แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 597

สุ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เป็นชีวิตจริงๆ ธรรมไม่ได้แยกจากชีวิตจริง ธรรมไม่ได้แยกจากโลก ถ้าไม่มีธรรม โลกก็ไม่มี และเมื่อมีโลกซึ่งเป็นธรรมแล้ว ก็ควรที่จะได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นโลก เป็นธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จะทำให้ท่านน้อมมาพิจารณาเห็นอกุศลธรรมที่ตัวเองละเอียดยิ่งขึ้น และจะรู้ว่า ถ้าขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล และเวลาที่หลงลืมสติก็มีมาก ซึ่งก็รู้ได้ในชีวิตประจำวัน

ในคราวก่อนเป็นเรื่องของการนอบน้อม หรือการอ่อนน้อมต่อสิ่งที่ควรอ่อนน้อม หรือต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะพิจารณาจิตใจของท่านว่า จิตใจของท่านนี้มีอกุศลธรรมหรือกุศลธรรมมากในเรื่องของการอ่อนน้อมต่อสิ่งที่ควรอ่อนน้อม ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด และตามพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุณีก็จะต้องกราบไหว้ แสดงความเคารพพระภิกษุซึ่งเป็นหัวหน้าของพุทธบริษัท แต่ว่าต้องโดยธรรมด้วย ถ้าภิกษุใดมีความประพฤติไม่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุณีไม่ต้องกราบไหว้ภิกษุผู้ไม่สมควรแก่การกราบไหว้

พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ภิกขุนีขันธกะ ข้อ ๕๓๓ มีข้อความว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครเวสาลีตามพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จจาริกทางพระนครสาวัตถี เสร็จจาริกโดยลำดับถึงพระนครสาวัตถี ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น

ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ใช้น้ำโคลนรดภิกษุณีด้วยหวังว่า แม้ไฉนภิกษุณีพึงรักใคร่ในพวกเรา ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้น้ำโคลนรดนางภิกษุณี รูปใดรด ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่ภิกษุนั้น

ภิกษุทั้งหลายคิดว่า พวกเราจะพึงลงทัณฑกรรมอย่างไร แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีสงฆ์พึงทำภิกษุนั้นให้เป็นผู้ไม่ควรไหว้ ฯ

นี่เป็นชีวิตจริง ไม่ว่าสมัยใดทั้งสิ้น แม้พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานจนถึงสมัยนี้ สภาพของจิตที่ยังมีกิเลส ยังมีอกุศลธรรม ก็เป็นปัจจัยให้กระทำกิริยาอาการการกระทำต่างๆ ที่ไม่สมควร โดยเฉพาะถ้าเป็นภิกษุ ก็ไม่ควรแก่การกราบไหว้

จตุตถสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย จุลวรรควรรณนา ว่าด้วยอวันทิยกรณ์เป็นต้น มีข้อความว่า

วินิจฉัยในคำว่า กทฺทโมทเกน นี้ พึงทราบดังนี้

เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้รดด้วยน้ำโคลนอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ เมื่อรดแม้ด้วยน้ำใส น้ำย้อม และตม เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นทุกกฏเหมือนกัน

ข้อว่า อวนฺทิโย โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ ภิกฺขุนิสงฺเฆน กาตพฺโพ มีความว่า ภิกษุณีสงฆ์พึงประชุมกันในสำนักภิกษุณี สวดประกาศ ๓ ครั้งอย่างนี้ว่า พระผู้เป็นเจ้าชื่อโน้น แสดงอาการไม่น่าเลื่อมใสแก่ภิกษุณีทั้งหลาย การทำพระผู้เป็นเจ้านั้น ให้เป็นผู้อันภิกษุณีไม่พึงไหว้ ย่อมชอบใจแก่สงฆ์ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้อันภิกษุณีทั้งหลายกระทำให้เป็นผู้อันตนไม่ควรไหว้ ด้วยสวดประกาศเพียงเท่านี้ จำเดิมแต่นั้น ภิกษุนั้นอันภิกษุณีแม้เห็นแล้วไม่พึงไหว้ อย่างที่เห็นสามเณรแล้วไม่ไหว้ฉะนั้น

อันภิกษุนั้น เมื่อจะประพฤติชอบ ไม่พึงไปสู่สำนักภิกษุณี พึงเข้าไปหาสงฆ์หรือบุคคลผู้หนึ่งในสำนักนั่นแล นั่งกระโหย่งประนมมือ ขอขมาโทษว่า ขอภิกษุณีสงฆ์จงอดโทษแก่ข้าพเจ้า ภิกษุนั้นพึงไปสู่สำนักภิกษุณีกล่าวว่า ภิกษุนั้นขอโทษพวกท่าน จำเดิมแต่นั้น ภิกษุณีทั้งหลายพึงไหว้ภิกษุนั้น

นี่เป็นการกระทำที่ควร ซึ่งแต่ละท่านต้องทราบตามความเป็นจริงว่า ควรประพฤติอย่างไรต่อใคร เพราะว่าการที่ภิกษุทำอาการที่ไม่น่าเลื่อมใส และการที่ภิกษุณีทั้งหลายไม่พึงไหว้ ย่อมชอบใจแก่สงฆ์ เพราะว่าเป็นการอนุเคราะห์ให้หมู่คณะเป็นหมู่คณะที่ดี ถ้ามีบุคคลในหมู่คณะประพฤติไม่ดี ก็จะต้องอนุเคราะห์เกื้อกูลกัน ให้เป็นผู้ที่ประพฤติดี แต่จะต้องเป็นไปตามพระวินัยบัญญัติสำหรับบรรพชิต

เรื่องของการแสดงความเคารพต่อกันและกัน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นสภาพของจิตที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน แต่ละบุคคล ก็แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่กำลังกระทำกิจนั้นๆ หรือเปล่า

ใน พระวินัยบัญญัติ จุลวรรค ภาค ๒ มูลเหตุอุปัชฌายวัตร ท่านผู้ฟังจะได้เห็นถึงการขัดเกลากิเลสทุกทาง แม้ในเรื่องของกิจที่จะต้องพึงกระทำต่อผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ด้วย

ข้อความใน พระวินัยบัญญัติ จุลวรรค ภาค ๒ วัตตขันธก มูลเหตุอุปัชฌายวัตร ข้อ ๔๓๘ มีว่า

สมัยนั้น สัทธิวิหาริกทั้งหลาย ไม่ประพฤติชอบในพระอุปัชฌายะ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนสัทธิวิหาริกทั้งหลาย จึงไม่ประพฤติชอบในพระอุปัชฌายะ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าสัทธิวิหาริกทั้งหลาย ไม่ประพฤติชอบใน พระอุปัชฌายะ จริงหรือ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

จริง พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไฉนสัทธิวิหาริกทั้งหลาย จึงได้ไม่ประพฤติชอบใน พระอุปัชฌายะ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...

ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติอุปัชฌายวัตรแก่สัทธิวิหาริกทั้งหลาย โดยประการที่สัทธิวิหาริกทั้งหลาย พึงประพฤติเรียบร้อยในอุปัชฌายะ ฯ

พระอุปัชฌาย์ หมายความถึงพระภิกษุซึ่งเป็นผู้อุปสมบทให้แก่กุลบุตรผู้มีศรัทธาที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

ข้อความต่อไป

อุปัชฌายวัตร

ข้อ ๔๓๙

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกพึงประพฤติชอบในอุปัชฌายะ วิธีประพฤติชอบในอุปัชฌายะนั้น ดังต่อไปนี้

สัทธิวิหาริกพึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มผ้าเฉวียงบ่า แล้วถวายไม้ชำระฟัน ถวายน้ำล้างหน้า ปูอาสนะไว้ ถ้ายาคูมี พึงล้างภาชนะ แล้วน้อมยาคูเข้าไป เมื่ออุปัชฌายะดื่มยาคูแล้ว พึงถวายน้ำ รับภาชนะมา ถือต่ำๆ ล้างให้เรียบร้อย อย่าให้กระทบ แล้วเก็บไว้ เมื่ออุปัชฌายะลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย

ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส ถ้าท่านมีโอกาสที่จะแสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม ก็ควรจะกระทำกิจอย่างนี้ด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

ถ้าอุปัชฌายะประสงค์จะเข้าบ้าน พึงถวายผ้านุ่ง พึงรับผ้านุ่งผลัดมา พึงถวายประคดเอว พึงซ้อนผ้าห่มสองชั้นถวาย พึงล้างบาตรแล้ว ถวายพร้อมทั้งน้ำ ถ้าอุปัชฌายะปรารถนาให้เป็นปัจฉาสมณะ พึงปกปิดกายให้มีมณฑลสาม นุ่งให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ซ้อนผ้าห่มสองชั้นห่มคลุม กลัดลูกดุม ล้างบาตรแล้วถือไป เป็นปัจฉาสมณะของอุปัชฌายะ ไม่พึงเดินให้ห่างนัก ให้ชิดนัก พึงรับวัตถุที่เนื่องในบาตร เมื่ออุปัชฌายะกำลังพูด ไม่พึงพูดสอดขึ้นในระหว่างๆ เมื่ออุปัชฌายะกล่าวถ้อยคำใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย เมื่อกลับ พึงกลับมาก่อน แล้วปูอาสนะไว้ พึงวางน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ใกล้ๆ พึงรับบาตร จีวร พึงถวายผ้านุ่งผลัด พึงรับผ้านุ่งมา ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดสักครู่หนึ่ง แต่อย่าผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะพับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ด้วยตั้งใจมิให้มีรอยพับตรงกลาง พึงสอดประคดเอวไว้ในขนดจีวร

เป็นเรื่องของความฉลาด กิจการงานทุกอย่างที่กระทำ ต้องทำด้วยความฉลาด ด้วยการมนสิการ ควรใส่ใจว่าจะกระทำกิจอย่างไร แม้แต่เวลาที่จะกลับ ก็ต้องกลับก่อน เพื่อจะได้จัดเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้เรียบร้อย คือ เมื่อกลับมาแล้ว ต้องปูอาสนะไว้ วางน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ใกล้ๆ แล้วก็รับบาตรจีวร ถวายผ้านุ่งผลัด พึงรับผ้านุ่งมา ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดสักครู่หนึ่ง แม้แต่การผึ่งแดด ก็จะต้องเป็นไปด้วยการใส่ใจที่จะทำให้เรียบร้อย ด้วยความฉลาด

เมื่ออุปัชฌายะกลับมาแล้ว ข้อความต่อไปมีว่า

ถ้าบิณฑบาตมี และอุปัชฌายะประสงค์จะฉัน พึงถวายน้ำ แล้วน้อมบิณฑบาตเข้าไป พึงถามอุปัชฌายะถึงน้ำฉัน เมื่ออุปัชฌายะฉันแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา ถือต่ำๆ ล้างให้เรียบร้อยอย่าให้กระทบ ล้างเช็ดให้หมดน้ำ แล้วพึงผึ่งไว้ที่แดดสักครู่หนึ่ง แต่อย่าผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงเก็บบาตร จีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง แล้วเก็บบาตร แต่อย่าเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ปราศจากเครื่องรอง เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวร หรือสายระเดียง แล้วทำชายจีวรไว้ข้างนอกขนดไว้ข้างใน แล้วเก็บจีวร เมื่ออุปัชฌายะลุกขึ้นแล้ว พึงเก็บอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย

ปกติท่านผู้ฟังก็ทำอย่างนี้อยู่แล้วใช่ไหม เวลาที่รับประทานอาหาร หรือเวลาที่กระทำกิจในบ้าน ถ้าจะให้เรียบร้อย ก็ต้องกระทำให้ถูกต้องตามควรด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

ถ้าอุปัชฌายะใคร่จะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าต้องการน้ำเย็น พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าต้องการน้ำร้อน พึงจัดน้ำร้อนถวาย ถ้าอุปัชฌายะใคร่จะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุณ แช่ดิน ถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วเดินตามหลังอุปัชฌายะไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วรับจีวรมาวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พึงถวายจุณ ถวายดิน ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้า ปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง แล้วเข้าเรือนไฟ อย่านั่งเบียดภิกษุผู้เถระ อย่าเกียดกันอาสนะภิกษุใหม่ พึงทำบริกรรมแก่อุปัชฌายะในเรือนไฟ เมื่อออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง ออกจากเรือนไฟ พึงทำบริกรรมอุปัชฌายะแม้ในน้ำ อาบเสร็จแล้ว พึงขึ้นมาก่อน ทำตัวของตนให้แห้งน้ำ นุ่งผ้าแล้วพึงเช็ดน้ำจากตัวของอุปัชฌายะ พึงถวายผ้านุ่ง ผ้าสังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับเรือนไฟมาก่อน แล้วปูอาสนะไว้ พึงวางน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ใกล้ๆ พึงถามอุปัชฌายะด้วยน้ำดื่ม

ถ้าประสงค์จะเรียนบาลี พึงขอให้อุปัชฌายะแสดงบาลีขึ้น ถ้าประสงค์จะสอบถามอรรถกถา พึงสอบถาม อุปัชฌายะอยู่ในวิหารแห่งใด ถ้าวิหารแห่งนั้นรก ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงปัดกวาดเสีย เมื่อปัดกวาดวิหาร พึงขนบาตร จีวรออกก่อน แล้ววางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พึงขนผ้าปูนั่งและผ้าปูนอน ฟูกหมอน ออกวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เตียงตั่ง สัทธิวิหาริกพึงยกต่ำๆ ทำให้ดี อย่าให้ครูดสี กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ตั้งไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เขียงรองเท้า เตียง กระโถน พนักอิง พึงขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เครื่องปูพื้นพึงสังเกตที่ปูไว้เดิม แล้วขนออกไปวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดแต่เพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้องพึงเช็ดเสีย ถ้าฝาเขาทำบริกรรมด้วยน้ำมัน หรือพื้นเขาทาสีดำขึ้นรา พึงเอาผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ดเสีย ถ้าพื้นเขามิได้ทำ พึงเอาน้ำประพรมแล้วเช็ดเสียด้วยคิดว่า อย่าให้ฝุ่นกลบวิหารดังนี้ พึงกวาดหยากเยื่อทิ้งเสีย ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เครื่องปูพื้นพึงผึ่งแดด ชำระ เคาะ ปัด แล้วขนกลับปูไว้ดังเดิม เขียงรองเท้า เตียงพึงผึ่งแดด ปัด เช็ด แล้วขนกลับไปตั้งไว้ที่เดิม เตียงตั่งพึงผึ่งแดด ขัดสี เคาะ ยกต่ำๆ ทำให้ดี อย่าให้ครูดสี กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน กระโถน พนักอิง พึงผึ่งแดด ชำระล้าง เคาะ ปัดเสีย แล้วขนกลับตั้งไว้ตามเดิม พึงเก็บบาตร จีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียง หรือใต้ตั่ง แล้วเก็บบาตร แต่อย่าเก็บบาตรบนพื้นที่ปราศจากเครื่องรอง เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวร หรือสายระเดียง แล้วทำชายไว้ข้างนอก ขนดไว้ข้างใน เก็บจีวร

ถ้าลมเจือด้วยผงคลีพัดมาแต่ทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก ถ้าลมเจือผงคลีพัดมาแต่ทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก ถ้าลมเจือผงคลีพัดมาแต่ทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ ถ้าลมเจือผงคลีพัดมาแต่ทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้ ถ้าฤดูหนาวพึงเปิดหน้าต่างกลางวัน กลางคืนพึงปิดเสีย ถ้าฤดูร้อน กลางวันพึงปิด กลางคืนพึงเปิด ถ้าบริเวณซุ้มน้ำ โรงฉัน โรงไฟ วัจจกุฎีรก พึงปัดกวาดเสีย ถ้าน้ำฉัน น้ำใช้ไม่มี พึงจัดตั้งไว้ ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักมาไว้ในหม้อชำระ

ไม่ทราบท่านผู้ฟังคิดหรือไม่ว่า สัทธิวิหาริกซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอุปัชฌายะนี้ จะต้องอบรมเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กำลังกระทำกิจเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่ว่ากระทำกิจให้เสร็จเสียก่อน แล้วจึงจะเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่อย่างนั้น

เปิด  231
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566