แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 617

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริงต้องเกิดก่อน เมื่อปัญญานี้เกิดขึ้น และรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ชิน ได้คล่อง แล้ว ก็มีการหน่าย มีการคลายการยึดถือความเห็นผิด ปัญญาขั้นที่สูงกว่านั้น คือ การประจักษ์สภาพที่เกิดดับของธรรมที่ปรากฏ จึงจะเป็นไปได้

ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้ตรงจริงๆ แล้ว ไม่สามารถจะประจักษ์การเกิดดับได้ เพราะว่าปัญญาที่จะประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรมได้ต้องเป็นปัญญาขั้นสูงกว่าปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมให้เกิดปัญญาจริงๆ ด้วยความไม่ประมาท ด้วยการศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกัน ทางตา ปัญญาจะต้องเพิ่มขึ้นที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ปนกับสภาพรู้ คือ การเห็น หมายถึงการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ปนกับขณะที่รู้ว่าเป็นคน หรือว่าเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งขณะนั้นจะต้องเป็นการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว จึงจะสามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอะไร

นี่เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญเรื่อยๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะไปประจักษ์การเกิดดับโดยที่ไม่ได้ศึกษา ไม่สังเกต ไม่สำเหนียก ไม่เพิ่มความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจไม่ได้

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า ท่านยังไม่สนใจเรื่องวิปัสสนา เพราะท่านคิดว่า ถ้าท่านสนใจเมื่อไร ท่านก็บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยเจ้าแน่นอน เพราะว่าท่านเจริญสมาธิและท่านกล่าวว่า ท่านเจริญสมถภาวนาแท้ๆ แต่ผลออกมาเป็นวิปัสสนา เพราะว่าท่านได้ประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม

นี่เป็นสิ่งที่ไม่ตรงตามเหตุผล เพราะว่าท่านที่กล่าวอย่างนั้น ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตาในขณะที่กำลังเห็น ทางหูในขณะที่กำลังได้ยิน ทางจมูกในขณะที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นในขณะที่กำลังลิ้มรส ทางกายในขณะนี้ที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่กำลังคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ ท่านไม่ได้ศึกษา ไม่ได้สังเกต ไม่ได้สำเหนียก ไม่ได้เป็นปัญญาที่สามารถรู้ความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นปัญญาขั้นแรกเสียก่อน และท่านจะประจักษ์ความการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมอะไร เพราะฉะนั้น ที่ท่านคิดว่า ท่านประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่ใช่ความรู้ เพราะไม่รู้ว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะต่างกันอย่างไรพอที่จะบอกได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอะไร และเกิดขึ้นได้เพราะเจริญอบรมอย่างไร

เพราะฉะนั้น เหตุกับผลต้องตรงกัน ถ้าเจริญสมถภาวนา ผลก็คือความสงบ ไม่ใช่การศึกษา สังเกต สำเหนียก รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ผู้ที่อบรมปัญญาจริงๆ ไม่ไขว้เขวเรื่องเหตุกับผล รู้ได้เลยว่า เหตุต้องตรงกับผล ผลต้องตรงกับเหตุ ที่เป็นผลอย่างแท้จริงก็ต้องมาจากเหตุ คือ การศึกษาตามลำดับขั้น แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาตามลำดับขั้น และเข้าใจว่าเป็นผลแล้ว ก็เป็นการผิดพลาด ซึ่งจะทำให้ไม่อบรมเจริญปัญญาที่ถูกต้องด้วย

สำหรับการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ละเอียด สุขุม และยากมาก ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า จะต้องอบรมเจริญปัญญาเป็นลำดับขั้นจริงๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้ตรงลักษณะของสภาพธรรมเสียก่อน เพราะว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น หมายความถึง การรู้สภาพความเกิดดับซึ่งเป็น ทุกขอริยสัจจะ และรู้สมุทัยอริยสัจจะ คือรู้ว่า ความยินดีความพอใจในสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมแต่ละอย่าง และรู้ว่า สภาพธรรมที่ดับทุกข์คือนิพพานมีลักษณะอย่างไร เพราะเหตุว่าได้ประจักษ์ลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นอริยสัจจะที่ ๓ คือ นิโรธสัจจะ และได้ประจักษ์หนทางว่า การอบรมเจริญปัญญาอย่างไรจึงทำให้สามารถที่จะรู้แจ้งสภาพของนิพพาน ซึ่งขณะที่เห็นก็ไม่ปรากฏ ขณะที่ได้ยิน ขณะที่มีชีวิตตามปกติในชีวิตประจำวัน ลักษณะของนิพพานก็ไม่ปรากฏ ลักษณะของนิพพานจะปรากฏกับจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งได้อบรมจนถึงขั้น โลกุตตระแล้ว

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ ได้ เป็นสิ่งที่ละเอียดและยากมาก และก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ วิปัสสนาญาณจะต้องเกิดก่อน ซึ่งหมายความถึงปัญญาที่สามารถรู้ชัดแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง และก่อนที่วิปัสสนาญาณจะเกิด ก็ต้องมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดดับสืบต่อสลับกันอย่างรวดเร็ว ให้ตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริงเสียก่อน เพียงเท่านี้จะยากไหม

ทางตาที่กำลังเห็น ระลึกให้ตรง คือ เมื่อเป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น ก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ นี่คือ การระลึกตรงลักษณะของการเห็น

สำหรับสิ่งที่ปรากฏทางตา ระลึกตรงลักษณะ ในขณะที่ไม่ปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือ การระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

เพราะฉะนั้น สติเกิดขึ้นกี่ครั้งแล้ว ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาบ้างหรือยัง พอที่จะแยกรู้ได้ว่า ที่รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ต้องมีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานทุกครั้ง ถ้าไม่มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน จะไม่มีการรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร นี่คือ การระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ทางหู อบรมเจริญสติปัฏฐาน ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงบ้างหรือไม่ ถ้าระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ขณะที่กำลังได้ยิน ระลึกตรงลักษณะ ซึ่งเป็นเพียงธาตุได้ยิน ธาตุรู้เสียงที่กำลังได้ยิน และตรงลักษณะ คือ ระลึกรู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏ โดยไม่ใช่ขณะที่เข้าใจความหมาย เพราะถ้าเป็นขณะที่เข้าใจความหมาย และมีการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมที่เข้าใจความหมายแล้ว จะสังเกตได้จริงๆ ว่า ต้องเป็นลักษณะที่ตรึกนึกถึงความหมาย

เปรียบเทียบได้กับทางใจ เสียงไม่ปรากฏเลย นึกถึงคำอะไรก็ได้ รู้ความหมายของคำที่นึกโดยเสียงไม่ปรากฏ แต่ถ้าสติไม่ระลึกในขณะที่นึก ก็จะไม่รู้ว่าเป็นการตรึก หรือนึกถึงคำ นึกถึงเรื่อง นึกถึงความหมาย

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละลักษณะเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก เป็นของจริงซึ่งควรที่สติจะเกิดและศึกษา เป็นศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขาจริงๆ ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เป็นการเพิ่มความรู้และตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏยิ่งขึ้น จึงจะสามารถแยกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลออกได้

เพราะฉะนั้น ความยาก ก็เป็นลำดับขั้น ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ นั้น ก็ยากเหลือเกินที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ ที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดดับ และประจักษ์ความขาดตอนของแต่ละลักษณะทางมโนทวาร เป็นสภาพธรรมที่ต้องอบรมปัญญามาก ปัญญาจึงจะรู้ชัดได้อย่างนั้น และก่อนที่จะถึงวิปัสสนาญาณ ความยากอยู่ที่ว่า ระลึกรู้สภาพธรรมตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ แล้วหรือยัง ถ้าเริ่มตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ปัญญาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับหนทางที่จะทำให้ปัญญาสามารถรู้แจ้งสภาพธรรม บรรลุอริยสัจธรรมได้ ก็เป็นการที่จะต้องอบรมให้เจริญยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขัดเกลา ละคลายความเห็นผิด ความเข้าใจผิดแม้ในเรื่องเล็กน้อยด้วย ถ้ายังคงมีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิดแม้ในเรื่องเล็กน้อย ก็ไม่ใช่สัจจญาณรอบที่ ๑ ก่อนที่จะถึงกิจจญาณ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่จะทำให้ถึงกตญาณ คือ การรู้จริงในสภาพธรรมที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า เมื่อไรปัญญาเริ่มที่จะชำนาญจนกระทั่งเมื่อระลึกขณะใด ก็เป็นแต่เพียงธาตุรู้ในสิ่งที่ปรากฏ นี่เป็นความชำนาญแล้ว ของการอบรมเจริญปัญญา เมื่อระลึกขณะใดก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นการรู้ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ สำหรับสิ่งที่ปรากฏก็เช่นเดียวกัน เมื่อไรจะเป็นความคล่องแคล่วชำนาญ ก็คือ เมื่อปัญญาถึงสภาพที่มีกำลังที่ว่า ขณะใดที่สติระลึกก็รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ละลักษณะ ซึ่งจะต้องเป็นความชำนาญขึ้น เป็นความรู้เพิ่มขึ้น และก็ละความสงสัย จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นตามลำดับได้

วันไหนจะเป็นอย่างนี้ ก็จะต้องเป็นวันหนึ่ง ในเมื่อได้อบรมไปเรื่อยๆ เจริญไปเรื่อยๆ ความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะเป็นการรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ข้อสำคัญ คือ อย่าประมาท แม้ความเข้าใจผิดในเรื่องเล็กน้อย ก็จะต้องขัดเกลา ละคลาย และกระทำความเห็นถูกให้เกิดขึ้นตามเหตุผลของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ตาม แต่ก็ให้พิจารณาสังเกตอย่างละเอียดว่า การเคารพ สักการะ นอบน้อม เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ตรงตามเหตุผลของธรรมตามความเป็นจริงแล้วหรือยัง

เพราะเหตุว่าการเคารพ สักการะ นอบน้อม เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจในเหตุในผลตามความเป็นจริง ก็อาจจะเป็นเพียงความเคารพ นอบน้อม สักการะ เลื่อมใสเพียงอาการที่ปรากฏภายนอก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็จะไม่เข้าใจถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ที่สามารถ ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง และก็ทรงแสดงธรรมให้ผู้ที่รับฟังได้ศึกษา ได้ปฏิบัติตาม จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมนั้นด้วยตนเองได้

ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพาชกวรรค มหาสกุลุทายิสูตร ข้อ ๓๑๔ มีข้อความที่แสดงถึงบุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานว่า มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งพระองค์เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อบุคคลใดไม่สามารถที่จะรู้ถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระองค์ได้ แม้จะมีความเลื่อมใสก็จริง แต่ความเลื่อมใสนั้น ก็ยังไม่ตรงตามเหตุผล

ข้อความใน มหาสกุลุทายิสูตร มีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ปริพาชกที่มีชื่อเสียงเป็นอันมาก คือ อันนภารปริพาชกหนึ่ง วรตรปริพาชกหนึ่ง สกุลุทายิปริพาชกหนึ่ง และปริพาชกเหล่าอื่นอีก ล้วนมีชื่อเสียง อาศัยอยู่ในปริพาชการาม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า การที่เราจะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ก็ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปหาสกุลุทายิปริพาชก ยัง ปริพาชการาม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูงเถิด ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปริพาชการาม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง

ก็สมัยนั้น สกุลุทายิปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ซึ่งกำลังพูดถึงติรัจฉานกถาหลายอย่าง ด้วยเสียงอื้ออึงอึกทึก คือ พูดถึงเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องช้าง เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องหญิงคนใช้ตักน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ

สกุลุทายิปริพาชกได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงห้ามบริษัทของตนให้สงบว่า

ขอท่านทั้งหลายจงเบาๆ เสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอึงนัก นี่พระสมณโคดมกำลังเสด็จมา พระองค์ท่านโปรดเสียงเบา และทรงกล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางทีพระองค์ท่านทรงทราบว่าบริษัทเสียงเบา พึงทรงสำคัญจะเข้ามาก็ได้

ลำดับนั้น พวกปริพาชกเหล่านั้นพากันนิ่งอยู่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จเข้าไปหาสกุลุทายิปริพาชกจนถึงที่ใกล้ สกุลุทายิปริพาชกได้ทูลเชิญพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเสด็จมาเถิด พระผู้มีพระภาคเสด็จมาดีแล้ว นานทีเดียวที่พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงกระทำปริยายนี้ คือ เสด็จมาถึงที่นี่ได้ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคประทับนั่งเถิด นี่อาสนะปูไว้ถวายแล้ว

พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ถวาย ส่วนสกุลุทายิปริพาชกถือเอาอาสนะต่ำอันหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ดูกร อุทายี เมื่อกี้นี้ท่านทั้งหลายประชุมสนทนาอะไรกัน และเรื่องอะไรที่ท่านทั้งหลายหยุดค้างไว้ในระหว่าง

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สกุลุทายิปริพาชกเป็นปริพาชก แต่ก็มีความนอบน้อมในพระผู้มีพระภาคตามควรแก่ความเข้าใจของตนเอง ซึ่งได้แสดงความนอบน้อมโดยกล่าวทูลเชิญ ส่วนตนเองถืออาสนะอันต่ำแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และก็เป็นธรรมเนียมที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสถามถึงเรื่องที่พวกปริพาชกกำลังสนทนากันค้างอยู่ว่า สนทนากันเรื่องอะไร

ซึ่งสกุลุทายีได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่ข้าพเจ้าทั้งหลายประชุมสนทนาเมื่อกี้นี้นั้น ขอ งดไว้ก่อนเถิด เรื่องนั้นพระผู้มีพระภาคจักได้ทรงสดับแม้ในภายหลังโดยไม่ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ หลายวันมาแล้ว พวกสมณพรหมณ์เจ้าลัทธิต่างๆ ประชุมกันในโรงแพร่ข่าว สนทนากันถึงเรื่องนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นลาภของชนชาวอังคะและมคธเขาหนอ ชาวอังคะและชาวมคธได้ดีแล้วหนอ ที่สมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี เข้าไปจำพรรษายังกรุงราชคฤห์แล้ว คือ ครูปูรณกัสสป ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี ครูมักขลิโคสาล ... ครูอชิตเกสกัมพล ... ครูปกุทธกัจจายนะ ... ครูสญชัยเวลัฏฐบุตร ... ครูนิครนถนาฏบุตร ... แม้พระสมณโคดมผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี พระองค์ก็เสด็จเข้าจำพรรษายังกรุงราชคฤห์ บรรดาท่านสมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี เหล่านี้ ใครเล่าหนอที่สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ก็และใครเล่าที่สาวกทั้งหลายสักการะเคารพอาศัยอยู่

เปิด  239
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566