แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 584

ถ. (ต่อ) คือ ท่านแสดงไว้อย่างนี้ ท่านพระวักกลิอาพาธเป็นไข้หนัก ก็ให้อุปัฏฐากของท่านไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ขอให้พระพุทธเจ้าโดยความอนุเคราะห์เสด็จมาหาท่าน พระพุทธเจ้าโดยความอนุเคราะห์ก็เสด็จมาเยี่ยมท่านพระวักกลิ พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงก็ตรัสถามท่านพระวักกลิแบบธรรมดาๆ ทั่วไปว่า อาการดีขึ้นไหม เจ็บไหม สบายขึ้นไหม ท่านพระวักกลิก็ทูลว่า โอ ยังมีชีวิตต่อไปไม่ได้แล้ว ทุกขเวทนามีแต่จะกำเริบขึ้นทุกวันๆ ความเจ็บปวดเกิดขึ้นทุกทีๆ ลำบากอยู่มาก

พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า ท่านมีความลำบากไหม ท่านมีความเดือดร้อนไหม ท่านพระวักกลิก็บอกว่า มี พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ท่านจะมีการตำหนิตัวเองโดยศีลไหม พระวักกลิก็ทูลว่า ตำหนิตัวเองโดยศีลนั้นไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในเมื่อตำหนิตัวเองโดยศีลไม่มีแล้ว ยังจะมีความเดือดร้อนอะไรอีกเล่า ท่านพระวักกลิทูลว่า ที่เดือดร้อนนั้น เพราะว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมต่อไป ถามว่า รูปนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง

ท่านพระวักกลิทูลตอบว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งใดไม่เที่ยงนั้น เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า

ท่านพระวักกลิทูลตอบว่า เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นของธรรมดา ควรหรือที่จะยึดถือว่า เป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต่างๆ

ท่านพระวักกลิทูลตอบว่า ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้วก็เสด็จกลับ

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปแล้ว พระวักกลิไปหยิบศาสตรามา ในพระไตรปิฎกแสดงไว้แค่นี้ และก็เปลี่ยนเรื่องไปแสดงถึงเทวดา ๒ องค์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า องค์หนึ่งทูลว่า ท่านพระวักกลิกำลังคิดว่า จะบรรลุธรรม แต่อีกองค์หนึ่งทูลว่า ท่านพระวักกลิบรรลุธรรมแล้ว

รุ่งเช้า พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระภิกษุสงฆ์ไปถึงแต่ไกลก็เห็นพระวักกลินอนบนเตียง มีศีรษะพลิก แสดงว่าท่านพระวักกลิตายแล้ว ก็ตรัสถามภิกษุว่า เห็นหมอกหรือควันขาวๆ ไหม หมอกหรือควันขาวๆ นั้นลอยไปทางทิศตะวันออก ตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศใหญ่ ทิศน้อย ทิศเบื้องขวา ภิกษุทูลว่า เห็น พระพุทธเจ้าตรัสว่า นั่นคือมารผู้มีบาป กำลังค้นหาวิญญาณของพระวักกลิ แต่ก็ไม่พบวิญญาณของพระวักกลิว่าอยู่ที่ไหน มารไม่พบ แสดงไว้เท่านี้

ผมเข้าใจเองว่า ที่ท่านพระวักกลิไปหยิบศาสตรามา พอพระพุทธเจ้าเสด็จไปอีกครั้ง พระวักกลิตายแล้ว มีศีรษะพลิก ก็คงคอขาด คอขาดของท่านถ้าไม่เป็นการฆ่าตัวตายแล้วจะเป็นอะไร

สุ. ฆ่าตัวตายนั้นแน่นอน แต่ท่านไม่ได้ฆ่าหลังจากเป็นพระอรหันต์แล้ว ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วจะไม่ฆ่าตัวตาย เพราะฉะนั้น เวลาศึกษาก็ลำดับเทียบเคียงเหตุการณ์ให้ถูกต้อง ก็จะเข้าใจว่า การฆ่าตัวตายนั้นต้องเป็นไปก่อนการบรรลุอรหันต์

ถ. การปฏิบัติธรรม ผมได้ฟังอาจารย์บรรยายหลายครั้ง และฟังจากหลายอาจารย์ บางท่านกล่าวว่า ถ้าจะปฏิบัติวิปัสสนา ต้องปัญญาดี ร่างกายแข็งแรง จึงจะปฏิบัติได้ และให้กำหนดอยู่ที่รูป ผมมาฟังอาจารย์สุจินต์บอกว่า ให้เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ผมก็เจริญเป็นปกติอย่างอาจารย์สุจินต์ว่า เมื่อเห็นรูป รู้เป็นนาม ที่คิดนั้นเป็นนาม ให้มีสติอยู่ทุกเมื่อ เมื่อสติขาด ก็ขอให้รู้ไป เมื่อสติเกิดก็ขอให้รู้ตามสภาพความเป็นจริง บางครั้งสติก็รู้ชัด บางครั้งก็รู้ไม่ชัด เป็นเรื่องของปัญญาที่อบรมมา อย่างนี้ถูกไหม

สุ. ไม่เข้าใจว่า ทำไมบางครั้งรู้ บางครั้งไม่รู้ ใช่ไหม

ถ้าท่านผู้ฟังจะศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านตรัสรู้คุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์บ้าง หรือพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันก็ตาม ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ จะเห็นได้ว่า ท่านเหล่านั้นได้สะสมอบรมบารมีมาเนิ่นนานเหลือเกิน เป็นกัปๆ ทีเดียว เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน ในระหว่างที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะต้องเป็นความรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง จะเป็นความรู้ชัดทีเดียวจนกระทั่งแทงตลอดธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันยังไม่ได้ใช่ไหม แม้แต่ท่านพระสารีบุตรเอง ในชาติสุดท้าย ท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน และถึงความเป็นพระอรหันต์ในภายหลัง แต่กว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านอบรมมาเป็นกัปๆ ทีเดียว และในระหว่างกัปๆ นี้ ก็จะต้องเป็นความรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง เดี๋ยวรู้ เดี๋ยวไม่รู้ จะเป็นความชัดเจนทีเดียวยังไม่ได้

ถ. การปฏิบัติวิปัสสนาจะต้องให้ร่างกายแข็งแรง ปัญญาดี จึงจะปฏิบัติได้ใช่ไหม

สุ. ปัญญายังไม่เกิด ต้องอบรมให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าปัญญาเกิดแล้ว มีแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญญารู้อะไร นี่สำคัญที่สุด ในขณะนี้กำลังเห็น มีปัญญาหรือยัง ปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง ถ้ายัง ก็ระลึกไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้นรู้สภาพธรรม

ถ. รู้แล้ว

สุ. รู้หมดหรือยัง

ถ. ก็ยังไม่หมดทีเดียว

สุ. ยังไม่หมด ก็ต้องรู้อีกต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นอริยสัจธรรม

ถ. เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น อาจารย์ก็ย้ำว่า ไม่ควรจะ จดจ้องในรูปใดรูปหนึ่ง หรือนามใดนามหนึ่ง และอาจารย์แนะนำให้สังเกต ให้พิจารณา แต่ขณะที่สังเกต กับขณะที่จดจ้อง มีลักษณะต่างกันอย่างไร คือว่า ขณะที่เห็น ขณะนั้นก็สังเกตที่นามเห็นนั้นนานๆ อยู่ สังเกตว่า เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็นนั้นไม่ใช่ลักษณะเดียวกัน และขณะที่จดจ้อง ก็จดจ้องกันอย่างนั้น ขณะที่พิจารณากับขณะที่จดจ้อง มีลักษณะต่างกันอย่างไร

สุ. เรื่องของพยัญชนะเป็นเรื่องที่ลำบาก ซึ่งท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ในขณะที่สติเกิด หรือหลงลืมสติ เป็นขณะที่ต่างกัน ประการแรก

ขณะใดที่มีสติ และสังเกต สำเหนียกตามปกติ ตามธรรมดา ตามธรรมชาติ ไม่ใช่เกร็ง หรือจ้อง หรือผิดปกติ ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าจดจ้องจะเป็นอาการที่ผิดปกติ ซึ่งจะสังเกตได้อีกเหมือนกันว่าขณะนั้นเป็นการจ้อง และเวลาที่เกิดการจดจ้องแล้ว ภายหลังก็จะระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นการจดจ้อง ก็จะเกิดการระลึกตามปกติขึ้น

เพราะฉะนั้น จะต้องสังเกตมากทีเดียว เรื่องของการที่ปัญญาจะเจริญขึ้น จะขาดการสังเกต จะขาดการพิจารณาไม่ได้เลย ต้องเป็นผู้ที่สังเกตละเอียดขึ้น เพื่อละความผิดปกติ ละความจดจ้อง ละความต้องการ ละความยึดถือว่าเป็นตัวตนในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ. หมายความว่า ขณะที่จดจ้อง กับขณะที่สังเกต ขณะนั้นลักษณะก็อันเดียวกัน แต่ต่างกันตรงมีสติกับหลงลืมสติเท่านั้น

สุ. และก็เป็นปกติ ตามธรรมชาติ หรือว่าเป็นการจ้อง จดจ้องเป็นการผิดปกติ การผิดปกติจะรู้สึกได้ แต่ว่าสัมปชัญญะคือตามปกติ ไม่ผิดปกติ จึงเป็นสัมปชัญญะ เคยรู้สึกเกร็งๆ บ้างไหม จดๆ จ้องๆ นั้นเอง เป็นการจดจ้อง ไม่ใช่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นปกติธรรมดา

ถ้ารู้สึกว่า ชักจะเกร็ง หรือชักจะจดจ้อง เวลาที่รู้สึกตัว ก็คลายความเกร็ง ความจดจ้อง มีความรู้ว่า ถึงจะไม่เกร็งอย่างนั้น ถึงจะไม่จดจ้องอย่างนั้น สภาพธรรมก็ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง แต่พอไปจดจ้องหรือพอไปเกร็ง สภาพธรรมไม่เป็นไปตามปกติ เพราะว่าความเกร็งหรือความจดจ้องไปทำให้ผิดปกติ และควรที่จะได้ทราบว่า ปัญญาจริงๆ ที่จะละคลายกิเลส ต้องรู้สภาพธรรมที่เกิดแล้วตามปกติ ตามเหตุปัจจัยในขณะนี้ อย่าคิดที่จะตั้งสติขึ้นมา นั้นเริ่มที่จะจดจ้องแล้ว

เพราะฉะนั้น ลักษณะของสัมมาสติ คือ ปกติธรรมดาอย่างนี้ ระลึกเมื่อไร นั่นคือ สติเกิด สังเกต สำเหนียก พิจารณาตามปกติตามธรรมชาติ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติจริงๆ อย่าเกร็ง อย่าผิดปกติ

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เรื่องของการดับกิเลส แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่จะกระทำได้จริงในวันหนึ่ง กิเลสจะดับได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิด ไม่ว่ากิเลสใดๆ ทั้งสิ้น ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดและดับกิเลสเหล่านั้นได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทจริงๆ แต่ว่าเป็นเรื่องที่ยาก และเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่วันเดียว ๒ วัน ๗ วัน ๗ เดือน ถ้าเหตุยังไม่สมควรแก่ผล คือ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาไม่เจริญขึ้นที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่ตัวตน ก็จะไม่มีการที่จะเป็นวันนี้ พรุ่งนี้ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

ยิ่งอบรมเจริญสติปัฏฐานมากเท่าไร ยิ่งเห็นกิเลสมากเท่านั้น จริงหรือเปล่า หรือว่าไม่จริง ถ้าไม่จริง หมายความว่า ตัวท่านไม่มีกิเลส แต่เพราะเหตุว่าทุกท่านทราบว่า ท่านมีกิเลสมากเหลือเกิน กิเลสแรงๆ ก็มาก กิเลสหยาบๆ ก็มาก กิเลสกลางๆ ก็มาก กิเลสละเอียดก็ยังเต็มที่ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ย่อมเห็นกิเลสชัดตามความเป็นจริงว่า กิเลสนั้นๆ ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน

กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่ได้ดับไป มีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ปัญญาที่จะเห็นกิเลสเหล่านั้นตามความเป็นจริงว่า กิเลสเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตน ก็ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของกิเลสที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

โลภะเป็นสิ่งที่ทุกคนมี และก็ยังดับไม่ได้ จนกว่าจะบรรลุคุณธรรมขั้นอรหัตตมรรคจิตเกิดขึ้นเมื่อไร โลภมูลจิตหรือโลภเจตสิกจึงจะดับสนิทไม่เกิดอีกเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องไปดับโลภะก่อนที่อรหัตตมรรคจิตจะเกิด หรือแม้มานะ ความสำคัญตน ความถือตน ทุกคนยังมี ผู้ที่ไม่มีคือพระอรหันต์ มานะจะดับเป็นสมุจเฉทได้ในขณะที่อรหัตตมรรคจิตเกิด แต่ว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ผู้ที่ยังไม่ใช่ พระอริยเจ้า จะต้องระลึกรู้ลักษณะของมานะซึ่งเกิดปรากฏ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สภาพของมานะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

วันหนึ่งๆ เคยทราบไหมว่า ตัวท่านนั้นมีมานะมากหรือน้อยแค่ไหน สภาพของความถือตน สำคัญตน ยกตน มีความรู้สึกเป็นเขา เป็นเรา เป็นใคร นี่คือลักษณะของมานะ เพราะฉะนั้น ถ้าสติเกิด จะเห็นตามความเป็นจริงว่า กิเลสอย่างนี้ก็ยังมี และก็มีบ่อยๆ แล้วแต่ว่าท่านจะมีมากหรือจะมีน้อย แต่ว่าต้องมีแน่นอนที่สุด ถ้าสติไม่เกิด ก็คิดว่าไม่มี ไม่เห็นแม้แต่มานะ มานะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบถ้าสติไม่เกิด แต่ถ้าสติเกิด รู้ชัดตามความเป็นจริงในสภาพที่สำคัญตน ถือตน หรือว่ายกตนข่มบุคคลอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

สำหรับการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่ว่าจะข้าม ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นสภาพธรรมนี้ซึ่งท่านสะสมมาแล้วเกิดขึ้น และก็จะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ ซึ่งตามความเป็นจริงนั้น ไม่ว่าตัวท่านจะสะสมกิเลสใดมามากน้อยเพียงไร อย่างท่านที่สะสมมานะมามากๆ มานะก็มีปัจจัยที่จะเกิดบ่อยๆ สติก็จะต้องระลึกรู้มานะนั้นตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ท่าน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

เรื่องของมานะเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งควรจะขัดเกลาให้เบาบาง พร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานด้วย และขณะไหนที่ท่านมีมานะ ก็คือ ขณะที่ไม่มีความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม สังเกตดูได้ในวันหนึ่งๆ เป็นความจริงไหม ควรจะแสดงความนอบน้อมต่อบุคคลที่ควรอ่อนน้อม แต่ว่าขณะนั้นจิตกระด้างหรือว่าสำคัญตนเกิดขึ้น จึงไม่นอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม

ถ้าเจริญสติจะระลึกได้ จะรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะนั้นจิตมีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งเป็นกิเลส เป็นอกุศลธรรม เป็นสิ่งที่ควรละให้เบาบาง ถ้าขณะนั้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีใคร เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นท่านก็จะละคลายความสำคัญตน จิตใจที่กระด้างก็จะอ่อนโยน ซึ่งขณะนั้นเป็นกุศล เป็นจิตที่ปราศจากราคะและปราศจากมานะ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในบรรพที่เป็นวีตราคจิต

สำหรับเรื่องของการอ่อนน้อม ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต วันทนาสูตร ข้อ ๕๙๔ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การไหว้ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ไหว้ทางกาย ๑ ไหว้ทางวาจา ๑ ไหว้ทางใจ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การไหว้ ๓ อย่างนี้แล ฯ

ขณะนั้นเป็นความอ่อนน้อมที่เกิดขึ้น บางท่านแสดงทางกาย บางท่านแสดงทางวาจา วาจาที่อ่อนน้อม ที่อ่อนโยน ในขณะนั้นเกิดจากจิตที่ปราศจากมานะ และบางครั้ง บางท่านอาจจะไม่ได้แสดงทางกาย ไม่ได้แสดงทางวาจา แต่ใจที่เห็นความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีช่องว่างระหว่างคนนั้นกับคนนี้หรือคนโน้นเลย เพราะว่าได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นความอ่อนน้อมทางใจในทุกคนที่ท่านพบ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการอบรมเจริญกุศล ขัดเกลามานะ ความสำคัญตนให้เบาบางลง

คงจะมีหลายท่านที่มีความนอบน้อมทางใจ โดยที่ไม่ได้แสดงออกทางกาย ทางวาจา แต่ใครจะทราบว่าขณะนั้นเป็นจิตที่อ่อนน้อม ถ้าสติเกิดระลึกรู้ ก็รู้ในสภาพของจิตที่อ่อนน้อมในขณะนั้นว่า เป็นสภาพของจิตที่เป็นกุศล ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าไม่นาน พอถึงขณะอื่น ความยกตน สำคัญตนก็เกิดอีก ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็จะมีกุศลธรรมบ้าง อกุศลธรรมบ้าง สลับกันไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าสติเกิดก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่อ่อนน้อมทางใจได้ แม้ว่าขณะนั้นไม่ได้แสดงออกทางกาย ทางวาจา

มีบ้างไหม ท่านที่มีความอ่อนน้อมทางใจ แม้ว่าไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา และขณะใดที่วาจาอ่อนโยน ไม่มีความสำคัญตนที่แสดงออกทางวาจาที่เป็นการยกตนหรือข่มบุคคลอื่น ในขณะนั้นก็เป็นการไหว้ หรือว่าการอ่อนน้อมทางวาจา

เปิด  255
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566