แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 583

เพราะฉะนั้น บางท่านอยากจะรีบเบื่อ ยังไม่รู้อะไรเลย หลงลืมสติเป็นอย่างไร ต่างกับขณะที่มีสติอย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะว่าสติไม่เคยเกิด ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะไม่รู้ว่าหลงลืมสติต่างกับขณะที่มีสติอย่างไร เพราะว่าเต็มไปด้วยความหลงลืมสติอยู่เสมอ ต่อเมื่อใดสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงเกิดความรู้ว่า ขณะที่มีสตินั้นเป็นอย่างนี้ ต่างกับขณะที่หลงลืมสติมากทีเดียว

ความรู้ เป็นการรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ความเบื่อ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเบื่อ ยังเป็นตัวเราที่เบื่อ แต่ถ้าสติเกิดระลึกรู้ว่า ลักษณะเบื่อเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เบื่อเท่านั้นเอง นั่นจึงจะเป็นปัญญาที่เริ่มเห็นความไม่ใช่ตัวตนในสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความเบื่อ ความดีใจ ความเสียใจ ความริษยา ความถือตัว ความตระหนี่ สภาพธรรมทั้งหมดในวันหนึ่งๆ จะปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อสติระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจว่าจะต้องอบรมเจริญปัญญา ก็รีบเบื่อ วันนี้เบื่อหมด คล้ายๆ กับจะเป็นพระอรหันต์เสียในวันสองวันนี้ เพราะเบื่อแล้ว แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเลย

เบื่อทำไม เบื่อในอะไร เบื่ออย่างไร เบื่อไม่จริง เพราะฉะนั้น ลักษณะที่เบื่อไม่ใช่กุศลธรรม แต่การที่ระลึกรู้ในลักษณะที่เบื่อ รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนั้นเป็นกุศลที่รู้ความจริงว่า ลักษณะที่เบื่อเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ปัญญาที่หน่าย คลายความติด ความเห็นผิด ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ลักษณะของปัญญาเป็นสภาพธรรมที่ละ ไม่ใช่สภาพธรรมที่ติด การละ คือ การหน่าย แต่ไม่ใช่อกุศลจิตที่เบื่อ

ถ. ในสักกายทิฏฐิ ๒๐ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ พระองค์ตรัสว่า บุคคลผู้ที่ไม่ได้สดับ ไม่ได้รับคำแนะนำ ไม่ได้พบสัตบุรุษ ไม่ได้ฟังปุริสัทธรรม ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป๑ ย่อมเห็นเวทนา ย่อมเห็นสัญญา ย่อมเห็นสังขาร ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ย่อมเห็นตนในวิญญาณ เรื่องนี้อาจารย์ได้บรรยายไปแล้ว และยังค้นหาข้อความว่า อุปมาเหมือนต้นไม้มีเงา หรืออุปมาเหมือนแสงสว่างในไฟ อุปมาเหมือนแก้วมณีในขวด อุปมาเหมือนกลิ่นดอกไม้ในดอกไม้ เรื่องนี้ศึกษาแล้วก็เข้าใจ โดยเฉพาะท่านพระสารีบุตรท่านอุปมากับท่านยมกอีกเรื่องหนึ่ง คือ ท่านอุปมาว่า ท่านคหบดีเศรษฐีกับลูกของคหบดีเศรษฐีผู้มั่งคั่ง มีคนที่จะปองร้ายเศรษฐีผู้นั้น เห็นว่าเศรษฐีผู้นี้มีการคุ้มครองรักษาต่างๆ อย่างแน่นหนา การที่จะเข้าไปปองร้ายไม่ใช่ของง่าย เลยคิดอุบายว่า จะเข้าไปรับใช้ท่านเศรษฐี เมื่อสมัครเข้าไปรับใช้ท่านเศรษฐีก็รับ และปฏิบัติงานอย่างดีทุกอย่าง คือ ตื่นก่อน นอนทีหลัง เงี่ยโสตลงฟังเมื่อรับคำสั่ง เวลาที่เศรษฐีอยู่ในที่เปลี่ยว คนร้ายนี้ก็ฆ่าเสีย

อุปมาเหมือนว่า สักกายทิฏฐิ ๒๐ นี้ เป็นการฆ่าเราอยู่ตลอดเวลา คือ คนร้ายตั้งแต่เข้าไปสมัครทำงาน ขณะนั้นก็ชื่อว่าฆ่า ขณะที่ตื่นก่อนนอนทีหลัง ขณะนั้นก็ชื่อว่าฆ่า ขณะที่เงิ่ยโสตลงฟังเมื่อรับคำสั่ง ขณะนั้นก็ชื่อว่าฆ่า จนขณะไปที่เปลี่ยวแล้วลงมือฆ่า ก็ชื่อว่าฆ่า

ท่านอุปมาเหมือนสักกายทิฏฐิ ๒๐ นี้ ก็ฆ่าเราอยู่ตลอดเวลา ด้วยการศึกษาก็เข้าใจทุกอย่าง แต่เวลาสักกายทิฏฐิ ๒๐ เกิดขึ้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน สักกายทิฏฐิก็มีอยู่ตลอดเวลา และขณะที่หลงลืมสติ ขณะนั้นเราก็รู้อยู่แล้วว่า สักกายหนึ่งสักกายใดในสักกายทิฏฐิ ๒๐ จะต้องเกิดขึ้นแก่เรา ผมเมื่อสติเกิดขึ้น สังเกตเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ว่า ตอนนี้สักกายทิฏฐิอะไรเกิดขึ้น ยังมีความเห็นผิดอย่างไร สังเกตเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยยกตัวอย่างสัก ๔ อย่าง คือ การกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อย่างไหนชื่อว่า มีความเห็นผิดว่ารูปโดยความเป็นตน เห็นผิดว่าตนมีรูป เห็นผิดว่ามีรูปในตน เห็นผิดว่ามีตนในรูป

สุ. พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แจ่มแจ้งกับพระผู้มีพระภาคและพระสาวกผู้ที่ได้รู้แจ้งธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้ง ไม่ใช่เพียงโดยการฟัง และก็จะเข้าใจจนกระทั่งประจักษ์แจ้ง แต่หมายความว่า ผู้นั้นจะต้องอบรมเจริญสติที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตรงตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้ว ย่อมจะเกิดความสงสัย

เช่น สักกายทิฏฐิมีแน่ๆ ยังไม่หมดสำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล แต่กลับไม่เห็นเสียแล้ว ซึ่งก่อนที่จะได้ฟังธรรม ความคิดเห็นเป็นอย่างไร เคยย้อนกลับไปคิดไหมว่า ก่อนที่จะได้รู้เรื่องของปรมัตถธรรม คือ ก่อนที่จะได้รู้เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องนามธรรม เรื่องรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก่อนที่จะรู้อย่างนี้ ก่อนที่จะเข้าใจอย่างนี้ เคยมีความคิดอย่างไร เคยมีความเห็นอย่างไร นั่นคือ สักกายทิฏฐิ

ต่อมาภายหลัง ถึงแม้ว่าจะได้ฟังเรื่องของปรมัตถธรรม คือ เรื่องจิตก็ตาม เจตสิกก็ตาม รูปก็ตาม นามธรรมและรูปธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนโดยขั้นของการฟัง แต่ว่าประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริงหรือยัง เมื่อยัง ขณะใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งก็ยังเห็นเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังคงเห็นเป็นสัตว์ บุคคลนั้น บุคคลนี้อยู่ ซึ่งจะดับหมดไปได้ต่อเมื่อปัญญาได้เจริญอบรมถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ก่อนที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น ปัญญาจะต้องเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏพร้อมสติ ไม่ใช่คนละขณะ แต่หมายความว่าในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นโดยความไม่ใช่ตัวตน ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเป็นปัญญาที่คมกล้าซึ่งสามารถจะแทงตลอดในสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้น คือ ความเกิดขึ้นและดับไป ความไม่เที่ยง ซึ่งเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้น

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงพร้อมสติ เพียงขั้นที่ได้ยินได้ฟังว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง แต่ยังไม่ประจักษ์ชัด ขณะเหล่านั้น ความคิดอย่างนั้นที่ยังเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอยู่ นั่นคือ ลักษณะของสักกายทิฏฐิ

มีหลายท่านซึ่งได้ฟังแล้ว และก็เริ่มเจริญสติปัฏฐาน แต่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม รูปธรรมก็พอจะรู้บ้างโดยการฟังแล้วเทียบเคียงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นของจริงแน่ๆ เพราะว่ากำลังปรากฏทางตา สิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏเป็นของจริงชนิดหนึ่ง สีสันวัณณะต่างๆ ที่กำลังปรากฏทางตาทั้งหมดเป็นของจริงทั้งหมดที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก ไม่ปรากฏทางลิ้น ไม่ปรากฏทางกาย เพราะฉะนั้น ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมที่มีจริงที่ปรากฏแต่ละลักษณะ ก็พอที่จะระลึกรู้ว่าเป็นรูปธรรม แต่ถ้าสติไม่ได้ระลึกรู้ ลักษณะสภาพรู้ซึ่งกำลังรู้ในสิ่งที่ปรากฏ ผู้นั้นจะไม่เข้าใจในลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ว่าต่างกับรูปธรรม และก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงอาการลักษณะของธาตุรู้ เป็นธาตุรู้จริงๆ แต่ว่ามีลักษณะที่รู้แต่ละทาง ตามทวารต่างๆ

เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดปัญญาไม่รู้อย่างนี้ ยังเห็นรวมกันเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล นั่นก็เป็นลักษณะของสักกายทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ถ้าจะลืมไปถึงเมื่อครั้งก่อน ก็ย้อนกลับไปถึงครั้งที่ยังไม่ได้ศึกษา และสติยังไม่ได้เกิด ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็มีความมั่นใจในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุที่เที่ยง ไม่เกิดขึ้น ไม่ดับไป นั่นเป็นลักษณะของสักกายทิฏฐิ

หรือแม้บางท่านจะระลึกแล้ว แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า รูปแข็งที่ปรากฏนี้ละหรือดับไป แข็งก็ตาม อ่อนก็ตามที่กำลังปรากฏ ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า รูปนี้หรือที่จะดับ นั่นก็เป็นลักษณะของสักกายทิฏฐิ เป็นลักษณะของความสงสัย ความไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ

ถ. ใน เขมกสูตร ที่อาจารย์เคยบรรยายไปแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งชื่อเขมกะ ท่านป่วยเป็นไข้หนัก อาพาธ พระเถระสั่งให้ท่านพระทาสกะไปเยี่ยม ผมยังไม่เข้าใจ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายอีกครั้งหนึ่งที่ว่า เรามีขันธ์ ๕ กับไม่ได้เห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นตน ต่างกันอย่างไร

สุ. ที่ว่า การที่ไม่เห็นขันธ์ ๕ เป็นตนนั้น หมายความถึง มีความเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง สามารถที่จะดับกิเลสเป็นพระอริยเจ้าได้ถึงความเป็น พระอนาคามีบุคคล แต่ว่าเรามีในขันธ์ ๕ ความเป็นเรา หรือความสำคัญว่าเรา ไม่ใช่ความเห็นผิด แต่เป็นมานะเจตสิกซึ่งยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นโดยความสำคัญในเรา ไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่สภาพธรรมอื่น แต่ไม่ได้เห็นผิด คือ ไม่มีสักกายทิฏฐิที่จะยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่กิเลสนั้นมีมาก ทั้งๆ ที่เห็นอย่างนี้ สามารถที่จะดับความเห็นผิดที่ไม่เคยประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม แต่กิเลสก็ยังมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปในประการอื่น ตามปัจจัยที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เช่น โลภเจตสิกก็ยังเกิดได้ ความยินดีพอใจ แม้ในสภาพธรรมที่ปรากฏและได้ประจักษ์แล้วว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

แต่ลักษณะของโลภะ ความพอใจ เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ความเห็นผิด ความเห็นผิดก็เป็นความเห็นผิด มีลักษณะเห็นผิดเกิดขึ้นกระทำกิจเห็นผิดไปต่างๆ ส่วนลักษณะของโลภะ ความพอใจ ก็เป็นความยินดี ความติดข้อง การไม่สละในสิ่งที่ปรากฏ พิจารณาสภาพจิตใจของท่านเองในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความพอใจมากบ้าง น้อยบ้าง ตามอัธยาศัยที่ได้สะสมมา

โลภะหรือความพอใจจะไม่มีในลักษณะของพระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ไม่เกิดขึ้น จึงไม่ดับไป สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งไม่เกิด จะเป็นที่ตั้งของโลภะหรือความยินดีพอใจไม่ได้ แต่ว่าสภาพธรรมใดก็ตามมีลักษณะปรากฏเกิดขึ้น ย่อมสามารถจะเป็นที่ตั้งของโลภะ ความยินดีพอใจได้ แม้ว่าสภาพธรรมนั้นจะเพียงปรากฏแล้วหมดไปก็ตาม ถึงแม้ว่ายังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับโดยการแทงตลอด แต่ท่านผู้ฟังก็พอที่จะได้ทราบใช่ไหมว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เสียงเมื่อสักครู่ก็ดับไปแล้ว ความรู้สึกแช่มชื่น ไม่แช่มชื่น พอใจ ไม่พอใจ อะไรต่างๆ ก็เกิดดับสืบต่อ วนเวียนเปลี่ยนแปลงไปในวันหนึ่งๆ มาก แต่ก็ยังพอใจใช่ไหม

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมมีลักษณะต่างๆ กันจริงๆ ไม่ใช่ประเภทเดียวกัน ความเห็นผิดก็เป็นความเห็นผิด มีลักษณะเห็นผิดเกิดขึ้นกระทำกิจเห็นผิดไปต่างๆ ส่วนลักษณะสภาพของโลภะ ความพอใจ ก็เป็นความยินดี ความติดข้อง การไม่สละในสิ่งที่ปรากฏ มานะ ความสำคัญในสภาพธรรมว่าเป็นเรา ไม่ใช่ลักษณะของความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเกิดความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ความยินดี โลภะ ยังเกิดได้ มานะ ความสำคัญในเรา ในสภาพธรรมที่ปรากฏนั้น ก็ยังเกิดได้ จนกว่าจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้นจึงจะดับมานะได้ และดับอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย

เพราะฉะนั้น กว่าจะได้บรรลุคุณธรรมถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสหมดจริงๆ ท่านผู้ฟังก็ไม่ควรจะเป็นผู้ประมาทในอกุศลธรรม และก็ควรจะได้รู้ชัดในลักษณะของอกุศลธรรมทั้งหลายที่ท่านสะสมมา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยให้ถูกต้องตรงตามสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่า ขั้นแรกก็จะดับโลภะหมด ไม่มีเหลือเลย หรือว่าดับมานะหมด ไม่มีเหลือเลย ไม่ใช่อย่างนั้น กิเลสก็จะต้องดับไปเป็นส่วนๆ ตามลำดับขั้น

ถ. พระอรหันต์ไม่มีโทสะ อกุศลจิตของท่านหมดแล้ว แต่ท่านยังฆ่าตัวตาย เช่น ท่านพระวักกลิ เป็นต้น ด้วยเหตุใด

สุ. ผู้ที่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่ได้ฆ่าตัวตาย การฆ่าเกิดก่อนการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์

ถ. ก็ยังสงสัย ในพระไตรปิฎกท่านพูดไว้เป็นนัยๆ ไม่แจ่มแจ้งเลย

เปิด  244
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565