แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 596

. คนตายแล้วไปเกิดทันทีหรือไม่ บางท่านว่า จิตยังไม่รู้ว่าตัวตาย จิตยังล่องลอยอยู่จนกว่าจะครบ ๗ วัน จึงจะรู้ว่าตัวตาย จริงหรือไม่

สุ. ถ้าจะตอบโดยที่ยังไม่ตาย ก็ยังคงมีความสงสัยอยู่เรื่อยๆ ว่า จะจริงหรือไม่ เมื่อตัวเองยังไม่ตายก็ยากที่จะพิสูจน์ แต่ถ้าใคร่ครวญพิจารณาตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า สังขารธรรมทั้งหลายมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไป ถ้าไม่มีปัจจัย เกิดไม่ได้แน่นอน และปัจจัยที่ให้เกิดก็คือกิเลส

ตราบใดที่กิเลสยังมี ย่อมไม่มีการที่จะยับยั้งไม่ให้สังขารธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น สังขารธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป หรือโดยย่อ คือ นามธรรมและรูปธรรม จิตและเจตสิกเกิดร่วมกันเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ น้อมไปสู่อารมณ์ จึงเป็นนามธรรม ส่วนรูปไม่ใช่สภาพรู้ และที่ทุกคนคิดว่ามีตัวตน มีสัตว์ มีบุคคลอยู่ เป็นตัวท่านทุกวันๆ ก็คือ การเกิดขึ้นของสังขารธรรม เพราะมีเหตุมีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ความตายก็เป็นแต่เพียงสมมติ

ความตายมี ๓ อย่าง ได้แก่

ขณิกมรณะ คือ การเกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะ เป็นความตายแต่ละขณะ

สมมติมรณะ คือ ความตายที่สมมติในระหว่างภพหนึ่งชาติหนึ่ง

สมุจเฉทมรณะ คือ การตายแล้วไม่เกิดอีกเลย หมายความถึง การตายของพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ซึ่งไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดต่อไป ทันทีที่จุติจิตเกิดแล้วดับไป ซึ่งหมายความถึงความตายที่เป็นสมมติมรณะนั้น ปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันที เพราะว่ามีปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นแต่ละขณะสืบต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น

การเกิดสืบต่อของสังขารธรรมทั้งหลาย เป็นไปอยู่ทุกขณะในภพชาตินี้ฉันใด ในภพหน้าชาติก็ฉันนั้น เมื่อจุติจิตของชาตินี้ดับไป มีปัจจัยที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิด ปฏิสนธิจิตก็เกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น

. คนที่ตายไปแล้ว พระผู้มีพระภาคท่านเรียกว่า โอปปาติกะนั้น หมายความว่าอะไร

สุ. กำเนิดมี ๔ เกิดในครรภ์ไม่ใช่โอปปาติกะ โอปปาติกะนั้นเกิดขึ้นทันที ไม่ใช่เกิดในครรภ์ ไม่ใช่เกิดในไข่

โอปปาติกะ หมายความว่า เกิดขึ้นมาเป็นตัวทันที เหมือนการเกิดของเทวดา พรหม สัตว์นรก เปรต อสุรกาย

. พระอรหันต์ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่

สุ. ไม่

. แต่มีคนชื่อวัจฉะ เคยไปทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระอรหันต์ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ พระผู้มีพระภาคตอบว่า ดูกร วัจฉะ คำว่าเกิดไม่ควรเลย คำว่า ไม่เกิดก็ไม่ควร คำว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดอีกก็มิใช่ ดังนี้ก็มิควร ธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก สงบระงับ ประณีต

สุ. คราวหน้า กรุณานำข้อความโดยตรงมาจากพระไตรปิฎกด้วย

. ท่านตอบกำกวมอย่างนี้

สุ. กำกวมสำหรับผู้ฟัง หรือผู้แปล หรือผู้ที่ไม่เข้าใจถ่องแท้ในอรรถพยัญชนะ แต่คำตอบของพระองค์ไม่กำกวม เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งกับพระผู้มีพระภาค แต่คนฟัง ถ้าฟังไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ยังมีความเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เวลาที่ไปทูลถามว่า สัตว์ตายแล้วเกิดหรือไม่ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ เพราะว่าคนนั้นไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้ คนนั้นยังมีความยึดถือว่าเป็นคน เป็นสัตว์ ในเมื่อความจริงคนไม่มี สัตว์ไม่มี แต่เข้าใจว่าคนมี สัตว์มี คนเกิด สัตว์เกิด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ควรแก่การที่จะทรงพยากรณ์

จะเห็นได้ว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะคาดคะเนตามใจชอบ เช่น คำว่า วิญญาณ หรือความคิด ความเข้าใจเรื่องวิญญาณ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาก็ย่อมต่างกับผู้ที่ได้ศึกษาเข้าใจแล้ว

อย่างที่ถามว่า ตายแล้ววิญญาณล่องลอยไป ก็แสดงถึงความคิด ความคาดคะเน ความเข้าใจเองของท่านในเรื่องที่เกี่ยวกับวิญญาณ โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาให้ ถ่องแท้ว่า วิญญาณะ หรือวิญญาณนั้น หมายถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ ในภาษาบาลีใช้คำว่า จักขุวิญญาณ กำลังได้ยินซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ก็เป็นสภาพรู้เสียง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า โสตวิญญาณ

เพราะฉะนั้น วิญญาณเกิดดับอยู่ทุกขณะในชีวิตประจำวัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสภาพรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ได้ศึกษา ก็ทำให้ท่านเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

แม้ในการที่จะเชื่อ จะคิด จะเข้าใจว่าบุคคลใดเป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่เข้าใจแม้แต่ความหมายที่แท้จริงของวิญญาณว่าคืออะไร และจะไปรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว เป็นสภาพธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้โดยชอบตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งพุทธบริษัทจะต้องศึกษาก่อนที่จะวินิจฉัยหรือตัดสินตามใจชอบ

ผู้ฟัง เรื่องจิตและวิญญาณที่เข้าใจว่าคนละอย่าง โปรดไปดูธรรมบท ภาค ๑ จะเป็นนิทานจักขุบาล หรือมัฏฐกุณฑลี ผมจำไม่ได้แล้ว คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านแก้อรรถกถาไว้ดังนี้ ขอให้จำบาลีไปตรวจดู จิตฺตนฺติ วิญฺญาณํ แปลว่า วิญญาณคือจิต หรือจิตก็คือวิญญาณ

สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ได้อนุเคราะห์ในทางภาษาบาลี

ผู้ฟัง คำว่า วิญญาณก็ดี จิตก็ดี ได้ยินมามากที่เข้าใจผิด ท่านมักจะกล่าวว่า วิญญาณกับจิตนี่คนละอย่าง วิญญาณไม่เที่ยง แต่จิตนั้นเที่ยง ที่จริงแล้ว วิญญาณ ก็ดี จิตก็ดี มโนก็ดี มนัสก็ดี หทยก็ดี ก็คือ สภาพธรรมชนิดเดียวกัน แต่พระพุทธองค์ท่านแตกฉานในเรื่องของภาษา เพราะฉะนั้น ถ้าไปแสดงธรรมสถานที่หนึ่ง บางครั้งก็แสดงว่า วิญญาณ ไปแสดงอีกสถานที่หนึ่ง ก็แสดงว่า จิต ทำให้ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเข้าใจว่า จิตและวิญญาณนั้นต่างกัน ขันธ์ ๕ นี้ ถ้ามีจิตเป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็คงจะเป็นขันธ์ ๖

สุ. เพราะฉะนั้น การที่ไม่ศึกษา ไม่เข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้อง จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายผิดต่อๆ กันไปอีกมาก เช่น เมื่อไม่เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นวิญญาณที่เป็นจิต ก็จะทำให้ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นการปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย ด้วยเหตุนี้ก็เลยวินิจฉัย ปักใจเชื่อตามใจชอบว่า บุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นพระอรหันต์

และเมื่อได้ฟัง ได้เข้าใจแล้วว่า ในพันปีหลังจากปรินิพพานแล้ว พันปีที่ ๓ นี้ จะไม่มีผู้ที่สามารถบรรลุคุณธรรมที่เป็นพระอรหันต์ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา หรือแม้พระอรหันต์ผู้เป็นพระสุกขวิปัสสกะ เพราะฉะนั้น ท่านก็อาจจะลดความเชื่อลงมาว่า ที่ท่านเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์นั้น ก็คงเป็นเพียงพระอนาคามีบุคคล แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียด ท่านก็จะไม่มีสิ่งที่จะวินิจฉัยได้เลยว่า ผู้นั้นเป็นพระอนาคามีหรือไม่ใช่พระอนาคามี หรือเพียงพระสกทาคามี หรือพระโสดาบัน หรือได้บรรลุ วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นก็ตาม

. บุคคล ๔ จำพวกนี้ ตนเองเป็นผู้รู้ใช่ไหม บุคคลอื่นจะมารู้ไม่ได้

สุ. แน่นอน ผู้ที่จะรู้ได้ คือ ผู้ที่บรรลุคุณธรรมเช่นเดียวกัน ขั้นเดียวกัน

. ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ๓ พันปีหลังนี้ไม่มีผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ก็คงจะมีหลายคนที่เข้าใจว่าตนเองได้พบพระอรหันต์ ผมเคยได้ยินมาจากไหนไม่ทราบว่า การที่จะสังเกตว่าพระองค์ใดเป็นพระอรหันต์หรือไม่นั้น เราสามารถดูได้จากลักษณะการหัวเราะ คือ คนที่มีกิเลสมาก ก็หัวเราะแบบหนึ่ง คนที่มีกิเลสน้อย ก็หัวเราะไปอีกแบบหนึ่ง ไม่ทราบว่าจะมีในพระไตรปิฎก หรือในอรรถกถาหรือไม่ที่ว่า ถ้าเป็นพระอรหันต์ท่านไม่หัวเราะ เพียงแต่ท่านแย้มหรือยิ้มเท่านั้น

สุ. ถ้าเพียงเท่านี้ และจะวินิจฉัยว่า ใครเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็หัดยิ้ม ยากๆ กันไว้ จะได้เป็นพระอรหันต์โดยไม่ยาก

สำหรับคุณธรรมของพระอรหันต์ ท่านไม่หัวเราะจนตัวโยก ท่านไม่หัวเราะจนน้ำตาไหล หรือท่านไม่หัวเราะเสียงดัง เวลาที่ท่านเกิดปีติ ปรากฏเป็นเพียงการแย้ม หรือการยิ้มเพียงเห็นฟัน แต่ว่าไม่ใช่หัวเราะเสียงดัง ไม่ใช่หัวเราะจนตัวโยก ไม่ใช่หัวเราะจนน้ำตาไหล เพราะเหตุว่าท่านได้อบรมเจริญปัญญา ละคลายดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดอาการตัวโยกด้วยการหัวเราะ ซึ่งเป็นอาการของโลภะที่พึงพอใจอย่างยิ่งในอารมณ์ที่ปรากฏ แต่นี่ไม่ใช่เครื่องวัด ถ้าเป็นเครื่องวัด ทุกคนก็ปลอมเป็นพระอรหันต์ได้โดยง่าย คือ ฝึกหัดยิ้มยากไว้ หัวเราะยากๆ ไว้ คนอื่นก็จะได้เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ แต่นั่นเป็นการหลอกตัวเอง ไม่ใช่เป็นโดยแท้จริง

. อรรถกถาจารย์ท่านกล่าวเฉพาะคุณธรรมขั้นโลกุตตรธรรม ท่านได้พยากรณ์ขั้นฌานจิตหรือไม่ว่า ถึง ๒,๐๐๐ ปี หรือ ๓,๐๐๐ ปี หรือ ๕,๐๐๐ ปี บุคคลจะทำฌานจิตได้ถึงขั้นไหน ท่านพยากรณ์ไว้หรือเปล่า

สุ. ไม่ปรากฏ แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญในพระพุทธศาสนา จึงไม่เป็นปัญหาที่ทรงพยากรณ์ไว้ ที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนานั้น คือ การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะทำให้บุคคลในยุคปลาย ในสมัยหลัง ไม่เข้าใจข้อธรรมคลาดเคลื่อน และวินิจฉัยผิด จึงได้ทรงพยากรณ์ไว้ เพื่อกันความเข้าใจผิด

เรื่องของอกุศลธรรมเป็นสิ่งที่มีมาก ซึ่งถ้าไม่ทราบจริงๆ ว่า ตัวท่านมีอกุศลมากเพียงไร การที่จะละกิเลสย่อมเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ และในวันหนึ่งๆ ก็มีอกุศลธรรมหลายประการที่แสดงให้เห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังมีอกุศลธรรมที่จะต้องละคลาย ขัดเกลาจนกว่าจะดับสิ้นเป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎก จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นในพระวินัยปิฎกก็ดี พระสุตตันตปิฎกก็ดี พระอภิธรรมปิฎกก็ดี พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมวินัยเพื่อที่จะให้บุคคลที่ยังมีกิเลส ยังมีอกุศลธรรมอย่างมากมายได้พิจารณาให้ทราบว่า ตัวท่านเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอีกมากมายเหลือเกินที่จะต้องขัดเกลา

. เรียนถามท่านอาจารย์ คำว่า อริยมรรคมีองค์ ๕ นั้น หมายถึงอย่างไร

สุ. คือ เว้นวิรตี ๓

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ เป็นองค์ของปัญญา สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ เป็นองค์ของศีล สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ เป็นองค์ของสมาธิ

เวลาปกติธรรมดาไม่มีสิ่งที่จะต้องวิรัติ สติก็สามารถที่จะระลึกถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่มีวิรตีเจตสิก ๓ องค์ ก็เป็นมรรค ๕ องค์ ในอริยมรรคมีองค์ ๘

. ตาเห็นรูป เป็นมรรคได้ไหม

สุ. ตาเห็นรูปเฉยๆ ก็เป็นจักขุวิญญาณ ไม่มีการระลึกรู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

. เสียงปรากฏทางหู ก็เช่นเดียวกันหรือ ทางลิ้น ทางจมูก ทางกาย ก็เช่นเดียวกันหรือ

สุ. ทุกทวาร

. เมื่อสติระลึกรู้ ก็เป็นองค์มรรคได้เหมือนกัน เมื่อสติระลึกรู้แล้ว ก็แยกรูปอันหนึ่ง นามอันหนึ่ง จึงจะเรียกว่า เป็นสัมมาสติใช่ไหม

สุ. สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสติ

. ถ้าอย่างนั้น ก็ทุกทวาร ถ้าต้องแยกออกจากกันได้

สุ. แน่นอน

. แต่ตามธรรมดา รูปกับนามต้องเกิดร่วมกัน เป็นอยู่ด้วยกัน แต่แยก เป็นคนละอันได้ แต่แยกออกจากกันทีเดียวไม่ได้

สุ. สภาพธรรมต่างกันโดยความเป็นจริงอย่างไร ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องตรงตามความเป็นจริงอย่างนั้น คือ รู้ว่า สภาพรู้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ ปรากฏให้รู้ทางตา ส่วนสภาพรู้สีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตานั้น ไม่ใช่สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา

. ก็มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสติจะระลึกที่ตรงไหน ก็ปรากฏอยู่ตลอดเวลา

คำว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้น เห็นอย่างไร และคำว่าอริยมรรคนั้นแปลว่าอย่างไร ท่านอาจารย์กรุณาอธิบาย

สุ. อริยมรรค หมายความถึง หนทางที่ทำให้ผู้ปฏิบัติได้รู้แจ้งสภาพธรรมถึงความเป็นพระอริยเจ้า

. จะต้องประกอบด้วยองค์ศีลด้วยหรือไม่ คำว่า อริยมรรค อริยศีล

สุ. ขณะที่สติเกิด เป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต ซึ่งละเอียดยิ่งกว่าเพียงการถือศีลโดยไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น

เปิด  216
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566