แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 586

เป็นชีวิตปกติประจำวันใช่ไหม เรื่องของความเจ็บไข้ เวลาเห็นแล้วรู้สึกอย่างไร เวลาที่เห็นคนเจ็บไข้ เบื่อ อึดอัด ระอา รังเกียจ ช่วยตัวเองไม่ได้ น่ารังเกียจเหลือเกิน ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เมามากทีเดียวที่ลืมว่า คนที่กำลังเจ็บไข้นี้ก็คือตัวท่าน ไม่วันใดก็วันหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งก่อนที่คนนั้นจะเจ็บไข้ ก็เหมือนตัวท่านที่ไม่มีความเจ็บไข้ แต่วันหนึ่งก็จะต้องประสบกับความเจ็บไข้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะรังเกียจ อึดอัด ระอาผู้ซึ่งกำลังเจ็บไข้ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลย

และสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นบ้างไหม ถ้ายังไม่ระลึกรู้ ก็ทราบความจริงได้ว่า หลงลืมสติมาก แล้ววันไหนจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

นี่เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งจะต้องรู้สภาพธรรมทุกสถานการณ์ ทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าจะประสบกับคนแก่ คนเจ็บประการใดก็ตาม สติควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ถ้าคิดว่าไม่ต้องรู้ วันหนึ่งๆ ผ่านไป เห็นคนแก่จิตใจจะเป็นอย่างไรก็ช่าง เห็นคนเจ็บจิตใจจะเป็นอย่างไรก็ช่าง วันไหนจะรู้ความจริงว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เมื่อไรกิเลสจึงจะดับได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ถ้ายังหลงลืมสติมาก ก็รู้ว่าจะต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติยิ่งขึ้น

ข้อความต่อไปมีว่า

ปุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เห็นคนอื่นที่ตายแล้ว ก็ล่วงตนเองเสีย แล้วอึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่คิดว่า แม้เราก็เป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ก็และการที่เราซึ่งเป็นคนมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ได้เห็นคนอื่นที่ตายไปแล้ว พึงอึดอัด ระอา รังเกียจ ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นสำเหนียกอยู่ดังกล่าวมา ย่อมละความเมาในชีวิตเสียได้โดยประการทั้งปวง

เรื่องของการที่จะเห็นคนตาย ก็เป็นชีวิตประจำวันอีกเหมือนกัน สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะที่เห็นคนตายบ้างหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จึงจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมลักษณะต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ที่เห็นคนแก่บ้าง เห็นคนเจ็บบ้าง เห็นคนตายบ้าง และก็จะได้รู้ความจริงว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

มีใครบ้างไหมที่ไม่รังเกียจคนตาย อยู่ด้วย ๓ – ๔ วันได้ไหม ขึ้นพอง มีหนอน มีน้ำหนอง มีเลือด บวม พอง แตก เขียวคล้ำ สีต่างๆ มีใครไม่รังเกียจบ้าง

ถ้ารังเกียจ ก็เป็นสภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น รู้ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ว่าท่านที่เคยรังเกียจคนตาย อย่าลืมว่า คือตัวท่านเองแน่นอนที่สุด ตัวของท่านจะเป็นอย่างนั้นในวันหนึ่ง ไม่มีใครพิเศษจากบุคคลอื่น เหมือนกันทั้งหมด นี่คือความจริง

เพราะฉะนั้น การที่จะได้รู้ความจริง ระลึกถึงความจริงบ่อยๆ และเห็นความจริง เปรียบเทียบอสุภะต่างๆ รู้ว่าท่านเองก็คืออสุภะ ไม่ผิดกันเลยในวันหนึ่ง ในขณะนั้นจะทำให้ละความเมาได้ชั่วคราว เพราะถ้ากิเลสยังไม่ดับหมด สร่างเมาได้นิดหนึ่งก็เมาต่อไปอีก จนกว่าจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เมานี่ เมามากด้วยกิเลส ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมเป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดขึ้น

ข้อความต่อไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเมา ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเมาในความเป็นหนุ่มสาว ๑ ความเมาในความไม่มีโรค ๑ ความเมาในชีวิต ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้เมาด้วยความเมาในความเป็นหนุ่มสาว ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ครั้นแล้ว เมื่อกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้เมาแล้วด้วยความเมาในความไม่มีโรค ฯลฯ หรือปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้เมาแล้วด้วยความเมาในชีวิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ครั้นแล้ว เมื่อกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เมาแล้วด้วยความเมาในความเป็นหนุ่มสาว ย่อมลาสิกขาสึกไป ภิกษุผู้เมาแล้วด้วยความเมาในความไม่มีโรค ฯลฯ หรือภิกษุผู้เมาแล้วด้วยความเมาในชีวิต ย่อมลาสิกขาสึกไป ฯ

ปุถุชนเป็นผู้มีความป่วยไข้ ความแก่ และความตายเป็นธรรมดา มีอยู่ตามธรรมดา แต่พากันรังเกียจ ก็การที่เราพึงรังเกียจความป่วยไข้ ความแก่ และความตายนี้ ในหมู่สัตว์ซึ่งมีธรรมดาอย่างนี้ ข้อนั้นไม่สมควรแก่เราผู้มีปกติอยู่เช่นนี้ เรานั้นเป็นอยู่เช่นนี้ รู้จักธรรมที่หมดอุปธิ เห็นเนกขัมมะโดยความเป็นธรรมเกษม ย่อมครอบงำความเมาในความไม่มีโรค ในความเป็นหนุ่มสาว และในชีวิตเสียได้ทั้งหมด ความอุตสาหะได้เกิดแล้วแก่เราผู้เห็นนิพพานด้วยปัญญาอันยิ่ง บัดนี้ เราไม่ควรที่จะกลับไปเสพกาม เราจักเป็นผู้ไม่ถอยหลัง จักเป็นผู้มีพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เมาหรือเปล่า ถ้ากำลังไม่มีโรค ลืมคิดว่าจะต้องมีโรค ก็เมา ยังไม่แก่ ลืมคิดว่าจะต้องแก่ ก็เมา ยังไม่ตาย ลืมคิดไปว่าจะต้องตาย ก็เมา

ถ. ตอนเป็นหนุ่มสาว ทำอย่างไรจะหายเมาได้ ทำให้จิตใจเราไม่เมาจนเกินไป

สุ. เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นหนทางเดียว ถ้ารู้ตัวว่าเมา ก็ยังดีกว่าไม่รู้ใช่ไหม ขณะใดที่หลงลืมสติก็เมาแล้ว เมาจริงๆ เมาในความเป็นหนุ่มสาว เมาในความไม่มีโรค เมาในความมีชีวิตซึ่งยังไม่ตาย แต่ต้องตายแน่

เพราะฉะนั้น วันนี้เมาแล้วแค่ไหน คิดเป็นวันๆ ก็ได้ ตั้งแต่เช้ามาจนถึงเดี๋ยวนี้ ก็เมานับไม่ถ้วนแล้ว ต่อไปบ่ายถึงเย็น ยังเมาอยู่อีก พรุ่งนี้ก็เหมือนอย่างนี้ ทุกวันไป ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีหนทางที่จะสร่างเมาหรือละความเมาได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท

ข้อสำคัญอย่าลืมว่า ความรู้หรือปัญญาต้องเกิดขึ้นจึงจะดับกิเลสได้ หลายท่านพยายามที่จะละคลาย ดับกิเลส โดยไม่อบรมเจริญความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ถ้าเป็นในลักษณะนี้ ไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้ด้วยความที่ยังเป็นตัวตน ยังเป็นเราซึ่งสามารถจะละคลายกิเลส

กิเลสนี้ละเอียดมาก ลึกมาก ถ้ายังมีความเห็นผิดในสภาพธรรม แม้ในสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ยึดถือว่าเป็นเราต่างหากที่รู้ เราเป็นผู้ที่ใช้สติ เราเป็นผู้ที่มีสติ โดยนัยนี้ไม่สามารถที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ และเมื่อเมาแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ที่มีมานะแน่นอน เพราะว่าบุคคลอื่นเป็นอย่างนั้น แต่ตัวท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น ในความคิดขณะนั้น

ข้อความในพระสูตร จะเป็นเครื่องเตือนให้ท่านผู้ฟังได้ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะได้ระลึกถึงความจริงที่เกิดขึ้นกับตัวท่านและบุคคลทั้งหลาย เพื่อที่จะได้ไม่หลงลืมสติ และเพียรด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ

ขอกล่าวถึงเรื่องภัย ซึ่งทุกท่านก็คงจะกลัว ไม่มีใครต้องการที่จะประสบภัยใดๆ ทั้งสิ้น และบางท่านก็ถือว่า ภัยนั้นเป็นภัยใหญ่ ภัยนี้ใหญ่กว่าภัยนั้น หรือภัยนั้นร้ายแรงกว่าภัยโน้น เป็นต้น แต่ภัยที่แท้จริงนั้น คืออย่างไร

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ภยสูตร ข้อ ๕๐๒ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวภัย ๓ อย่างนี้ว่า เป็น อมาตาปุตติกภัย ภัย ๓ อย่างเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่มีการเกิดไฟไหม้ใหญ่ เมื่อเกิดไฟไหม้ใหญ่แล้ว แม้บ้านก็ถูกไฟเผา แม้นิคมก็ถูกไฟเผา แม้นครก็ถูกไฟเผา เมื่อบ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ถูกไฟเผาอยู่ในที่นั้นๆ แม้มารดาก็ไม่พบบุตร บุตรก็ไม่พบมารดา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวภัยข้อที่ ๑ นี้ว่า เป็นอมาตาปุตติกภัย

การพลัดพรากกันของมารดากับบุตร มีประการหนึ่งที่คนทั่วไปมองเห็น คือ เมื่อเกิดไฟไหม้ใหญ่ มารดาก็พลัดพรากจากบุตร บุตรก็พลัดพรากจากมารดา ผู้ซึ่งเคยเป็นที่รัก ที่เคยเกี่ยวข้องกัน ก็พลัดพรากจากกันด้วยภัยใหญ่ ซึ่งปุถุชนเห็นว่า ภัยนั้นคือไฟไหม้ เมื่อมีไฟไหม้ใหญ่ก็จะมีการพลัดพราก จริงหรือเปล่า กลัวไหม ไฟไหม้ อันตรายมาก ย่อมทำให้เกิดการพรากจากกันระหว่างมารดากับบุตร นี่เป็นความเห็นของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

ข้อความต่อไป

อีกประการหนึ่ง สมัยที่มหาเมฆตั้งขึ้นมีอยู่ ก็เมื่อมหาเมฆตั้งขึ้นแล้ว ย่อมเกิดห้วงน้ำใหญ่ เมื่อเกิดห้วงน้ำใหญ่แล้ว แม้บ้านก็ถูกน้ำพัดไป แม้นิคมก็ถูกน้ำพัดไป แม้นครก็ถูกน้ำพัดไป เมื่อบ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ถูกน้ำพัดไปอยู่ ในที่นั้นๆ แม้มารดาก็ไม่พบบุตร แม้บุตรก็ไม่พบมารดา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวภัยข้อที่ ๒ นี้ว่า เป็นอมาตาปุตติกภัย

วันนี้ทุกคนที่เป็นบุตร ยังอยู่กับมารดาบิดา ยังไม่มีการพลัดพราก ในความรู้สึกของท่าน ยังไม่พราก ยังไม่แยกขาดจากกัน จะแยกจากกันก็เมื่อมีไฟไหม้บ้าง น้ำท่วมบ้าง

ข้อความต่อไป

อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีภัย คือ โจรป่ากำเริบ พวกชาวชนบทต่างพากันขึ้นยานหนีไป ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสมัยที่มีภัย คือ โจรป่ากำเริบ เมื่อชาวชนบทต่างพากันขึ้นยานหนีไป ในที่นั้นๆ แม้มารดาก็ไม่พบบุตร แม้บุตรก็ไม่พบมารดา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวภัยข้อที่ ๓ นี้ว่า เป็นอมาตาปุตติกภัย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวภัย ๓ อย่างนี้แลว่า เป็นอมาตาปุตติกภัย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวสมาตาปุตติกภัยแท้ๆ ๓ อย่างนี้นั้นแลว่า เป็นอมาตาปุตติกภัย ภัย ๓ อย่างนั้น เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่มีการเกิดไฟไหม้ใหญ่ เมื่อเกิดไฟไหม้ใหญ่แล้ว แม้บ้านก็ถูกไฟเผา แม้นิคมก็ถูกไฟเผา แม้นครก็ถูกไฟเผา แม้บ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ถูกไฟเผาอยู่ สมัยที่มารดาก็พบบุตร แม้บุตรก็พบมารดา เป็นบางครั้งบางแห่งมีอยู่ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวสมาตาปุตติกภัยแท้ๆ ข้อที่ ๑ นี้ว่า เป็นอมาตาปุตติกภัย

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริงว่า ถึงแม้ว่าจะมีไฟไหม้ใหญ่ มารดาก็ยังพบบุตรได้อีก บุตรก็ยังพบมารดาได้อีก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ภัยใหญ่ที่แท้จริง แต่ว่าปุถุชนไม่เห็นภัยอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ ปุถุชนก็เลยกล่าวแต่เพียงว่า ไฟไหม้ใหญ่นี้เป็นภัยที่พราก ที่แยกมารดาจากบุตร และแยกบุตรจากมารดา

ข้อความต่อไป

อีกประการหนึ่ง สมัยที่มหาเมฆตั้งขึ้นมีอยู่ ก็เมื่อมหาเมฆตั้งขึ้นแล้ว ย่อมเกิดห้วงน้ำใหญ่ เมื่อเกิดห้วงน้ำใหญ่แล้ว แม้บ้านก็ถูกน้ำพัดไป แม้นิคมก็ถูกน้ำพัดไป แม้นครก็ถูกน้ำพัดไป เมื่อบ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ถูกน้ำพัดไปอยู่ สมัยที่มารดาก็พบบุตร แม้บุตรก็พบมารดา เป็นบางครั้งบางแห่งมีอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวสมาตาปุตติกภัยแท้ๆ ข้อที่ ๒ นี้ว่า เป็นอมาตาปุตติกภัย

น้ำท่วม แยกย้ายพลัดพรากจากกัน ก็ยังกลับมาพบกันได้ ไม่ใช่แยกขาดจากกันจริงๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้สดับ ยังไม่ได้เห็นว่าภัยจริงๆ ที่ยิ่งกว่านั้นมีอยู่ ก็กล่าวว่า น้ำท่วมเป็นภัยใหญ่ ซึ่งความจริงแล้ว เป็นสมาตาปุตติกภัย ไม่ใช่อมาตาปุตติกภัย

ข้อความต่อไป

อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีภัย คือ โจรป่ากำเริบ พวกชาวชนบทต่างพากันขึ้นยานหนีไป ก็เมื่อภัย คือ โจรป่ากำเริบ เมื่อพวกชาวชนบทต่างพากันขึ้นยานหนีไป สมัยที่มารดาก็พบบุตร แม้บุตรก็พบมารดา เป็นบางครั้งบางแห่งมีอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวสมาตาปุตติกภัยแท้ๆ ข้อที่ ๓ นี้ว่า เป็น อมาตาปุตติกภัย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวภัย ๓ อย่างนี้แล ซึ่งเป็นสมาตาปุตติกภัยแท้ๆ ว่า เป็นอมาตาปุตติกภัย

สมัยที่บ้านเมืองแตก บ้านแตกสาแหรกขาด ต้องพลัดพรากจากกัน มารดาไม่พบบุตร บุตรไม่พบมารดา ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับก็คิดว่า นั่นเป็นภัยใหญ่ยิ่งในชีวิต แต่ความจริงแล้ว แม้ว่าบ้านแตกสาแหรกขาด หรือบ้านเมืองแตกอย่างไรก็ตาม โอกาสที่มารดาจะพบกับบุตร หรือบุตรจะพบกับมารดา ก็ยังมีได้ เพราะฉะนั้น ภัยที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ที่แยกขาดจากกันจริงๆ พรากมารดาและบุตร บุตรและมารดาจริงๆ นั้น คือภัยอะไร สิ่งนั้นคืออะไร

ข้อความต่อไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๓ อย่างนี้ เป็นอมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างนั้นเป็นไฉน คือ ภัยคือความแก่ ๑ ภัยคือความเจ็บ ๑ ภัยคือความตาย ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุตรแก่ มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงแก่ บุตรของเราอย่าได้แก่ ก็หรือว่า เมื่อมารดาแก่ บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงแก่ มารดาของเราอย่าได้แก่

จริงไหม แยกขาดจากกัน บุตรเป็นส่วนบุตร มารดาส่วนมารดา ถึงคราวที่มารดาจะแก่ บุตรไม่อยากจะให้มารดาบิดาท่านแก่เฒ่าเลย ท่านจะลำบาก ท่านจะมีความเบื่อหน่ายในชีวิตต่างๆ เพราะฉะนั้น บุตรอาจจะขอแก่แทนมารดาบิดา ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ แยกขาดจากกันจริงๆ บุตรส่วนบุตร มารดาส่วนมารดา บิดาส่วนบิดา พรากจากกัน ไม่สามารถที่จะทดแทนช่วยเหลือกันได้ ทุกคนต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย

หรือแม้บุตร ถึงคราวที่บุตรแก่ มารดาบิดาก็ไม่อยากจะให้บุตรแก่เลย เพราะว่าบุตรเคยไม่แก่ เคยเป็นหนุ่มเป็นสาว เคยสวยงาม เวลานี้บุตรก็จะแก่เสียแล้ว เพราะฉะนั้น มารดาก็ขอแก่แทน ขอบุตรของเราจงอย่าแก่เลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้ นี่คือภัยจริงๆ ซึ่งพราก แยกมารดาบิดาจากบุตรธิดาด้วยประการทั้งปวง

เปิด  270
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566