แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 606

สุ. เรื่องการช่วยเหลือทำการงาน ก็น่าจะดีใช่ไหม ถ้าเป็นคฤหัสถ์ต่อคฤหัสถ์ ช่วยเหลือกันย่อมเป็นการดี แต่ว่าสำหรับภิกษุณีที่จะมาช่วยทำกิจการงานของคฤหัสถ์ ของชาวบ้าน เป็นสิ่งที่ไม่ควรแก่เพศของบรรพชิต

ถ. ผมรู้สึกเห็นใจภิกษุณี ขออภัย รู้สึกว่าจะเป็นการขับไล่ภิกษุณีในทางอ้อม เพราะ สิกขาบทต่างๆ ลงโทษไว้หนักเหลือเกิน

สุ. ไม่มีอะไรหนักเท่าปาราชิก แม้สังฆาทิเสส ก็ยังเหลือเพศของการเป็นภิกษุณีอยู่ พอที่จะเยียวยาแก้ไขได้ แต่สำหรับปาจิตตีย์ก็ไม่ใช่น้อย เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังสังวรในการกระทำที่เหมาะที่ควรแก่เพศของบรรพชิต เบานักก็ไม่ได้ หนักนักก็เกินไป

ถ. เรื่องฆ่าช้างเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องกรอด้ายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ปรับอาบัติเท่ากัน ฟังๆ ดูแล้วเหมือนจะไล่ออกจากศาสนาพุทธ ไม่ให้บวช ไล่ทางอ้อม

สุ. ไม่ใช่ปาราชิก ยังไม่ถึงปาราชิก ยังไม่ต้องออก

ถ. ถ้าผมเป็นภิกษุณี ผมลาสิกขาแน่

สุ. ไม่สามารถที่จะอุตสาหวิริยะรักษาพระวินัยต่างๆ ได้ต่อไปหรือ

ถ. ก็น้อยใจ

สุ. ถ้าเป็นภิกษุณีก็น้อยใจ แต่ควรจะพิจารณาว่า พระศาสนาบริสุทธิ์ เป็นการกระทำที่ขัดเกลากิเลสในเพศที่ต่างกับเพศคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น ก็เลือกได้ว่าจะเป็นเพศไหน จะเป็นเพศคฤหัสถ์หรือว่าจะเป็นบรรพชิต ตามความสามารถ แต่ต้องเห็นคุณประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทสำหรับให้หมู่ของภิกษุหรือสงฆ์บริสุทธิ์อยู่

ถ. ถ้าเป็นภิกษุณี ถ้าผิดสิกขาบท คงจะไล่ทันที

สุ. ยังไม่ถึงปาราชิก

คามิกะ วินัยก็คือระเบียบปฏิบัติ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติถึงปัณณัตติวัชชะ ทรงบัญญัติเฉพาะเรื่อง ส่วนโลกวัชชะ ทรงบัญญัติเพราะโลกติเตียน โลกเขาทำกันก็ผิด ส่วนปัณณัตติวัชชะ ผิดพระบัญญัติอย่างเดียว

ยกตัวอย่างเรื่องกรอด้าย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฆ่าช้างก็อาบัติปาจิตตีย์ แต่ผล หรือวิบากต่างกัน กรอด้ายที่ทรงบัญญัติเป็นปัณณัติวัชชะ ทรงบัญญัติทางพระวินัย เมื่อปลงอาบัติแล้วก็หาย ไม่มีอะไร ส่วนฆ่าช้างอาบัติเท่าๆ กับกรอด้ายก็จริง แต่ว่า ฆ่าช้างนั้นปลงอาบัติตกเหมือนกัน เป็นพระบริสุทธิ์ แต่กรรมที่ฆ่าช้างเป็นปาณาติบาต ยังอยู่ อีกนัยหนึ่ง เรื่องพระบัญญัตินี้ ผมจะขอเปรียบเทียบให้ฟัง

สมัยรัชกาลที่ ๕ ลักษณะฉ้อโกงนี้เป็นความผิดทางกฎหมายแพ่ง คือ ไม่มีโทษจำคุก ครั้งหนึ่งผู้สำเร็จราชการ คนใช้ของท่านยืมเงินท่านไปและก็โกง จับตัวมาก็ไม่มีเงินให้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ต่อมาท่านก็ทูลในหลวงว่า ลักษณะฉ้อโกงนี่มีโทษทางแพ่งอย่างเดียวไม่ได้ คนไม่เข็ด ขอให้มีโทษทางอาญา คือ จำคุกด้วย เพราะฉะนั้น กฎหมายอาญา เราจึงมีบัญญัติว่า การฉ้อโกงมีผิดทางอาญาด้วย คือ นอกจากจะใช้ทรัพย์แล้ว ต้องติดคุกด้วย

พระวินัยพระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติไว้เฉพาะพระภิกษุหรือภิกษุณี อาบัติบางอย่างปลงแล้วก็บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ในทางพระ แต่ถ้าเป็นปาณาติบาต ฆ่าช้าง ก็บริสุทธิ์เหมือนกัน แต่ผิดศีล ๕ ยังคงมีโทษ มีกรรมมีเวรอยู่

สุ. สำหรับเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะที่แต่ละท่านสะสมมา เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก และก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตอกุศลกรรมแต่ละขณะซึ่งวิจิตรต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ไม่มีใครทราบว่า ในขณะที่ฆ่า จะเป็นช้าง จะเป็นมด จะเป็นปลา จะเป็นสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งก็แล้วแต่ และขณะที่กรอด้าย หรือประกอบกิจการช่วยเหลือการงานของคฤหัสถ์ ขณะนั้นมีความมุ่งหวังสิ่งใดมากกว่ากันหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ก็เป็นความลึกซึ้งของจิตซึ่งแต่ละคนสะสมมา อย่างชีวิตของบรรพชิต และก็ไปช่วยประกอบกิจการงานของคฤหัสถ์ เพื่ออะไร เหมาะควรไหม สำหรับชีวิตของบรรพชิต มุ่งหวังอะไรหรือเปล่า

ถ. พระภิกษุที่ไปทำลายสถูปของภิกษุณี กิเลสหนาอย่างนี้ ตามความคิดของผม พระผู้มีพระภาคน่าจะไล่ออกไปไม่ให้อยู่ ทำผิดหนักยิ่งกว่าภิกษุณีที่กรอด้าย

สุ. เรื่องการกระทำผิดของพระภิกษุ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว ซึ่งเมื่อผู้ใดปฏิบัติผิดข้อใดก็อาบัติในข้อนั้น ไม่ใช่ท่านจะไม่อาบัติ ท่านก็อาบัติเป็นเรื่องของท่าน แต่สำหรับเรื่องของภิกษุณีที่ทำผิดแล้วยังไม่ได้ทรงบัญญัติ พระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน และก็ทรงบัญญัติสิกขาบทด้วย ทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหมด เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของผู้ที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ไม่ให้เป็นที่ ติเตียนประการใดเลย

อันธการวรรค สิกขาบทที่ เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี ข้อ ๒๑๓ มีข้อความว่า

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายหาบริขารของตนไม่พบ ต่างก็ถามภิกษุณีจัณฑกาลีดังนี้ว่า

แม่เจ้า ท่านเห็นบริขารของพวกดิฉันบ้างไหม

ภิกษุณีจัณฑกาลีเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

ข้าพเจ้าคนเดียวเป็นโจรแน่ละ ข้าพเจ้าคนเดียวเป็นคนไม่ละอายแน่ละ เพราะแม่เจ้าพวกที่หาบริขารของตนไม่พบ ต่างก็มากล่าวอย่างนี้กะข้าพเจ้าว่า แม่เจ้า ท่านเห็นบริขารของพวกดิฉันบ้างไหม แม่เจ้าทั้งหลาย ถ้าข้าพเจ้าถือเอาบริขารของพวกท่านไป ข้าพเจ้าก็มิใช่สมณะ ย่อมเคลื่อนจากพรหมจรรย์ ต้องตกนรก แม้แม่เจ้าที่กล่าวอย่างนั้นกะข้าพเจ้าด้วยคำไม่จริง ก็ขอให้เป็นไม่ใช่สมณะ ต้องเคลื่อนจากพรหมจรรย์ ต้องตกนรก

บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

ไฉนแม่เจ้าจัณฑกาลีจึงได้แช่งตนและคนอื่นด้วยนรกบ้าง ด้วยพรหมจรรย์บ้างเล่า ...

ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ก็ทรงสอบถาม ทรงติเตียน และบัญญัติสิกขาบทว่า

พระบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุณีใด แช่งตนก็ดี คนอื่นก็ดี ด้วยนรก หรือด้วยพรหมจรรย์ เป็นปาจิตตีย์

เคยมีไหมท่านผู้ฟัง โกรธ น้อยใจ คนอื่นมาถามก็คิดว่า มาหาเรื่อง หาว่าเป็นคนผิด หาว่าเป็นผู้ที่เอาของของคนอื่นไป ซึ่งไม่สมควรเลยที่จะมีกาย หรือวาจาที่เป็นอกุศลอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะแช่งตัวเองหรือแช่งใครให้ตกนรก ให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์ ให้ไม่ใช่สมณะ ก็ไม่ใช่วาจาที่สมควร เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ไม่ควรจะมีจิตที่เป็นโทสะถึงกับอาฆาต หรือพยาบาทด้วยคำแช่ง หรือคำกล่าวแม้เพียงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็ให้เห็นความบริสุทธิ์ของผู้ที่จะเป็นบรรพชิตว่า จะต้องขัดเกลากิเลสมากเพียงใด พร้อมทั้งการเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติตามพระวินัยบัญญัติ

อันธกาลวรรค สิกขาบทที่ เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา ข้อ ๒๐๑ มีข้อความว่า

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเข้าไปสู่สกุลในเวลาหลังอาหาร แล้วนั่งบ้าง นอนบ้างบนอาสนะ ไม่บอกกล่าวเจ้าของบ้าน คนในบ้านกระดากภิกษุณีถุลลนันทา ไม่กล้านั่ง ไม่กล้านอนบนอาสนะ เขาจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงได้เข้าไปสู่สกุลในเวลาหลังอาหาร แล้วนั่งบ้าง นอนบ้างบนอาสนะ ไม่บอกกล่าวเจ้าของบ้านเล่า ...

ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงได้เข้าไปสู่สกุลในเวลาหลังอาหาร แล้วนั่งบ้าง นอนบ้างบนอาสนะ ไม่บอกกล่าวเจ้าของบ้านเล่า ...

ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ทรงสอบถาม ทรงติเตียน และทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

พระบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุณีใด เข้าไปสู่สกุลในเวลาหลังอาหาร ไม่บอกกล่าวพวกเจ้าของบ้าน นั่งก็ดี นอนก็ดีบนอาสนะ เป็นปาจิตตีย์

ท่านผู้ฟังพิจารณาเห็นประโยชน์ของสิกขาบทข้อนี้หรือไม่ว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้แก่พระภิกษุณี ก็เพราะเป็นการแสดงความไม่เคารพในเจ้าของบ้านเลย ในเมื่อเป็นแขก คือ ท่านเป็นพระภิกษุณีไม่ใช่เจ้าของบ้าน แต่ก็เข้าไปสู่บ้าน และไปนั่งไปนอนบนอาสนะของเจ้าของบ้านเหล่านั้น โดยไม่บอกกล่าว ถ้าเป็นอย่างคฤหัสถ์ธรรมดา ก็โดยไม่ขออนุญาต หรือโดยไม่ให้เขาเชื้อเชิญ เป็นเรื่องของอกุศลจิตซึ่งทำให้กระทำสิ่งที่ไม่สมควร ด้วยการขาดความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม ซึ่งผู้ที่เป็นแขกทั้งหลาย จะต้องนอบน้อมต่อผู้ที่ตนเข้าไปหา คือ เจ้าของบ้าน แต่ถ้าแสดงอาการด้วยความรู้สึกไม่เคารพ ไม่อ่อนน้อม ก็เป็นการกระทำที่ไม่ควร

เพราะฉะนั้น กิเลสที่จะต้องขัดเกลามีมากในชีวิตประจำวัน ถ้าน้อมมา พิจารณาการกระทำของแต่ละท่านเองว่า ขณะใดขาดความเคารพต่อผู้ใด ก็ให้ทราบว่านั่นเป็นอกุศล เป็นกิเลสที่จะต้องดับเป็นสมุจเฉทด้วย

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อุคคหสูตร ข้อ ๓๓ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ชาติยาวัน ใกล้เมืองภัททิยะ ฯ ครั้งนั้นแล ท่านอุคคหเศรษฐีผู้เป็นหลานท่านเมณฑกเศรษฐี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุ ๓ รูป จงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ ท่านอุคคหเศรษฐีทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคม ทำประทักษิณแล้วหลีกไป

มีท่านผู้ฟังที่จะนิมนต์พระภิกษุไปรับภัตตาหารที่บ้าน และยังคิดถึงจำนวนบ้างไหม ว่าจะต้องเป็นจำนวนเท่าไร บางท่านไม่กล้าที่จะนิมนต์พระภิกษุ ๔ รูป เพราะเห็นว่า พระภิกษุ ๔ รูป สวดพระอภิธรรมในงานศพ เพราะฉะนั้น ก็นิมนต์มากกว่านั้น คือ ๕ บ้าง ๗ บ้าง ๙ บ้าง และมีบางท่านสงสัยว่า วันเกิดนี้จะใส่บาตรหรือถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุจำนวนเลขคี่หรือว่าเลขคู่ ซึ่งไม่เป็นสิ่งสำคัญเลย แล้วแต่กุศลที่สามารถจะกระทำได้ ถ้าสะดวกที่จะถวายภัตตาหารหรือว่าใส่บาตร จะเป็นจำนวนคู่หรือจำนวนคี่ ก็เป็นกุศลทั้งนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดว่า เป็นจำนวนที่อาจจะไม่เหมาะไม่ควร เช่น ๔ รูป เป็นต้น แต่ท่านอุคคหเศรษฐีก็ได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุ ๓ รูป ให้รับภัตตาหารของท่าน ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงรับด้วยดุษฎีภาพ

ข้อความต่อไปมีว่า

ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอุคคหเศรษฐี ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ ครั้งนั้น ท่านอุคคหเศรษฐีหลานของเมณฑกเศรษฐีได้อังคาสพระผู้มีพระภาคให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีตด้วยมือของตนเอง เมื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงเสวยเสร็จแล้ว ทรงลดพระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารีเหล่านี้ของข้าพระองค์จักไปอยู่สกุลสามี ขอพระผู้มีพระภาคทรงกล่าวสอน ทรงพร่ำสอนกุมารีเหล่านั้น ซึ่งจะพึงเป็นประโยชน์สุขแก่กุมารีเหล่านั้นตลอดกาลนาน ฯ

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พุทธบริษัทมีทั้งผู้ที่ครองเรือนและไม่ครองเรือน ซึ่งสามารถจะอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้ แต่ก็ควรที่จะกระทำกิจตามหน้าที่ของแต่ละท่านด้วยกุศลจิต เพื่อเป็นการขัดเกลากิเลสให้เบาบาง

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนกุมารีเหล่านั้นต่อไป ดังนี้ว่า

ดูกร กุมารี เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า มารดาบิดาของสามีที่เป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ หวังความเกื้อกูลอนุเคราะห์ด้วยความเอ็นดู เราทั้งหลายจักตื่นก่อนท่าน นอนทีหลังท่าน คอยรับใช้ท่าน ประพฤติเป็นที่พอใจท่าน พูดคำเป็นที่รักต่อท่าน ดูกร กุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

ท่านสงสัยไหมว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ กับเหล่ากุมารีนี้ ทรงแสดงอยู่แล้ว สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องของอริยมรรคมีองค์ ๘ จะต้องเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดทั้งสิ้น ซึ่งการที่จะดับกิเลส ดับได้โดยไม่ง่าย เพราะฉะนั้น กว่าที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ภพชาติในสังสารวัฏฏ์จะยาวนานไปอีกสักเท่าไร ก็แล้วแต่แต่ละท่าน แต่ละภพ แต่ละชาติ จะเป็นบุคคลใด มีชีวิตอย่างไร มีเพศอย่างไร เป็นผู้ที่มีภาระครอบครัวหรือว่าไม่มีภาระครอบครัวอย่างไร ก็แล้วแต่การสะสม ที่จะทำให้เกิดเป็นแต่ละบุคคลในแต่ละภพ แต่ละชาติ พร้อมทั้งการขัดเกลากิเลสด้วยการเจริญสติปัฏฐานอริยมรรคมีองค์ ๘

เพราะฉะนั้น กุมารีเหล่านี้จะบรรลุหรือไม่บรรลุอริยสัจธรรม ก็จะต้องมีกิจ มีหน้าที่ที่จะต้องกระทำตามที่ได้สะสมมา เมื่อกุมารีเหล่านี้จะไปสู่สกุลของสามี เจริญสติปัฏฐานได้ พร้อมกันนั้นก็ควรจะรู้กิจหรือหน้าที่ที่พึงกระทำในชาติที่จะต้องไปสู่สกุลของสามีด้วย ซึ่งข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนกุมารีเหล่านั้นก็เป็นกุศล คือ การแสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม คือ บิดามารดาของสามี

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดเป็นที่เคารพของสามี คือ มารดา บิดา หรือสมณพราหมณ์ เราทั้งหลายจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เมื่อท่านมาถึงที่ ก็จักต้อนรับด้วยที่นั่งหรือน้ำ ดูกร กุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

นี่คือการแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ไปหา ผู้ที่เป็นแขก ถ้าขณะใดอกุศลจิตเกิด มีความใจดำ บางท่านอาจจะไม่เชื้อเชิญแขกให้นั่ง หรือแม้แต่ที่จะให้น้ำ

เป็นไปได้ไหม ชีวิตตามความเป็นจริง ถ้ามีความไม่พอใจในบุคคลที่ไปหาด้วยประการใดๆ ก็ตาม ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นผู้ที่ควรเคารพ เช่น มารดา บิดา หรือสมณพราหมณ์ การแสดงความเคารพหรือนอบน้อม คือ เมื่อท่านมาถึงที่ ก็จักต้อนรับด้วยที่นั่ง หรือน้ำ

เปิด  249
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566