แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 598
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านอ่านพระไตรปิฎกแล้วถามว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคทรงเน้นเรื่องของสมาธิ นั่นเป็นการอ่าน เป็นความเข้าใจของท่านผู้นั้น แต่ตามความจริง พระผู้มีพระภาคทรงเน้นเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง
ในพระวินัยปิฎกก็ดี ในพระสุตตันตปิฎกก็ดี ในพระอภิธรรมปิฎกก็ดี ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่กระทำกิจเหล่านี้ ในขณะนั้นไม่เจริญสติปัฏฐาน แต่หมายความว่า ผู้ที่ศึกษาและเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ย่อมรู้ว่าไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมประการใด หรือแม้ในพระวินัยบัญญัติทั้งหมด ผู้ที่เข้าใจในหนทางข้อปฏิบัติแล้ว ก็อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงทุกอย่างทุกประการ และแม้แต่สัทธิวิหาริกขณะที่กระทำกิจต่อพระอุปัชฌายะ ก็จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานตามปกติตามความเป็นจริงด้วย มิฉะนั้นแล้ว จะหมายความว่า ลูกศิษย์กระทำกิจบำรุงอาจารย์โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการเสียเวลาต่อการที่จะอุปสมบท
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจพระธรรมวินัยแล้วย่อมทราบว่า จุดประสงค์ในการที่จะละกิเลสนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ศึกษาพระธรรมวินัยทั้งหมดได้ ทั้งบาลี ทั้งอรรถกถา ทั้งกระทำกิจต่ออุปัชฌายะ โดยอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง จนกว่าสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม
และในระหว่างที่ยังดับกิเลสไม่ได้ ชีวิตก็ต้องเป็นไปตามความจริงตามเพศของบรรพชิตหรือฆราวาส ซึ่งผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ จะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวันจริงๆ ของท่านก็คงไม่พ้นจากเรื่องของผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน พนักอิง เตียงตั่ง ซึ่งทุกคนก็จะต้องมีกิจกระทำความสะอาด เพื่อความเป็นอยู่ของชีวิตที่จะดำเนินต่อไป
ข้อความต่อไปมีว่า
ถ้าความกระสันบังเกิดขึ้นแก่อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริกพึงช่วยระงับ หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌายะนั้น ถ้าความรำคาญบังเกิดแก่อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌายะนั้น ถ้าทิฏฐิบังเกิดแก่อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริกพึงให้สละเสีย หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌายะนั้น
นี่เป็นชีวิตประจำวัน
ข้อความต่อไป
ถ้าจีวรของอุปัชฌายะจะต้องซัก สัทธิวิหาริกพึงซัก หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงซักจีวรของอุปัชฌายะ ถ้าจีวรของอุปัชฌายะจะต้องทำ สัทธิวิหาริกพึงทำ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงทำจีวรของอุปัชฌายะ
ถ้าน้ำย้อมของอุปัชฌายะจะต้องต้ม สัทธิวิหาริกพึงต้มเอง หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงต้มน้ำย้อมของอุปัชฌายะ ถ้าจีวรของอุปัชฌายะจะต้องย้อม สัทธิวิหาริกพึงย้อม หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงย้อมจีวรของอุปัชฌายะ เมื่อย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาให้ดี เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย อย่าหลีกไป
สัทธิวิหาริกไม่บอกอุปัชฌายะก่อน อย่าให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป อย่ารับบาตร อย่าให้จีวร อย่ารับจีวร อย่าให้บริขาร อย่ารับบริขารของภิกษุบางรูป อย่าปลงผมให้แก่ภิกษุบางรูป อย่าให้ภิกษุบางรูปปลงผมให้ อย่าทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป อย่าให้ภิกษุบางรูปทำบริกรรมให้ อย่าทำความขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป อย่าสั่งให้ภิกษุบางรูปทำความขวนขวาย อย่าเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป อย่าพาภิกษุบางรูปไปเป็นปัจฉาสมณะ อย่านำบิณฑบาตไปให้แก่ภิกษุบางรูป อย่าให้ภิกษุบางรูปนำบิณฑบาตมาให้
ไม่บอกลาอุปัชฌายะก่อน อย่าเข้าบ้าน อย่าไปป่าช้า อย่าหลีกไปสู่ทิศ ถ้าอุปัชฌายะอาพาธ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นอุปัชฌายวัตรของสัทธิวิหาริกทั้งหลาย ซึ่ง สัทธิวิหาริกพึงประพฤติชอบในพระอุปัชฌายะ ฯ
เป็นการแสดงความเคารพ ความนอบน้อม โดยการกระทำกิจที่ควรกระทำต่อผู้ที่เป็นอุปัชฌายะ
เรื่องของชีวิตที่จะต้องเกี่ยวข้องประพฤติเป็นไป นอกจากหน้าที่ของสัทธิวิหาริก ซึ่งจะต้องมีต่อพระอุปัชฌาย์แล้ว แม้แต่กิจของอุปัชฌาย์ที่ควรกระทำต่อสัทธิวิหาริกก็มี มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเป็นการกระทำกิจที่ไม่สมบูรณ์ของอุปัชฌายะ ไม่ใช่ว่า เมื่อ พระอุปัชฌายะอุปสมบทให้แก่กุลบุตรแล้ว ก็ทอดทิ้งไป โดยที่ไม่เกื้อกูล ไม่สงเคราะห์ ไม่อนุเคราะห์ต่อไปอีก เพราะว่าการที่จะมีชีวิตเป็นเพศบรรพชิตอยู่ได้ตลอดไป เป็นสิ่งที่จะต้องอดทนด้วยประการต่างๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอุปัชฌาย์ ก็จะต้องสงเคราะห์ อนุเคราะห์ เกื้อกูลแก่ผู้ที่เป็นสัทธิวิหาริกด้วย
สำหรับกิจของพระอุปัชฌาย์ที่พึงประพฤติชอบในสัทธิวิหาริก ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งกิจที่พระอุปัชฌายะจะต้องสงเคราะห์แก่สัทธิวิหาริกในทางธรรมนั้นก็คือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สัทธิวิหาริกวัตร
ข้อ ๔๔๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌายะพึงประพฤติชอบในสัทธิวิหาริก วิธีประพฤติชอบในสัทธิวิหาริกนั้น ดังต่อไปนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌายะพึงสงเคราะห์ อนุเคราะห์สัทธิวิหาริกด้วย อุเทศ ปริปุจฉา โอวาท อนุศาสนี ถ้าอุปัชฌายะมีบาตร สัทธิวิหาริกไม่มี อุปัชฌายะพึงให้แก่สัทธิวิหาริก
นอกจากนั้น ข้อความที่จะอนุเคราะห์ ก็อนุเคราะห์เวลาที่สัทธิวิหาริกอาพาธ คือ เกิดป่วยไข้ขึ้น แทนที่สัทธิวิหาริกจะเป็นผู้ที่ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ พระอุปัชฌายะก็พึงลุกแต่เช้าตรู่ และกระทำกิจ คือ ให้ไม้ชำระฟัน ให้น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ ให้ยาคู และกระทำกิจที่สัทธิวิหาริกเคยกระทำต่อท่าน นอกจากนั้น ก็มีมูลเหตุอาจริยวัตร ที่ อันเตวาสิกทั้งหลายจะต้องประพฤติต่อท่าน ซึ่งข้อความก็โดยนัยเดียวกัน
ถ. ผมในฐานะเรียนมาก็อยากจะพูด อุปัชฌาย์หมายความอย่างที่อาจารย์อธิบายไปแล้วว่า เป็นผู้ให้อุปสมบท พระที่จะเป็นอุปัชฌาย์ต้องรู้ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง ผมก็จำไม่ได้ รวมความว่า ต้องรู้จักทำปาฏิโมกข์ รู้จักปฏิบัติวินัย อุปัชฌาย์นี้อย่างน้อยต้องมีพรรษาถึง ๑๐ จึงจะเป็นอุปัชฌาย์ และอุปัชฌาย์เมื่อให้อุปสมบทแก่กุลบุตรจนเป็นพระไปแล้ว พระนั้นมีชื่อเรียก ๓ อย่าง คือ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก และศิษย์
สัทธิวิหาริก สัทธิ แปลว่า กับ วิหาริก แปลว่า อยู่
อันเตวาสิก อันเต อันตะ แปลว่า ภายใน วาสิก แปลว่า อยู่ คือ อยู่ภายใน
ศิษย์ หมายความว่า ผู้ศึกษาเรียกว่า ศิษย์
ทีนี้คนประเภทไหนจะเรียกว่าอะไร พระที่อุปัชฌาย์บวชให้นี้ เขาเรียกว่า สัทธิวิหาริก ส่วนอันเตวาสิก อยู่ห้องเดียวกัน ก็เรียกอันเตวาสิก อยู่รวมๆ กันในกุฏิเดียวกัน ตั้งผู้อาวุโสคนหนึ่งเป็นหัวหน้า คนอื่นๆ ที่อ่อนกว่าๆ เรียกว่า อันเตวาสิก
สำหรับศิษย์ อย่างผมมาเรียนกับอาจารย์ เรียกว่า ศิษย์ แต่ไม่ใช่สัทธิวิหาริก ไม่ใช่อันเตวาสิก
สุ. ขอบพระคุณที่กรุณาอธิบายให้ความหมายภาษาบาลี แต่ที่ใช้อยู่คู่กัน ก็เป็นอุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริก และอาจริยะกับอันเตวาสิก
ในเรื่องของความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมซึ่งเป็นกุศล สงเคราะห์ในข้อของศีลนั้น เป็นเรื่องซึ่งมีทั่วไปในพระไตรปิฎก แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ ท่านผู้ฟังจะต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต แม้ในขณะที่กำลังอ่อนน้อม หรือไม่อ่อนน้อม เพื่อที่จะได้ละการยึดถือสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่ถือว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล
ขอกล่าวถึงความอ่อนน้อมของท่านพระอานนท์เถระซึ่งท่านมีต่อสงฆ์ หลังจากที่ท่านได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงการอ่อนน้อมของท่านพระอานนท์ต่อสงฆ์ ขอกล่าวถึงตั้งแต่เริ่มต้นที่ท่านพระมหากัสสปะสังคายนาครั้งที่ ๑ โดยปรารภคำของสุภัททวุฑฒบรรพชิต ซึ่งท่านพระมหากัสสปะดำริที่จะทำสังคายนาและท่านก็สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูป ตามข้อความใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ปัญจสติกขันธกะ เรื่องสมมติภิกษุ ๕๐๐ รูป
ข้อ ๖๑๕
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ถ้ากระนั้น ขอพระเถระจงคัดเลือกภิกษุทั้งหลายเถิดขอรับ ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป จึงคัดเลือกพระอรหันต์ได้ ๕๐๐ รูป หย่อนอยู่องค์หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปว่า
ท่านเจ้าข้า ท่านพระอานนท์นี้ยังเป็นเสกขบุคคลอยู่ก็จริง แต่ไม่ลุอำนาจฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ และท่านได้เรียนพระธรรมและพระวินัยเป็นอันมากในสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะเหตุนั้น ขอพระเถระจงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วยเถิด
ลำดับนั้น พระมหากัสสปจึงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วย จึงพระเถระทั้งหลายปรึกษากันว่า พวกเราจักสังคายนาพระธรรมและพระวินัยที่ไหนดีหนอ ครั้นแล้วเห็นพร้อมกันว่า พระนครราชคฤห์มีโคจรคามมาก มีเสนาสนะเพียงพอ สมควรแท้ที่พวกเราจะอยู่จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ สังคายนาพระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่ควรเข้าจำพรรษาในพระนครราชคฤห์
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา
ในขณะที่ท่านพระมหากัสสปะคัดเลือกพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป หย่อนอยู่ ๑ รูป ท่านพระอานนท์ยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นเพียงพระโสดาบันบุคคล แต่ถึงอย่างนั้น แม้ว่าท่านยังเป็นเสกขบุคคลอยู่ก็จริง แต่เป็นผู้ที่ไม่ลุอำนาจฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ และท่านได้เรียนพระธรรมและ พระวินัยเป็นอันมากในสำนักพระผู้มีพระภาค ด้วยเหตุนั้นพระเถระทั้งหลายจึงขอให้ท่านพระมหากัสสปะคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วย
ข้อความต่อไป
เรื่องปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรม
ข้อ ๖๑๖
ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลายได้ไปพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและพระวินัย แล้วปรึกษากันว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมไว้ ถ้ากระไรพวกเราจักปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมในเดือนต้น แล้วจักประชุมสังคายนาพระธรรมและพระวินัยในเดือนท่ามกลาง ครั้งนั้น พระเถระได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมในเดือนต้น ฯ
พระอานนท์สำเร็จพระอรหัต
ข้อ ๖๑๗
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม ข้อที่เรายังเป็นเสกขบุคคลอยู่จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้น ไม่ควรแก่เรา จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีจึงเอนกายด้วยตั้งใจว่า จักนอน แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้น จิตได้หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ได้ไปสู่ที่ประชุม ฯ
ถ. ท่านพระอานนท์ในราตรีนั้น ก่อนที่จะบรรลุธรรม ท่านเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ หรือเจริญแต่กายคตาสติเท่านั้น
สุ. ท่านผู้ฟังถามว่า ที่ท่านพระอานนท์ยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ เป็นการเจริญเฉพาะกายคตาสติเท่านั้น หรือว่าสติปัฏฐานทั้ง ๔ ใช่ไหม
ข้อความในพระไตรปิฎกหลายแห่งแสดงว่า กายคตาสตินั้น คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เช่น ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ กายคตาสติสูตร เพราะฉะนั้น ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๔ บรรพ อานาปานสติ ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพหนึ่ง ซึ่งผู้ที่มีความชำนาญมากในการเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าเป็นผู้ที่เคยอบรมฌานสมาบัติมาก่อน สามารถที่จะบรรลุคุณวิเศษถึงฌานจิตโดยการเจริญอานาปานสติปัฏฐานอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความว่องไวเพราะมีความชำนาญในการเจริญสติปัฏฐานด้วย สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของลมหายใจซึ่งเป็นเหตุให้บรรลุถึงฌานแต่ละขั้น แล้วก็ละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลด้วย เพราะรู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีความชำนาญอย่างยิ่ง ฌานจิตจะไม่เกิดอย่างรวดเร็ว และสติจะไม่ระลึกรู้ความเกิดดับของฌานจิต เมื่อไม่ระลึกรู้ความเกิดดับ ก็ไม่สามารถที่จะละคลายการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ และสำหรับอานาปานสตินี้ เมื่อเจริญแล้ว สามารถที่จะรู้ถึงความละเอียดของสภาพของจิตที่กำลังมีลมหายใจเป็นอารมณ์ หรือแม้แต่ความละเอียดของฌานจิตแต่ละขั้นซึ่งมีลมหายใจเป็นอารมณ์ หรือแม้แต่สภาพของเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์
ท่านพระอานนท์เป็นเอตทัคคะถึง ๕ ประการ ไม่ใช่แต่เฉพาะในเรื่องพุทธอุปัฏฐากเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในที่นี้ไม่ได้แสดงไว้ว่า ท่านพระอานนท์มีอารมณ์ สติปัฏฐานบรรพใด แต่แสดงไว้โดยกว้างๆ ว่า ยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ
เพราะฉะนั้น บางท่านซึ่งไม่ทราบว่ากายคตาสติหมายความถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะเข้าใจว่า หมายความเฉพาะส่วนที่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เท่านั้น