แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 551

สุ. สำหรับผู้ที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านจะทราบได้จริงๆ ว่า ที่ท่านเคยคิดเคยเข้าใจว่า ท่านไม่มีกิเลสมาก แต่ยิ่งมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ จะยิ่งเห็นความละเอียดขึ้นๆ ว่า กิเลสมากเหลือเกินในการประดับตบแต่ง มีใครบ้างไหมที่ไม่มี

ยากจริงๆ แต่ถ้าจะเพียรเจริญกุศล โดยขาดสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่มีตัวตน ก็ไม่มีหนทางเลย ถึงแม้จะรู้ว่าตัวเองมีกิเลสมาก อย่างผู้ที่พากเพียรดับกิเลสในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็มีผู้ที่เห็นกิเลสมาก ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง และหาทางที่จะขัดเกลาระงับดับกิเลส แต่เมื่อไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่พบหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นก็เจริญศีลบ้าง สมาธิบ้าง จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางที่จะทำให้รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นปัญญาที่คมกล้าขึ้น จนสามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดในความจริงของสภาพธรรมซึ่งไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ไม่เคยประจักษ์มาก่อน

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาให้ถึงขั้นที่สามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้จริงๆ

สำหรับอุโบสถศีลองค์ที่ ๗ ซึ่งบางท่านคงจะรักษาอุโบสถศีลทั้ง ๘ องค์ เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ท่านจะรักษาอุโบสถศีลมีองค์ ๘ ควรจะได้ตระหนักหรือเข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ ว่า เพื่ออบรมการละคลายขัดเกลากิเลสให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง นั่นคือจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล

แต่ถ้าท่านไม่เข้าใจอย่างนี้ ไม่เห็นกิเลส ไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ท่านอาจจะหวังผลหรืออานิสงส์ของการรักษาอุโบสถศีลก็ได้ เพราะอานิสงส์ของศีลนำมาซึ่งโภคสมบัตินานาประการทีเดียว แม้แต่การเกิดในสุคติภูมิ คือ ในสวรรค์ชั้นต่างๆ นั้น ก็เป็นผลของกุศลทั้งสิ้น

เมื่อท่านหวังในผล คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ายินดี ที่น่าพอใจ อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายท่านรักษาอุโบสถศีล โดยที่ไม่ทราบจุดประสงค์ที่แท้จริงว่า การรักษาอุโบสถศีลมีองค์ ๘ นั้น เพื่ออบรมให้เป็นอุปนิสัยอุปการะเกื้อกูลแก่การที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง เพราะฉะนั้น ขออย่าได้ติดในผลหรือในอานิสงส์ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ ในภพภูมิต่างๆ ซึ่งเป็นผลของการรักษาอุโบสถศีล แต่ให้ทราบถึงจุดประสงค์จริงๆ

ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลโดยที่ไม่รู้จุดประสงค์ ท่านทำอะไรบ้าง สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ หรือคิดว่าพรุ่งนี้จะรับประทานอะไรที่อร่อยๆ หรือคิดว่าพรุ่งนี้จะไปดูมหรสพ ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์จริงๆ แม้ในขณะที่รักษาอุโบสถศีล จิตของท่านก็จะเป็นไปในเรื่องของวิรัติหรือรักษาอุโบสถศีลเพื่อที่จะได้รับอานิสงส์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในชาติต่อไป หรือว่าแม้ในวันต่อไป แต่ถ้ารู้จุดประสงค์จริงๆ สติอาจจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นหนทางที่จะทำให้ถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

ขอยกตัวอย่างสาวกของพระผู้มีพระภาค ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อนุรุทธสูตร ข้อ ๑๓๖ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า ท่านพระอนุรุทธะนั้น ไม่ได้ต้องการผลของการเจริญกุศล หรือผลที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตารามใกล้พระนครโกสัมพี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะไปยังวิหารที่พักกลางวัน หลีกเร้นอยู่ ลำดับนั้น มีเทวดาเหล่ามนาปกายิกามากมายพากันเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า

ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นเทวดา ชื่อมนาปกายิกา มีอิสระและอำนาจในฐานะ ๓ ประการ คือ ข้าพเจ้าทั้งหลายหวังวรรณะเช่นใด ก็ได้วรรณะเช่นนั้นโดยพลัน ๑ หวังเสียง (เสียงที่ไพเพราะ) เช่นใด ก็ได้เสียงเช่นนั้นโดยพลัน ๑ หวังความสุขเช่นใด ก็ได้ความสุขเช่นนั้นโดยพลัน ๑ ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นเทวดา ชื่อว่ามนาปกายิกา มีอิสระและอำนาจใน ๓ ประการนี้ ฯ

จะไปสู่ภพไหนก็ตาม ถ้ายังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในความสุข ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า สำหรับเทวดามนาปกายิกานั้น หวังวรรณะเช่นใด ก็ได้วรรณะเช่นนั้นโดยพลัน เรื่องของรูปที่ปรากฏทางตา เป็นเรื่องของสีสันวัณณะต่างๆ ซึ่งความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือแม้แต่รูปซึ่งปรากฏทางตาเพียงรูปเดียว ไม่มีวันจบ ไม่มีวันหมดสิ้น พอใจในสีนี้ สีสันวัณณะอย่างนี้ แต่ว่าไม่ตลอดไป ความพอใจก็เปลี่ยนเป็นความยินดีพอใจในสีสันวัณณะอื่นได้อีกอย่างรวดเร็ว วันหนึ่งๆ มีมากสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น ถ้ายังสะสมอยู่ ถึงแม้ว่าจะเกิดเป็นเทพ ก็ยังคงมีความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา แต่ว่าเนื่องจากผลของกุศล หวังวรรณะเช่นใดก็ได้วรรณะเช่นนั้นโดยพลัน หวังเสียงเช่นใดก็ได้เสียงเช่นนั้นโดยพลัน หวังความสุขเช่นใดก็ได้ความสุขเช่นนั้นโดยพลัน

ข้อความต่อไปมีว่า

ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธะดำริว่า โอหนอ ขอให้เทวดาทั้งปวงนี้ พึงมีร่างเขียว นุ่งผ้าเขียว มีผิวพรรณเขียว มีเครื่องประดับเขียว ฯ

ลำดับนั้น เทวดาเหล่านั้น ทราบความดำริของท่านพระอนุรุทธะแล้ว ล้วนมีร่างเขียว มีผิวพรรณเขียว นุ่งผ้าเขียว มีเครื่องประดับเขียว ฯ

ท่านพระอนุรุทธะจึงดำริต่อไปว่า โอหนอ ขอให้เทวดาทั้งปวงนี้มีร่างเหลือง ฯลฯ มีร่างแดง ฯลฯ มีร่างขาว มีผิวพรรณขาว นุ่งผ้าขาวมีเครื่องประดับขาว ฯ

เทวดาเหล่านั้น ทราบความดำริของท่านพระอนุรุทธะแล้ว สีของร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไปตามความดำริของพระอนุรุทธะ จนถึง ล้วนมีร่างขาว มีผิวพรรณขาว นุ่งผ้าขาว มีเครื่องประดับขาว เทวดาเหล่านั้น ตนหนึ่งขับร้อง ตนหนึ่งฟ้อนรำ ตนหนึ่งปรบมือ เปรียบเหมือนดนตรีมีองค์ ๕ ที่เขาปรับดีแล้ว ตีดังไพเราะ ทั้งบรรเลงโดยนักดนตรีผู้เชี่ยวชาญ มีเสียงไพเราะ เร้าใจ ชวนให้เคลิบเคลิ้ม ดูดดื่ม และน่ารื่นรมย์ ฉันใด เสียงแห่งเครื่องประดับของเทวดาเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีเสียงไพเราะ เร้าใจ ชวนให้เคลิบเคลิ้ม ดูดดื่ม และน่ารื่นรมย์ ฯ

ลองนึกภาพว่า จะสวยงาม ไพเราะ น่าฟังสักเพียงไร เพราะว่าเป็นเสียงเทพที่ขับร้อง และเทพพวกหนึ่งก็ฟ้อนรำ พวกหนึ่งก็ปรบมือ และยังมีเสียงเครื่องประดับของเทวดาเหล่านั้น ซึ่งไพเราะเร้าใจ ชวนให้เคลิบเคลิ้ม ดูดดื่ม น่ารื่นรมย์ หวังที่จะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ถ้ายังไม่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท หรือไม่รู้จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล ก็อาจจะมีหลายท่านที่หวังเพียงผลที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจในสวรรค์ชั้นต่างๆ

มีท่านผู้ใดที่ต้องการเครื่องประดับตกแต่งอย่างพวกเทวดาเหล่ามนาปกายิกาบ้างไหม ไม่ต้องคอยจนถึงชาติต่อไป ในชาตินี้อยากได้อะไรบ้าง ซึ่งเป็นเครื่องประดับตกแต่ง

ข้อความต่อไปมีว่า

ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธะทอดอินทรีย์ลง เทวดาเหล่านั้นทราบว่า พระผู้เป็นเจ้าอนุรุทธะไม่ยินดี จึงอันตรธานไป ณ ที่นั้น ฯ

ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ท่านพระอนุรุทธะออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส วันนี้ข้าพระองค์ไปยังวิหารที่พักกลางวัน หลีกเร้นอยู่ ครั้งนั้นแล เทวดาเหล่ามนาปกายิกามากมายเข้ามาหา ข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ...

ต่อจากนั้นก็ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มาตุคามประกอบด้วยธรรมเท่าไร เมื่อตายไปจึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่ามนาปกายิกา ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อนุรุทธะ มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่ามนาปกายิกา ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกร อนุรุทธะ มาตุคามในโลกนี้ที่มารดาบิดาผู้มุ่งประโยชน์ แสวงหาความเกื้อกูล อนุเคราะห์ เอื้อเอ็นดู ยอมยกให้แก่ชายใดผู้เป็นสามี สำหรับชายนั้น เธอต้องตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังรับใช้ ประพฤติให้ถูกใจ กล่าวถ้อยคำเป็นที่รัก ๑ ชนเหล่าใดเป็นที่เคารพของสามี คือ มารดา บิดา หรือสมณพราหมณ์ เธอสักการะเคารพนับถือบูชาชนเหล่านั้น และต้อนรับท่านเหล่านั้นผู้มาถึงแล้วด้วยอาสนะและน้ำ ๑ การงานใดเป็นงานในบ้านของสามี คือ การทำผ้าขนสัตว์หรือผ้าฝ้าย เธอเป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำ ๑ ชนเหล่าใดเป็นคนภายในบ้านของสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกร ย่อมรู้ว่าการงานที่เขาเหล่านั้นทำแล้วและยังไม่ได้ทำ ๑ ย่อมรู้อาการของคนภายในผู้เป็นไข้ว่าดีขึ้นหรือทรุดลง ๑ ย่อมแบ่งปันของกินของบริโภคให้แก่เขาตามควร ๑ สิ่งใดที่สามีหามาได้จะเป็นทรัพย์ ข้าว เงิน หรือทอง ย่อมรักษาคุ้มครองสิ่งนั้นไว้ และไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ ๑

เป็นอุบาสิกาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ เป็นผู้มีศีล งดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ เป็นผู้มีการบริจาค มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ๑

ดูกร อนุรุทธะ มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่ามนาปกายิกา ฯ

สุภาพสตรีผู้มีปรีชา ย่อมไม่ดูหมิ่นสามีผู้หมั่นเพียร ขวนขวายอยู่เป็นนิตย์ เลี้ยงตนอยู่ทุกเมื่อ ให้ความปรารถนาทั้งปวง ไม่ยังสามีให้ขุ่นเคืองด้วยถ้อยคำ แสดงความหึงหวง และย่อมบูชาผู้ที่เคารพทั้งปวงของสามี เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ นารีใดย่อมประพฤติตามความชอบใจของสามีอย่างนี้ นารีนั้นย่อมเข้าถึงความเป็นเทวดาเหล่ามนาปกายิกา ฯ

จบสูตรที่ ๖

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผลของกุศลเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความสมปรารถนาในสิ่งทั้งปวง แต่ว่าไม่ควรเป็นผู้ที่รักษาศีลเพียงต้องการผลของกุศลที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

อย่างท่านพระอนุรุทธะ ในขณะที่เทวดาเหล่านั้นขับร้อง ฟ้อนรำ ปรบมือ และมีเสียงที่ไพเราะของเครื่องประดับต่างๆ ท่านทอดอินทรีย์ลง ท่านไม่ดู ท่านไม่มอง แต่สำหรับท่านที่รักษาอุโบสถศีล ยังอยากจะดู อยากจะมองสิ่งต่างๆ เหล่านี้บ้างไหม นี่เป็นเครื่องเปรียบเทียบให้เห็นจิตใจของผู้ที่หมดกิเลสกับผู้ที่ยังมีกิเลส

ถึงแม้ว่ายังเป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ถ้ารู้ตามความเป็นจริง เป็นปัญญาที่สามารถจะประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ก็เป็นหนทางที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

เวลาที่ท่านอนุรุทธะทอดอินทรีย์ลง คือ ไม่มอง เทวดาเหล่านั้นก็ทราบว่า พระผู้เป็นเจ้าอนุรุทธะไม่ยินดี จึงอันตรธานไป ณ ที่นั้น เหมือนฝัน เห็นอยู่ แล้วก็หายวับไปกับตา

สภาพธรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะน่ารื่นรมย์ยินดีสักเท่าไรก็ตาม ตามความเป็นจริงก็เกิดขึ้นและดับไปทุกขณะ ไม่มีสักรูปเดียวนามเดียวที่จะตั้งยั่งยืนคงอยู่ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเทพเหล่านั้นจะปรากฏและอันตรธานไป ไม่ปรากฏอีก แต่สภาพธรรมอื่นที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่สติระลึก ก็สามารถที่จะรู้ถึงความแปรปรวน ความมีแล้วไม่มี คือ เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปได้

ปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน อย่าให้ผิดปกติ อย่าตื่นเต้นว่า ขณะนี้สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของลมเย็นๆ หรือว่าธาตุลมที่กำลังกระทบสัมผัส

ในขณะที่มีสภาพเย็นปรากฏที่กายตามปกติ และสติก็ระลึกรู้ในอาการเย็นนั้นที่กำลังกระทบสัมผัส หมดไปอย่างแน่นอนทีเดียว ถ้าอุปมา ก็เหมือนกับหายวับไปกับตา เหมือนกันทุกรูป ทุกนาม ทุกขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญสติจริงๆ ก็จะทำให้รู้ชัดในความไม่เที่ยง และสภาพที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่กว่าปัญญาจะอบรมถึงขั้นที่จะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ก็นาน และต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง คือ ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว แต่จนกว่าปัญญาจะสามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดในความเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริง ในชีวิตธรรมดาๆ นี้

เปิด  229
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566