แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 612

เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านผู้ฟังสงสัยว่า จะรู้แจ้งอะไร ก็ให้ระลึกว่า รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

สิ่งที่ปรากฏ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างหนึ่ง และเป็นสภาพรู้ คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง ๒ อย่างนี้จะต้องรู้แจ้ง ถ้ายังไม่รู้แจ้ง ก็ระลึกขึ้นอีกว่า จะรู้แจ้งในสิ่งกำลังที่ปรากฏทางตา นั่นคือสติซึ่งเกิดระลึกได้ แต่ยังไม่พอ เพราะว่าปัญญายังไม่ได้รู้แจ้ง ปัญญาจะรู้แจ้งได้ก็ด้วยการศึกษา สังเกต สำเหนียก และรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาหาความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลไม่ได้จริงๆ

เหมือนกับการเห็นรูปเขียนและยึดถือว่าเป็นสิ่งต่างๆ ฉันใด สีสันต่างๆ ที่ปรากฏในรูปเขียนกับสีสันที่ปรากฏนอกรูปเขียน ก็ไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะยึดถือสีสันวัณณะที่ปรากฏนอกรูปเขียนว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ เพราะว่าโดยสภาพตามความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เมื่อปรากฏทางตาแล้ว มีการจดจำรูปร่างสัณฐาน ทำให้มีการยึดถือในสีสันรูปร่างสัณฐานต่างๆ ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ให้ทราบว่า ลักษณะแท้จริงที่สามารถจะปรากฏทางตาได้นั้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ก็ให้ระลึก และเห็นแจ้งในสภาพธรรมที่ปรากฏ ๖ ทางนี้

คามิกะ ที่ว่าเห็นแจ้ง เห็นชัด ศัพท์บาลีว่า วิปัสสนา ปัสส หรือ ปัสสติ แปลว่า เห็นแบบธรรมดา วิ แปลว่า แจ้ง หรือ ชัด ฉะนั้น วิปัสสนาจึงแปลว่า เห็นอย่างวิเศษ วิเศษกว่าธรรมดา

ภาวนา อีกคำหนึ่ง ว่ากันมานานตั้งแต่ก่อนผมเกิด ภาวนา แปลว่า เจริญ แต่ความจริงตามศัพท์ไม่ได้แปลว่า เจริญ เจริญ ต้อง วัฒนะ หรือปัจจุบันเขาเรียกกันว่า ก้าวหน้า

ภาวนา ตามศัพท์ไม่ใช่เจริญ แต่แปลว่า เจริญ ผมก็รับรู้

ตามศัพท์ ตามไวยากรณ์ ภาวนา แปลว่า การเกิด การเกิดของรูปของนามที่ปรากฏชัด แต่ครูบาอาจารย์เขาใช้กันว่าเจริญ เราจะมาใช้อย่างนี้ก็ดูจะนอกคอก แต่ความจริงภาวนาแปลว่า เกิด

สุ. ถ้ารู้ความหมายภาษาบาลี จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมชัดเจนขึ้น อย่างคำว่า วิปัสสนา การเห็น เป็น ปัสสนา วิปัสสนา เห็นแจ้ง เห็นชัด เห็นพิเศษจากปกติ ก็เพราะเห็นด้วยปัญญา

ขณะนี้ทุกคนเห็น แต่อวิชชาปิดบังไม่ให้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมที่กำลังเห็นและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้การเห็นเกิดดับ จึงไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมที่ปรากฏให้เห็นเกิดดับ จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล กำลังเกิดดับ กำลังเป็นความจริงอย่างนี้ แต่อวิชชาปิดบัง ทำให้ไม่เห็นความจริงนี้

เพราะฉะนั้น ที่สามารถเห็นได้ ประจักษ์ได้ ในสภาพธรรมของนามธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะว่าเป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ ขณะใดที่การเห็นเกิดขึ้น หมายความว่า ธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงนิดเดียวและก็ดับไป เช่นเดียวกับสภาพที่ได้ยิน เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เกิดขึ้นรู้เสียงนิดเดียวเท่านั้นและก็ดับไป

เวลานี้ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เสียงดับ เพราะฉะนั้น จะมีธาตุรู้เสียงต่อไปไม่ได้ ธาตุรู้เสียงก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ ที่เกิดขึ้นรู้เสียงที่ปรากฏ และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

เวลานี้สภาพธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กำลังเกิดดับ แต่ยังไม่ใช่วิปัสสนา เพราะว่ายังไม่ใช่การเห็นแจ้งด้วยปัญญาในสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ จึงต้องอบรม คือ ภาวนา คือ ให้เกิดขึ้น ขณะที่ปัญญายังไม่เกิด ก็ยังไม่เห็นว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน ยังเห็นเป็น็คนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เรื่อยๆ แต่ขณะใดที่อบรม และปัญญาเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งปัญญาคมกล้า สามารถที่จะเกิดขึ้นแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญานั้นจึงเป็นวิปัสสนา คือ เป็นปัญญาที่เห็นแจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

สำหรับการอบรมเจริญปัญญาที่จะให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าขาดสติ คือ การระลึกได้ ซึ่งในวันหนึ่งๆ ก็หลงลืมสติมาก ยิ่งเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจลักษณะของสติแล้ว ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น แม้สติซึ่งเป็นการระลึกได้ที่จะศึกษาเพื่อที่จะให้รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็จะต้องอาศัยปัจจัย คือ การเข้าใจในลักษณะของสติ และเมื่อสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก็จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น จนถึงกับประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมซึ่งปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน

ความมานะ ความสำคัญตน มีเป็นประจำทุกคนซึ่งยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ มากหรือน้อยต่างกัน เวลาที่มานะเกิดขึ้น และถ้าหลงลืมสติ เป็นไปกับอกุศลอย่างยิ่ง ก็จะเพิ่มความมานะ ความสำคัญในตนยิ่งขึ้น ถึงกับข่มผู้อื่นทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจได้ ซึ่งเมื่อเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลก็ควรดับ และทางที่จะดับได้มีทางเดียว คือ สติต้องเกิดระลึกได้ในขณะที่สภาพของมานะปรากฏ จึงจะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติเกิดในชีวิตประจำวัน เป็นประโยชน์มาก เพราะสามารถทำให้ปัญญาได้ศึกษารู้ในสภาพธรรมทั้งปวง ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นสิ่งที่ควรจะอบรมเนืองๆ บ่อยๆ ไม่ต้องเว้นว่า ขณะนั้นจะไม่ให้สติเกิด

ถ. อาจารย์อธิบายเรื่องมานะให้ชัดหน่อย คือ เคยศึกษา บางคนเขาเขียนอธิบายว่า การที่สำคัญตนว่าต่ำกว่าเขาก็ไม่ดี เสมอเขาก็ไม่ดี สูงกว่าเขาก็ไม่ดี ฉะนั้น เราจะวางใจอย่างไรดี

สุ. การวางใจไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อยากจะวางใจให้ราบเรียบ สม่ำเสมอ ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมทั้งหลายจะหมดไปได้ก็ด้วยปัญญาเกิดขึ้น รู้แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงเป็นลำดับขั้น ถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของมานะในขณะนั้น ก็จะรู้ว่ามานะนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร ซึ่งทุกอย่างย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดมานะได้ทั้งสิ้น ชาติ ตระกูล ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ วิชาความรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดมานะ คือ การยกตนข่มผู้อื่น หรือถือว่าสูงกว่า เสมอกัน หรือต่ำกว่าได้

เวลานี้ไม่มีใครทราบว่า ต่อไปจิตใจจะเป็นอย่างไร ชั่วขณะต่อไปข้างหน้านี้ก็ไม่ทราบแล้วว่า จิตใจจะเป็นอย่างไร จิตจะเป็นกุศลหรือว่าจะเป็นอกุศล จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ก็ไม่ทราบ ไม่มีใครสามารถจะรู้ล่วงหน้าได้เลย

โดยมากท่านมักจะคิดว่า ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ปีหน้าจะเป็นอย่างไร เดือนหน้าจะเป็นอย่างไร อาทิตย์หน้าจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ชั่วขณะต่อจากขณะนี้จะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ให้ทราบว่า สภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นก็ตาม ต้องมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลย

ความรู้สึกทุกชนิดในวันหนึ่งๆ จะสุขมากหรือว่าจะทุกข์มาก หรือว่าจะเป็นอุเบกขามาก ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา

บางคนก็โสมนัสมากจริงๆ เป็นคนที่รื่นเริง ไม่ว่าจะในสภาพสถานการณ์อย่างไร ก็สามารถเกิดโสมนัสเวทนาได้ เพราะว่าสะสมมา มีปัจจัยมาที่จะให้ความรู้สึกเป็นอย่างนั้นเกิดขึ้น

เพราะเหตุว่าแต่ละขณะที่จะเกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าจะเป็นธรรมประเภทใด เพราะฉะนั้น การที่จะวางใจ ก็ไม่สามารถอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาได้ แต่ว่าอกุศลธรรมทั้งหลายจะลดน้อยลงได้ เมื่อปัญญาเพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น ปัญญาสำคัญที่สุด ควรจะอบรมปัญญาให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเสียก่อน และปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง จะทำกิจละคลายอกุศลให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถดับสนิทเป็นสมุจเฉทได้ตามกำลังของปัญญาซึ่งเจริญขึ้น

ถ้าปัญญายังไม่เจริญขึ้น อาจจะมีการฟัง เข้าใจ หรือว่าสติระลึกบ้าง แต่ถ้ายังไม่ใช่ปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม ก็ยังไม่สามารถจะละอะไรได้เลย แต่ถ้าปัญญาคมกล้า ย่อมสามารถที่จะละคลาย และสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทในที่สุด เพราะฉะนั้น เวลาที่ระลึกได้ ก็ศึกษา พิจารณา ให้รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

และที่โลภะมาก ก็เพราะสะสมมาที่จะเป็นโลภะมากๆ แต่ว่าจะน้อยลงได้ ด้วยปัญญาที่รู้ว่า แม้โลภะก็ไม่ใช่ตัวตน

ถ้าใครโทสะมาก ก็เพราะมีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะให้สภาพของโทสะเกิดขึ้นบ่อยๆ และเกิดขึ้นแรง ถ้าปัญญาไม่รู้ว่า โทสะมีลักษณะที่กำลังปรากฏอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่สามารถที่จะละคลายโทสะได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องตัวตนที่จะไปวางใจ ทำใจ หรือว่าละคลาย หรือว่าทำกิเลสให้เบาบาง แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่จะทำกิจนั้น เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏเสียก่อน

สำหรับการที่จะนอบน้อมต่อผู้ใด บางคนอาจสงสัยว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ควรแก่การนอบน้อม เคารพ สักการะหรือไม่ ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โกสลสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ ทหรสูตรที่ ๑ มีข้อความที่แสดงถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลที่ทรงสงสัยว่า พระผู้มีพระภาคจะทรงปฏิญาณบ้างหรือไม่ว่า พระองค์ได้ทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม

ข้อความใน ทหรสูตรที่ ๑ ข้อ ๓๒๒ มีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงได้ทรงปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

แม้พระโคดมผู้เจริญ ย่อมทรงปฏิญาณบ้างหรือไม่ว่า เราได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม

นี่เป็นความสงสัยของพระเจ้าปเสนทิโกศล คือ บางคนอาจจะคิดว่า การที่จะประกาศความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นประกาศไม่ได้ เพราะถ้าผู้ใดประกาศก็หมายความว่า ผู้นั้นยังมีมานะ มีความสำคัญตน แต่ตามความเป็นจริงแล้วผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมประกาศว่า พระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่รู้หนทางที่ถูก สามารถที่จะแสดงว่าหนทางใดเป็นหนทางถูก ไม่ต้องกลัวว่าเป็นมานะ หรือว่าเป็นความสำคัญตน ความถือตน เพราะว่าขณะใดที่เห็นว่าหนทางใดเป็นหนทางที่ถูก ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตไม่ใช่อกุศล

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร มหาบพิตร ก็พระองค์เมื่อจะตรัสโดยชอบ ก็พึงตรัสถึงอาตมภาพว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม ดูกร มหาบพิตร เพราะว่า อาตมภาพได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯ

เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เพราะฉะนั้น พระองค์ก็ตรัสถึงพระองค์โดยชอบว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม ไม่ใช่ด้วยความมานะ หรือว่าด้วยความสำคัญตน แต่เป็นความเห็นถูก เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยังคงมีความสงสัย

ข้อความต่อไปมีว่า

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้สมณพราหมณ์บางพวกเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ปูรณะกัสสป มักขลิโคศาล นิครนถนาฏบุตร สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุธกัจจายนะ อชิตเกสกัมพล ฯ

สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น เมื่อถูกหม่อมฉันถามว่า ท่านทั้งหลายย่อม ปฏิญาณได้หรือว่า เราได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณดังนี้ ก็ยังไม่ปฏิญาณ ตนได้ว่า ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังทรงเป็นหนุ่มโดยกำเนิด และยังทรงเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ไฉนจึงปฏิญาณได้เล่า ฯ

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ความสงสัยของพระเจ้าปเสนทิโกศลมี ๒ ประการ ในการที่สงสัยว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยวัย คือ พระผู้มีพระภาคยังทรงเป็นหนุ่มโดยกำเนิด และโดยกาลที่ทรงบรรพชา ซึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า ยังทรงเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ไฉนจึงปฏิญาณได้เล่า

นี่เป็นเรื่องที่หลายท่านอาจจะเกิดความสงสัย และไม่นอบน้อม ไม่เคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ เพราะว่ายังสงสัยโดยวัยบ้าง หรือว่าโดยการเป็นผู้ใหม่ในการศึกษาและในการเป็นผู้ปฏิบัติธรรม

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร มหาบพิตร ของ ๔ อย่างเหล่านี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย ๔ อย่างเป็นไฉน ของ ๔ อย่างคือ

๑. กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์

๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก

๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย

๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม

ดูกร มหาบพิตร ของ ๔ อย่างเหล่านี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย ฯ

พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

นรชนไม่พึงดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์ผู้ถึงพร้อมด้วยพระชาติ มีพระชาติสูง ผู้ทรง พระยศ ว่ายังทรงพระเยาว์ เพราะเหตุว่าพระองค์เป็นมนุษย์ชั้นสูง ได้เสวยราชสมบัติแล้ว ทรงพระพิโรธขึ้น ย่อมทรงลงพระราชอาชญาอย่างหนักแก่เขาได้ ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทกษัตริย์นั้นเสีย ฯ

เปิด  248
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566