แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 561

เรื่องของที่นอน ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร หัตถกสูตร ข้อ ๔๗๔ มีข้อความที่หัตถกราชกุมารได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ข้อความมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนที่ลาดใบไม้ ในสีสปาวัน ข้างทางโค ใกล้เมืองอาฬวี ครั้งนั้นแล หัตถกราชกุมารชาวเมืองอาฬวี เที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ เมื่อกำลังเดินพักผ่อน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่บนที่ลาดใบไม้ ในป่าสีสปาวัน ข้างทางโค ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระองค์ทรงเป็นสุขดีหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร กุมาร ฉันอยู่เป็นสุขดี ก็แหละ ฉันเป็นคนหนึ่งในจำนวนคนที่เป็นสุขในโลก ฯ

หัตถกราชกุมารทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ ราตรีฤดูเหมันต์เยือกเย็น ระหว่าง ๘ วัน เป็นสมัยหิมะตก พื้นดินแข็งแตกระแหง ที่ลาดใบไม้บาง ใบต้นไม้ห่าง ผ้ากาสายะเย็น ทั้งลมเวรัมพวาตอันเยือกเย็นก็กำลังพัด ฯ

ก็แหละลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้ว่า

อย่างนั้นกุมาร ฉันเป็นสุขดี ก็แหละ ฉันเป็นคนหนึ่งในจำนวนคนที่อยู่เป็นสุขในโลก

แล้วตรัสต่อไปว่า

ดูกร กุมาร ถ้าเช่นนั้น ฉันจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านพึงพยากรณ์ปัญหานั้นตามที่ท่านชอบใจ

ดูกร กุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีในโลกนี้ พึงมีเรือนยอดที่เขาฉาบทาทั้งภายในภายนอก ลมพัดเข้าไม่ได้ มีบานประตูมิดชิด มีหน้าต่างปิดสนิท ในเรือนยอดนั้นพึงมีบัลลังก์ ซึ่งลาดด้วยผ้าลาดมีขนยาว ลาดด้วยเครื่องลาดขาว ทอด้วยขนสัตว์ยาว ลาดด้วยเครื่องลาดขาวด้วยดอกไม้ ลาดด้วยเครื่องลาดชั้นสูงคือหนังชะมด ข้างบนมีเพดาน มีหมอนสีแดงวางไว้ทั้งสองข้าง ตามประทีปน้ำมันไว้สว่างไสว ปชาบดี ๔ นางพึงบำรุงบำเรอด้วยวิธีที่น่าชอบอกชอบใจ ดูกร กุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นอยู่เป็นสุขหรือหาไม่ หรือท่านมีความคิดเห็นเป็นไฉนในเรื่องนี้ ฯ

หัตถกราชกุมารกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นพึงอยู่เป็นสุข และเขาเป็นคนหนึ่งในจำนวนคนที่อยู่เป็นสุขในโลก ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี พึงเกิดความเร่าร้อนที่เป็นไปทางกายหรือทางจิต ซึ่งเกิดแต่ราคะอันเป็นเหตุทำให้ผู้ที่ถูกมันเผาอยู่เป็นทุกข์มิใช่หรือ

หัตถกราชกุมารกราบทูลว่า

อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กุมาร คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น ถูกความเร่าร้อนอันเกิดแต่ราคะใดแผดเผาอยู่จึงอยู่เป็นทุกข์ ราคะนั้นตถาคตละได้เด็ดขาดแล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น เราจึงอยู่เป็นสุข

อย่าลืม เป็นธรรมดาด้วย ไม่ใช่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ว่าทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา

ดูกร กุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นพึงเกิดความเร่าร้อนที่เป็นไปทางกายหรือทางจิต ซึ่งเกิดแต่โทสะ ฯลฯ ซึ่งเกิดแต่โมหะ อันเป็นเหตุทำให้ผู้ที่ถูกมันเผาอยู่เป็นทุกข์มิใช่หรือ ฯ

หัตถกราชกุมารกราบทูลว่า

อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กุมาร คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น ถูกความเร่าร้อนอันเกิดแต่โทสะ ฯลฯ เกิดแต่โมหะใดแผดเผาอยู่จึงอยู่เป็นทุกข์ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละได้เด็ดขาดแล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น เราจึงอยู่เป็นสุข ฯ

พราหมณ์ผู้ดับกิเลสได้แล้ว อยู่สบายทุกเมื่อแล ผู้ใดไม่ติดอยู่ในกาม ผู้นั้นเป็นผู้เยือกเย็นหมดอุปธิ ตัดธรรมชาติเครื่องมาข้องเสียทุกอย่าง ปราบปรามความกระวนกระวายในหทัยได้ เข้าไปสงบแล้ว ถึงความสงบใจ อยู่สบาย ฯ

วันนี้ลองพิสูจน์ธรรม ในขณะที่นอน สุขหรือทุกข์ ด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ หรือด้วยโมหะ ด้วยกิเลสประการต่างๆ ถ้ายังมีกิเลสจะลืมเลยว่า ที่นอนนั้นสบายแค่ไหน เพราะว่าความทุกข์ที่เกิดจากกิเลสในขณะนั้นจะทำให้เป็นผู้เร่าร้อน ไม่ใช่เป็นผู้ที่สงบ ไม่ใช่เป็นผู้ที่สบาย

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านจะรู้สึกว่า ในขณะที่ท่านนอนพักผ่อนร่างกายนั้น ถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะไม่เดือดร้อนด้วยประการใดๆ เลย ไม่ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และก็ดับไป

ถ. เรื่องการนอน ผมเคยผ่านมาทั้งที่นอนแข็งและที่นอนนุ่ม ที่นอนแข็งนั้นจะดีตอนตื่น ถ้าผู้ใดนอนที่นอนแข็งๆ พอตื่นลืมตาลุกได้ทันที นี่เป็นความจริง แต่ถ้านอนที่นอนนุ่มๆ ตอนนี้มีเตียงสปริง จะถูกผ้าหรือสปริงห่อไว้ทั้งตัวเลย เวลาตื่นขึ้นมาพลิก ๓ ตลบ ๔ ตลบ ก็ยังลุกขึ้นไม่ไหว เวลาจะลุกมือกดลงไป ร่างกายจะหนัก ลุกขึ้นยากจริงๆ แต่ถ้านอนที่ศาลาวัด ลืมตาเมื่อไร ลุกขึ้นได้เมื่อนั้น นี่เป็นความจริง ที่นอนแข็งๆ ประโยชน์อยู่ตรงนี้ และความสดใสก็ต่างกันอีก นอนที่นอนแข็งๆ ตื่นขึ้นมาไม่ค่อยงัวเงีย แต่ถ้านอนที่นอนนุ่มๆ ตื่นขึ้นมาก็ยังงัวเงีย สะลึมสะลืออีกตั้งนาน

ผมมีปัญหา ที่ในพระวินัยปิฎกกล่าวว่า ที่นอนสูงต้องตัดขาออก จุดมุ่งหมายอยู่ตรงไหน

สุ. เพื่อทำลายการเป็นที่นอนที่ไม่เหมาะไม่ควร ให้เป็นที่นอนที่เหมาะที่ควร ตามที่ได้ทรงบัญญัติไว้

ถ. ตามความคิดเห็นของผม ไม่ได้เกี่ยวกับความสุขความสบายอะไรเลย

สุ. คฤหัสถ์สมัยนี้ใจดี สมัยโน้น พอเห็นก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่าเหมือนชาวบ้านบริโภคกาม สมณะกับคฤหัสถ์มีชีวิตที่ต่างกัน ซึ่งถ้ายังมีความวิจิตรในเรื่องที่นอน ชีวิตของบรรพชิตก็จะไม่ต่างกับคฤหัสถ์ ฉะนั้น ต้องให้เหมาะสมกับ สมณเพศด้วย เป็นผู้ที่ละแล้วจากการครองเรือน จากความยินดีในทรัพย์สมบัติ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่จุดประสงค์จริงๆ นั้น เพื่อให้เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ให้นอนเพลิน จะเป็นที่นอนแข็งหรือที่นอนอ่อนก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่หมกมุ่น ห่วงใย กังวลในการนอน หรือว่าเป็นผู้ที่พอใจที่จะนอนเพลิน ไม่ใช่เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสแล้ว ก็ไม่เป็นประโยชน์

เพราะฉะนั้น จุดประสงค์นอกจากจะให้เหมาะควรแก่เพศสมณะแล้ว ก็ยังเพื่อการขัดเกลากิเลส ไม่ให้เป็นผู้ที่หมกมุ่น หรือว่าเพลิดเพลินในการนอนสบาย

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต กุสลสูตร ข้อ ๒๘๘ มีข้อความเกี่ยวกับเรื่องการนอนว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจาก ที่เร้นในเวลาเย็น เสด็จเข้าไปยังศาลาที่บำรุง ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว แม้ท่านพระสารีบุตรก็ออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปยังศาลาที่บำรุง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะ แม้ท่านพระมหากัสสปะ แม้ท่านพระมหากัจจายนะ แม้ท่านพระมหาโกฏฐิกะ แม้ท่านพระมหาจุนทะ แม้ท่านพระมหากัปปินะ แม้ท่านพระอนุรุทธะ แม้ท่านพระเรวตะ แม้ท่านพระอานนท์ ก็ออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปยังศาลาที่บำรุง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยับยั้งอยู่ด้วยการประทับนั่งสิ้นราตรีเป็นอันมาก แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยังพระวิหาร แม้ท่านเหล่านั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสร็จไปไม่นาน ต่างก็ลุกจากอาสนะ ได้ไปยังวิหารของตนๆ แต่พวกภิกษุใหม่บวชไม่นาน มาสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นาน ต่างก็นอนหลับกัดฟันอยู่ ณ ศาลาที่บำรุงนั้นจน พระอาทิตย์ขึ้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นภิกษุเหล่านั้น ซึ่งต่างก็นอนหลับกัดฟันอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้นด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ แล้วเสด็จเข้าไปยังศาลาที่บำรุง ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูลาดไว้แล้ว ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรไปไหน พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิกะ พระมหาจุนทะ พระมหากัปปินะ พระอนุรุทธะ พระเรวตะ พระอานนท์ พระสาวกชั้นเถระเหล่านั้นไปไหน

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านเหล่านั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปไม่นาน ต่างก็ลุกจากอาสนะ แล้วได้ไปยังวิหารของตนๆ ฯ

นี่คือผู้มีสติไม่หลับ เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่สิ้นราตรีเป็นอันมาก ท่านก็นั่งอย่างนั้น พอพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากศาลาที่บำรุงกลับไปสู่พระวิหาร ไม่นาน ท่านเหล่านั้นก็กลับไปสู่วิหารของท่าน แต่ว่าพระภิกษุใหม่ไม่เป็นอย่างนั้น นอนหลับกัดฟันจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นพระเถระหรือหนอ เธอทั้งหลายเป็นภิกษุใหม่ นอนหลับกัดฟันอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาบ้างไหมว่า พระราชาผู้กษัตริย์ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย บรรทมหลับสบายตามพระประสงค์อยู่ เสวยราชสมบัติอยู่ตลอดพระชนม์ ย่อมเป็นที่รักเป็นที่พอใจของชาวชนบท ฯ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

หามิได้พระเจ้าข้า ฯ

ใครก็ตามซึ่งเป็นคนที่หมกมุ่นในการนอนสบาย นอนเพลิน ไม่กระทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามควรที่จะกระทำอย่างนั้น ก็ย่อมจะไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของใคร แม้จะเป็นพระราชาผู้กษัตริย์ ได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ตาม

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ข้อนั้นแม้เราก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาแล้วว่า พระราชาผู้กษัตริย์ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย บรรทมหลับสบายตามพระประสงค์อยู่ เสวยราชสมบัติอยู่ตลอดพระชนม์ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของชาวชนบท

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาบ้างไหมว่า ท่านผู้ครองรัฐ ท่านผู้เป็นทายาทแห่งตระกูล ท่านผู้เป็นเสนาบดี ท่านผู้ปกครองบ้าน ท่านผู้ปกครองหมู่คณะ ประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบายตามประสงค์ ปกครองหมู่คณะอยู่ตลอดชีวิต ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ ฯ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ข้อนั้นแม้เราก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาแล้วว่า ท่านผู้ปกครองหมู่คณะ ประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบายตามประสงค์ ปกครองหมู่คณะอยู่ตลอดชีวิต ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาบ้างไหมว่า สมณะหรือพราหมณ์ประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบายตามประสงค์ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งวันคืน แล้วกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ฯ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ข้อนั้นแม้เราก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาแล้วว่า สมณะหรือพราหมณ์ประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบายตามประสงค์ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งวันคืน แล้วกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ จักเป็นผู้ประกอบความเพียร จักเป็นผู้เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย จักประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งวันคืนอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

จบ สูตรที่ ๗

จริงไหม ถ้าเห็นภิกษุที่ท่านเอาแต่นอน จะรู้สึกอย่างไร มีศรัทธาเลื่อมใส อนุโมทนาหรือไม่ ตามความเป็นจริง ชาวบ้านจะเพ่งโทษติเตียนไหม และถึงแม้ฆราวาสเอง ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะไม่ห่วงการนอนเหมือนอย่างเคย บางท่านอาจเคยเป็นห่วงเรื่องการนอน คิดว่าท่านนอนน้อยไป หรือว่านอนไม่หลับ แต่ถ้าสติเกิดในเวลานั้นที่ไม่หลับ จะเห็นคุณค่าว่า การตื่นมีประโยชน์จริงๆ

ท่านจะนอนไม่หลับด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ควรจะกังวลเลย ถ้าสติเกิดจะเห็นค่าของการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง เพราะว่านามธรรมและรูปธรรมแต่ละขณะย่อมเกิดขึ้นตามความวิจิตรของการสะสมของจิตของแต่ละท่าน

ทุกคนนอนอยู่ในเวลานอน แต่ว่าความวิจิตรของจิตทำให้สภาพนามธรรมทั้งหลายที่เกิดปรากฏในขณะนั้นต่างๆ กันไปตามการสะสม ซึ่งในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ จะไม่เห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติตามความเป็นจริงเลย ซึ่งความวิจิตรของสภาพธรรมเป็นสิ่งที่ปัญญาควรจะรู้ชัด จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมที่เกิดวิจิตรต่างๆ นั้น และรู้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ จะทำให้ท่านไม่กังวล แม้ว่าจะนอนไม่หลับ หรือว่าเป็นผู้ที่นอนน้อย แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน อาจจะมีความปรารถนาในการนอนเพลิน หมกมุ่นในการนอน หรือว่าเป็นผู้ที่ใคร่ต่อการนอนโดยที่ไม่เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะไม่หลับด้วยประการใดๆ ก็ตาม ถ้าสติเกิด สามารถที่จะสังเกต สำเหนียก ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น จะเป็นประโยชน์กว่าการหลับ

เปิด  255
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566