แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 603

ครั้งนั้น พระเจ้าอุเทนได้ทอดพระเนตรเห็นพระมเหสีเสด็จมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้ตรัสถามว่า

พวกเธอเยี่ยมพระสมณะอานนท์แล้วหรือ

พระมเหสีกราบทูลว่า

พวกหม่อมฉันได้เยี่ยมพระคุณเจ้าอานนท์แล้ว พระเจ้าข้า

พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

พวกเธอได้ถวายอะไรแก่พระสมณะอานนท์บ้าง

พระมเหสีกราบทูลว่า

พวกหม่อมฉันได้ถวายผ้าห่ม ๕๐๐ ผืน แก่พระคุณเจ้าอานนท์ พระเจ้าข้า

พระเจ้าอุเทนทรงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะอานนท์จึงรับจีวรมากถึงเพียงนั้น พระสมณะอานนท์จักทำการค้าขายผ้า หรือจักตั้งร้านค้า แล้วเสด็จเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ทรงปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วตรัสถามว่า

ท่านพระอานนท์ มเหสีของข้าพเจ้ามาหาหรือ

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

พระมเหสีของพระองค์มาหา มหาบพิตร

พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

ก็พระนางได้ถวายอะไรแก่ท่านพระอานนท์บ้าง

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

ได้ถวายผ้าห่มแก่อาตมภาพ ๕๐๐ ผืน มหาบพิตร

พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

ก็ท่านพระอานนท์จักทำอะไรกะจีวรมากมายเพียงนั้น

ด้วยความไม่เคารพ พระเจ้าอุเทนก็คิดว่า ท่านพระอานนท์คงจะขายผ้า หรือว่าตั้งร้านค้าขาย แต่ด้วยความที่ใคร่จะทราบว่า ท่านพระอานนท์จะทำอะไรกับจีวรที่มากมายอย่างนั้น ก็ได้เสด็จมา และได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ ซึ่งท่านพระอานนท์ก็ได้ทูลว่า

อาตมภาพจักแจกให้แก่ภิกษุทั้งหลายที่มีจีวรคร่ำคร่า มหาบพิตร

พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

ท่านพระอานนท์ ก็ท่านจักทำอย่างไรกะจีวรที่เก่าคร่ำเหล่านั้นต่อไป

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าดาดเพดาน มหาบพิตร

นี่คือ ชีวิตประจำวัน อย่าลืมว่า ทำได้ เป็นชีวิตจริง เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตจริง

พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

ท่านพระอานนท์ ท่านจักทำอย่างไรกะผ้าดาดเพดานเก่าเหล่านั้น

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าปูฟูก

พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

ท่านพระอานนท์ ท่านจักทำอย่างไรกะผ้าปูฟูกที่เก่าเหล่านั้น

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าปูพื้น มหาบพิตร

นี่เป็นชีวิตจริงของท่านผู้ฟังด้วย และเป็นสภาพธรรมซึ่งทุกท่านก็ปฏิบัติอยู่ตามควร

พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

ท่านพระอานนท์ ท่านจักทำอย่างไรกะผ้าปูพื้นที่เก่าเหล่านั้น

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าเช็ดเท้า มหาบพิตร

พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

ท่านพระอานนท์ ท่านจักทำอย่างไรกะผ้าเช็ดเท้าที่เก่าเหล่านั้น

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าเช็ดธุลี มหาบพิตร

พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

ท่านพระอานนท์ ท่านจักทำอย่างไรกะผ้าเช็ดธุลีที่เก่าเหล่านั้น

ท่านผู้ฟังถึงระยะนี้หรือยัง เป็นผ้าเช็ดเท้า เก่าแล้ว เป็นผ้าเช็ดธุลี เก่าแล้วอีก ท่านผู้ฟังจะทำอย่างไร ทิ้งไป นี่ก็เป็นที่น่าสงสัยมากสำหรับพระเจ้าอุเทนว่า ท่าน พระอานนท์จะทำอย่างไรต่อไป

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

อาตมภาพจักโขลกผ้าเหล่านั้น ขยำกับโคลน แล้วฉาบทาฝา มหาบพิตร

ครั้งนั้น พระเจ้าอุเทนทรงพระดำริว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ทั้งหลายนำผ้าไปแยบคายดี ไม่เก็บผ้าเข้าเรือนคลัง แล้วถวายผ้าจำนวน ๕๐๐ ผืน แม้อื่นอีกแก่ท่านพระอานนท์ ก็ในคราวนี้บริขาร คือ จีวรบังเกิดแก่ท่านพระอานนท์ เป็นครั้งแรก คือ ผ้า ๑,๐๐๐ ผืน เกิดขึ้นแล้ว ฯ

ต่อไปเป็นเรื่องที่ท่านพระอานนท์ลงพรหมทัณฑ์กับท่านพระฉันนะ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ผู้ที่สะสมปัญญามาที่จะเป็นบัณฑิต การลงพรหมทัณฑ์จะเกิดผลกับท่านอย่างไร

ข้อความต่อไป

ลงพรหมทัณฑ์

ข้อ ๖๒๗

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปยังวัดโฆสิตาราม ครั้นแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ท่านพระฉันนะเข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะท่านพระฉันนะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า

ท่านฉันนะ สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่ท่านแล้ว ฯ

ท่านพระฉันนะกล่าวว่า

ท่านพระอานนท์ ก็พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

ท่านฉันนะ ท่านปรารถนาจะพูดคำใดพึงพูดคำนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงตักเตือน ไม่พึงพร่ำสอนท่าน

ท่านพระฉันนะกล่าวว่า

ท่านพระอานนท์ ด้วยเหตุเพียงที่ภิกษุทั้งหลายไม่ว่ากล่าว ไม่ตักเตือน ไม่พร่ำสอนข้าพเจ้านี้ เป็นอันสงฆ์กำจัดข้าพเจ้าแล้วมิใช่หรือ

แล้วสลบล้มลง ณ ที่นั้นเอง

ต่อมาท่านพระฉันนะอึดอัด ระอา รังเกียจอยู่ด้วยพรหมทัณฑ์ จึงหลีกออกอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นที่สุดพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องประสงค์ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบันนี้แหละ เข้าถึงอยู่แล้ว ได้รู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี

ก็แล ท่านพระฉันนะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง บรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ครั้นท่านพระฉันนะบรรลุพระอรหัตแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วกล่าวว่า

ท่านพระอานนท์ ขอท่านจงระงับพรหมทัณฑ์แก่ผมในบัดนี้เถิด

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

ท่านฉันนะ เมื่อใดท่านทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว เมื่อนั้นพรหมทัณฑ์ของท่านก็ระงับแล้ว ฯ

ข้อ ๖๒๘

ก็ในการสังคายนาพระวินัยนี้มีภิกษุ ๕๐๐ รูป ไม่หย่อนไม่เกิน เพราะฉะนั้น การสังคายนาพระวินัยครั้งนี้ บัณฑิตจึงเรียกว่า แจง ๕๐๐ ดังนี้แล ฯ

ปัญจสติกขันธกะที่ ๑๑ จบ

นี่เป็นเรื่องของการอ่อนน้อม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในชีวิตของท่าน ถ้าพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ท่านก็จะไม่ทราบเลยว่า ตามฐานะที่ท่านเป็นอยู่ จิตใจของท่านเป็นกุศลหรืออกุศลมากน้อยประการใด แต่ในการอ่อนน้อมก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ท่านรู้ได้

ในการที่จะแสดงความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาค มีข้อความที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกสั้นๆ หลายประการ ที่แสดงให้เห็นว่า ด้วยการประพฤติปฏิบัติตาม พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เป็นการแสดงความนอบน้อมอย่างสูง เช่น ใน อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ตติยปัณณาสก์ สันถารวรรคที่ ๔ ข้อ ๔๐๑ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การบูชา ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ อามิสบูชา ๑ ธรรมบูชา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การบูชา ๒ อย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาการบูชา ๒ อย่างนี้ ธรรมบูชาเป็นเลิศ ฯ

ท่านผู้ฟังก็คงเคยบูชาด้วยอามิสมามาก เช่น ดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น แต่ว่าสำหรับการบูชาด้วยอามิส และการบูชาด้วยธรรม คือ ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ธรรมบูชาเป็นเลิศ

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ใคร่จะบูชาพระคุณของพระรัตนตรัย สามารถที่จะกระทำได้ทันที สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ย่อมจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นได้ เป็นการบูชาซึ่งเป็นธรรมบูชา เพราะว่าพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงหวังที่จะได้รับอามิสบูชา แต่พระธรรมที่ทรงแสดงนั้นเพื่อที่จะให้พุทธบริษัทประพฤติปฏิบัติตาม ดังนั้น การบูชาที่เลิศที่สุด คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นธรรมบูชา

ข้อ ๔๐๒

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ของต้อนรับแขก ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ของต้อนรับ คือ อามิส ๑ ของต้อนรับ คือ ธรรม ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ของต้อนรับแขก ๒ อย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาของต้อนรับแขก ๒ อย่างนี้ ของต้อนรับแขก คือ ธรรมเป็นเลิศ ฯ

ต่อไปเป็นเรื่องของความสำเร็จ ๒ อย่าง

ข้อ ๔๐๓

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความสำเร็จ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ความสำเร็จ คือ อามิส ๑ ความสำเร็จ คือ ธรรม ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลายความสำเร็จ ๒ อย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาความสำเร็จ ๒ อย่างนี้ความสำเร็จ คือ ธรรมเป็นเลิศ ฯ

ทุกท่านก็ย่อมมุ่งหวังความสำเร็จของตน แล้วแต่ว่าท่านเป็นใคร ท่านก็หวังความสำเร็จอย่างนั้น แต่ส่วนมากความสำเร็จที่ท่านหวังในชีวิตนั้น เป็นความสำเร็จของอามิส แต่ว่าผู้ที่เข้าใจพระธรรมแล้วก็เห็นว่า การที่ได้เกิดเป็นมนุษย์และมีลาภอันประเสริฐ คือ การได้เข้าใจการประพฤติปฏิบัติที่เป็นการขัดเกลากิเลส ก็ย่อมจะต้องการความสำเร็จในธรรม ซึ่งในความสำเร็จ ๒ อย่างนั้น ความสำเร็จ คือ ธรรมเป็นเลิศ

ข้อความต่อไป

ข้อ ๔๐๔

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ความเจริญด้วยอามิส ๑ ความเจริญด้วยธรรม ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญ ๒ อย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาความเจริญ ๒ อย่างนี้ ความเจริญด้วยธรรมเป็นเลิศ ฯ

ข้อ ๔๐๙

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ซื่อตรง ๑ ความเป็นผู้อ่อนโยน ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้แล ฯ

บางทีท่านผู้ฟังอาจจะไม่ได้พิจารณาเห็นความสำคัญของธรรมแต่ละข้อ ซึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แต่ละประเภท เช่น บางครั้งทรงแสดงเรื่องของธรรมข้อหนึ่งเท่านั้น คือ ยกเพียงธรรมประการนั้นประการเดียวเป็นข้อสำคัญที่ควรจะได้พิจารณาเห็นคุณหรือโทษของธรรมข้อเดียวนั้น แต่บางครั้งก็ทรงแสดง ๒ ข้อ บางครั้งก็ทรงแสดง ๓ ข้อ อย่างใน อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ๒ อย่างนี้ คือ ความเป็นผู้ซื่อตรง ๑ ความเป็นผู้อ่อนโยน ๑ ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาถึงความสำคัญของธรรม ๒ ข้อนี้ ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมที่จะขัดเกลากิเลส ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ สิ่งใดถูกก็ต้องเห็นว่าถูก สิ่งใดผิดก็ต้องเห็นว่าผิด ไม่ใช่เห็นแก่บุคคล เห็นแก่หมู่คณะ ซึ่งจะทำให้การประพฤติปฏิบัติคลาดเคลื่อนไป และไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้จริงเป็นสมุจเฉท

เรื่องความตรงนี้ ต้องตรงในเหตุในผล ต้องตรงแม้กับสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับท่านเองตามความเป็นจริง ถ้ามีความต้องการ มีความปรารถนาในผลของการปฏิบัติ จนกระทั่งทำให้การปฏิบัติคลาดเคลื่อนผิดไป ใครจะแก้ได้นอกจากตัวของท่านเองในขณะนั้น สติจะต้องเกิดระลึกรู้ตรงต่อสภาพความจริงในขณะนั้นว่า เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ หรือเปล่า ถ้ายังไม่ใช่ปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ตามปกติในขณะนี้ แต่ท่านไปอบรมอย่างอื่น และเกิดความยินดีว่า ท่านรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นมากแล้ว โดยที่ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ย่อมไม่ใช่การเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

เพราะฉะนั้น ท่านจะต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ด้วยสติที่ระลึกรู้ว่า ปัญญาที่จะดับกิเลสต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

ขณะนี้สติเป็นอย่างไร ต้องไม่สงสัย เพราะเหตุว่าสติสามารถจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

นี่คือ การไม่สงสัยในลักษณะของสติ แต่ถ้าท่านผู้ใดยังสงสัยอยู่ว่า สติเป็นอย่างไร หมายความว่าท่านจะต้องฟัง ศึกษา พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจได้ว่า สติปัฏฐานนั้น คือ สภาพธรรมที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ถ้ายังสงสัยอยู่ ก็ให้เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวท่านเองว่ายังสงสัยอยู่ อย่าเพิ่งก้าวไปถึงว่า ทั้งๆ ที่ยังสงสัย ท่านก็สามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสติตามความเป็นจริง ก็จะต้องพิจารณาให้เข้าใจ ให้รู้ชัดว่าสติเป็นอย่างไร และที่จะพิสูจน์ว่า ท่านหมดความสงสัยในลักษณะของสติแล้ว ก็คือ สติสามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ซึ่งเมื่อสติเกิดแล้ว ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาก็จะต้องตรงต่อตัวของท่านเองด้วยว่า ขณะนี้สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรม ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ต้องตรงจริงๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเน้นว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ซื่อตรง ๑ ความเป็นผู้อ่อนโยน ๑

สำหรับเรื่องของความอ่อนโยน แสดงให้เห็นว่า ถ้าท่านยังเป็นผู้ที่ขาดความอ่อนโยน จิตในขณะนั้นก็เป็นอกุศลได้ เพราะว่าชีวิตในแต่ละวันก็ย่อมประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีหลายอย่าง ในบางเหตุการณ์ก็ประสบกับคำพูดซึ่งไม่น่ายินดี หรือว่าได้เห็นการกระทำกิริยาอาการของบุคคลอื่นที่ไม่น่ายินดี ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่อ่อนโยน ไม่มีความอดทน จิตในขณะนั้นย่อมหยาบกระด้าง หรือว่าแข็งกระด้าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีการเบียดเบียนต่อบุคคลอื่นทางกาย ทางวาจา หรือแม้ทางความคิดในใจก็ได้

แต่ถ้าขณะนั้นเป็นผู้ที่เพียรขัดเกลา เห็นว่าอกุศลธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดเหลือเกิน แม้เพียงการไม่อ่อนโยนก็เป็นอกุศลธรรมเสียแล้ว เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสหมด ต้องดับแม้ความไม่อ่อนโยนของจิตใจ ก็จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่สะสมกุศล เกิดความอ่อนโยน ไม่หยาบกระด้าง ก็จะทำให้ตัดการที่จะคิดเบียดเบียนบุคคลอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลายก็จะนำมาซึ่งกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป และอกุศลธรรมแม้เพียงเล็กน้อย ก็ย่อมจะนำมาซึ่งอกุศลธรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ ต่อๆ ไปด้วย

เปิด  241
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566