แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 582
ผู้ฟัง เรื่องติดบุหรี่ ตอนนี้ผมอายุ ๘๒ ปี ติดมา ๖๐ ปี ระยะหลังๆ หมอพูดว่า ติดบุหรี่แล้วจะเป็นมะเร็ง ก็เคยอดหลายหนแล้ว อดทนอยู่ได้ตั้ง ๕ วัน ๖ วัน ก็มี ผู้ซื้อมาให้ห่อสองห่อ เลยสูบอีก รวมความว่า จิตใจอ่อน ไม่เข้มแข็ง ละไม่ได้ เพราะความไม่เข้มแข็ง ก็รู้อยู่ สูบบุหรี่เสียเงินไปเปล่าๆ วันละ ๖ บาท ไม่ได้อะไรเลย หมอเขาก็บอกว่า เป็นเหตุให้เกิดมะเร็ง ก็อย่างอาจารย์ว่า ไม่รู้จริงและไม่รู้ทั่ว เขาบอกว่าจะเป็นมะเร็ง เราก็คิดว่าอาจจะไม่เป็น ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่อะไร เพราะใจไม่เข้มแข็ง
สุ. เป็นเรื่องของอะไร โทษบุหรี่ ละโทษไม่ได้แน่ บุหรี่ไม่มีเจตนาที่จะให้ใครติด เพราะฉะนั้น ลองหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร
ถ. เราเอง
สุ. กิเลส แน่นอนที่สุด
ถ. กิเลสใช่แน่ เพราะครอบจักรวาลทั้งสิ้น อะไรๆ ก็กิเลส
สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นกำลังของกิเลสได้ บุหรี่ไม่มีอิทธิพล ในตัวของบุหรี่ ไม่มีเจตนาที่จะชักชวนให้ใครมายินดีในรส ในกลิ่นของบุหรี่แน่นอนที่สุด แต่กิเลสซึ่งมีอยู่ พอใจในกลิ่น ในรสอย่างแรง ซึ่งจะเห็นได้จริงๆ ว่า ต้องอาศัยความรู้เท่านั้นที่จะดับ ที่จะละกิเลสทั้งหลายได้ ทุกคนอยากละกิเลสเหลือเกิน เวลานี้ถ้าถามดู อยากจะหมดโลภ หมดโกรธ หมดหลง เพราะอะไร ทำไมถึงอยากหมดโลภ หมดโกรธ หมดหลง ก็เพราะเห็นว่าโลภ โกรธ หลงมีโทษ
เห็นทุกคนเห็น ทุกคนบอกได้ว่า โลภะ โทสะ โมหะมีโทษอย่างนั้นๆ อยากละให้หมดอย่างนั้นๆ แล้วจะละได้ไหม ถ้าไม่รู้จริงๆ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความรู้จริง
ความรู้จริง หมายถึงการประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงจะชื่อว่ารู้จริง แต่ถ้าเพียงรู้หรือเพียงเข้าใจ หรือเพียงคิดว่ามีโทษอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่สามารถที่จะละกิเลสได้
ถ. กำลังใจในการที่จะให้เลิกสูบบุหรี่หรือเลิกกาแฟ บางคนใจอ่อน บางคนใจแข็ง ผมคิดว่า ความรู้อย่างเดียวคงไม่พอแน่ นี่เกี่ยวกับพลังใจ สามัญชนทั่วๆ ไป แพ้เรื่องใจ เรื่องพลังใจนี้ ผมขอทราบจากอาจารย์ด้วยว่ามีจริงหรือไม่ คนใจอ่อน กับคนใจแข็ง มีอยู่จริงๆ หรือไม่ เพราะว่าทุกคนก็พยายามจะเรียนรู้ถึงสภาพจิต แต่นักจิตวิทยาทั้งหลายเชื่อว่า พลังใจมีแน่ๆ เราแพ้กันที่กำลังใจใช่ไหม
สุ. กำลังใจ หมายความถึง สภาพของจิตที่ต่างกันตามการสะสม ที่เรียกว่า คนใจอ่อน หรือใจเข้มแข็ง ใจเด็ดเดี่ยว ก็เป็นลักษณะสภาพของจิตซึ่ง ต่างๆ กันไปตามการสะสม
ถ้าพูดถึงการเลิกสูบบุหรี่เพราะกำลังใจ เพราะว่ามีการสะสมมาที่จะเป็นผู้ที่มีจิตใจที่มั่นคง จึงเข้าใจว่าสามารถที่จะใช้กำลังใจ หรือความมั่นคงของจิตเลิกการสูบบุหรี่ได้ แต่ถึงจะเลิกสูบบุหรี่ เลิกอย่างอื่นได้ไหม ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่ได้อบรมเจริญจนคมกล้า ถึงเลิกสูบบุหรี่ ก็ไม่เลิกอย่างอื่น จะเอากำลังใจที่ไหนมาที่จะให้เลิกกิเลสไปทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ นอกจากจะอบรมเจริญปัญญาให้คมกล้าเท่านั้น จึงจะดับกิเลสได้
ถ. ถ้ามีคนนำเอาของมาให้เรา ซึ่งมีมาหลายอย่าง ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง และเขาบอกให้เลือก ที่ว่าเจริญสติให้มักน้อย จะทำอย่างไร
สุ. เจริญสติ ก็คือว่า ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาการตัดสินใจหรือการเลือกในขณะนั้นได้ อาจจะคิดไว้ว่าจะมักน้อย จะเลือกของน้อยๆ ราคาถูกๆ แทนที่จะเลือกของมีราคามาก แต่พอถึงเวลาจริงๆ อย่าได้คิดเลยว่าจะบังคับบัญชาอะไรได้ แล้วแต่สภาพธรรมขณะนั้นเป็นอย่างไรก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น อาจจะเลือกของมีราคาน้อยๆ สัก ๑๐ ครั้ง แต่พอครั้งที่ ๑๑ อาจจะเลือกของที่มีราคามากก็ได้ เพราะฉะนั้น จิตใจของคนเราเปลี่ยนแปลงไปแต่ละขณะตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา บางวันเป็นคนดีมาก วันไหนเกิดไม่ดีขึ้นมา ก็เป็นเพราะอกุศลมากตามการสะสม ก็มีพร้อมทั้งฝ่ายกุศลธรรมและอกุศลธรรม
การเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน คือ เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นปรากฏตามเหตุปัจจัยที่สะสมมา ตามความเป็นจริง
เคยสังเกตตัวเองไหม คิดว่าจะให้ทาน พอผ่านคนที่ควรจะให้จริงๆ กลับไม่ให้ บางวันก็ให้จริง บางวันก็ไม่ได้ให้ทั้งๆ ที่ตั้งใจไว้แล้ว เพราะว่าสภาพธรรมเป็นอนัตตา ถ้าขณะนั้นไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดการให้ แม้ว่าตั้งใจไว้หลายวัน ความตั้งใจนั้นก็ดับไปแล้วหลายวัน ถ้าจะให้อีก ก็มีปัจจัยสืบเนื่องมา แต่ถ้าเกิดการไม่ให้ขึ้น ก็มีปัจจัยที่จะไม่ให้ในขณะนั้น หรือไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดการให้ในขณะนั้น
ถ. การยึดถือจะเอาอะไรมาทำลาย
สุ. ต้องเป็นปัญญาอย่างเดียว ปัญญา คือ ความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ต้องต่อไปอีกเพื่อที่จะให้เข้าใจขึ้นว่า ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ ถ้ายังไม่ทราบว่าขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ ปัญญาก็รู้ไม่ได้ ต้องรู้ก่อนว่า ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ เพื่อที่จะให้ปัญญารู้ในสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง โดยความเป็นจริงมีแต่สภาพธรรม เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ แต่เมื่อสติไม่ระลึกจึงไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลใดๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งปรากฏแต่ละทาง เพราะฉะนั้น ปัญญาก็รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดทีละทาง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ
ถ. ......
สุ. เผลอ ก็เผลอ บังคับไม่ได้แน่นอน คนที่ไม่หลงลืมสติเลย คือ พระอรหันต์ เรื่องหลงลืมสติเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่ากี่ภพกี่ชาติก็สะสมปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น การเจริญสติต้องสะสมไป เช่นเดียวกับปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติเหมือนกัน เมื่อมีปัจจัยจะที่จะให้หลงลืมสติก็หลงลืมสติ แต่ก็สะสมปัจจัยใหม่ที่จะให้เกิดสติ สติก็จะเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ได้ แต่ไม่ต้องคิดว่าจะมาก แค่ไหนแค่นั้น ขณะหนึ่งก็ยังดีกว่าที่สติจะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเลย
ถ. ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ผู้ที่จะเจริญมรรคมีองค์ ๘ หรือจะเจริญสติปัฏฐาน ก่อนที่จะเจริญนั้น ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ ลักษณะของโยนิโสมนสิการเป็นอย่างไร
สุ. แปลโดยศัพท์ หรือลักษณะโดยทั่วไป หมายถึงการพิจารณาโดย แยบคาย แยบคายหมายความว่า ถูกต้อง
ถ. ขณะที่พิจารณาโดยแยบคายนั้น พิจารณาอย่างไร
สุ. ในขั้นของการฟัง รู้ว่ากิเลสมีจริง แยบคาย คือ พิจารณารู้จริงๆ ว่า กิเลสมีจริง ปัญญาเท่านั้นที่จะดับกิเลสได้ หรือละกิเลสได้จริง ไม่ใช่กำลังใจ หรือไม่ใช่สมาธิ หรือไม่ใช่ความสงบ
โยนิโสมนสิการ คือ พิจารณาโดยแยบคายว่าเป็นจริง หรือว่าถูกต้องอย่างนี้หรือเปล่า ถ้ากล่าวว่า กิเลสที่มีจริงในขณะนี้ดับไม่ได้ จริงหรือไม่จริง ถ้าใครคิดว่าจริง หมายความว่า ขณะนั้นอโยนิโสมนสิการ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้ากิเลสเป็นสิ่งที่ละไม่ได้ พระองค์จะไม่ทรงแสดงหนทางที่จะละและดับกิเลส
โยนิโสมนสิการ คือ พิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร ปัญญาหรือกุศลเป็นสิ่งที่เจริญอบรมได้
โยนิโสมนสิการ คือ พิจารณาว่าข้อความนี้จริงหรือไม่จริง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้ากุศลเป็นสิ่งที่อบรมเจริญไม่ได้ พระผู้มีพระภาคก็จะไม่ทรงแสดงธรรมให้อบรมเจริญกุศล
ถ. ขณะที่เห็นแล้วสังเกต และก็คิดว่า นี่คือสี ขณะที่คิดว่าเป็นสี ขณะนั้นชื่อว่า โยนิโสมนสิการหรือยัง
สุ. ถูกไหมที่คิดว่าเป็นสี
ถ. ถูกต้อง
สุ. ถูก ก็เป็นโยนิโสมนสิการ
ถ. มีอีกสูตรหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก่อนที่จะเจริญมรรคมีองค์ ๘ คือ การเจริญสติปัฏฐานนั้น จะต้องอาศัยกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรนั้นหมายถึงอย่างไร ถ้าเราตกทุกข์ได้ยาก มีเพื่อนฝูงเอาเงินทองมาช่วยเหลือ ลักษณะอย่างนี้เป็นกัลยาณมิตรหรือไม่
สุ. กัลยาณมิตรในทางโลก หรือว่ากัลยาณมิตรในทางธรรม ต้องแยก ถ้าจะเจริญธรรม ก็หากัลยาณมิตรในทางธรรม คือ ผู้ที่มีความเห็นถูก ปฏิบัติถูก ชี้แจงถูก ทำให้เกิดปัญญาได้จริงๆ
ถ. อกุศลจิตที่เป็นธรรมที่ควรละ มีอะไรบ้าง
สุ. ทั้งหมด โลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะ ความตระหนี่ มานะ ความถือตน ความเห็นผิด วิจิกิจฉาความสงสัย
ถ. คงจะพบในพระไตรปิฎกบ่อยๆ คำว่า การละความเพ่งเล็งใดๆ ในโลก มีความหมายลึกซึ้ง หมายความว่า เป็นการละโลภะ หรือละความเป็นตัวตน
สุ. ความจริงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในเรื่องของอกุศล ก็ทรงแสดงไว้ครบถ้วน คือ ถ้าเป็นเรื่องของโลภะ ก็โลภะประการต่างๆ ทีเดียว ตั้งแต่ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ความยึดมั่นในความเห็นผิด ในความเป็นตัวตนต่างๆ ทุกอย่าง
เพราะฉะนั้น ที่ว่าละความเพ่งเล็ง ก็คือ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเพ่งเล็งต้องการอยากได้ในวัตถุของบุคคลอื่นที่เจ้าของไม่ได้ให้ นั่นก็เป็นอกุศลกรรมบถ หรือว่าความเพ่งเล็งต้องการปรารถนาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับโดยไม่เจริญหนทางที่ถูกต้อง นั่นก็เป็นความเพ่งเล็ง หรือเป็นความต้องการซึ่งปิดบังไม่ให้ประจักษ์แจ้งในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเพ่งเล็งอะไร ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรละทั้งนั้น
ควรจะคิดถึงกิเลสที่มีมาก ซึ่งจะละได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญาในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ เช่นในขณะนี้ สภาพธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดไป สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันรวดเร็วมาก แต่เมื่อเป็นความจริง เป็นของจริง สติสามารถที่จะระลึกรู้ในสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ โดยการเริ่มต้นรู้ลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏแต่ละชนิด
เสียงจะไม่ปรากฏทางตา สีจะไม่ปรากฏทางหู เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด ปรากฏแต่ละทาง สภาพที่รู้ก็รู้แต่ละอย่าง รู้พร้อมกันไม่ได้ สภาพธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสภาพธรรมนี้ไม่สามารถจะรู้เสียงเลย ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จะรู้แต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้นเท่านั้น หาความเป็นตัวตนบุคคลในสภาพธรรมที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ ขณะที่เสียงปรากฏ เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งแล้วซึ่งปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางกาย ไม่ปรากฏทางจมูก และสภาพที่รู้เสียง คือ ได้ยินเท่านั้นเอง หาความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้เสียงนิดเดียวแล้วดับไปไม่ได้เลย หมดไปแล้ว นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับเร็วมากตลอดเวลา สติระลึกรู้ตามความจริงไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ถ้าขณะใดสติไม่เกิด หลงลืมสติ เป็นไปแล้วที่จะหลงลืมสติ ไม่ใช่เราที่จะไปบังคับให้สติเกิด ขณะใดสติไม่เกิดก็ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะใดที่กำลังระลึกรู้ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นเพราะสติเกิด จึงทำกิจระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เจตสิกซึ่งเป็นมรรคเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เป็นการอบรมเจริญมรรค ไม่ใช่มีตัวตน มีสัตว์ มีบุคคลใดๆ ไปตั้งใจหรือไปใช้สติได้
ถ. การปฏิบัติของอาจารย์สุจินต์ ผมได้ฟังมานานแล้ว และผมปฏิบัติ บางครั้งก็ประหม่า บางครั้งก็ไม่ประหม่า รู้สึกประหม่า จิตเป็นอย่างไร
สุ. ทุกคนประหม่า มีใครบ้างไหมที่ไม่ประหม่า
ถ. คราวนั้นผมมาฟัง และพูด รู้สึกไม่ประหม่า จะไม่ให้ประหม่าก็บังคับไม่ได้
สุ. เฉพาะกาลๆ แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมที่ประหม่าเกิดขึ้น ก็ประหม่าไป ในขณะนั้นมีสภาพธรรมที่ไม่ใช่ลักษณะประหม่า ก็ไม่ใช่ลักษณะประหม่า ต่างขณะกัน แต่ทุกคนมี เหมือนโลภะที่ทุกคนมี โทสะทุกคนมี ขณะนี้โลภะของคนนั้นเกิด ขณะนี้โทสะของคนนั้นเกิด ก็เฉพาะคน เฉพาะกาล ต่างขณะกันไป ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลใดๆ เลย เคยเห็นใคร เป็นคนนั้นคนนี้ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ เป็นวัตถุต่างๆ ก็ให้ทราบว่า โดยความเป็นจริงแล้วเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง
ถ. แต่ความวิจิตรต่างๆ แปลกๆ คนสมัยก่อนฉลาด ปัญญาดี รู้สึกปีติขึ้น
สุ. ถูกต้อง คือ คนในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ท่านสามารถที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็น พระอรหันต์ มากมายทีเดียว
ถ. แต่ก่อน อย่างภาพยนตร์ในกรุงเทพ โรงใหญ่ อยากจะดู แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกเฉื่อยชา เบื่อจริงๆ
สุ. เบื่อแล้วรู้อะไร คือ เบื่อ แต่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ต่างกับหน่ายเพราะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม สภาพของจิตนี้ใกล้เคียงกันมาก คนที่ไม่ศึกษาโดยสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจะปนกัน บางคนเข้าใจว่า เป็นทุกข์มากๆ นั้นดี ใกล้อริยสัจ แต่ความจริงไม่ใช่ เห็นทุกข์โดยไม่ต้องเป็นทุกข์เลย เพราะว่าเป็นปัญญาที่เห็นสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน
ที่ว่าทุกข์ คือ เห็นสภาพธรรมซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ต้องเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป เปลี่ยนแปลงไป การรู้ความจริงนี้ทำให้ไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าใครอยากจะเป็นทุกข์มากๆ จะได้ใกล้อริยสัจ นั่นผิด เพราะว่าขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต เป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ สติไม่เกิดจริงๆ จะไม่รู้เลยว่า สภาพธรรมใดเป็นอกุศล สภาพธรรมใดเป็นกุศล แม้แต่ความเบื่อ บางคนเบื่อเก่ง พอชินๆ เข้าก็เบื่อ ชอบอะไรมากๆ เข้า ได้รับบ่อยๆ เข้าก็เบื่อ เบื่อนั้นหรือเป็นปัญญา ไม่ใช่เลย นั่นเป็นอกุศล
ถ. บางครั้งกินแกงไก่บ่อยๆ รู้สึกเบื่อ
สุ. เบื่ออาหาร เป็นกุศลหรืออกุศล
ถ. เป็นกุศลได้ อกุศลก็ได้
สุ. เบื่อต้องเป็นอกุศล รู้ลักษณะที่เบื่อเป็นกุศล อย่าเอาความรู้กับความเบื่อมาปนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ถ้าเบื่อเป็นอกุศล เป็นโทสมูลจิต