แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 566

ถ. ผมยืนอยู่อย่างนี้ ก็รู้ว่าเรายืน ที่เราพูดนี้ ก็รู้ว่าเราพูด บางทีก็มีเวทนา เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ผมพูดอย่างนี้ บางทีความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ไม่รู้ ธรรมดาปกติทั่วไป จะเกิดมีเจตสิก คือ เวทนาร่วมกับร่วมกับความโลภ ความโกรธ ความหลง จะร่วมกับจิตอยู่เสมอ โดยมากรู้เพียงแค่นี้ ทีนี้คำว่า ดับ หมายความว่า เราต้องเอาปัญญาเข้ามาช่วย คือ ที่จะรู้ว่าปัญญาเกิดขึ้น ก็เมื่อรู้เวทนาที่เกิดขึ้น ใช่ไหม

สุ. ยังเป็นตัวตน เพราะว่าการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องประจักษ์ความเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละอย่าง ถ้ายังเป็นเรารู้ ก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลสได้

ถ. คำว่า เรา ผมพูดไม่ค่อยจะถูก คำว่า เรา โดยมากจะขึ้นต้นอยู่เรื่อย

สุ. ตราบใดที่ปัญญายังไม่สามารถที่จะแยกโดยการประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรม ในลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่นามธรรม ถ้าปัญญายังไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะความขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม ก็ยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบตามความเป็นจริงว่า ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรมแล้วหรือยัง ต้องไปตามขั้น เป็นลำดับขั้น และการที่จะประจักษ์แจ้งว่านามธรรมไม่ใช่รูปธรรมนั้น ประจักษ์ได้อย่างไร ทางทวารไหน

ถ. โดยมากเดี๋ยวนี้มันแล้วแต่ เกิดที่ไหนก็รู้ที่นั่น โดยมากไม่ได้เจาะจง เดี๋ยวนี้ผมไม่ได้เจาะจง เลิกแล้วไม่ปฏิบัติ เมื่อก่อนตั้งใจว่า จะไม่ให้เห็นรูปก็พยายามหลับตา ก็ไปเกิดอย่างอื่นขึ้นมาอีก

สุ. ทำไมจะไม่ให้เห็นรูป ถ้าไม่ให้เห็นรูป ปัญญาจะประจักษ์แจ้งรู้ชัดว่า รูปนั้นไม่ใช่ตัวตนได้ไหม

ถ. นั่นตามเดิม ตามของเก่า

สุ. เพราะฉะนั้น ก็มีเหตุผลเพิ่มขึ้นใช่ไหม เมื่อมีการพิจารณาธรรมก็รู้ว่า ควรจะอบรมเจริญปัญญาอย่างไร จึงได้ละการที่จะไปหลับตาเสียไม่ให้เห็นและ พยายามที่จะไม่ให้คิดไม่ให้นึกต่างๆ ก็มีชีวิตที่ดำเนินไปตามปกติ

ถ. เดี๋ยวนี้ผมเวลาทำงานไป ก็คิดไป บางทียกมือขึ้น ตีอะไรลงไปมันดัง ก็ไปได้ยินเสียงที่ดังเกิดขึ้นใหม่ มันสับสน บางทีก็ดีใจ บางทีก็แค้นใจ บางทีก็โกรธ ก็รู้ แต่ที่ว่า เราจะไม่ให้มันเกิด อย่างนี้ผมยังไม่เข้าใจ

สุ. ใครจะไม่ให้อะไรเกิด การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ไปบังคับไม่ให้อะไรเกิด แต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยจึงเกิดขึ้นปรากฏ

ถ. ผมข้องใจ ไม่เข้าใจ คือ พระท่านบอกว่า รูปนามดับ สติทั้งหลายก็ไม่เกิดขึ้น คำว่า รูปนามดับ มีความหมายพิสดารอย่างไร

สุ. ไม่ต้องห่วงเรื่องกาลข้างหน้าที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด ซึ่งจะมีได้ก็ต่อเมื่อรู้ชัดเดี๋ยวนี้ก่อน ลักษณะของสภาพธรรมทางตาที่ไม่ใช่ตัวตนคืออย่างไร ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหูที่ไม่ใช่ตัวตนคืออย่างไร ระลึกรู้ไปเรื่อยๆ ส่วนปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งความเกิดดับเมื่อไรนั้น จะต้องเกิดขึ้นภายหลังปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยชัดเจนเสียก่อน

ถ. มีอีกคำหนึ่ง คำว่า นิมิต ที่ผมเล่าให้อาจารย์ฟังแล้วว่า มีคนจะมาตีผม แต่ผมก็เฉยๆ ผลที่สุดเขาก็เลิกไปเอง รู้ว่าไม่โกรธ แต่เกิดมีความสุขอะไรขึ้น ภายหลังมีอะไรขึ้นมา ผมก็ถือว่าเป็นนิมิต จะใช่หรือเปล่า

สุ. พยายามอบรมความรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้บ่อยขึ้น ให้เป็นความรู้ยิ่งขึ้น อย่างทางตาที่กำลังเห็นเป็นปกติ วันหนึ่งๆ ก็เห็นอยู่เรื่อย แต่การที่จะมีสติในขณะที่กำลังเห็นรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ คือ ไม่ระลึกเลยว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญให้มากขึ้น และเมื่อมีการระลึกรู้เป็นปัญญาที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ไม่เดือดร้อน จะประจักษ์การเกิดดับเมื่อไร อย่างไร ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องคิดสงสัยว่า ดับคืออย่างไร เพราะเหตุว่าขณะใดที่สงสัย ขณะนั้นเป็นตัวตน ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

เพราะฉะนั้น ต้องรู้ด้วยว่า ขณะที่สงสัยก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมต่อไปอีก จนกว่าจะชินในสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่แต่เฉพาะความรู้สึก แม้แต่ความจำ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสีสันวัณณะต่างๆ ส่วนการที่จะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นคืออะไร นั่นเป็นเรื่องของความจำ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าขณะใดเป็นจำ ขณะใดเป็นการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังปรากฏทางตา ถ้าจำว่าสภาพรู้เป็นนามธรรม หรือว่าที่กำลังเห็นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ นี่เป็นความจำ ซึ่งต้องรู้ด้วยว่า ไม่ใช่สภาพธรรมที่กำลังเห็น หรือรู้สีที่ปรากฏทางตา

ความละเอียดของธรรม จะต้องมีสติระลึกและพิจารณารู้ว่า เป็นแต่ละลักษณะจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดสงสัยขึ้น ก็จะต้องระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพสงสัย ไม่ใช่ตัวตน และก็มีลักษณะอื่นซึ่งไม่ใช่ลักษณะสงสัย

นามธรรมก็มีมาก รูปธรรมก็มีมากที่สติจะต้องระลึกรู้จนกว่าจะทั่ว จนกว่าจะชิน จนกว่าจะละคลายการยึดถือ เมื่อค่อยๆ ละคลายการยึดถือ ก็จะประจักษ์ความเกิดดับได้

ถ. รู้ แต่ปัญญายังไม่ทัน

สุ. ไม่พอ ต้องอบรมจนกว่าจะเป็นปัญญาขั้นที่สามารถประจักษ์การเกิดดับได้จริงๆ จึงจะประจักษ์ได้ ไม่อย่างนั้นก็เป็นขั้นสงสัย ขั้นรู้บ้างไม่รู้บ้าง

เพราะฉะนั้น เรื่องของการขัดเกลาการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนจึงเป็นเรื่องใหญ่ มีสภาพธรรมมากมายที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน สติจะต้องระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ มากๆ จนกว่าจะรู้ชัด จนกว่าจะชินขึ้น จนละคลายได้

ถ. ผมเคยทำบุญ ถือศีลบ้าง ทำบุญให้ทาน มีความปรารถนาจะให้พ้นทุกข์ เคยปรารถนาว่า เกิดชาติใดฉันใดก็ขอให้เจอพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรม ได้เจอปราชญ์ ได้เข้าใจในธรรมนั้น ความหวังนั้นไม่จำเป็นต้องคอยไปถึงชาติไหนหรอก ชาตินี้ได้พบอาจารย์ นับว่าเป็นโชคดีของผม ถามปัญหาเดี๋ยวนี้ หรือฟังธรรมตอนเช้าๆ ไม่ค่อยรู้เท่าไร ต้องฟังหลายๆ หน และนำไปคิด บางทีคิดทั้งวัน ๒ วัน ๓ วันกว่าจะรู้ความหมายของอาจารย์สักคำหนึ่ง ปัญญาของผมออกจะแย่ แต่จำแม่น กว่าจะได้สักเรื่อง ก็ยุ่งหน่อย

สุ. เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะละคลายกิเลส เป็นเรื่องที่ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จริงๆ แม้แต่ในขั้นของความเข้าใจ ถ้าติดตามฟังพระธรรมอยู่เรื่อยๆ พิจารณาธรรมอยู่เรื่อยๆ จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากตอนต้นมาก แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย โดยที่ไม่สามารถกำหนดได้ว่าเพิ่มขึ้นในตอนไหน แต่ว่าจะต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เรื่อยๆ แม้การระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็ต้องเป็นไปในลักษณะนี้

ถ. เดี๋ยวนี้เช้าๆ หรือกลางคืน ถ้าผมไม่ได้ฟังอาจารย์ เหมือนคนติดเฮโรอีน รู้สึกไม่สบายใจ พอได้ฟังก็สบายใจหน่อย แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ ปัญญาไม่ถึง

สุ. ตราบใดที่ยังสงสัยอยู่ ให้ทราบว่าต้องอบรมเจริญสติอีกมากทีเดียว คือต้องรู้แม้แต่ลักษณะที่กำลังสงสัยว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และไม่เยื่อใย ไม่ยึดถือ เพราะว่าความสงสัยไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าการดับไปของสภาพธรรมที่สงสัยนั้นก็ดี หรือการเกิดสืบต่อของลักษณะสภาพธรรมอื่นก็ดี เป็นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อสติยังไม่ได้ระลึกรู้จนทั่วก็ไม่ประจักษ์ว่า สภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพธรรมใดดับไป

ถ. ที่ผมปฏิบัติมาแล้ว เมื่อก่อนเข้าใจว่า ตัวเองเป็นอาจารย์ใหญ่คนหนึ่งเหมือนกัน เคราะห์ดีว่าไม่ไปนรกกับเขา ได้มาฟังอาจารย์บรรยาย ความรู้ความสามารถที่ปฏิบัติมาเพียงเล็กน้อยไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย ได้พบอาจารย์นับว่าเป็นบุญของผม ถึงแม้จะไม่ได้เดินเข้าสู่อริยบุคคล ก็ยังเห็นช่องทางว่า เขาเข้ากันทางนี้ ไปกันทางนี้ ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย ขอให้อาจารย์จงเจริญ

สุ. ขออนุโมทนา และขอบพระคุณ ที่อนุโมทนาอย่างยิ่ง คือ ท่านสามารถทิ้งความเห็นผิด ความเข้าใจผิดแต่ก่อนนี้ได้ ไม่หลงผิดด้วยอำนาจความยินดี ความปรารถนา หรือความต้องการ เพราะถ้ามีความเห็นถูกเกิดขึ้น ย่อมเห็นว่าสิ่งใดเหมาะ สิ่งใดควร และข้อปฏิบัติอย่างไรจะเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าจะเป็นหนทางที่ยาว แต่การเริ่มต้น ตั้งต้น ดำเนินไปเรื่อยๆ ในหนทางที่ถูก ก็ดีกว่าไปติดอยู่ในหนทางที่ผิดซึ่งไม่มีโอกาสจะทิ้ง และหันมาสู่หนทางที่ถูกได้

มีจดหมายที่เป็นคำแนะนำของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๒๔๓/๑ ซอยรามบุตรี ถนนจักรพงศ์ กรุงเทพมหานคร

วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่นับถือ

ผมได้ฟังคำบรรยาย ซึ่งนำเทปไปออกอากาศมาประมาณ ๑ เดือนเศษ พบว่าการบรรยายอภิธัมมัตถสังคหะ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ปรากฏออกมาเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ผมได้รวบรวมเสียงติจากกลุ่มอาจารย์อภิธัมมัตถสังคหะ และขออนุญาตปรารภมาอีกครั้งหนึ่ง

๑. คำว่า รู้แจ้งแทงตลอด มีผู้ปรารภว่า ใช้กับพระอรหันต์เท่านั้น ผมเห็นว่าน่าจะมีการกำจัดการใช้บ้างตามสมควร

๒. สีเป็นรูปที่จิตรู้ได้ทางตา ... ตาสัมผัสสีในปัจจุบันธรรม นั่นรู้สึกว่าเป็นเรื่องพูดง่าย ปฏิบัติยากมากที่สุด ในทางปฏิบัติจริง อภิสังขารมารมาหลอกเอาบ่อยๆ ผมเห็นว่าต้องดูเทวบุตรมารและอภิสังขารมารควบคู่ไปด้วย ผมไม่อยากให้เขามาหลอก

๓. การแสดงตนสูงกว่า เสมอ และต่ำกว่าของท่านผู้ถาม การใช้เดรัจฉานกถาของผู้ถาม ถ้ามี ผมเห็นว่า น่าจะมีอุบายอันแยบคายทำให้ลดลงไปได้ก็คงจะทำให้ดีขึ้นในหลายๆ อย่าง มีผู้ปรารภมากว่า ชอบมาถามกันมาก ยิ่งเปิดช่องว่างต่างๆ เขาก็ถาม แต่ถ้ามีบุญ เขาก็ไม่มาถามมาก

๔. ในเรื่องสถานปฏิบัติ มีคำอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเคยตรัสให้อริยสาวกซ่องเสพเสนาสนะอันสงัดไว้แล้ว เช่น เล่ม ๔๖ หน้า ๒๓๕, เล่ม ๑๔ หน้า ๑๖๐ เคยได้รับคำปรารภจากพระผู้ใหญ่ และท่านอาจารย์อื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน คือ ถือคติกันว่า จะไม่พูดขัดแย้งคำตรัส ถือกันว่าการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นการเจริญรอยตามพระอริยเจ้า เมื่อนักปฏิบัติหาที่ปฏิบัติได้บ้างไม่ได้บ้างตามที่ตรัสแสดงไว้ ก็อาจอนุโลมหาที่ ที่เหมาะสมอันเป็นที่สมควรมาเป็นที่ปฏิบัติได้ ก็คงจะถือสาคำว่า “ ไม่จำเป็น สถานที่ปฏิบัติไม่จำเป็น ” ข้อขัดแย้งอันนี้ ผมเห็นว่าไม่สู้ดีนัก ผมเห็นว่าใช้คำว่า อนุโลมหาที่ปฏิบัติที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลดีกว่า ท่านธรรมเสนาบดีทั้งสอง ท่านก็ได้ปรารภไว้ (เล่ม ๔๑ ทั้งสองท่าน)

๕. กุฏเล็กๆ ที่สร้างจำลองขึ้นมา ก็คงได้การปฏิบัติจำลอง ผมเห็นว่า ช่างเขาเถอะ พูดก็จะเป็นเบียดเบียนเขา นักกัมมัฏฐานชนิดชอบจำลอง ก็ขอยุติครับ

ขอได้รับความนับถือ

ป.ล. ถ้าจะกรุณามีการปรับปรุงบ้างก็อาจจะดี บางท่านปรารภว่า พูดอะไรไม่ได้ ผมก็ไม่เชื่อเขา จึงลองเขียนมา

สุ. ท่านผู้ฟังมีความเห็นอะไรบ้างไหมในจดหมายฉบับนี้ ไม่ทราบว่า ข้อ. ๕ กับข้อ. ๔ ของท่าน ค้านกันหรือเปล่า

ผู้ฟัง เรื่องสถานที่ ผมเคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ผมค้านจริงๆ เรื่องที่ว่าจะไปหาสถานที่ ที่โน่น ที่นี่ อะไรต่างๆ ผมเคยขนาดขึ้นไปอยู่บนภูเขา ขนาดพระสมภารเวลากลางวันยังไม่กล้าขึ้นไป มันเงียบจริงๆ แต่เวลาไปอยู่จริงๆ นึกถึงทางบ้านบ้าง นึกถึงแฟนว่า เขาจะไปมีแฟนใหม่หรือยัง อะไรก็ไม่รู้ สารพัดที่จะคิด วิเวกนี้ไม่จำเป็น เราอยู่เดี๋ยวนี้ เราก็วิเวกได้ ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องเข้าใจ แต่เป็นความจริงเป็นอย่างนั้นจริงๆ

อย่างข้างบ้านผม โรงงานอึกทึกครึกโครมนานๆ รำคาญหนักๆ ทำใจเฉยๆ เป็นเรื่องของเสียง ก็อยู่สบาย ไม่เดือดร้อนอะไร พูดถึงเรื่องสถานที่ เดี๋ยวนี้จะไปหาที่วิปัสสนา ต้องเตรียมทุนกันมากมาย อย่างเมื่ออาทิตย์ก่อน ผมฟังเทศน์ทางวิทยุว่า ต้องเตรียมเงินเตรียมทองวันละ ๑๒ – ๑๓ บาท เป็นค่าอาหาร ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยบางทีมาอยู่ได้ ๒ - ๓ วัน ก็ต้องกลับไปแล้ว มันเป็นเวรเป็นกรรม ผมไม่เห็นตรงกับคำในพระไตรปิฎก อย่างในพระไตรปิฎก แม้คนขอทานไม่มีข้าวจะกิน ยังสำเร็จเป็น พระโสดาบันได้ ผมว่ามันขัดกันหมด ไม่เกี่ยวกันเลยกับสถานที่

สุ. ข้อความในพระธรรมตอนหนึ่งมีว่า ถึงแม้ว่าจะอยู่ในป่า แต่ว่าใจนั้นเกี่ยวข้องผูกพันคลุกคลีอยู่กับครอบครัว หรือว่าวงศาคณาญาติ หรือว่าเรื่องโลก ท่านกล่าวว่า ผู้นั้นไม่ได้อยู่ป่า เพราะว่าถึงจะอยู่ป่าก็เหมือนอยู่บ้าน ไม่ได้ต่างกันเลย คือ สภาพลักษณะของจิตใจในขณะนั้นไม่ได้ต่างกันกับอยู่บ้าน จะอยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อยังมีความเกี่ยวข้อง ความผูกพันในวัตถุ ในบุคคล ถึงแม้ว่าจะเป็นการนั่งอยู่ในป่า ผู้นั้นก็หาชื่อว่าอยู่ป่าไม่ เพราะว่าจิตใจเหมือนกัน ไม่ได้ต่างกันเลย

สำหรับเรื่องของสถานที่ ก็ได้กล่าวถึงมามาก จนคิดว่าเกือบจะไม่มีความจำเป็นอีกแล้วที่จะได้กล่าวถึง เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

สำหรับคำปรารภของท่านที่ว่า ถ้าจะมีความกรุณาปรับปรุงบ้างก็อาจจะดี บางท่านปรารภว่า พูดอะไรไม่ได้ ผมก็ไม่เชื่อเขา จึงลองเขียนมา แต่ว่าท่านผู้ฟังท่านนี้ได้เขียนจดหมายมาฉบับหนึ่งก่อนจดหมายนี้ คือ ท่านเขียนมาเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ข้อความตอนหนึ่งมีว่า ในการปฏิบัติธรรม ผมปฏิบัติตามแนวพระโอวาทปาติโมกข์ ๓ คาถากึ่ง และปฏิบัติเพื่อวิราคธรรม รู้สึกว่าตัดปัญหาอื่นๆ ไปได้มาก สำหรับพระโอวาทปาติโมกข์ ท่านผู้ฟังก็คงจะทราบว่า คาถาแรก คือ ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง

เปิด  313
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566