แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 605

ลิงและช้างถามนกกระทาว่า

สหาย ท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง

นกกระทาตอบว่า

สหายทั้งหลาย ในสถานที่โน้นมีต้นไทรใหญ่ ฉันกินผลจากต้นไทรใหญ่นั้น แล้วได้ถ่ายมูลไว้ ณ สถานที่นี้ ต้นไทรต้นนี้เกิดจากต้นไทรใหญ่นั้น เพราะฉะนั้น ฉันจึงเป็นใหญ่กว่าโดยกำเนิด

ลิงกับช้างได้กล่าวกับนกกระทาว่า

บรรดาพวกเรา ท่านเป็นผู้ใหญ่กว่าโดยกำเนิด พวกเราจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาท่าน และจะตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นกกระทาได้ให้ลิงกับช้างสมาทานศีลห้า และตนเองก็ประพฤติสมาทานในศีลห้า สัตว์ทั้งสามมีความเคารพยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วัตรจริยานี้แล ได้ชื่อว่า ติตติรยพรหมจรรย์ ฯ

ข้อ ๒๖๓

คนเหล่าใด ฉลาดในธรรม ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ ย่อมเป็นผู้อันมหาชนสรรเสริญในปัจจุบันนี้ ทั้งสัมปรายภพของคนเหล่านั้นเป็นสุคติแล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แท้จริงสัตว์เหล่านั้นเป็นดิรัจฉาน ยังมีความเคารพยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ การที่พวกเธอเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ มีความเคารพยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ นั่นจะพึงงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมนุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรม อาสนะที่เลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ ตามลำดับผู้แก่กว่า

อนึ่ง ภิกษุไม่ควรเกียดกันเสนาสนะของสงฆ์ตามลำดับผู้แก่กว่า รูปใดเกียดกัน ต้องอาบัติทุกกฎ ฯ

เรื่องความเคารพเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ทุกคนอยู่ด้วยกันด้วยความกลมเกลียว มิฉะนั้นแล้วกิเลสที่มีกำลังแรง ย่อมจะทำให้มีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้น ไม่ว่าในหมู่ของคฤหัสถ์หรือในหมู่ของบรรพชิต ก็จะต้องมีระเบียบวินัยในเรื่องการแสดงความอ่อนน้อม หรือความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพด้วย

ใน พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ ท่านผู้ฟังจะได้เห็นชีวิตจริงของบุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ซึ่งจะได้เห็นว่า การอบรมขัดเกลากิเลสเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ทุกท่านมีทั้งโลภะ มีทั้งโทสะ มีทั้งโมหะ มีทั้งพยาบาทอาฆาต มีทั้งความริษยา ซึ่งยังดับไม่หมดเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนเพศจากคฤหัสถ์ไปสู่เพศบรรพชิต แต่เมื่อยังไม่เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม กิเลสที่ยังมีอยู่ก็จะปรากฏออกมาทางกาย ทางวาจา ทางใจ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทสำหรับผู้ที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิตเพื่อที่จะได้ระลึก สำเหนียก และสังวรว่า การกระทำสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ควรแก่เพศบรรพชิต โดยทรงแสดงให้เห็นอาบัติแต่ละประเภทตามกำลังความหนักเบาของอกุศลกรรมที่ได้กระทำ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ใคร่จะเจริญมรรคมีองค์ ๘ ในเพศของบรรพชิตได้สังวรที่จะไม่กระทำกรรมนั้นๆ อีก เพราะเหตุว่าไม่ควรแก่ผู้ที่เป็นเพศบรรพชิต

ข้อความใน พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ ปาจิตติยกัณฑ์ อารามวรรค สิกขาบทที่ ๒ เรื่องพระกัปปิตกะเถระ ข้อ ๓๓๔ มีว่า

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้น ท่านพระกัปปิตกะอุปัชฌายะของท่านพระอุบาลียับยั้งอยู่ในสุสานประเทศ ครั้งนั้น มีภิกษุณีรูปหนึ่งผู้แก่กว่าพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ถึงมรณภาพลง ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ช่วยกันนำศพออกไปเผา แล้วก่อสถูปไว้ใกล้ๆ ที่อยู่ของท่าน พระกัปปิตกะ แล้วพากันไปร้องไห้ ณ สถูปนั้น จึงท่านพระกัปปิตกะรำคาญเสียงร้องไห้นั้น แล้วได้ทำลายสถูปนั้นพังกระจาย ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ปรึกษากันเป็นความลับว่า พระกัปปิตกะนี้ทำลายสถูปแม่เจ้าของพวกเรา มาพวกเรามาช่วยกันฆ่าท่านเสียเถิด ภิกษุณีรูปหนึ่งได้แจ้งข้อที่ปรึกษากันนั้นแก่ท่านพระอุบาลี ท่านพระอุบาลีได้กราบเรียนเรื่องนั้นให้ท่านพระกัปปิตกะทราบ ท่านพระกัปปิตกะก็ได้ออกจากวิหารไปหลบซ่อนอยู่

ครั้งนั้น ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ได้เดินผ่านเข้าไปทางวิหารของท่านพระกัปปิตกะ แล้วช่วยกันขนก้อนหินและก้อนดินทับถมวิหารของท่าน แล้วหลีกไปด้วยเข้าใจว่า ท่านถึงมรณภาพแล้ว ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ท่านครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลีแต่เช้า ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ได้เห็นท่านยังเดินเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ครั้นแล้วได้พูดกันอย่างนี้ว่า พระกัปปิตกะนี้ยังมีชีวิตอยู่ ใครหนอนำเอาความลับของเราไปบอก ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระคุณเจ้าอุบาลีนำไป จึงพากันด่าท่านพระอุบาลีว่า

ท่านนี้เป็นคนสำหรับคอยรับใช้เมื่อเวลาอาบน้ำ เป็นคนคอยชำระของเปรอะเปื้อน เป็นคนมีสกุลต่ำ ไฉนจึงได้ลอบนำความลับของเราไปเที่ยวบอกเขาเล่า

บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงได้ด่าพระคุณเจ้าอุบาลีเล่า ...

ซึ่งพระผู้มีพระภาคเมื่อได้ทรงทราบ ก็ได้ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลาย เมื่อทรง ติเตียนแล้ว ก็ทรงบัญญัติสิกขาบท ซึ่งพระบัญญัติมีว่า

พระบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุณีใด ด่าก็ดี กล่าวขู่ก็ดีซึ่งภิกษุ เป็นปาจิตตีย์

ข้อความใน อนาปัตติวาร ข้อ ๓๓๗ มีว่า

มุ่งอรรถ ๑ มุ่งธรรม ๑ มุ่งสั่งสอน ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล

ชีวิตจริงเป็นอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า ตัวท่านไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เพราะฉะนั้น ก็ต้องอยู่กับบุคคลทั้งหลายซึ่งมีการสะสมมาต่างๆ กัน และเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันก็จะต้องเป็นเรื่องอย่างนี้บ้าง เรื่องอย่างนั้นบ้าง เป็นเรื่องของความอาฆาต ความพยาบาท เป็นเรื่องของอกุศลกรรมต่างๆ แต่ผู้ที่พิจารณาธรรมย่อมเห็นว่า เป็นธรรมดาของกุศลธรรมและอกุศลธรรม ไม่ใช่ตัวตน ถ้าสะสมอกุศลธรรมมามากและไม่ได้ขัดเกลา ผลที่ปรากฏ คือ ย่อมทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นอกุศล

ข้อความใน พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ ปาจิตติยกัณฑ์ จิตตาคารวรรค สิกขาบทที่ ๑ เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ ข้อ ๒๙๕ แสดงให้เห็นว่า ชีวิตของเพศบรรพชิตที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นชีวิตที่ไกลจากชีวิตของคฤหัสถ์มาก เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดใคร่ที่จะขัดเกลากิเลส เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ในเพศของบรรพชิตแล้ว ก็ควรที่จะเจริญสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ท่านเองสะสมมาว่า พร้อมที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตจริงๆ หรือไม่ มิฉะนั้นแล้วก็ยากแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ข้อความมีว่า

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ในพระราชอุทยานของพระเจ้า ปเสนทิโกศล มีลายภาพสวยงามซึ่งจิตรกรเขียนไว้ในห้องภาพ คนเป็นอันมากพากันไปดูห้องภาพ แม้ภิกษุณีเหล่าฉัพพัคคีย์ก็ได้ไปดูห้องภาพ ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพวกภิกษุณีจึงได้ไปดูห้องภาพเหมือนสตรีชาวบ้านผู้บริโภคกามเล่า

ภิกษุณีทั้งหลาย ได้ยินชาวบ้านพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีเหล่าฉัพพัคคีย์จึงได้ไปดูห้องภาพเล่า ...

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงสอบถาม ทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

พระบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุณีใดไปดูโรงละครหลวงก็ดี อาคารประกวดภาพก็ดี สถานที่หย่อนใจก็ดี อุทยานก็ดี สระโบกขรณีก็ดี เป็นปาจิตตีย์

เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง สะสมอุปนิสัยอย่างไรมาก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ยังเป็นผู้ที่ต้องการจะไปดูแม้ภาพเขียนในโรงละคร ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ดูละครจริงๆ เพียงแต่ดูภาพในโรงละคร หรือว่าอาคารประกวดภาพ หรือสถานที่หย่อนใจ เช่น อุทยาน หรือสระโบกขรณี ก็ยังไม่เหมาะไม่ควรแก่ผู้ที่ตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ซึ่งแสดงว่า เป็นผู้ที่สงบแล้วจริงๆ จากความติด ความเพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ถ. ภิกษุณีเหล่าฉัพพัคคีย์แปลว่าอะไร

สุ. มีพวก ๖ ถ้าปัญจวัคคีย์ก็คือพวกหนึ่งมี ๕ ถ้าฉัพพัคคีย์มี ๖ คน เป็นหมู่คณะ เป็นพวกเดียวกัน ๖ คน

สำหรับภิกษุณี หรือภิกษุ จะต้องมีความประพฤติที่เหมาะสมแก่ผู้ที่เป็นบรรพชิต เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุณีสำหรับท่านที่จะเปรียบเทียบว่า ท่านมีอัธยาศัยพร้อมที่เป็นเพศบรรพชิตจริงๆ หรือไม่ เพราะถ้าไม่มีอัธยาศัยที่จะเป็นเพศบรรพชิตแล้ว การอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวันของเพศคฤหัสถ์ ตามความเป็นจริงที่ท่านเป็นอยู่

จิตตาคารวรรค สิกขาบทที่ ๓ เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ ข้อ ๓๐๑ มีข้อความว่า

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีฉัพพัคคีย์พากันกรอด้าย คนทั้งหลายเที่ยวชมวิหารพบเห็นแล้ว พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึงได้กรอด้ายกันเหมือนสตรีชาวบ้านผู้บริโภคกามเล่า

ภิกษุณีทั้งหลาย ได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงได้กรอด้ายกันเล่า ...

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ก็ได้ทรงสอบถาม ทรงติเตียน และได้ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

พระบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุณีใด กรอด้าย เป็นปาจิตตีย์

ชีวิตของคฤหัสถ์จะทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง จะกรอด้าย จะทำมาหาเลี้ยงชีพประการใดก็ได้ แต่ถ้าแสดงความประสงค์ที่จะเป็นภิกษุณีแล้วต้องทราบว่า ไม่มีกิจที่จะดำเนินการหาเลี้ยงชีพเช่นเดียวกับคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น กิจใดที่ไม่ควรกับเพศบรรพชิต ก็ต้องไม่กระทำ แม้ว่าจะมีการสะสมมา ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้จากการที่ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทต่างๆ ก็เพราะอุปนิสัยของภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายซึ่งมีชีวิตที่สะสมมา ที่ยังมีความโน้มเอียงในการเป็นเพศคฤหัสถ์อยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อใคร่ที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ก็จะต้องทราบว่า ความประพฤติใดเหมาะสมสำหรับเพศบรรพชิต

ซึ่งท่านผู้ฟังก็น่าจะคิดด้วยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงยังคงทรงอนุญาตให้มีการอุปสมบท แทนที่จะตัดรอนไม่ให้อุปสมบท เพราะเห็นว่าเป็นผู้ที่ไม่อาจประพฤติขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิตได้ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า แล้วแต่ความพากเพียรพยายาม ถึงแม้ว่าอุปนิสัยที่สะสมมาจะเป็นคฤหัสถ์ แต่เมื่อมีการสะสม มีความโน้มเอียงที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต โดยมีเจตนาที่จะอุปสมบท ก็ต้องศึกษาพระวินัยโดยละเอียด เพื่อที่จะให้เป็นผู้ที่ทรงคุณธรรมสูงยิ่งขึ้น ละคลายความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะยิ่งขึ้น และก็มีข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้ต่างกับเพศคฤหัสถ์ ซึ่งสามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่ศึกษา พระวินัยโดยละเอียด ถึงแม้ว่าอุปสมบทแล้ว อุปนิสัยที่สะสมมาที่เป็นคฤหัสถ์ก็จะทำให้ยังคงความประพฤติเช่นคฤหัสถ์อยู่ เพราะฉะนั้น พระวินัยทั้งหมดจึงเป็นสิ่งซึ่งแสดงความต่างกันของเพศบรรพชิตและคฤหัสถ์

ถ. ภิกษุณีกรอด้ายอาบัติถึงปาจิตตีย์ ทำไมหนักนัก พระฆ่าช้างก็ปาจิตตีย์ การกรอด้าย กับฆ่าช้าง รู้สึกต่างกันมาก แต่อาบัติเท่ากัน

สุ. ถ้าศึกษาวินัยของภิกษุณีกับพระภิกษุ จะเห็นได้ว่า วินัยของภิกษุณีหนักกว่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นปาราชิกก็มากกว่า สังฆาทิเสสก็มากกว่า หรือแม้ปาจิตตีย์ก็ยังหนักกว่า

ถ. เพราะเหตุใดจึงเป็นอย่างนี้

สุ. เพราะว่ามาตุคามไม่เหมาะกับเพศบรรพชิต ยากแก่การที่จะรักษาได้ ต้องเป็นผู้ที่ตั้งใจมั่นคงจริงๆ ในการที่จะรักษา จึงสามารถที่จะรักษาเพศบรรพชิตได้ ข้อบัญญัติทั้งหลายจึงต้องละเอียดกว่า และมีโทษที่หนักกว่า ผู้ที่มีจิตใจมั่นคงจริงๆ เท่านั้น ที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้จริงๆ

ถ. พระผู้มีพระภาคนี้ ฟังๆ ดูแล้ว คล้ายๆ กับว่า เป็นวาจาสิทธิ์ คือ ข้อบัญญัติต่างๆ ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติไว้ ภิกษุรูปใดทำไปแล้วก็ไม่เป็นไร แต่หลังจากที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว ห้ามไว้แล้ว ทำไปแล้วจึงจะเกิดโทษ ตั้งแต่ปาราชิก สังฆาทิเสส จนกระทั่งปาจิตตีย์ ซึ่งหมายความว่า ก่อนที่จะทรงบัญญัติทำไปแล้วไม่มีโทษ ทั้งๆ ที่ผู้ที่กระทำในขณะนั้น จิตก็ต้องเป็นอกุศล ก็รุนแรงเหมือนๆ กัน ซึ่งก่อนที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงบัญญัติก็ไม่เป็นโทษ แต่หลังจากที่ทรงบัญญัติแล้วจึงเป็นโทษ เพราะเหตุไร

สุ. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว ยังฝืนกระทำ ความเคารพ ความยำเกรงมีหรือเปล่า มีการเห็นประโยชน์ของสิกขาบทหรือเปล่า เพราะว่าแต่ละครั้งที่จะทรงบัญญัติสิกขาบท ทรงประชุมสงฆ์ ทรงสอบถาม ทรงติเตียน ทรงชี้แจงให้เห็นประโยชน์และโทษว่า สิ่งใดควรที่จะบัญญัติเป็นสิกขาบท และได้รับความเห็นชอบจากสงฆ์แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติด้วยความเห็นชอบของสงฆ์ แล้วยังกระทำ ก็ต้องเป็นโทษแน่นอน

ข้อความต่อไป ใน จิตตาคารวรรค สิกขาบทที่ เรื่องภิกษุณีหลายรูป ข้อ ๓๐๔ มีว่า

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายช่วยทำงานของชาวบ้าน บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึงได้ช่วยทำงานของชาวบ้านเล่า ...

ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ทรงสอบถาม ทรงติเตียน และได้ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

พระบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุณีใด ทำงานช่วยเหลือสำหรับคฤหัสถ์ เป็นปาจิตตีย์

เปิด  240
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565