แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 559

สุ. อุโบสถศีลองค์ต่อไป คือ องค์ที่ ๘ อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี เว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อุโปสถวรรคที่ ๕ สังขิตตสูตร ข้อ ๑๓๑ มีข้อความเรื่องอุโบสถศีลองค์ที่ ๘ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

พระอรหันต์ทั้งหลายละการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ งดเว้นจากการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ สำเร็จการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนต่ำ คือ บนเตียงหรือเครื่องลาดด้วยหญ้า ตลอดชีวิต

ในวันนี้ แม้เราก็ละการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ งดเว้นจากการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ สำเร็จการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนต่ำ คือ บนเตียงหรือเครื่องลาดด้วยหญ้า ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๘ นี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ บุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก ฯ

จบ สูตรที่ ๑

สำหรับมูลเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามใช้ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ จัมมขันธกะ ข้อ ๑๕ มีข้อความว่า

พระพุทธบัญญัติห้ามใช้ที่นั่งและที่นอนสูงใหญ่

ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ใช้ที่นั่งและที่นอนอันสูงใหญ่ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะ มีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง ชาวบ้านเที่ยวชมวิหารไปพบเข้า จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ที่นั่งและที่นอนอันสูงใหญ่ คือ เตียงมีเท้าสูงเกินประมาณ ... เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฎ

ถ้าท่านจะตรวจสอบในพระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม ๕ จะมีข้อความว่า

น ภิกฺขเว อุจฺจาสยนมหาสยนานิ ธาเรตพฺพานิ เสยฺยถีทํ อาสนฺทิ ปลฺลงฺโก โคณโก จิตฺตโก ปฏิกา ปฏลิกา ตูลิกา วิกติกา อุทฺธโลมี เอกฺนตโลมี กฏิสฺสํ โกเสยฺยํ กุตฺตกํ หตฺถตฺถรํ อสฺสตฺถรํ รถตฺถรํ ... เป็นต้นไป

อาสนฺทิ ได้แก่ ตั่งหรือเก้าอี้นอน ปลฺลงฺโก ได้แก่ บัลลังก์ โคณโก ได้แก่ ผ้าขนสัตว์ขนยาว จิตฺตโก ได้แก่ เครื่องลาดที่วิจิตรสวยงาม ปฏิกา ได้แก่ ผืนผ้าผ้าขาวสำหรับลาดที่มีเนื้ออ่อนมาก ปฏลิกา ได้แก่ เครื่องลาดมีรูปดอกไม้ติดกัน ตูลิกา ได้แก่ เครื่องลาดยัดนุ่น วิกติกา ได้แก่ เครื่องลาดขนแกะที่วิจิตรไปด้วยรูปราชสีห์และเสือโคร่ง เป็นต้น อุทฺธโลมี เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกฉบับบาลีก็ตรงกับคำแปลในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ใน พระวินัย มหาวรรค ภาค ๒ จัมมขันธกะ

ถ. อุโบสถศีลข้อที่ ๘ ในพระวินัยปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงห้ามภิกษุที่กระทำเช่นนั้นเหมือนกับชาวบ้าน แต่ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลเช่นนั้นไม่ใช่ภิกษุ เมื่อไม่ใช่ภิกษุ ชาวบ้านก็ไม่รังเกียจ ทำไมจึงต้องห้ามด้วย

สุ. กล่าวถึงมูลเหตุที่ทรงบัญญัติ และฆราวาสผู้ซึ่งใคร่จะปฏิบัติตามเท่าที่สามารถจะกระทำได้ในข้อที่เป็นส่วนของอุโบสถศีลมีองค์ ๘ ไม่ใช่ศีลทั้งหมดของบรรพชิต แต่เฉพาะองค์ ๘ ที่เป็นส่วนของฆราวาส ซึ่งก็ควรที่จะได้ทราบว่า มูลเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแก่ภิกษุสงฆ์นั้นเนื่องจากอะไร เพราะเหตุใด เป็นการขัดเกลาอย่างไร และคฤหัสถ์ที่ใคร่จะขัดเกลากิเลส ก็สามารถที่จะปฏิบัติตามได้

ถ. จุดมุ่งหมาย คือ พยายามทำให้เหมือนบรรพชิต

สุ. เหมือนพระอรหันต์ทีเดียว สะสมอุปนิสัยปัจจัยที่จะให้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง

ข้อความใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๒๑๔ มีว่า

ทรงห้ามนอนบนเตียงสูง

สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์นอนบนเตียงสูง ชาวบ้านเที่ยวชมวิหาร เห็นแล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนอนบนเตียงสูง รูปใดนอน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

อาบัติทุกกฎนี้เป็นอาบัติอย่างเบาที่สุด ซึ่งอุโบสถศีลองค์ที่ ๗ และองค์ที่ ๘ ถ้าภิกษุล่วงละเมิด ก็เป็นอาบัติทุกกฎเท่านั้น

ข้อความต่อไป

พุทธานุญาตเขียงรองเท้าเตียง

ข้อ ๒๑๕

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนอนบนเตียงต่ำถูกงูกัด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเขียงรองเท้าเตียง ฯ

ข้อ ๒๑๖

สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ใช้เขียงรองเท้าเตียงสูง เจาะติดกับเขียงรองเท้าเตียง ชาวบ้านเที่ยวชมวิหาร เห็นแล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้เขียงรองเท้าเตียงสูง รูปใดใช้ ต้องอาบัติ ทุกกฎ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเขียงรองเท้าเตียงสูง ๘ นิ้ว เป็นอย่างยิ่ง ฯ

พุทธานุญาตด้าย

ข้อ ๒๑๗

สมัยนั้น ด้ายบังเกิดแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตด้ายไว้ถักเตียง ตัวเตียงกินด้ายมาก …

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เจาะตัวเตียงแล้วถักเป็นตาหมากรุก

ผ้าสามัญผืนน้อยๆ บังเกิดแล้ว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำเป็นผ้ารองพื้น

นุ่นบังเกิดแล้ว ...

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สางออกทำเป็นหมอน

นุ่นมี ๓ ชนิด คือ นุ่นต้นไม้ ๑ นุ่นเถาวัลย์ ๑ นุ่นหญ้า ๑ ฯ

สำหรับท่านผู้ฟังที่รักษาอุโบสถศีล และใคร่ที่จะได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเตียงลักษณะประเภทใดบ้าง ก็ควรที่จะได้ทราบจาก พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ

พุทธานุญาตหมอน

ข้อ ๒๑๘

สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ใช้หมอนยาวกึ่งกาย ชาวบ้านเที่ยวชมวิหาร พบเห็นแล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หมอนยาวกึ่งกาย รูปใดใช้ ต้องอาบัติ ทุกกฏ เราอนุญาตให้ทำหมอนพอดีกับศีรษะ ฯ

สิ่งใดที่จะเป็นความสะดวกสบายและเหมาะควรแก่เพศสมณะ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่ใคร่จะละกิเลส ก็ศึกษาในเหตุผล และประพฤติปฏิบัติตามได้

พุทธานุญาตฟูก ๕ ชนิด

ข้อ ๒๑๙

สมัยนั้น ในเมืองราชคฤห์มีมหรสพบนยอดเขา ชาวบ้านจัดแจงฟูกสำหรับพวกมหาอำมาตย์ คือ ฟูกขนสัตว์ ฟูกผ้า ฟูกเปลือกไม้ ฟูกหญ้า ฟูกใบไม้ ครั้นมหรสพเลิกแล้ว เขาก็เลิกผ้าหุ้มไป ภิกษุทั้งหลายได้เห็นขนสัตว์บ้าง ท่อนผ้าบ้าง เปลือกไม้บ้าง หญ้าบ้าง ใบไม้บ้างเป็นอันมาก ซึ่งเขาทิ้งไว้ในที่เล่นมหรสพ ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฟูก ๕ ชนิด คือ ฟูกขนสัตว์ ฟูกผ้า ฟูกเปลือกไม้ ฟูกหญ้า ฟูกใบไม้ ฯ

ข้อ ๒๒๐

สมัยนั้น ผ้าอันเป็นบริขารของเสนาสนะบังเกิดแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุ้มฟูก ฯ

ต่อไปก็ทรงอนุญาตเตียงหุ้มฟูก ปูฟูกเตียงลงบนตั่ง ปูฟูกตั่งลงบนเตียง

ข้อความต่อไป

ข้อ ๒๒๒

สมัยนั้น ที่อยู่อาศัยของพวกเดียรถีย์ทาสีขาว พื้นเขาแต่งให้เป็นสีดำ ฝาเขาทำบริกรรมให้เป็นสีเหลือง ชาวบ้านเป็นอันมากพากันไปดูที่อยู่พวกเดียรถีย์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสีขาว สีดำ ทำบริกรรมด้วยสีเหลือง ในวิหาร ฯ

ไม่มาก ไม่น้อย ตามควรแก่การที่จะไม่ให้ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียน

ข้อความต่อไป

ข้อ ๒๒๓

สมัยนั้น ฝาหยาบ สีขาวไม่จับ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ดินปนแกลบ แล้วกวดด้วยเกรียง สีขาวจะได้จับ

สีขาวยังไม่ติด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ดินละเอียด แล้วกวดด้วยเกรียงให้สีขาวจับ

สีขาวก็ยังไม่จับ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ใช้ยางไม้ แป้งเปียก ฯ

ผู้ที่จะขัดเกลากิเลสไม่ใช่ว่าจะทำได้ตามใจชอบ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นและสิ่งใดเหมาะควรแก่เพศบรรพชิต ต้องกราบทูลให้ทรงทราบ และพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่ทรงรู้แจ้งว่า สิ่งใดเหมาะควรแก่เพศบรรพชิตมากน้อยประการใด

พุทธานุญาตดินปนแกลบ

ข้อ ๒๒๔

สมัยนั้น ฝาหยาบ สีเหลืองไม่จับ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ดินปนแกลบ แล้วกวดด้วยเกรียงให้สีเหลืองจับ

สีเหลืองไม่ติด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ดินปนรำ แล้วกวดด้วยเกรียงให้สีเหลืองจับ

สีเหลืองก็ยังไม่ติด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้แป้งเมล็ดพรรณผักกาด ขี้ผึ้งเหลว

ครั้นหนาเกินไป ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เช็ดออกด้วยท่อนผ้า ฯ

ละเอียดหมดทุกประการ สำหรับปฏิปทาความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจะกระทำสิ่งใดได้ก็ต่อเมื่อได้รับพุทธานุญาตจากพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้แจ้งว่า ข้อปฏิบัติข้อใดควรมากน้อยประการใด

ข้อความต่อไปมีว่า

ข้อ ๒๒๕

สมัยนั้น พื้นดินหยาบไป สีดำไม่จับ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ดินปนแกลบ แล้วกวดด้วยเกรียง สีดำจะได้จับ

สีดำก็ยังไม่จับ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ดินขุยไส้เดือน แล้วกวดด้วยเกรียง สีดำจะได้จับ

สีดำก็ยังไม่จับ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ยางไม้ น้ำฝาด ฯ

เรื่องเสนาสนะ ที่อยู่อาศัย จำเป็นมากน้อยประการใด ควรที่จะทำให้เหมาะสม ให้คงทน ให้ดูเรียบร้อยสะอาดงามตา ไม่ให้เป็นที่ติเตียนของพวกคฤหัสถ์ได้

ข้อความต่อไป

พุทธานุญาตภาพดอกไม้เป็นต้น

ข้อ ๒๒๖

สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ให้ช่างเขียนภาพสตรีบุรุษไว้ในวิหาร ชาวบ้านเที่ยวชมวิหารเห็นเข้า จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้เขียนภาพสตรีบุรุษ รูปใดให้เขียน ต้องอาบัติทุกกฎ เราอนุญาตภาพดอกไม้ ภาพเครือเถา ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ ฯ

ยังไม่หมดกิเลส ยังต้องมีการอบรมเจริญปัญญาที่จะให้รู้สภาพธรรมตามที่แต่ละท่านสะสมมา เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริง ชีวิตยังต้องมีอุปกรณ์ในการเป็นอยู่อย่างไรที่เหมาะที่ควร ก็กระทำได้ โดยไม่เป็นที่ติเตียนโพนทะนาของคนอื่น

ถ. ในพระวิหาร พระผู้มีพระภาคอนุญาตเพียง ๓ สี สีดำ สีเหลือง สีขาว เท่านั้น วิหารต่างๆ เวลานี้ กระดานนี่ก็แดง อาบัติหรือเปล่า

สุ. มีรูปอะไรบ้าง เกลี้ยงๆ เกลาๆ หรือว่าเป็นอย่างไร ต้องอ่านต่อไปให้ละเอียด ศึกษาต่อไปให้ละเอียดอีกมากทีเดียว

ถ. รูปก็มีอยู่ ทุกวันนี้ตามกุฏิต่างๆ ปฏิทินต่างๆ ท่านก็นำปฏิทินไปติด ในปฏิทินนั้น ก็มีผู้หญิงผู้ชายทั้งนั้น

สุ. แล้วจะทำอย่างไรดี

ถ. ถามว่าอาบัติหรือไม่

สุ. ศึกษาให้ละเอียด เรื่องของพระวินัยบัญญัติเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งทีเดียว และท่านผู้ฟังจะได้เห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จากในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานจนกระทั่งมาถึงยุคนี้สมัยนี้ และในยุคต่อๆ ไป จะเปลี่ยนแปลงประการใด จะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตรงตามพระวินัยบัญญัติทั้งหมดเหมือนในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือว่ากาลสมัยเปลี่ยนไป ข้อประพฤติปฏิบัติ หรือการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุเปลี่ยนแปลงไปประการใดบ้าง ก็จะรู้ได้จากการศึกษาพระวินัยบัญญัติ และสภาพตามความเป็นจริงที่ปรากฏในยุคปัจจุบัน

ธรรมต้องเป็นธรรม พระวินัยบัญญัติก็เป็นพระวินัยบัญญัติ แต่ว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะต้องศึกษาว่า ใกล้เคียง หรือว่าต่างกับเมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานประการใดบ้าง

สำหรับอุโบสถศีลองค์ที่ ๘ ถึงแม้ว่าจะมีข้อความที่กล่าวถึงเรื่องของที่นั่งรวมอยู่ด้วย แต่จุดประสงค์ของการกล่าวถึงที่นั่งนั้น ก็เพื่อให้เว้นจากการนอน หรือการใช้ที่นั่งเป็นที่นอนนั่นเอง การนอนเป็นชีวิตประจำวันไหม บางท่านอาจจะพิจารณาได้ในชีวิตประจำวันของท่านว่า ที่นอนของท่านเป็นเพียงเฉพาะเพื่อการหลับนอนพักผ่อนร่างกาย หรือว่าเพื่อความสุขสบายในการนอนอย่างมากทีเดียว

บางท่านพอใจในการที่จะได้นอนที่นอนสูงหนา อ่อนนุ่ม นั่นหมายความถึงการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหรือเปล่า ในเมื่อยังเป็นผู้ที่พอใจในรูป ที่นอนก็จะต้องสวยงามประณีต ซึ่งเป็นลักษณะหรือความหมายของคำว่า ที่นอนใหญ่ คือ ที่นอนที่วิจิตร ทำให้มีความเพลิดเพลินยินดีพอใจในเตียงนอนนั้น ในที่นอนนั้น มากกว่าการที่จะรู้ประโยชน์ของที่นอนว่า เพื่อการหลับพักผ่อนร่างกาย แต่เมื่อยังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน เครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งที่นอนด้วย ก็วิจิตรไปตามความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมการขัดเกลากิเลสด้วยการรักษาอุโบสถศีล จึงเข้าใจจุดประสงค์ในการที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้เว้นการนอนบนที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ เพราะว่านอกจากจะเพื่อการหลับนอนพักผ่อนร่างกาย ก็ยังมีความยึดมั่นพอใจติดในที่นอน ในเตียงนอนได้ ซึ่งจะพิสูจน์ได้จากท่านที่ไม่ได้รักษาศีลองค์ที่ ๘ คือ จะเห็นได้ว่า เตียงนอนของท่านก็เป็นที่พอใจ นำความสบายในการนอนมาให้หลายประการ

เปิด  258
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565