แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 600

. ในมรรคมีองค์ ๘ เขาบำเพ็ญปัญญาก่อน นี่เรียกว่า วิปัสสนา แต่ในหลักของสมถะนั้น เอาศีลขึ้นก่อน เพราะว่าศีลเป็นบาทฐานที่จะทำให้เกิดสมาธิ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว สมาธิก็เกิด เพราะทางของสมถะต้องอาศัยศีลเป็นหลัก แต่ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ ดอกอุบล ๔ เหล่า คือ บุญวาสนาบารมีของแต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน บางทีท่านอาจารย์สุจินต์อาจจะบำเพ็ญทางปัญญามาตั้งหลายร้อยชาติแล้วก็ได้ แต่อย่างบางท่าน มีกระผม เป็นต้น ยังไม่เคยบำเพ็ญอะไรมา จึงบำเพ็ญเรื่องสมถะ และมีความข้องใจอยู่ว่า คนเราไม่เหมือนกัน บุญวาสนาบารมีก็ไม่เหมือนกัน เมื่อมีศีลบริสุทธิ์ สมถะก็เกิดขึ้น คือ สมาธิก็เกิดขึ้น เมื่อกำลังของสมาธิมาก ปัญญาก็เกิดขึ้น แต่เป็นปัญญาในวงกำลังของสมาธิเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขอให้อาจารย์ชี้แจงในลักษณะสมถะกับลักษณะวิปัสสนาปัญญาด้วย

สุ. สมถะเป็นกุศล เป็นความสงบของจิต ซึ่งต้องดีกว่าอกุศลจิตแน่นอน แต่ไม่ใช่กุศลที่จะทำให้ดับสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าท่านผู้ฟังรู้สึกว่า จิตใจไม่สงบ กระสับกระส่าย จะเป็นเพราะโลภะหรือโทสะก็ตามแต่ มีสติขั้นสมถะระลึกได้ รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล อย่างเวลาที่โกรธใคร หรือว่าจิตใจไม่แช่มชื่น ก็รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้ามีเมตตาในบุคคลนั้น โทสะหรือความไม่แช่มชื่นของจิตจะไม่มีในขณะนั้น

การเจริญเมตตา คือ ระลึกถึงอารมณ์ซึ่งเป็นปัจจัยให้โกรธด้วยความเมตตาในขณะนั้น ถ้าเมตตาเกิด ความโกรธก็จะไม่เกิดพร้อมกับความเมตตาในขณะนั้นเลย

จิตที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นสมถะ เป็นความสงบ เพราะฉะนั้น สมถะจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นการมีเมตตาต่อบุคคลอื่นในขณะหนึ่งขณะใด ซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะของอกุศล ในขณะนั้นไม่ใช่เป็นไปในทาน ไม่ใช่เป็นไปในศีล แต่เป็นไปในเมตตา ซึ่งทำให้จิตสงบ นั่นเป็นสมถะ ทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งควรเจริญ ควรอบรม เพราะเหตุว่าการมีชีวิตอยู่ก็ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นเป็นประจำ การที่จะให้จิตใจเป็นไปในกุศลที่สูงกว่าขั้นทาน หรือขั้นศีล ก็จะต้องมีการอบรมเจริญพรหมวิหาร ซึ่งเป็นสมถภาวนา ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ถ้าศึกษาเรื่องของความสงบจริงๆ จะทราบว่า ไม่ใช่เรื่องของสมาธิ แต่ถ้าท่านไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด เพียงแต่ไปปฏิบัติจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ก็จะเข้าใจว่า ขณะนั้นจิตสงบจากโลภะ โทสะ

เพราะฉะนั้น เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก ขอให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า ที่ท่านปฏิบัติจริงๆ เป็นสมถภาวนาหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสมถภาวนา ต้องเกิดร่วมกับปัญญาทุกครั้ง จิตที่เจริญสมถภาวนาจะต้องประกอบด้วยปัญญาเจตสิกทุกครั้ง นั่นจึงจะเป็นสมถภาวนา

แต่ถ้าไม่มีปัญญา ไม่รู้แม้จุดประสงค์ว่า เจริญสมถะเพื่ออะไร และลักษณะของสมถภาวนานั้นเป็นความสงบของจิตในขณะไหน อย่างไร คือ ต้องสงบจากทั้งโทสะและจากโลภะด้วย เพราะส่วนมากผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องของสมถภาวนาจริงๆ ท่านไม่เห็นโทษของโลภะเลย ท่านเห็นแต่ความกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ความเดือดร้อนของจิตซึ่งเป็นปฏิฆะ เป็นโทสมูลจิต แต่พอมีใครชวนท่านไปเที่ยวสนุกๆ ท่านก็ไป รับประทานอาหารอร่อยๆ ท่านก็ชอบ ทุกอย่างที่เป็นอิฏฐารมณ์แล้ว ท่านไม่กลัวเลย แต่ว่าท่านไม่ชอบอนิฏฐารมณ์ หรือโทสมูลจิต เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ความสงบที่แท้จริงจากโลภะ โทสะ โมหะ

ที่ท่านกล่าวว่า ท่านไปปฏิบัติสมาธิหรือทำสมาธิ ก็ไม่ทราบว่าท่านอบรมเจริญอย่างไร เห็นโทษเห็นภัยของโลภะ โทสะ โมหะในชีวิตประจำวันหรือไม่ และการที่จะอบรมสมาธิซึ่งเป็นการตั้งมั่นคงขึ้นของความสงบของจิตได้ ก็จะต้องอาศัยการเจริญสมถภาวนาเป็นปกติในชีวิตประจำวันด้วย

ถ้าชีวิตประจำวันของท่าน ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง คิดร้ายต่อคนอื่นบ้าง เบียดเบียนคนอื่นบ้าง ด้วยกาย ด้วยวาจา แต่พอถึงเวลากลางคืนดึกๆ ท่านก็เข้าห้องเจริญเมตตา ก็ไม่ทราบว่าท่านไปเอาเมตตาวันไหน ขณะไหน มาเป็นพื้นเป็นบาทที่จะให้จิตของท่านสงบจนกระทั่งถึงขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิได้ ในเมื่อตลอดทั้งวันท่านก็ไม่เคยระลึกได้เลยว่า จิตของท่านเศร้าหมองขุ่นมัวเต็มไปด้วยอกุศล เต็มไปด้วยการประทุษร้ายทางกาย ทางวาจา ทางจิตกับบุคคลอื่น แต่พอถึงเวลาก็ไปเข้าห้องเจริญเมตตากัมมัฏฐาน ไม่ทราบว่าจะเจริญได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เรื่องของ สมถภาวนาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และเป็นกุศลจริงๆ แต่ถ้าไม่ใช่สมถภาวนา ก็ไม่ใช่กุศล

เพราะฉะนั้น เรื่องของสมาธิที่ปฏิบัติกันอยู่ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ใช่เป็นเรื่องของความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ

ถ. อาจารย์กล่าวแทงถูกใจดำจริงๆ คนที่ทำสมาธิ ก็เหมือนกันกับคนที่ไม่ได้ทำสมาธิ คือ ไม่ชอบแต่เฉพาะโทสะ แต่ชอบโลภะ ทำสมาธิเท่าไรๆ ไม่เห็นโทษของโลภะ ชอบโลภะ แต่โทสะไม่ชอบ ไม่ว่าคนนั้นจะทำสมถะก็ดี หรือไม่ได้ทำสมถะก็ดี เป็นอุปนิสัยของคนทั่วๆ ไป

เรียนถามอาจารย์ว่า การแผ่เมตตา กับการแผ่ส่วนกุศลนั้น เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร

สุ. การเจริญเมตตาเป็นการเจริญสมถภาวนา การแผ่ส่วนกุศลเป็นการอุทิศส่วนกุศลที่เป็นปัตติทานมัย ไม่เหมือนกัน

ถ. ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี วันนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด มีพระภิกษุหลายรูปเข้าไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุรูปนั้นคงจะไม่ได้แผ่เมตตาให้กับพญางูทั้ง ๔ ถ้าแผ่เมตตาให้แก่พญางูทั้ง ๔ แล้ว ภิกษุนั้นคงจะไม่ถูกงูกัดตาย ผมสงสัยว่า ถ้าเราแผ่เมตตาให้กับพญางูทั้ง ๔ งูที่จะมากัดเรา แต่เมื่อเราแผ่เมตตา เขาจึงไม่มากัดเรา เพราะได้รับคำสั่งจากพญางู หรือว่าได้รับเมตตาจากเราโดยตรง

สุ. เรื่องของการแผ่เมตตาที่ท่านผู้ฟังสงสัย ก็น่าคิด แผ่เมตตาท่านทำอย่างไรที่จะแผ่ให้กับพญางู มีวิธีการไหม วิธีแผ่เมตตาของท่านทำอย่างไร

ถ. ในพระไตรปิฎกเขาก็กล่าวไว้ แต่ผมจำไม่ได้

สุ. แผ่ คือ การขยายกว้างออก ก่อนที่จะถึงงู ถึงใครบ้าง ยังไม่ไปถึงไหนเลย เมื่อกลัวงู ก็แผ่ให้งูเลย ข้ามไปหมด เพราะมุ่งจุดประสงค์จะไม่ให้งูกัด นี่คือความคิดความเข้าใจของท่านผู้ฟังในเรื่องของการแผ่เมตตา ซึ่งความหมายที่แท้จริงไม่ใช่อย่างนั้น เรื่องของการภาวนาเป็นการอบรมให้เกิดขึ้นเป็นอุปนิสัยเนืองๆ บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ท่านมีเมตตาจริง แต่เล็กน้อยเหลือเกิน ไม่มากเลย กับบางท่าน บางบุคคลเท่านั้น บางหมู่ บางเหล่า แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ก่อนที่จะไปถึงพญางู หรืองูทั้งหลาย จิตของท่านขณะนี้มีเมตตากับใครบ้าง ยังติดขัดอยู่ที่คนไหน ก็แผ่ไป อย่าข้ามไปถึงงู

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญเมตตาที่ว่ากว้างขึ้น ก็ต้องไม่จำกัดเฉพาะในวงแคบ ในบุคคล ในกลุ่ม ในหมู่คณะของท่าน แต่ว่าจะต้องกว้างออกๆ จนถึงทุกสัตว์ ทุกชีวิต ถ้ายังไม่ถึงทุกสัตว์ ทุกชีวิต ก็ถูกสัตว์กัด ต่อเมื่อไรถึงทุกสัตว์ ทุกชีวิต เป็นเมตตาที่เปี่ยมล้นอย่างแท้จริง ก็ไม่ต้องหวั่นเกรงอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ต้องเข้าใจว่า ความหมายของการแผ่เมตตานั้น คือ ให้มีเมตตาจริงๆ ในใจ ซึ่งถ้าเป็นเมตตาจริงๆ แล้ว ในขณะนั้นไม่โกรธ และไม่เบียดเบียนทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจด้วย กายไม่เบียดเบียนจริง วาจาก็ไม่ได้เบียดเบียนจริง แต่ใจเบียดเบียน ก็ไม่ได้ ในขณะนั้นก็ไม่ใช่เมตตา

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญความสงบ หรือว่าเจริญกุศลขั้นภาวนานี้ เกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะ รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนั้น แล้วแต่ว่าในขั้นของสมถะ หรือว่าในขั้นของสติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนา ถ้าในขั้นของสมถภาวนาแล้ว ตัวท่านนั่นแหละเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยเมตตา ไม่ใช่สภาพของเมตตาซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ยังครองเมตตานั้นว่า เป็นเราที่มีเมตตา เราเป็นผู้เปี่ยมด้วยเมตตา ถึงแม้ว่าท่านจะแผ่เมตตาไปกว้างไกลสักเท่าไรก็ตาม แต่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของเมตตาตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ยังเป็นขั้นของสมถภาวนา คือ ยึดถือว่าตัวท่านเป็นผู้ที่ประกอบด้วยเมตตาที่กว้างใหญ่มาก

ถ. คำว่า เมตตา ก็พูดกันมาตั้งแต่ก่อนผมเกิด ความจริงเมตตานั้นคืออะไร อาจจะไม่รู้ เมตตานี้ไม่ใช่ศัพท์ภาษาไทย

การแผ่เมตตา คือ แผ่ความเป็นเพื่อน อย่างงูเขาเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ก็เป็นเพื่อนเป็นฝูงกับเรา เพื่อนสนิทก็ต้องรักใคร่กัน แผ่เมตตา คือ แผ่ความเป็นเพื่อน แผ่ความเป็นกันเองของเรา คำว่า เมตตา มาจาก มิตฺต หรือ มิตร หรือไมตรี เราใช้เป็นภาษาไทยเสียจนเคยชิน แผ่เมตตา คือ แผ่ความเป็นกันเอง หรือความเป็นเพื่อน อย่างงูจะกัดเราเพราะเห็นว่าเป็นศัตรู เราก็แผ่ความเป็นเพื่อน เพื่อนก็คงไม่คิดร้ายกับเพื่อนหรอก คือ ทำความเป็นเพื่อน ทำความสนิทสนม จะเป็นสัตว์ บุคคล หรือ ใครๆ เราก็แผ่ความเป็นกันเอง ก็ไม่ทำร้ายกัน

สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อบรมที่จะมีเมตตาให้เป็นปกติชีวิตประจำวัน ให้เป็นอุปนิสัยจริงๆ แล้ว เวลาเจองูนี่แผ่ได้ไหม แผ่ไหวไหม

ถ. หมายความว่า เราต้องเคยทำมาก่อน ทำไว้ก่อน ปัจจุบันทันด่วนผมเชื่อว่าไม่ทันหรอก

สุ. เพราะฉะนั้น ก็ตรงกับความหมายของภาวนา คือ อบรมให้เป็นอุปนิสัย ในการที่จะเป็นผู้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ นั่นก็เป็นสมถภาวนา

ถ. เรื่องท่านพระอานนท์ รู้สึกว่า เท่าที่ท่านเจริญกายคตาสติล่วงราตรีเป็นอันมากนั้น ผมคิดเองว่า ท่านคงจะมุ่งบรรลุพระอรหันต์ในคืนนั้น เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้แล้วว่า ท่านจะบรรลุพระอรหันต์ในวันนั้น และถ้าท่านไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ที่ท่านพระมหากัสสปะตั้งให้ท่านเป็นผู้เข้าไปทำสังคายนาเข้าที่ประชุมด้วย ผู้ที่จะเข้าประชุมจะต้องเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ๔ ทั้งนั้น ถ้าท่านไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ๔ นั้น ก็คงจะอายเขา ขายหน้าเขา เพราะฉะนั้น คืนนั้นท่านก็พยายามเจริญกายคตาสติ มุ่งที่จะให้เป็นพระอรหันต์ในคืนนั้น แต่แล้วก็ยังไม่บรรลุ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นท่านคงจะอ่อนใจ ทอดธุระ ไม่อยากจะบรรลุแล้ว คงจะหมดหวังแล้วในคืนนั้น จึงจะนอนเสีย คิดว่าจะนอน เมื่อท่านกำลังเอนตัว เท้าก็ยังไม่ทันขึ้นจากพื้น ศีรษะก็ยังไม่ทันถึงหมอน ท่านก็มีปัญญาเกิดขึ้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ ขณะที่อรหัตตมรรคจิตกับอรหัตตผลจิตเกิดขึ้น ก็หมายความว่า ไม่ต้องมีเจตนามุ่งอยากให้เกิด ก็เกิดขึ้นมาได้เอง

เพราะฉะนั้น การปฏิบัตินี่ ผู้ที่จะเจริญวิปัสสนา ก็ต้องพยายามศึกษาและเข้าใจข้อปฏิบัติให้ถูกต้อง ส่วนญาณต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น ก็เกิดของเขาเอง ถ้ามีเหตุมีปัจจัยเพียงพอแล้ว ไม่ต้องไปมุ่งหวังอะไรทั้งสิ้น

สุ. ไม่ทราบว่า เป็นความคิดของท่านผู้ฟังเอง หรือว่าได้ยินได้ฟังมา

ถ. คิดเอง

สุ. ท่านผู้ฟังท่านอื่น ได้ยินมาในลักษณะไหนบ้าง

ถ. ผมก็เรียนมามาก แต่ไม่พบสักที มีแต่เขาว่า เป็นพุทธประเพณี พุทธอุปัฏฐากจะต้องสำเร็จขั้นโสดาบันเท่านั้น ทุกๆ พุทธกาลมา ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนั้น นี่ก็เหลือวิสัย ผู้ที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก พระสารีบุตรก็เคย แต่ท่านเป็นอุปัฏฐากชั่วคราว ส่วนท่านพระอานนท์ ท่านตั้งความปรารถนาของท่านมา เพราะฉะนั้น ตำแหน่งอุปัฏฐากจะต้องสำเร็จอย่างท่านพระอานนท์ คือ สำเร็จแค่ขั้นพระโสดาบันเท่านั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว จึงจะได้เป็นพระอรหันต์ เขาเรียกว่าพุทธประเพณี จะเท็จจริงอย่างไร ผมก็ไม่ทราบ เป็นแต่เขาเล่าๆ กันมา

สุ. ตามที่ท่านผู้ฟังหลายท่านก็คงจะเคยได้ยินได้ฟังมา ที่เล่าสืบๆ กันมาว่า ท่านพระอานนท์ในคืนก่อนที่จะกระทำสังคายนานั้น ท่านก็ได้พากเพียรเจริญ สมณธรรมเป็นอันมากจนเหนื่อยอ่อนแล้วก็ไม่บรรลุ เพราะฉะนั้น ท่านก็จะนอนเสีย และก็บรรลุในขณะนั้น

แต่ข้อความตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ไม่เป็นอย่างนั้น คือ ไม่ใช่หมายความว่า ท่านพากเพียร คล้ายกับคนที่ไม่รู้หนทาง และไม่สามารถที่จะบรรลุได้ จนกระทั่งอ่อนใจหรือว่าหมดหวัง ก็เลยเลิกปฏิบัติ และก็บรรลุในขณะที่เลิกปฏิบัติ ในขณะที่จะนอน หลายท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาอย่างนั้น

ผู้ฟัง ความจริงที่ท่านอาจารย์อธิบายถึงเรื่องท่านพระอานนท์สำเร็จเป็น พระอรหันต์ ระหว่างที่ท่านจะลงนอน ศีรษะก็ยังไม่ถึงหมอน เท้าก็ยังไม่พ้นพื้น ระหว่างที่ท่านจะลงนอน ความเข้าใจของดิฉันก็ว่าเพราะสติ การปฏิบัติของท่าน ท่านก็ต้องอาศัยสติทั้งนั้นที่ระลึกรู้อิริยาบถน้อยใหญ่ หรืออิริยาบถในบรรพทั้งหมด หรือบรรพอะไรบรรพหนึ่งก็ได้ เพราะฉะนั้น ระหว่างที่ท่านจะเอนตัวลงนอนนั้น สติท่านจะต้องระลึกรู้แล้วว่า จะต้องเองลงที่ตรงนี้ ว่าจะนอน เมื่อสติระลึกรู้นั้น ก็ได้บรรลุระหว่างที่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน เท้าก็ยังไม่พ้นจากพื้น อันนี้เป็นลักษณะของการเจริญสติ

ถ. กระผมมีความสงสัย คือ ทางโลกๆ เรา ข้าราชการก็มียศเป็นชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ชั้นพิเศษ นายร้อย นายพัน นายพล จอมพล ส่วนพระเถรานุเถระ ก็มีเจ้าคุณ สมเด็จ ส่วนพระอริยเจ้าก็มีการละสังโยชน์ต่างๆ ตามขั้นตามภูมิ ส่วนพระอรหันต์นั้นก็มีเป็นเอตทัคคะ ถามอาจารย์ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายมีอะไรเป็นเครื่องยศ

สุ. อริยยศใหญ่ที่สุด เหนือยศใดๆ ทั้งสิ้น

ถ. พระอริยเจ้ามีอะไรเป็นเครื่องยศ มีคุณธรรมอะไรเป็นเครื่องยศ

สุ. ความเป็นอริยะ เหนือยิ่งกว่ายศใดๆ

ถ. ความเป็นอริยะนั้นเป็นเครื่องยศจริง แต่คุณธรรมที่จะให้เกิดอริยะนั้นมีอะไรบ้าง ที่จะทำให้เกิดเป็นอริยะ

สุ. โพธิปักขิยธรรม ๓๗

เปิด  235
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566