แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 589

ถ. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ขณะที่หลงลืมสติก็รู้ ขณะที่มีสติก็รู้ ผมไม่สงสัย ขณะที่มีสติรู้ แต่สงสัยแต่ว่า ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นรู้ได้อย่างไร

สุ. ถ้ารู้ขณะที่มีสติ ต้องรู้ความต่างกันว่า ขณะที่มีสติไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติแน่

ถ. หมายความว่า ขณะหลงลืมสติ ก็ไม่รู้ว่าหลงลืมสติ ต่อเมื่อสติเกิดขึ้น ก็รู้ว่า เมื่อสักครู่นี้หลงลืมสติ อย่างนี้ใช่ไหม

สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น ผู้ที่สติยังไม่เกิดเลย ไม่มีโอกาสเลยที่จะรู้ว่า ท่านหลงลืมสติตลอดเวลา จนกว่าเมื่อไรที่สติเกิดขึ้น ท่านจึงจะรู้ความต่างกัน สติเกิดขึ้นน้อยจริงๆ ขณะที่หลงลืมสติมีมากกว่ามากทีเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าสติยังไม่เกิด จะไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่า ท่านหลงลืมสติมาตลอดเวลา แต่พอเริ่มมีสติ จะทราบว่า ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ

การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ขอให้ทราบความจริงว่า ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย จึงได้รู้ชัดว่า สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนนั้น เพราะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่สะสมมา บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดก็ตามที่กำลังปรากฏ ก็จะรู้ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอนัตตาจริงๆ เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้จริงๆ เช่น ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ใครบังคับการเห็นได้ การเห็นเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปบังคับจะไม่ให้เห็น แต่ว่าสติระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ ถ้ายังไม่เกิด อย่าไปพยายามให้เกิด หรือที่เกิดแล้วก็อย่าไปคิดบังคับที่จะไม่ให้เกิด สภาพธรรมมีปัจจัยเกิดอยู่ตลอดเวลา และสภาพธรรมที่เกิดก็ดับแล้วด้วย เกิดขึ้น ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่เรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา คือ ระลึกได้ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ถ้ายังไม่รู้ ก็เป็นความจริงที่ยังไม่รู้ และวิธีที่จะรู้จะทำอย่างไร จะข้ามไปให้ไม่รู้ทางตา และจะไปเป็นพระอริยเจ้า จะให้หมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

กำลังเห็นนี้ ไม่รู้สักทีว่า ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร กำลังเห็นเป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร วิธีเดียวที่จะรู้ได้ คือ ระลึก ไม่ลืม ระลึกรู้ คือ ไม่ลืมที่จะสังเกต รู้ว่า ขณะเห็นนี้เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้เฉพาะสี คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น รู้อื่นไม่ได้ ในขณะที่กำลังเห็นนี้ เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น รู้อื่นไม่ได้เลย สภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพรู้ อาการรู้ชนิดหนึ่งเท่านั้น ค่อยๆ ระลึกไปเรื่อยๆ

ทางหู รู้หรือยัง ทางจมูก รู้หรือยัง ทางลิ้น รู้หรือยัง ทางกาย รู้หรือยัง ทางใจ รู้หรือยัง จะตอบว่าอย่างไร รู้แล้ว หรือยังไม่รู้

สำหรับผู้ที่ปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงด้วย ถ้ายังไม่รู้ ถามว่า ระลึกหรือเปล่า ก็ต้องตรงตามความเป็นจริงอีกว่า ระลึกหรือเปล่า ถ้าไม่ระลึก ก็หลงลืม เพราะฉะนั้น ก็ระลึกในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ตามปกติ

ความยากของการเจริญอบรมสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ยาก คือ รู้สภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติ ตามเหตุปัจจัย

ถ้าจะให้ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใดด้วยความตั้งใจ ด้วยความพากเพียรที่จะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นให้รู้ นั่นไม่ยาก เพราะว่ามีความต้องการ มีความพยายามที่จะกระทำ แต่ที่จะให้ระลึกรู้ในสภาพธรรมที่เป็นปกติ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยทุกๆ ขณะตามความเป็นจริง อันนี้แสนยาก เพราะเหตุว่าปัญญาจะต้องค่อยๆ อบรมจนกว่าจะมีกำลังที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม หรืออัพยากตธรรม คือ ธรรมซึ่งไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล

หมายความว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล วิธีที่จะอบรมให้ปัญญาคมกล้าเป็นพละ คือ เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ให้เป็นอุปนิสัยที่สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติได้

ถ้าไม่อบรม ก็ไม่สามารถที่จะระลึกได้สักที ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ยากอยู่นั่นเอง แต่สิ่งที่ยากนี้จะง่ายขึ้น ถ้ามีการอบรมโดยไม่เลือกอารมณ์ ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกเวลาด้วย เพราะสติสามารถที่จะเกิดเมื่อไรก็ได้เช่นเดียวกับโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลทั้งหลาย สามารถที่จะเกิดขึ้นในสถานที่ไหนก็ได้ เมื่อสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติก็ย่อมจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในสถานที่ไหนก็ได้ ในเวลาไหนก็ได้ และก็ค่อยๆ อบรมไปจนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ถ. ที่ผมพบหลายแห่ง หลายสูตร พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ละคลายฉันทราคะ หรือความเพลิดเพลินในอัตภาพ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในขันธ์ ๕ อะไรเหล่านี้ แต่ท่านไม่ได้เน้นโทสะเลย อาจารย์กรุณาอธิบายว่า ในขณะที่ละคลายราคะ โทสะและโมหะจะถูกละไปด้วยหรืออย่างไร

สุ. ต้องอ่านให้ทั่ว ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าท่านให้ละโลภะอย่างเดียว อกุศลธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่จะต้องละ หรือดับให้หมดเป็นสมุจเฉท

ถ. ใช่ แต่ท่านตรัสสั้นๆ แค่นั้น เหมือนกับกินความหมดเลย

สุ. แม้แต่ในสติปัฏฐาน ละอภิชฌา โทมนัส โลภะ โทสะ และในขณะที่สติเกิดก็ละโมหะ การหลงลืม ทั้ง ๓ อย่าง

ถ. แต่มีหลายสูตร ที่พูดแต่ละคลายฉันทราคะ ละคลายความเพลิดเพลิน

สุ. เพราะว่ามีมากเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทุกคนมีความพอใจ มีฉันท-ราคะอยู่เป็นประจำทีเดียว เพราะฉะนั้น ก็ควรจะรู้ลักษณะของโลภะ หรือฉันทราคะ หรือกามราคะ ซึ่งเป็นโลภะ อีกอย่างหนึ่ง โลภะเป็นสมุทัย

ถ. แล้วโทสะ

สุ. โทสะไม่ได้เป็นสมุทัย โทสะเป็นทุกขอริยสัจจะ

ถ. คือตัดราคะแล้ว ทุกอย่างก็ ...

สุ. ดับสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะว่าดับสมุทัย

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันทั้งเพศบรรพชิตและคฤหัสถ์ เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพนามธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย เวลานี้ทุกท่านกำลังมีจิต มีจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น การที่ทรงแสดง มหาสติปัฏฐานสูตร ก็เพื่อที่จะไม่ให้หลงลืมสติ มีสภาพธรรมที่เกิดปรากฏ ที่เป็นกาย เวทนา จิต ธรรม พร้อมที่จะให้ระลึกรู้ความจริง ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นจิตของเรา และจิตของทุกท่านในขณะนี้ไม่เหมือนกันเลย สะสมมาต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น เวลานี้จิตของใครจะมีลักษณะอย่างไร คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ นอกจากสติของบุคคลนั้นเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าอยากรู้จักตัวเอง อยากเข้าใจจิตใจของตนเองว่า จิตใจของตัวเองดีมากไหม ร้ายมากไหม ก็จะระลึกรู้ได้ตามความเป็นจริง ด้วยสติที่ระลึกรู้ในลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏ

เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะรู้จักจิตใจของท่านเองได้ โดยการระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่กำลังปรากฏ จะรู้จริงๆ ตัดสินตัวของท่านได้ โดยที่คนอื่นไม่สามารถจะตัดสินความดีความชั่วของท่านได้ตรงเท่ากับสติที่ระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น

สำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน แม้ในเพศของบรรพชิต ที่เป็นไปในเรื่องของการอ่อนน้อม การที่จะขัดเกลากิเลสที่เป็นมานะ ความถือตัว ความสำคัญตน ด้วยการเป็นผู้ที่เจริญความอ่อนน้อม ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย ขุททกกัณฑวรรณนา โอวาทสิกขาบทที่ ๑ มีข้อความว่า

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สามีจิกมฺมํ ได้แก่ วัตรอันสมควร มีการหลีกทางให้ พัดวี และถามโดยเอื้อเฟื้อด้วยน้ำดื่มเป็นต้น

นี่เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าท่านผู้ใดคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ย่อมผิด เพราะนี่เป็นวัตร ข้อปฏิบัติของภิกษุณีที่ควรประพฤติต่อพระภิกษุ

ข้อความต่อไปมีว่า

ก็บรรดาวัตร มีการอภิวาทเป็นต้นนี้ ชื่อว่าการกราบไหว้ภิกษุ อันภิกษุณีพึงกระทำแท้ ภายในบ้านก็ดี นอกบ้านก็ดี ภายในวิหารก็ดี ภายนอกวิหารก็ดี ในละแวกบ้านก็ดี ในตรอกก็ดี โดยที่สุดแม้เมื่อการขับไล่เพราะเหตุพระราชาเสด็จมาเป็นไปอยู่ก็ดี เมื่อฝนกำลังตกก็ดี ในพื้นดินมีโคลนตมเป็นต้นก็ดี มีร่มและบาตรอยู่ในมือก็ดี ถูกช้างและม้าเป็นต้นไล่ติดตามก็ดี

แสดงให้เห็นว่า การขัดเกลากิเลสไม่เว้น ฝนจะตก หรือว่าภายในวิหาร ภายนอกวิหาร ภายในตรอก ภายในบ้าน ภายนอกบ้าน ก็มีกิจที่ควรกระทำเพื่อขัดเกลากิเลส คือ การละคลายมานะ ด้วยการแสดงวัตร คือ อภิวาท กราบไหว้ภิกษุ

ข้อความต่อไปมีว่า

ภิกษุณีเห็นพวกภิกษุเข้าสู่ที่ภิกขาจาร เดินเป็นแถวเนื่องกันเป็นแถวเดียว จะไหว้ในที่แห่งเดียว ด้วยกล่าวว่า ดิฉันไหว้พระคุณเจ้า ดังนี้ ก็ควร ถ้าภิกษุทั้งหลายเดินเว้นระยะในระหว่างห่างกัน ๑๒ ศอก พึงแยกไหว้

มีประโยชน์ไหมสำหรับท่านผู้ฟังที่จะรู้ว่า จิตของท่านในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าไม่ไหว้ เดินผ่านกันไปมาบ่อยๆ กุศลจิตเกิดหรืออกุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ยากที่จะเห็นว่า ตัวของท่านเต็มไปด้วยอกุศลมากมายเหลือเกิน แม้แต่จะแสดงความอ่อนน้อม นอบน้อมต่อผู้ที่ควรจะอ่อนน้อมก็ไม่มี หรือไม่เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าสติเกิดในขณะนั้น จะรู้ลักษณะของจิตที่หยาบกระด้าง ที่ไม่อ่อนโยน ที่ไม่อ่อนน้อม ที่ไม่แสดงการอ่อนน้อมที่ควรแก่การที่จะแสดง

แต่สำหรับพระภิกษุณีแล้ว จะต้องกระทำตามพระวินัย เพราะว่าผู้ที่มีศรัทธาที่จะละคลายกิเลสในเพศของบรรพชิตนั้น ย่อมจะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ

ข้อความต่อไปมีว่า

จะไหว้ภิกษุทั้งหลาย ผู้นั่งอยู่ในที่ประชุมใหญ่ในที่แห่งเดียวเท่านั้นก็ได้ แม้ในอัญชลีกรรม ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน

ก็ภิกษุณีนั่งแล้วในที่ใดที่หนึ่ง พึงกระทำการลุกรับ พึงกระทำกรรมนั้นๆ ในที่และเวลาอันสมควรแก่สามีจิกรรมนั้นๆ

นี่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าเจริญสติแล้วจะรู้จิตใจของท่านชัดเจนขึ้น

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า สกฺกตฺวา คือ กระทำโดยประการที่ธรรมซึ่งตนทำแล้ว จะเป็นอันทำแล้วด้วยดี

บทว่า ครุกตฺวา คือ กระทำความรักด้วยใจจริง (ความรักที่นี่หมายความถึง ความเคารพ)

บทว่า ปูเชตฺวา คือ บูชาด้วยการทำกิจ ๓ อย่างเหล่านี้แหละ

บทว่า นาติกฺกมนีโย คือ อันภิกษุณีไม่พึงล่วงละเมิด

บทว่า อโนวโฏ ได้แก่ ไม่ปิด คือ ไม่กั้น ไม่ห้าม

เพราะเหตุนั้น ภิกษุณีตั้งอยู่ในฐานะแห่งความเป็นผู้ใหญ่ คือ ในฐานะแห่งผู้เป็นหัวหน้า อย่าพึงว่ากล่าว อย่าพึงสั่งสอนภิกษุโดยปริยายใดๆ ว่า ท่านจงเดินหน้าอย่างนี้ จงถอยกลับอย่างนี้ จงนุ่งอย่างนี้ จงห่มอย่างนี้ แต่เห็นโทษ จะแสดงโทษที่ปรากฏอยู่โดยนัยเป็นต้นว่า พระมหาเถระทั้งหลายในปางก่อน ย่อมไม่เดินไปข้างหน้า ไม่ถอยหลัง ไม่นุ่ง ไม่ห่มอย่างนี้ ย่อมไม่ทรงแม้ผ้ากาสาวะเช่นนี้ ไม่หยอดนัยน์ตาอย่างนี้ ดังนี้ควรอยู่

เคยมีความรู้สึกที่อยากจะสั่งสอนภิกษุบ้างหรือเปล่า คฤหัสถ์ทั้งหลาย เวลาเห็นสิ่งใดไม่เหมาะ ไม่สมควร ถ้าสติไม่เกิด จะไม่ทราบเลยว่า จิตใจในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้านึกอยากจะสั่งสอนเป็นอกุศลแน่ แต่ถ้าคิดที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลด้วยความเคารพ นั่นเป็นกุศล

ลักษณะของจิตใจนั้น ต้องระวังมาก ถ้าสติไม่เกิดจะไม่รู้ชัดจริงๆ ว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะบางท่านเข้าใจว่า อกุศลเป็นกุศล โดยคิดว่า ใครทำไม่ดีก็จะต้องว่ากล่าวสั่งสอนตักเตือนกันบ้าง คิดว่าท่านหวังดีในขณะนั้น แต่ถ้าสติไม่เกิด จะไม่ทราบสภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นสภาพจิตที่หยาบกระด้าง มีปฏิฆะ ความขุ่นใจ ความไม่พอใจในขณะนั้น หรือว่าเป็นจิตซึ่งไม่มีปฏิฆะ ไม่หยาบกระด้าง เป็นจิตที่อ่อนโยนใคร่ที่จะเกื้อกูล มีความเมตตา มีความหวังดีที่จะอนุเคราะห์ และก็กระทำการอนุเคราะห์ด้วยความเคารพ นั่นเป็นการกระทำที่เกิดจากกุศลจิต

เพราะฉะนั้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพของจิตของตนเอง เพื่อการขัดเกลากิเลสซึ่งมีมากมายจริงๆ แต่ละเรื่องซึ่งปรากฏในพระธรรมวินัย ทั้ง พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก จะเห็นได้ว่า เกื้อกูลให้ท่านระลึกรู้สภาพจิตของท่านเอง แม้แต่ในเรื่องของการแสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม ก็ต้องเป็นไปได้ในขณะที่จิตเป็นกุศล

ถ. เรื่องสั่งสอน ถ้าผู้น้อยไปสั่งสอนผู้ใหญ่ เป็นอกุศลแน่นอน แต่ถ้าผู้ใหญ่สั่งสอนผู้น้อย หรือว่าบิดามารดาสั่งสอนลูก โดยใช้วิธีการด่าว่าบ้าง เฆี่ยนตีบ้าง จะเป็นกุศลหรืออกุศล

สุ. แล้วแต่จิต

ถ. ถ้าแล้วแต่จิต ขณะที่เฆี่ยนตีนั้นจิตต้องเป็นโทสะทุกครั้ง ถ้าไม่มีโทสะ เฆี่ยนไม่ลงจริงๆ

สุ. ขณะนั้นต้องยอมรับสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า โทสะเป็นโทสะ อกุศลต้องเป็นอกุศล และก็เกิดสลับกันอย่างรวดเร็วกับกุศลก็ได้ แต่ว่าผู้ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมดับกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อเป็นอกุศล สติระลึกรู้ในสภาพที่เป็นอกุศลก็รู้ในลักษณะที่เป็นอกุศล และก็รู้ว่า อกุศลนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

เปิด  260
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566