แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 593
ถ, ที่ว่าภิกษุผู้เป็นศัตรู ไม่ควรไหว้ และในอรรถกถาบอกว่า ถ้าไหว้แล้วอาจจะถูกเตะ ผมยังสงสัยอยู่ ศัตรูมาไหว้ อาจจะคืนดีได้ ก็ควรจะไหว้
สุ. ถ้าคืนดี ก็ดี แต่ว่ากำลังโกรธๆ อารมณ์อย่างนั้นใครจะทราบว่า จะได้รับอะไรเป็นของตอบแทน
ถ, การเป็นศัตรูผ่านมานานแล้ว มาพบหน้ากัน ตอนหลังไหว้ก็ได้นี่
สุ. ถ้าดีกันได้ ก็เหมาะควร แต่ถ้ายังไม่ดี ก็ไม่ทราบว่า ศัตรูนั้นจะเป็นศัตรูที่ร้ายสักแค่ไหน ไม่มีใครทราบใจของศัตรูได้ ก็ปลอดภัยไว้ก่อน
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร อุบาลี ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ แม้อื่นอีก ๕ ๕ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้เวลาดื่มยาคู
๒. ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ในโรงภัตร
๓. ภิกษุผู้เป็นศัตรู อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
ข้อความในอรรถกถา มีอธิบายว่า ถ้าไหว้ผู้เป็นศัตรู อาจจะถูกผู้นั้นประหารเอาด้วยเท้าก็ได้
๔. ภิกษุผู้กำลังคิดเรื่องอื่น อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๕. ภิกษุกำลังเปลือยกาย อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
ดูกร อุบาลี ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ ๕ นี้แล
ดูกร อุบาลี ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ แม้อื่นอีก ๕ ๕ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุกำลังเคี้ยว อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๒. ภิกษุกำลังฉัน อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๓. ภิกษุกำลังถ่ายอุจจาระ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๔. ภิกษุกำลังถ่ายปัสสาวะ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๕. ภิกษุถูกสงฆ์ยกวัตร อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
ดูกร อุบาลี ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ ๕ นี้แล
ข้อความอธิบายว่า
ภิกษุถูกยกวัตรด้วยอุกเขปนียกรรมแม้ทั้ง ๓ อย่าง คือ การลงโทษยกเสียจากหมู่ หรือว่าห้ามร่วมกินร่วมนอน ห้ามร่วมทำสังฆกรรม แต่สำหรับบุคคล ๔ จำพวกอันสงฆ์ลงโทษด้วยตัชชนียกรรม คือ ตำหนิโทษ เป็นต้น ควรไหว้ แม้อุโบสถ ปวารณา ย่อมได้กับบุคคลเหล่านั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ แม้อื่นอีก ๕ ๕ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุผู้อุปสมบททีหลัง อันภิกษุผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้
๒. อนุปสัมบัน อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๓. ภิกษุมีสังวาสต่างกัน มีพรรษาแก่กว่า เป็นอธรรมวาที อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๔. สตรี อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๕. บัณเฑาะก์ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ ๕ นี้แล
ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ แม้อื่นอีก ๕ ๕ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุอยู่ปริวาส อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๒. ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๓. ภิกษุผู้ควรมานัต อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๔. ภิกษุประพฤติมานัต อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
๕. ภิกษุผู้ควรอัพภาน อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้
ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ ๕ นี้แล
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลควรไหว้
ข้อ ๑๒๒๖
ท่านพระอุบาลีทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายควรไหว้ มีเท่าไรหนอแล พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุทั้งหลายควรไหว้นี้ มี ๕ คือ
๑. ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน อันภิกษุผู้อุปสมบททีหลังควรไหว้
๒. ภิกษุผู้มีสังวาสต่างกัน มีพรรษาแก่กว่า แต่เป็นธรรมวาที อันภิกษุทั้งหลายควรไหว้
๓. พระอาจารย์ อันภิกษุทั้งหลายควรไหว้
๔. พระอุปัชฌาย์ อันภิกษุทั้งหลายควรไหว้
๕. พระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อันประชา ทั้งสมณะและพราหมณ์ ทั้งเทพดามนุษย์ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ควรไหว้
ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุควรไหว้ ๕ นี้แล.
สำหรับธรรมของภิกษุอ่อนกว่าที่ควรปฏิบัติต่อภิกษุแก่กว่า ซึ่งเป็นการเคารพ ซึ่งแล้วแต่ท่านจะเห็นสมควร แล้วก็ประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ดีทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการขัดเกลากิเลสของท่านได้
ข้อความต่อไป
ข้อ ๑๒๒๗
ท่านพระอุบาลีทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า อันภิกษุผู้อ่อนกว่า เมื่อไหว้เท้าของภิกษุผู้แก่กว่า พึงตั้งธรรมเท่าไรไว้ในตน แล้วไหว้เท้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุบาลี อันภิกษุผู้อ่อนกว่า เมื่อไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า พึงตั้งธรรม ๕ อย่างไว้ในตน แล้วไหว้เท้า ธรรม ๕ อะไรบ้าง
ดูกร อุบาลี อันภิกษุผู้อ่อนกว่า เมื่อไว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า
๑. พึงห่มผ้าเฉวียงบ่า
๒. ประคองอัญชลี
๓. นวดเท้าด้วยฝ่ามือทั้งสอง
๔. มีความรัก
๕. มีความเคารพ แล้วไหว้เท้า
ดูกร อุบาลี อันภิกษุผู้อ่อนกว่า เมื่อไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ นี้ไว้ในตน แล้วไหว้เท้า
การขัดเกลากิเลสในพระธรรมวินัยมีมาก ซึ่งเป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้ผู้ที่ต้องการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่สมควร เช่น การแสดงความเคารพนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม เป็นต้น
สำหรับเรื่องของพระธรรมวินัย จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้สำหรับพระภิกษุเพื่อจะได้ปฏิบัติในที่ต่างๆ กัน
ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๒๖๔ สำหรับบุคคลที่ไม่ควรไหว้ มี ๑๐ จำพวก คือ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ อันภิกษุไม่ควรไหว้ คือ
อันภิกษุผู้อุปสมบทก่อน ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ๑
ไม่ควรไหว้อนุปสัมบัน ๑
ไม่ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที ๑
ไม่ควรไหว้มาตุคาม ๑
ไม่ควรไหว้บัณเฑาะก์ ๑
ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อยู่ปริวาส ๑
ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ๑
ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรมานัต ๑
ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ประพฤติมานัต ๑
ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรอัพภาน ๑
บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล อันภิกษุไม่ควรไหว้ ฯ
บุคคลไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก ก็ได้แก่ บุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๕ จำพวก ๒ พวกนั่นเอง รวมกันเป็น ๑๐ จำพวก
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลที่ควรไหว้ ๓ จำพวก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ ภิกษุควรไหว้ คือ
ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน ๑
ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่เป็นธรรมวาที ๑
ควรไหว้ตถาคตผู้อรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบในโลกทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
บุคคล ๓ จำพวกนี้แล ภิกษุควรไหว้ ฯ
ที่ว่าควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่เป็นธรรมวาที และไม่ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงถือการเคารพในธรรม ต้องเป็นไปตามธรรมจริงๆ คือ ถึงแม้จะเป็นผู้ที่แก่กว่า แต่ว่าเป็นอธรรมวาที ก็ไม่สมควรแก่การที่จะไหว้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่แก่กว่า ถึงแม้ว่าไม่ได้อยู่รวมวัดเดียวกัน เป็นนานาสังวาส แต่เป็นธรรมวาที ก็ควรที่จะไหว้
สำหรับเรื่องของการกราบไหว้ การแสดงความเคารพกัน ก็มีปัญหาเหมือนกันว่า ใครควรจะไหว้ใครในพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่ในชีวิตของคฤหัสถ์ ก็จะต้องมีผู้ที่ควรไหว้ เพราะฉะนั้น เรื่องใครควรไหว้ใคร แม้ในพระธรรมวินัยก็ได้ทรงแสดงไว้
ขอกล่าวถึงการแสดงความเคารพของพระภิกษุณีต่อพระภิกษุ ซึ่งเคยมีปัญหาตั้งแต่ครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน
เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีได้รับพุทธานุญาตให้อุปสมบทด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการแล้ว ท่านก็คิดที่จะทูลขอพรกับพระผู้มีพระภาค ซึ่งมีข้อความใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๕๒๑
ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมี เข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาท ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า
ท่านพระอานนท์ ดิฉันจะทูลขอพรอย่างหนึ่งกะพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่
คือ พระมหาปชาบดีโคตมีท่านคิดว่า ในระหว่างพระภิกษุและพระภิกษุณีควรที่จะกราบไหว้ผู้ที่แก่กว่า โดยไม่ถือเพศว่า เป็นภิกษุหรือภิกษุณี
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า พระมหาปชาบดีโคตมีกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์ ดิฉันจะขอพรอย่างหนึ่งกะพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ข้อที่ตถาคตจะอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคามนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส เพราะพวกอัญญเดียรถีย์ที่มีธรรมอันกล่าวไม่ดีแล้วเหล่านี้ ยังไม่กระทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม ก็ไฉนเล่า ตถาคตจักอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
ถ. สตรีก็มีปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เหมือนกัน ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ยอมให้สตรีมีฐานะเท่าเทียมกับบุรุษ
สุ. ข้อความในพระวินัย ที่พระมหาปชาบดีโคตมีคิดที่จะทูลขอพรกับพระผู้มีพระภาคนี้ จะเห็นได้ว่า ท่านคิดเพียงการที่จะให้พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณีตามลำดับ ผู้แก่ คือ พระมหาปชาบดีโคตมีคิดถึงแต่เพียงวัย แต่พระผู้มีพระภาคทรงคิดถึงการเคารพในธรรม เพราะว่าเมื่อเข้ามาสู่พระธรรมวินัยแล้ว สิ่งที่ควรเคารพที่สุด คือ เคารพในธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีวัยแก่ ถ้าอุปสมบทภายหลัง ก็ต้องกราบไหว้ผู้ที่มีวัยอ่อนกว่าแต่ว่าอุปสมบทก่อน
และการที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคามนั้น ก็เพราะว่าพุทธบริษัทฝ่ายบรรพชิตนั้น มีพระภิกษุเป็นหัวหน้า มีพระผู้มีพระภาคทรงเป็นประมุข และพระอัครสาวกซึ่งเป็นพระภิกษุ เช่น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ ผู้ทรงคุณธรรมถึงความเป็นพระอัครสาวก จะให้ท่านพระอัครสาวกทั้ง ๒ กราบไหว้ ลุกรับ อัญชลีกรรม คือ ประนมมือ สามีจิกรรม คือ การกระทำที่ควรทุกอย่าง แก่มาตุคาม หรือว่าแก่ภิกษุณีนั้น ย่อมจะเป็นการลักลั่นในธรรม เพราะว่าท่านเป็นพระอัครสาวก
เพราะฉะนั้น เพื่อความเป็นระเบียบ เพื่อควรแก่ความเหมาะสม และไม่มีการลักลั่น ก็ควรที่จะให้ภิกษุณีทั้งหลายไหว้พระภิกษุ และสำหรับพระภิกษุนั้น ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไหว้มาตุคาม
สำหรับคฤหัสถ์ ก็คงจะมีปัญหาหรือข้อสงสัยว่า ผู้ชายจะไหว้ผู้หญิงได้หรือไม่ แต่นี่เป็นเรื่องของบรรพชิตที่ว่า ภิกษุณีจะต้องกราบไหว้ ลุกรับ กระทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่พระภิกษุ
ถ. ที่อาจารย์ว่าก็ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องพระวินัย คือ วินัย ระเบียบต่างๆ ถ้าพระผู้มีพระภาคท่านไม่วางไว้ ก็จะลักลั่น ถึงวางไว้ก็ยังมีผู้ละเมิด ส่วนฆราวาสเราก็ควรจะถือแนวพระวินัยเป็นหลัก เรื่องไหว้นี่ ที่จริงพระผู้มีพระภาคท่านไม่ได้ห้าม ไม่ได้สั่ง แต่ท่านตรัสว่า ควร อย่างศัตรูยังไม่ควรไปไหว้ เดี๋ยวจะถูกเตะ คือ ท่านระวังไว้ให้
สุ. น่าจะเห็นพระมหากรุณาคุณที่ทรงป้องกันไว้ก่อน โดยทรงเตือนว่า บุคคลใดบ้างเป็นผู้ที่ไม่ควรจะไหว้ ซึ่งสำหรับคฤหัสถ์ ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการที่จะไม่ให้ผู้ชายไหว้ผู้หญิง สำหรับเพศบรรพชิตเท่านั้น ซึ่งเมื่อเป็นภิกษุณีแล้ว จะต้องกราบไหว้ กระทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่พระภิกษุ