื่อครู่นี้ คือ กุสลา ธัมมา สวดแบบสังโยค แบบเรียบๆ

สุ. ดิฉันเห็นด้วยกับท่านผู้ฟังที่ว่า ถ้าเป็นทำนองสั้นๆ ง่ายๆ เข้าใจชัด แต่ถ้าเป็นเสียวยาวๆ ก็ไม่รู้เรื่อง เพราะว่าโดยมากท่านผู้ฟังเดี๋ยวนี้ก็มีความสนใจที่จะรู้ภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาธรรมด้วย เมื่อเข้าใจอรรถของสภาพธรรมในภาษาไทยแล้วว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวลาที่ได้ฟังสวดภาษาบาลีง่ายๆ ก็รู้สึกว่าเข้าใจได้ และก็เกิดความซาบซึ้ง แต่ก็แล้วแต่อัธยาศัย เพราะว่าท่านผู้ฟังบางท่านชอบฟังเสียงสวด แต่ก็คงไม่ได้หมายความถึงสวดที่เป็นทำนองยาวคล้ายเพลงขับ ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าใจอะไรเลย

เปิด  265
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565