แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 565

ถ้าท่านศึกษาพระวินัยบัญญัติ จะเห็นได้ว่า ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเป็นมูลเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทหลายข้อ และที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายให้เห็นโทษของการกระทำของท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำในการที่รับรูปิยะ ซึ่งการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำอย่างนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

ลองพิจารณาดูว่า จริงหรือไม่จริง แม้ในสมัยปัจจุบันนี้ จะเลื่อมใสไหมในภิกษุที่รับรูปิยะ หรือว่ารับทองและเงิน ท่านผู้ฟังเองก็กล่าวตำหนิเพ่งโทษอยู่เสมอ จริงหรือไม่จริง เวลาที่ได้ยินได้ฟัง ได้ข่าวว่า ภิกษุรูปใดเป็นผู้ที่ยินดีในทองและเงิน ไม่มีใครสรรเสริญ แต่จะสรรเสริญภิกษุผู้ไม่ยินดีในทองและเงิน

ในระหว่างพระภิกษุทั้งหลาย ท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า ภิกษุรูปใดมีข้อปฏิบัติที่ชุมชนเลื่อมใส และข้อปฏิบัติอย่างใดไม่เป็นที่เลื่อมใส เคยได้ฟังคฤหัสถ์สรรเสริญพระภิกษุที่ท่านไม่ยินดีในทองและเงินไหม แต่เคยได้ฟังคฤหัสถ์ที่ติเตียน เพ่งโทษพระภิกษุที่ยินดีในทองและเงินใช่ไหม ก็เป็นปกติตามความเป็นจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยอเนกปริยาย

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดยินดีรับทองและเงิน ก็ควรที่จะได้ระลึกถึงเมื่อครั้งที่ พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยอเนกปริยาย ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ซึ่งถ้าปกติเป็นผู้ที่ไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็จะทำให้เป็นบุคคลที่เลี้ยงง่ายกว่าบุคคลที่ติดอย่างมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ผู้ที่ติดอย่างมาก คือ คฤหัสถ์ ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จึงเลี้ยงยาก ตั้งแต่เรื่องรูปที่ปรากฏทางตา คฤหัสถ์ก็มีความยินดีมาก ปรารถนามาก ต้องการมาก แสวงหามาก ซื้อหาอยู่เป็นอันมากทีเดียวในสิ่งที่ปรากฏทางตา ในเครื่องใช้ ในเรื่องที่อยู่อาศัย ในเรื่องเสื้อผ้า ในการประดับตกแต่งต่างๆ ซึ่งจะต้องใช้เงินทองเป็นอันมากสำหรับชีวิตของคฤหัสถ์ นี่เป็นผู้ที่เลี้ยงยาก

แต่ว่าผู้ที่ไม่ยินดี หรือว่ามีความยินดีน้อย มีการมุ่งที่จะละคลายการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ย่อมจะเลี้ยงง่ายกว่ามาก และไม่มีเหตุที่จะต้องไปแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เกินจำเป็น เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นในการรับเงินทองหรือรูปิยะเลย

ผู้ที่ยังแสวงหาเงินทองอยู่ ให้ทราบว่า ท่านเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งเลี้ยงยาก และเป็นผู้ที่มีความพอใจต่างๆ นานาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นคนเลี้ยงยาก ก็เป็นคนที่บำรุงยาก มีเรื่องที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงบำรุงชีวิตให้สะดวกสบายมากขึ้น เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ เป็นคนมักมาก เป็นคนไม่สันโดษ

พระผู้มีพระภาคตรัสโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ เมื่อยังมีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้เป็นบรรพชิตก็ย่อมเป็นผู้ที่เลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ก็จะต้องคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ซึ่งจะเป็นผู้ที่อุปถัมภ์บำรุง อุปัฏฐาก อุปการะต่างๆ

พระผู้มีพระภาคตรัสโทษแห่งความเป็นคนเกียจคร้าน ในการที่จะไม่แสวงหาด้วยสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นกิจของสมณะหรือบรรพชิตด้วยความอุตสาหะวิริยะ สำหรับสัมมาอาชีวะของบรรพชิต ทางที่จะได้มาซึ่งอาหารของบรรพชิต คือ บิณฑบาต เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นผู้เกียจคร้านในการที่จะแสวงหาอาหารด้วยสัมมาอาชีวะ คือ บิณฑบาต แต่ถ้าเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ก็อาจจะได้รับการอุปถัมภ์บำรุงอุปัฏฐากต่างๆ จากคฤหัสถ์ ซึ่งก็จะทำให้เป็นผู้ที่พอใจในความสบาย และเกียจคร้านในการแสวงหาด้วยสัมมาอาชีวะของบรรพชิต คือ บิณฑบาต

นอกจากนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย และจึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทด้วยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ

สำหรับพระบัญญัติข้อนี้ คือ

อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์

ซึ่งถ้าท่านพระอุปนันทศากยบุตรเป็นผู้เลี้ยงง่าย ท่านก็จะไม่ยินดีในรูปิยะที่อุบาสกท่านนั้นบริจาคทรัพย์เพื่อท่าน ๑ กหาปณะ

เมื่อท่านมีส่วนของเนื้อ แต่ว่าอุบาสกท่านก็ได้ให้ส่วนของท่านนั้นแก่บุตรของตนแล้ว ก็ควรจะจบเรื่อง ไม่ต้องห่วงใยอาลัยในเรื่องการต้องการเนื้อ หรือว่ากหาปณะที่จะเก็บไว้สำหรับบริโภคใช้สอย แต่เพราะว่าท่านยังมีความยินดีอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงขอรับทรัพย์กหาปณะหนึ่งจากอุบาสกนั้น ซึ่งเป็นการไม่ควรอย่างยิ่งสำหรับเพศสมณะ

สำหรับเรื่องการรับเงินทองของพระภิกษุ ก็เป็นปัญหาอยู่เสมอ ตั้งแต่ครั้งที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ว่าเป็นการกระทำที่ควรหรือไม่ควร

ข้อความใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มณิจูฬกสูตร มีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล เมื่อราชบริษัทนั่งประชุมกันในพระราชวังสังสนทนากันว่า ทองและเงินย่อมควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมยินดีทองและเงิน ย่อมรับทองและเงิน ฯ

เหมือนพุทธบริษัทในสมัยนี้ไหม ยังคงเป็นปัญหาซึ่งมักจะสนทนากันอยู่เสมอว่า ควรหรือไม่ควร

ข้อความต่อไปมีว่า

ก็สมัยนั้นแล นายบ้านนามว่ามณิจูฬกะ นั่งอยู่ในบริษัทนั้น ครั้งนั้น นายบ้านนามว่ามณิจูฬกะได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า

ท่านผู้เจริญ อย่าได้กล่าวอย่างนี้ ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน ย่อมไม่รับทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน นายบ้านมณิจูฬกะไม่อาจให้บริษัทนั้นยินยอมได้ ฯ

ครั้งนั้น นายบ้านมณิจูฬกะจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อราชบริษัทนั่งประชุมกันในพระราชวังสังสนทนากันว่า ทองและเงินย่อมควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมยินดีทองและเงิน เมื่อราชบริษัทกล่าวอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า ท่านผู้เจริญอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ทองและเงินย่อมไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน ย่อมไม่รับทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่อาจให้บริษัทนั้นยินยอมได้ เมื่อข้าพระองค์พยากรณ์อย่างนี้ ก็เป็นอันกล่าวตามคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนพึงติเตียนได้แลหรือ พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดีละ นายคามณี เมื่อท่านพยากรณ์อย่างนี้ เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนพึงติเตียนได้ เพราะว่าทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน ย่อมไม่รับทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน

ดูกร นายคามณี ทองและเงินควรแก่ผู้ใด เบญจกามคุณก็ควรแก่ผู้นั้น เบญจกามคุณควรแก่ผู้ใด ทองและเงินก็ควรแก่ผู้นั้น

ดูกร นายคามณี ท่านพึงทรงความที่ควรแก่เบญจกามคุณนั้นโดยส่วนเดียวว่า ไม่ใช่ธรรมของสมณะ ไม่ใช่ธรรมของศากยบุตร อนึ่งเล่า เรากล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย ฯ

จบ สูตรที่ ๑๐

ได้ทราบจากพระภิกษุบางรูปซึ่งท่านได้ศึกษาพระวินัยว่า ท่านใคร่ที่จะประพฤติปฏิบัติให้ตรงตามพระวินัยเท่าที่ท่านสามารถจะกระทำได้ และท่านก็ได้เห็นเหตุผล จริงๆ ว่า ด้วยเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทไม่ให้ภิกษุยินดีหรือรับเงินและทอง เพราะถึงแม้ว่าจะมีกิจหลายประการที่ชีวิตจะดำรงอยู่ได้โดยอาศัยปัจจัยคือ เงินทอง แต่สำหรับเพศสมณะ ถ้ามีความตั้งใจมั่นจริงๆ ที่จะขัดเกลากิเลสและพิจารณาพระวินัยบัญญัติทั้งหมดว่า ประโยชน์ของพระวินัยบัญญัตินั้นมีมากในการที่จะให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามได้ขัดเกลา ละคลาย บรรเทากิเลส ถ้ามีความตั้งใจมั่นที่จะประพฤติปฏิบัติตามแล้ว ก็สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่รับทองและเงิน โดยไม่ยินดีทองและเงิน ในเรื่องของอาหารก็อยู่ได้ ในเรื่องของใช้ก็พอที่จะเป็นไปได้ เป็นสิ่งซึ่งพระภิกษุในครั้งโน้นท่านได้ประพฤติปฏิบัติเป็นปกติ และท่านก็ดำรงชีวิตอยู่ได้

ด้วยเหตุว่า ความต้องการไม่ได้จำกัดเพียงแค่สิ่งที่จำเป็น เมื่อมีการรับเงินทองและเข้าใจว่าจะใช้สำหรับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น แต่ในการใช้จริงๆ สิ่งที่คิดว่าจำเป็นก็จะก้าวต่อไปถึงสิ่งที่แม้ไม่จำเป็น ก็เข้าใจว่าเป็นส่วนที่จำเป็นส่วนหนึ่ง ถ้าคิดว่าสิ่งนั้นก็จำเป็น สิ่งนี้ก็จำเป็นในการที่จะรับเงินทอง การรับเงินทองจะไม่หยุดอยู่เพียงในสิ่งที่คิดว่าจำเป็น แต่จะก้าวต่อไปถึงสิ่งอื่น เรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่ความจำเป็นด้วย

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ยากสำหรับยุคสมัยต่างๆ แต่ว่าพระธรรมก็คือ พระธรรม พระวินัยก็คือพระวินัย สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ในการขัดเกลาและมีความตั้งใจมั่นคงจริงๆ ก็ย่อมจะประพฤติปฏิบัติตามได้โดยที่ไม่ยากเกินไป

ถ. ผมไม่เข้าใจอยู่คำหนึ่ง ผมได้ฟังพระท่านเทศน์บ่อยๆ คำว่า รูปนามดับ มีความหมายเป็นอย่างไร ตามความเข้าใจเดิมของผม คือ รูปหรือนามที่เกิดขึ้นจะดับ ต้องไปพยายามไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้ยิน เป็นต้นว่า ขึ้นไปอยู่ตามถ้ำ ตามภูเขา และหลับตาไม่ให้เห็น ทีนี้หลับตาไม่ให้เห็น ไม่เห็นจริง แต่หูได้ยิน เป็นต้นว่า ได้ยินเสียงยุง ได้ยินเสียงนก เสียงจิ้งหรีด อะไรๆ ก็เกิดขึ้นอีก แม้ไม่มี ๒ อย่างนี้แล้ว ก็ยังมีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็พยายามทำอีก ไม่ให้ได้ยิน ใจก็มีอีก ใจก็ยังคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ อย่างที่ผมเคยอยู่ถ้ำมา หูไม่ได้ยิน ตาไม่เห็น แต่ใจก็ยังนึกถึงทางบ้าน นึกถึงคนทางบ้าน นึกถึงแฟน นึกถึงอะไรพวกนี้ เมื่อมาได้รับคำอธิบายจากอาจารย์ ผมก็ปฏิบัติได้ พอจะเข้าใจบ้าง ละได้หลายอย่าง เป็นต้นว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผมนั่งทานกาแฟอยู่ ด้วยสาเหตุอันใดไม่ทราบ มีคนมาด่าผมและจะทำร้ายร่างกาย เรารู้รูปนามเกิดขึ้น แล้วมารู้ถึงเวทนาว่า เราโกรธหรือเปล่า หรือไม่โกรธ จะเป็นการที่เรียกว่า ดับหรือเปล่า ผมไม่ค่อยเข้าใจ เดี๋ยวนี้ตามปกติ ผมปฏิบัติตามแนวอาจารย์ รู้สึกว่าสติจะเริ่มมีมากขึ้น เป็นต้นว่า แม้เวลาทำงาน ก็มีรูป มีเวทนา เวลาทำงานประณีต เวทนาก็เกิดขึ้น ดีใจ บางทีไม่ดี ไม่ถูกตามที่เราต้องการ ก็เกิดโมโหขึ้นมา เกิดสับสนอยู่อย่างนี้ ทีนี้คำว่า ดับๆ ผมยังไม่เข้าใจ ไม่ใช่สงสัย แต่ไม่เข้าใจความหมาย

สุ. สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องดับไป นี่แน่นอนที่สุด ท่านผู้ฟังจะสังเกตเห็นสภาพธรรมลักษณะต่างๆ กันปรากฏ และก็หมดไปเรื่อยๆ แต่การที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะว่าไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่มีความสามารถประจักษ์ลักษณะเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ตามความต้องการ หรือตามความคิดความคาดคะเน แต่สภาพธรรมที่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้น คือ ปัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง

เวลาที่พูดถึงสภาพธรรมที่เป็นปัญญา เรามักจะพูดถึงลักษณะหรือเรื่องของปัญญา แต่ถ้าปัญญาไม่ได้เกิดกับท่านผู้ใด เพราะเหตุว่าไม่มีการอบรมให้เกิดปัญญาขึ้น บุคคลนั้นก็เพียงแต่คิดเรื่องปัญญา หรือว่าพูดเรื่องปัญญา หรือว่าพูดถึงลักษณะของปัญญา โดยที่ไม่ประจักษ์ว่า สภาพของปัญญาที่แท้จริงนั้นคืออย่างไร อย่างการประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีบุคคลตัวตนไปประจักษ์ตามต้องการว่า อยากจะรู้เสียจริงเชียวว่า การดับนี้เป็นอย่างไร อย่างนี้ไม่มีทางจะประจักษ์ได้เลย แต่จะต้องรู้ว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่จะประจักษ์การเกิดดับได้นั้น ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง เป็นธรรมที่ประจักษ์แจ้ง

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ประจักษ์แจ้งนั้นจึงชื่อว่า ปัญญา และสภาพธรรมที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้นั้น ต้องอบรมจนกว่าสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏได้ แต่ไม่มีตัวตนที่เมื่อต้องการจะประจักษ์การเกิดดับก็จะประจักษ์ได้ ต้องอบรมให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ เพราะถ้าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ปัญญาก็เกิดไม่ได้

เปิด  262
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565